Skip to main content
sharethis

16 ก.ค. 50 - ขณะที่วานนี้ (15 ก.ค.) เวลา 11.30 น. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกคำประกาศจุดยืนการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับการลงประชามตินั้น ในวันเดียวกันเวลา 14.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 สี่แยกคอกวัว สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) ซึ่งเป็นอดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


 


ซึ่งเครือข่ายของ สปป. ประกอบไปด้วย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต, สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง, เครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย, สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สค.ปท.), เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน, เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ, สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคใต้, พันธมิตรสงขลาเพื่อประชาธิปไตย, สภาประชาชนอีสาน (สอส.), คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, ศูนย์ประสานงานนักเรียนนิสิตนักศึกษา (ศนศ.), สมัชชาประชาชนภาคตะวันออก, กองทัพธรรมมูลนิธิ, เครือข่ายประชาชน จ.เพชรบุรี, เครือข่ายการศึกษาทางเลือก


 


โดย สปป. ได้จัดแถลงข่าว หลังการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในวันนี้ โดยผู้แถลงข่าวประกอบด้วยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ในฐานะผู้อำนวยการ สปป. นายพิภพ ธงไชย กรรมการ สปป. นายสมเกีรยติ พงษ์ไพบูลย์ กรรมการ สปป. และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน สปป.


 


ซึ่งนายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะผู้อำนวยการ สปป. แถลงความสรุปว่า นายสมศักดิ์เป็นตัวแทนอ่านคำประกาศจุดยืนว่า สปป.ได้ระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายทั่วประเทศ ใช้เวลาในการพิจารณารัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน แม้กระบวนการลงประชามติครั้งนี้ แม้จะเป็นครั้งแรก แต่ สปป.เห็นว่า สังคมไทยได้ตกอยู่ในสภาวะวิกฤติหลายมิติ มีปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าด้านการเมือง ด้านความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ด้านความแตกแยกในสังคม ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้สังคมได้พยายามทำความเข้าใจบนเงื่อนไขวิกฤติการณ์สังคมการเมืองที่ไร้ทางออก


 


ดังนั้น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จึงถูกตั้งคำถาม ตั้งแต่เริ่มกระบวนการว่า มีความชอบธรรมหรือไม่ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของคมช.หรือไม่ โดยบทบัญญัติจะมีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กระทั่งถูกคาดหวังจากสังคมหลายส่วนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะนำพาสังคมไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยให้กลับไปสู่สถานการณ์ปกติได้หรือไม่ ในเรื่องเหล่านี้ สปป.เห็นความจำเป็นที่ภาคประชาชนทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างและผลักดันทางเลือกที่ 3 มากกว่าจะหยุดนิ่ง แค่การลงประชามติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ คมช. หรือระบอบทักษิณ


 


ดังนั้น ภารกิจสำคัญต่อจากนี้ ประชาชนทุกภาคส่วนจำเป็นยิ่งที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ทำให้การเมืองแบบใหม่หรือการเมืองภาคประชาชนได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่าที่ผ่านมา


 


"สปป.จึงมีมติให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไปก่อน แต่ให้มีเงื่อนไขผูกพัน โดยขณะเดียวกันสปป.จะรณรงค์ผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นการเร่งด่วน เช่น มาตรา 111 ที่มาของ ส.ว. มาตรา 93 ระบบเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 229 242 246 และ 252 ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ มาตรา 309 การนิรโทษกรรม คมช.เหล่านี้เป็นต้น" นายสมศักดิ์ กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม สปป.จะรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อตามมาตรา 291 (1) เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง รวมทั้งทำข้อเสนอเพื่อเป็นสัญญาประชาคมจากทุกพรรคการเมือง โดยขอย้ำจุดยืนว่า ขอสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในปีนี้ และสนับสนุนการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม คตส. และปปช. ในการตรวจสอบการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงของระบอบทักษิณและเครือข่าย


 


ผอ.สปป. ยังกล่าวว่า สปป.จะจัดทำเอกสารแจกแจงทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนที่จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ อย่างไร และหากรับไปแล้วควรจะมีการรณรงค์ให้แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นใดหรือไม่ นอกจากนี้จะติดตามและผลักดันการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อประกันการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนให้เป็นรูปธรรม อีกทั้งเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐบาล สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และหน่วยงานภาครัฐเร่งสร้างพื้นที่และเวทีสาธารณะ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงจุดเด่น-จุดด้อยของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะต้องไม่สร้างเงื่อนไขปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และการรณรงค์ของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ



"สปป.และองค์กรเครือข่าย ขอสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในปีนี้ และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม คตส.และ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบการทุจริตของระบอบทักษิณและเครือข่าย รวมถึงผลักดันวาระประชาชนเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ของประเทศ อาทิ การแก้ปัญหาความยากจน, การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ การไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ สปป.ขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ที่มีเนื้อหาลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน" นายสมศักดิ์กล่าว



ด้านนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำ สปป.และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นสงครามเดิมพันชีวิตระหว่างระบอบทักษิณและ คมช.เนื่องจากมีองค์ประกอบ 2 อย่าง ถ้าทำได้จะทำให้ระบอบทักษิณฟื้นชีพกลับมาคือ 1.การทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดความชอบธรรม เมื่อรัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรม คตส., ป.ป.ช., คตง.จะขาดความชอบธรรมไปด้วย และ 2.หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ กระบวนการต่อสู้แบบเข้มข้นจะเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ผ่านฉบับที่มองเห็น 309 มาตราตามที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้ แต่จะเอาฉบับที่ซ่อนไว้ข้างหลังมาใช้


 


แกนนำพันธมิตรฯ ผู้นี้กล่าวว่า ฉบับที่ซ่อนไว้ข้างหลังจะเป็นฉบับอันหฤโหด เพราะว่าที่สองกลุ่มนี้สู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างระบอบทักษิณกับ คมช. คือจะมีการนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ แต่จะมีแก้ไขบางมาตรา เช่น แก้ไขว่าบุคคลที่จะสมัคร ส.ส.ได้ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180วัน หมายความว่าเครือข่ายของระบอบทักษิณทั้งหมดถูกสังหารหมู่ ไม่ใช่แค่อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกเพิกถอนสิทธิ 111 คน คนอื่นก็ไม่สามารถเข้าสังกัดพรรคการเมืองทันได้ "เพราะฉะนั้นการไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีนัยของการต่อสู้ที่เข้มข้นที่สุด เราเห็นถึงอันตรายใหม่ของชาติจากการฟัดกันไม่รู้จักจบสิ้น โดยสังคมไร้ทางออก และเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เลวร้ายเกินไป มีบทบัญญัติหลายอย่างที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวภาคประชาชน นายสมเกียรติกล่าว


 


ทั้งนี้ คมช.ยังตีเป็น 2 หน้า หน้าแรกแสร้งทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย หน้าที่สอง ไปเสริม พรบ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (กอ.รมน.) โดยรวบอำนาจไว้ที่ทหาร ซึ่งอยากให้ตัดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกไป


 


นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ประธาน คมช.มีท่าทีเตรียมลงเล่นการเมือง และการประกาศลงประชามติ ขอร้องอย่าพึ่งออกมาพูดในขณะนี้ เพราะจะเสียบรรยากาศต่อการลงประชามติที่จะเกิดขึ้น


 


ด้านนายพิภพ กล่าวว่า เรื่องการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อยากให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้า ซึ่งจะทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านแล้วก็จะเข้าสู่ระบอบประธิปไตยทางการเมืองมากขึ้น ส่วนไหนที่ไม่มี รัฐบาลที่มาจากการเมือกตั้งก็สามารถเข้าไปแก้ไขได้ การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะทำให้ลดการเผชิญหน้าของทั้ง 2 ฝ่าย


 


นายพิภพ กล่าวต่อว่า อยากให้ท่าทีของ พล.อ.สนธิ จะต้องศึกษาบทเรียนของพล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตผู้นำ รสช.เมื่อครั้งพฤษภาทมิฬ ในยุค รสช. ที่สุดแล้วจุดจบเป็นอย่างไร


 


ด้านนายสุริยะใส กล่าวว่า ในส่วนของความคิดเห็นในส่วนของ 5 อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อท่าทีสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่าจะมีการหารือกันก่อนการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 เพื่อแสดงจุดยืนต่อไป


 


เรียนเรียงจาก : เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่นและผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net