Skip to main content
sharethis

มูฮำหมัด ดือราแม


 


หลังจากการมาเยือนประเทศไทยของ 2 ผู้นำศาสนาอิสลามสำคัญของโลก 2 คน คือ ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี (Dr. Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดของมหาวิทยาลัย อัล - อัซฮาร์ และผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ หรือ Grand Imam of Al Azhar เดินทางมาในระหว่างวันที่ 23- 27 มิถุนายน 50


 


คนที่สองคือ ศาสตราจารย์ ดร.อับดุลลอฮ อับดุลมุหซิน อัตตุรกี เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม หรือ รอบีเตาะห์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เดินทางมาประเทศในช่วงวันที่ 26 - 30 มิถุนายน 50 มีความเชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ของรัฐบาลไทย


 


เนื่องจากทั้งสององค์กรเป็นสถาบันระดับโลกที่มุสลิมให้การยอมรับ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยอัล - อัซฮาร์ของประเทศอียิปต์ และองค์กรสันนิบาตโลกมุสลิม ซึ่งต่างก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์


 


อย่างน้อยน่าจะมีผลดีต่อประชาชนมุสลิม 2 กลุ่มใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน คือกลุ่มประชาชนมุสลิมดั้งเดิมในพื้นที่ยึดแนวทางของมัซฮับ หรือสำนักคิดชาฟีอีย์ กับกลุ่มมุสลิมที่ยึดแนวทางวะฮาบีย์ ซึ่งเคยได้รับการสนับสนุนจากสันนิบาตโลกมุสลิมมาอย่างต่อเนื่อง


 


ส่วนจะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ความไม่สงบนั้น อาจารย์ มัสลัน มาหะมะ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มองว่า น่าจะส่งผลดี อย่างน้อยก็ทำให้นักวิชาการศาสนาอิสลามในพื้นที่มีสติมากขึ้น ลดความอคติส่วนที่มีต่อกลุ่มอื่นๆ อยู่แล้วหันมาสนใจการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง


 


การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แนวทางที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลายืนยันมาตลอดและเชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ การสร้างความเข้าใจศาสนาที่ถูกต้อง ปฏิเสธความคิดที่จะนำศาสนาอิสลามมาใช้ในทางที่ผิดหรือเบี่ยงเบนไปใช้ก่อความรุนแรงและก่อการร้าย


 


นอกจากนี้ทางเลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิมยังได้รับปากที่จะนำประเด็นปัญหาของมุสลิม 3 แห่ง ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ได้แก่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ และแคว้นอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ไปศึกษาและวินิจฉัยชี้ขาดว่า มุสลิมในแต่ละแห่งนั้นควรจะอยู่อย่างไรที่นั่น


 


ทั้งนี้เพราะที่ผ่านยังไม่มีนักวิชาการร่วมสมัยมาร่วมวินิจฉัยในปัญหาอย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับ 3 พื้นที่เลย ทั้งที่จริงแล้วศาสนาอิสลามต้องมีทางออกให้ เพราะศาสนาอิสลามเป็นสิ่งที่เสนอทางออกให้กับมนุษย์ ซึ่งนักวิชาการต้องมาหาทางออกให้เจอเท่านั้น ถ้านักวิชาการในพื้นที่ไม่มีความรู้พอ ก็ต้องเชิญนักวิชาการระดับโลกมาช่วยหาทางออกให้


 


เขายังระบุด้วยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันเป็นเพราะมุสลิมได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการศาสนาที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 400 - 500 ปีที่แล้ว ซึ่งบริบททางสังคมต่างกับปัจจุบันมาก จากเดิมที่มีการวินิจฉัยชี้ขาดว่า มุสลิมอยู่ดีก็ถูกรุกราน ดังนั้นทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ไม่ต้องเรียนหนังสือ ให้จับอาวุธขึ้นสู้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่


 


เขาหมายถึง ถ้ายังละหมาดไม่ได้ ไม่เรียนรู้ศาสนา ก็ไม่สามารถจะประกาศตนเป็นมุสลิมที่ดีได้ ดังนั้นการต่อสู้ในปัจจุบันคือต้องสู้เพื่อดำรงอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมให้ได้ เพราะฉะนั้นการต่อสู้ดังกล่าว จึงไม่ยึดติดกับพื้นที่หรือพรมแดน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกับดักสำคัญที่มีมาเป็นร้อยปีแล้ว


 


ดังนั้นสิ่งที่เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิมฝากด้วยก็คือการแก้ปัญหาของมุสลิมไม่ใช่มีเฉพาะการใช้ความรุนแรงเท่านั้น ขณะเดียวกันจะละเลยปัญหาอื่นๆ อีกด้วยไม่ได้ ทั้งปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา


 


ส่วนในมุมมองโต๊ะครูอย่าง บรอเฮง ปายอดือราแม เจ้าของโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส มองว่า การเดินทางมาของทั้งสองคนน่าจะมีผลดี ซึ่งเป็นพยายามของรัฐบาลที่จะให้มีส่วนเข้ามาแก้ปัญหา แต่ที่สำคัญคือ การแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม ต้องกลับไปดูที่รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงด้วย เพราะถ้าจะแก้ปัญหาโดยไม่ศึกษารากเหง้าของปัญหา ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้


 


การที่เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม รับที่จะนำปัญหาของมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปศึกษาวินิจฉัย ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ที่สำคัญก็คือ การให้ข้อมูลปัญหาเพื่อนำไปศึกษาวินิจฉัยนั้น ต้องมาจากทุกฝ่าย มิเช่นนั้นแล้ว ก็อาจวินิจฉัยผิดพลาดได้ ซึ่งแทนที่จะเป็นผลดี ก็อาจกลับเป็นผลร้ายมากกว่าได้


 


สำหรับการมาเยือนของสองผู้นำศาสนาอิสลามนั้น คนแรกคือ ดร. มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี (Dr. Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ นอกจากจะได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังได้พบปะกับบุคคลสำคัญในประเทศ รวมทั้งเยี่ยมชมชุมชนไทยมุสลิม และยังไปรับมอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอิสลามศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วย แต่มิได้เดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเข้าเยี่ยม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี กล่าวชื่นชมแนวทางสันติวิธีของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ขณะที่พล.อ.สุรยุทธ์ เองก็หวังว่า ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฎอวี จะเป็นสื่อกลางในการทำความเข้าใจต่อผู้นำศาสนา ผู้นำทางความคิด และสาธารณชนในโลกมุสลิม เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นอกจากนี้ ในพิธีรับมอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอิสลามศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฎอวี ได้กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่ง ถึงหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามเกี่ยวกับความรุนแรงด้วย


 


โดยระบุว่า ตามบทบัญญัติของคัมภีร์อัล - กุรอาน นั้นหากผู้หนึ่งทำลายชีวิตผู้หนึ่งอย่างไร้ความผิดไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ไม่ต่างจากการทำลายมนุษยชาติทั้งมวล และในทางกลับกันหากผู้ใดช่วยชีวิตหนึ่งก็เท่ากับช่วยมนุษย์ทั้งโลก


 


"ทางมหาวิทยาลัยจึงสอนให้นักศึกษาเคารพในสิทธิของความเป็นมนุษย์ซึ่งเท่าเทียมกัน และชี้ให้เห็นว่า การฆ่า การขับไล่ออกจากถิ่นฐาน หรือเหยียดสีผิว หรือลิดรอนสิทธิ์เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ความหายนะ ดังนั้นจึงได้พยายามสอนให้นักศึกษาเห็นถึงความสันติในการอยู่ร่วมกัน"


 


เขาบอกด้วยว่า ความรู้ที่มุ่งสร้างความแตกแยกหรือความขัดแย้ง นั้นไม่ใช่หลักของอิสลาม อิสลามไม่อนุญาตให้ใช้ความรู้ในเรื่องไม่สร้างสรรค์ สร้างความขัดแย้งอคติ และบ่อนทำลายสังคม ในกรณีเกิดความแปลกแยกกันทางความคิด แต่ละฝ่ายจะต้องรอมชอมกัน เนื่องจากทุกชุมชนย่อมมีความแตกต่างแต่ความแตกต่างไม่ได้หมายถึงความแตกแยก อิสลามจึงได้เรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนทำความเข้าใจและเปิดรับฟังเรื่องราวของกันและกัน เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ


 


ส่วนการมาเยือนของศ.ดร.อับดุลลอฮฺ อับดุลมุหฺซิน อัตตุรกี เลขาสันนิบาตโลกมุสลิม นอกจากจะได้พบหารือกับบุคคลสำคัญของรัฐบาลไทย และพบปะกับผู้นำศาสนาทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย รวมทั้งยังได้เดินทางไปรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขากฎหมายอิสลามจากมหาวิทยาลัยอิสลามะลา


 


ในระหว่างการพบหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็มีความเห็นพ้องว่า สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มิใช่ความขัดแย้งทางศาสนา และชื่นชมต่อนโยบายรัฐบาลในการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแนวทางสมานฉันท์ ตลอดจนมาตรการต่างๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า การดำเนินการของรัฐบาลเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งสันนิบาตมุสลิมโลกพร้อมให้การสนับสนุน


 


ขณะเดียวกัน เขายังได้ประณามการกระทำใดๆ ที่ใช้ความรุนแรงโดยอ้างศาสนาของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิมและศาสนาอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเน้นย้ำการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ซึ่งสันนิบาตมุสลิมโลกมุ่งเน้นที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อศาสนาอิสลามที่มุ่งในทางสายกลาง ปฏิเสธความคิดที่จะนำศาสนาอิสลามมาใช้ในทางที่ผิด หรือเบี่ยงเบนไปใช้ก่อความรุนแรง และก่อการร้ายในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในโลก


 


แม้ว่า การมาเยือนของทั้งสองคน ไม่อาจจะส่งผลให้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุติลงเร็ววัน แต่ก็เชื่อว่า รัฐบาลจะได้ใจจากพี่น้องมุสลิมสองกลุ่มใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ไปด้วย


 


 


..............................................


เกี่ยวข้อง


รายงาน : มุสลิมชายแดนใต้กับการมาเยือนของ 2 ผู้นำอิสลามโลก (1)


มุสลิมชายแดนใต้กับการมาเยือนของ 2 ผู้นำอิสลามโลก (2)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net