Skip to main content
sharethis

13 ก.ค. 50 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันเพื่อการวิจัยพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยผลการศึกษาเรื่อง "ผลกระทบจากนโยบายการแทรกแซงราคาน้ำมัน" ซึ่งร่วมวิจัยกับ ดร. ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากชุดโครงการวิจัยการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมที่มีความสำคัญ ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าเนื่องจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายแทรกแซงตลาดน้ำมัน โดยเฉพาะการใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมากกว่าน้ำมันเบนซินในช่วงปี 2547-2548 ได้นำไปสู่การบิดเบือนการตัดสินใจของผู้บริโภคในการหันมาเลือกบริโภคน้ำมันดีเซลมากกว่าเบนซิน


การบริโภคน้ำมันเบนซินในช่วงปี 2547-2549 จึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็นประมาณ 343.2 ล้านลิตร หรือร้อยละ 1.5 ขณะที่การบริโภคน้ำมันดีเซลมากกว่าที่ควรจะเป็นถึงประมาณ 5,838.6 ล้านลิตร หรือร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการแทรกแซงราคา นอกจากจะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการบิดเบือนปริมาณการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว มาตรการแทรกแซงราคาน้ำมันยังมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากไม่มีหลักประกันว่ารัฐบาลจะคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ถูกต้อง


"มาตรการแทรกแซงราคาน้ำมันจึงไม่มีประสิทธิผล รวมทั้งยังทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศ ขัดขวางการปรับตัวโดยธรรมชาติของผู้ใช้ และทำให้เกิดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปริมาณมลพิษในอากาศจากการใช้น้ำมันดีเซลมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่ากรณีที่ไม่มีการแทรกแซง เช่น ทำให้เกิด NOx มากกว่าที่ควรจะเป็น 3.3 แสนตัน CO มากกว่าที่ควรจะเป็น 1.6 แสนตัน และ SO2 มากกว่าที่ควรจะเป็น 8.9 พันตัน"


ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า จากการศึกษาโดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไปพบว่า การแทรกแซงตลาดโดยอุดหนุนให้ราคาน้ำมันไม่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้ส่งผลดีต่อการกระจายรายได้นัก เพราะแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลในการอุดหนุนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงนอกภาคเกษตรก็ตาม มาตรการเดียวกันก็มีผลในการอุดหนุนครัวเรือนที่มีรายได้สูงมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในภาคการเกษตรด้วย การอุดหนุนราคาน้ำมันจึงมีประสิทธิผลในการส่งเสริมการกระจายรายได้น้อยกว่ามาตรการอุดหนุนที่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำได้อย่างชัดเจน


รัฐจึงไม่ควรแทรกแซงราคาน้ำมันเพื่อป้องกันเงินเฟ้อทุกครั้งเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการแทรกแซงไม่ให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นสามารถจะชะลอไม่ให้ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปมีระดับสูงขึ้นเร็วเกินไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น รวมทั้งยังมีประสิทธิผลก็ต่อเมื่อการเพิ่มราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดขึ้นเพียงเวลาสั้นๆ แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนรัฐบาลไม่สามารถตรึงราคาไว้ได้ต่อไปและต้องปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัวในที่สุดนั้นจะส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปในช่วงนั้นสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่มีการแทรกแซงราคาน้ำมัน


"จากการศึกษาด้วยการประมาณการโดยแบบจำลองของคณะผู้วิจัยพบว่าการแทรกแซงราคาน้ำมันทำให้ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไปในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 อยู่ที่ระดับ 115.49 สูงกว่ากรณีที่ไม่มีการแทรกแซงที่ระดับ 115.20 และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในกรณีที่มีการแทรกแซงราคาน้ำมันจะสูงกว่ากรณีที่ไม่มีการแทรกแซงไปจนถึงอย่างน้อยปลายปี 2551 โดยอยู่ที่ระดับ 119.6 และ 118.8 ตามลำดับ" ดร.สมเกียรติกล่าว และสรุปว่ามาตรการแทรกแซงราคาน้ำมันเป็นเพียงการผลักภาระของประชาชนจากปัจจุบันไปยังอนาคตเท่านั้น


นอกจากนี้ หากการแทรกแซงราคาน้ำมันไม่สำเร็จอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่ผันผวนกว่ากรณีที่ไม่แทรกแซง การปรับตัวของเศรษฐกิจภายหลังการยกเลิกการแทรกแซงจะเป็นไปอย่างฉับพลันรุนแรง แทนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป


"รัฐบาลจึงควรเลิกการแทรกแซงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคตโดยเด็ดขาด และเร่งสร้างความเข้าใจต่อสื่อมวลชนและผู้นำสังคมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดจากการแทรกแซงราคาน้ำมัน เพื่อป้องกันการสร้างกระแสสังคมที่เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันอีก"


ดร.สมเกียรติกล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการลดความเดือดร้อนของประชาชนบางกลุ่มจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูง ก็ควรใช้มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะกลุ่มที่มีความยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งพัฒนากลไกตลาดให้สามารถทำงานได้จากการแข่งขันของพลังงานทดแทนทั้งเอทานอล ไบโอดีเซล ตลอดจนพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ อย่างเป็นธรรม และสอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของการผลิตพลังงานทดแทนนั้นๆ และที่สำคัญปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องต้นทุนทางเศรษฐกิจและต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net