Skip to main content
sharethis

แม้ประเทศนี้จะมีคำว่า "ประชามติ" บัญญัติไว้มานานนม หรือตั้งแต่ปี 2492 ในมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 แต่เราก็ไม่เคยได้ลองใช้กันสักที จนหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญปี 2549 อันเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ร่างโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ระบุให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการยกร่างขึ้น ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


เพื่อทำความเข้าใจกับประชามติ "ประชาไท" ได้ไปพูดคุยกับ ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง สำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง ที่ทำงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง


 



ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์


 


0000


 


แนวคิดประชามติโดยทั่วไปเกิดขึ้นได้อย่างไร


ประชามติเป็นรูปแบบของประชาธิปไตยแบบหนึ่ง เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือ อำนาจในการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ที่ประชาชน แต่ที่ผ่านมาในการบริหารดูแลบ้านเมือง เราไม่สามารถให้ทุกคนมาดูแลจัดการบ้านเมืองได้ รูปแบบประชาธิปไตยจึงเป็นการเลือกคนมาทำหน้าที่แทน ซึ่งเรามักเข้าใจว่า การที่คนมาทำหน้าที่แทนตรงนั้นเป็นการตัดสินใจทั้งหมดแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เหมือนกับเรามอบอำนาจให้ทนายความทำสัญญาแทนเรา แต่มันก็เฉพาะเรื่อง เฉพาะกิจ  การมอบให้ใครดูแลปัญหาบางอย่างให้เราจึงไม่ได้หมายความว่า เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนั้นๆ ไม่ได้เลย เราก็ยังเป็นเจ้าของ ยังรับผิดชอบกับสิ่งที่เรามอบไป เมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้อง เราในฐานะเจ้าของอำนาจก็ต้องสามารถเข้าไปแทรกแซง บอกว่าได้ ไม่ได้ หรือควรเป็นอย่างไร


 


 


ประเทศใดบ้างที่เป็นตัวอย่างในเรื่องการทำประชามติ


ในประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็ง โดยเฉพาะในยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตยค่อนข้างเต็มใบ ในแง่ที่ว่า ทุกเรื่องแม้จะมีระบบการเลือกตั้ง มีสภา หลายเรื่องเขาก็ยังต้องถามประชาชนก่อน ผู้แทนเขาจะมาถามก่อน อย่างจะสร้างสระน้ำในหมู่บ้านนี้ ผู้แทนในระดับท้องถิ่นเขาก็ต้องมาถามประชาชนก่อน เพราะอาจมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อยากให้โครงการพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นอันไหนมีความสำคัญลำดับต้นๆ ก็ต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน จะถามทุกครั้งเวลามีโครงการกิจกรรม นี่เป็นเรื่องที่เขาทำกันอย่างปกติและทำกันได้ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็เลยเป็นความสำคัญที่ต้องถาม


 


โดยทั่วไป รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดใช้บังคับเป็นกติกา และส่วนใหญ่แล้วก็ต้องยกร่างฯ โดยผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งหรือแก้ไขโดยประชาชนมีส่วนร่วม อย่างรัฐธรรมนูญปี 40 ก็มีกระบวนการให้ได้มาโดยคนร่างมาจากประชาชนจริงๆ เนื้อหารับฟังความเห็นจากประชาชน นี่อาจเป็นเหตุให้ รัฐธรรมนูญ 49 เขียนว่า ให้มีการประชามติ เพราะเห็นว่ากระบวนการร่างฯ ที่มาของผู้ร่างฯ ไม่ได้มาจากประชาชนเลย อาจจะมีปัญหาความชอบธรรมได้ ก็เลยมีข้อบัญญัตินี้ ให้รัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งในสากล ถ้าผ่านเสียงประชามติ เขาก็ยอมรับกันได้ เพราะถือว่าได้รับการยืนยันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับความชอบธรรมในการนำมาบังคับใช้กับประชาชน


 


 


ในทางสากล การตั้งประเด็นเพื่อถาม หรือตั้งประเด็นประชามติ มีตัวเลือกให้ประชาชนแค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบใช่ไหม


ในสวิตเซอร์แลนด์ การจัดรัฐธรรมนูญจัดทำหลายปีกว่าจะออกมาได้โดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือรับฟังความเห็นของประชาชนและประชามติหลายๆ ครั้ง โดยดึงประเด็นแต่ละเรื่องมาหาประชามติ และหาข้อสรุปจนได้รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์


 


ขณะที่ของบ้านเราเอามาทั้งฉบับ บางคนไม่ชอบเรื่องที่มาของ ส.ว. ที่มันไม่ค่อยเป็นตัวแทนของประชาชนโดยตรงจริงๆ แต่หมวดอื่นชอบกว่ารัฐธรรมนูญ 40 โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน ก็เป็นวิจารณญาณของแต่ละคนที่จะชั่งว่า ข้อนี้หนักหนาสาหัสไหม ถ้าเขารู้สึกว่ามันหนักหนาสาหัสก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละคนที่จะตัดสิน


 


 


สมมติว่าจะประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะประชามติเรื่องอะไร


รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกันและเป็นกติกาหลัก ในแง่อุดมคติ น่าจะเอาประเด็นเรื่องที่มาของผู้ที่จะมาบริหารปกครองประเทศ ผู้ที่จะมาตรวจสอบ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจ สาระหลักๆ ตามหมวดที่เขาแยกไว้ในร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แล้วมาสรุปเป็นสาระสำคัญ แล้วจึงเอามาแจกแจงลงประชามติเป็นครั้งๆ แต่อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญประเภทนั้น ในสภาพการณ์ของบ้านเมืองเรา ดูเหมือนจะรอไม่ได้ ถ้าเช่นนั้น อาจเป็นทางออกว่า ให้มีเลือกตั้งก่อน มีผู้มาจากการเลือกตั้ง แล้วค่อยมาดูว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเอามาแก้ไขปรับปรุงใหม่อย่างไร


 


ถ้าอยากจะได้อย่างที่ใจต้องการ ฉบับที่ยกร่างอยู่นี้ก็มีเปิดช่องให้ 5 หมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อกันขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็ทำให้มีช่องในการหายใจสำหรับกลุ่มคนที่คิดว่าไม่พอใจ แต่อยากให้มันมีการพัฒนาขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร


 


 


พูดถึงช่องในการหายใจ ขณะนี้มีการพูดกันว่าจะลงมติรับไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รับก็ได้ฉบับ ส.ส.ร. คือฉบับ 50 ไม่รับก็ได้รัฐธรรมนูญของ คมช. ที่จะหยิบมาแก้ไขเอง ในการลงประชามติเราจะเพิ่มทางเลือกมากกว่านี้ได้หรือไม่


ดูเหมือนว่าตามกฎหมายแล้วจะมีทางเลือกเท่านี้ ตามที่ผู้อำนาจได้ขีดเส้นให้เราเดิน หรือถ้าไม่ออกมาใช้สิทธิ์ ในกรณีนี้ ก็มีคนตีความคล้ายกับกรณีรัฐธรรมนูญ 40 ที่เสียงผ่าน 20 เสียง ก็แปลว่าอีก 80 เสียงให้ผ่าน (มาตรา 214 รัฐธรรมนูญ 2540) [1] มันก็ตีความอย่างนั้นได้ในทางตรงข้ามกัน เพราะคุณไม่ได้ออกมาค้าน มันก็ตีความได้อย่างนั้นเหมือนกัน


 


 


ในรัฐธรรมนูญ 40 มาตรา 214 บอกว่า ถ้าคนมาลงคะแนนเสียงไม่ถึง 1 ใน 5 แปลว่า คนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ พอมารัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 32 บอกแค่เสียงข้างมากของคนที่มาออกเสียง เห็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้น แม้คนมาออกเสียงน้อยหรือไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์ก็ตาม อย่างนี้จะถูกตามหลักประชาธิปไตยหรือ?


ประเด็นอยู่ที่ว่า คนจะสนใจมาออกเสียงมากเพียงพอจนเป็นเสียงข้างมากของประเทศจริงๆ ไหม


ถ้าคนมาออกเสียงเพียง 10% แล้วออกเสียงรับรัฐธรรมนูญ แน่นอนคงไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งประเทศ แต่อีกนัยยะหนึ่งก็บอกว่า คนอีก 90 คนไม่ออกมา ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ก็อาจหมายถึงว่า คน 90 คนยอมให้คน 10 คนไปเล่นเกมแทนให้


 


ถ้าคนอีก 90 คนไม่สนใจ ก็เป็นสภาวะของสังคมในช่วงหนึ่งๆ อาจจะมองได้หลายด้าน คนอาจจะไม่สนใจ หรือรอดูไปก่อน ยังไงก็มีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว คือ 90 คนก็ยอมรับสภาพว่า จะได้อะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม 10 คนออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะผ่าน อาจจะมาออกเสียงไม่รับก็ได้


 


 


ถ้าอย่างนั้น เลือกตั้งเรายังมีโนโหวต แต่กับอันนี้มันไม่มี


ช่องโนโหวต ในสถานการณ์การเลือกตั้ง หนึ่ง เนื่องจากกฎหมายถือเป็นหน้าที่ว่าคนต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าไม่ไป จะโดนตัดสิทธิ 10 ประการ ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ลงชื่อถอดถอน ออกกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ 40) ดังนั้น เขาจึงบอกว่า ถ้าคุณไม่ชอบใครเลยแทนที่จะทำให้บัตรเสีย ก็เลยเปิดช่องให้ "ไม่เลือก" ก็คือ "โนโหวต" ซึ่งตรงนี้จะช่วยเป็นสัญญาณบอกผู้สมัคร พรรคการเมืองทั้งหลายให้ปรับตัวให้ดี ถ้ามีโนโหวตจำนวนมาก ก็จะสะท้อนให้พรรคการเมืองเห็นว่า ผู้สมัครของพรรคไม่มีใครเลือก ก็มีนัยยะของมัน แต่อันนี้มันไม่ใช่ มันคนละกรณี ก็เลยเอามาใช้กับโนโหวตไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมีโนโหวต


 


 


ถ้ามีโนโหวต อาจเป็นการบอกว่าเราไม่รับกระบวนการนี้


ไม่รับก็ไปกาว่าไม่รับ ซึ่งก็มีช่องให้กาว่าไม่รับ ก็เป็นนัยยะอยู่แล้วว่า ไม่รับเพราะอะไร เพราะเนื้อหา เพราะกระบวนการได้มา ก็สามารถไปแสดงเจตนาตรงนั้นได้


 


 


โดยปกติ วิธีการให้ข้อมูลกับประชาชนก่อนทำประชามติมีอะไรบ้าง


ผู้ที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เข้าใจในเนื้อหาสาระของเรื่องที่จะไปออกความเห็น เช่น จะสร้างสวนสาธารณะ มีโครงการพัฒนาในท้องถิ่น อาจต้องอธิบายให้คนเข้าใจว่า ทำไมโครงการนี้จึงดีกับท้องถิ่นนั้น ไม่มีอย่างอื่นดีกว่านี้แล้วหรือ หรือทำไมไม่ทำห้องสมุด ต้องสามารถอธิบายถึงข้อดีข้อเสีย และเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ แต่แน่นอนผู้ที่เสนออาจจะอยากจูงใจให้คนเห็นคล้อยด้วย ทั้งนี้ ก็ย่อมมีคนไม่เห็นด้วยออกมาชี้ให้เห็นว่า ทำอย่างนี้จะเกิดปัญหาแบบนี้ ก็ต้องคุยกัน และมีเวทีที่เอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยน


 


 


ถ้าเช่นนั้น คิดเห็นอย่างไรกับการรณรงค์เรื่องประชามติตอนนี้


การรณรงค์ยังน้อยอยู่ หลายคนยังไม่เข้าใจตั้งแต่เรื่องความหมายของประชามติ ยังไม่เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระอะไรบ้าง ยังต้องรณรงค์กันอย่างหนักถ้าจะให้มันมีผลสัมฤทธิ์ มีการประชามติอย่างมีคุณภาพ


 


ประชาชนต้องเข้าใจในสาระของรัฐธรรมนูญ คือไม่จำเป็นต้องไปเข้าใจทุกมาตราหรอก แต่ควรเข้าใจสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ว่ามีเนื้อหาสำคัญในเรื่องอะไร เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการ เรื่องการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมของประชาชน เนื้อหามีอะไรบ้างที่ควรจะเข้าใจเพื่อที่จะมีความเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ก็ควรรับรู้ ตามหามาอ่าน ส.ส.ร. จะส่งให้ทุกบ้านก็ต้องลองพิจารณา


 


รัฐธรรมนูญคือกติกาที่จะมาบังคับใช้กับเรา กับครอบครัวของเรา สังคมของเรา ถ้าเราไม่รู้เรื่องอะไรก็เท่ากับยอมรับการถูกบังคับใช้โดยปริยาย


 


 


การโฆษณาของ ส.ส.ร. ตามหน้าหนังสือพิมพ์ นอกจากรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ยังอ้างด้วยว่า รับเพื่อให้มีการเลือกตั้ง อย่างนี้จะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อไหม


ก็อาจเป็นอย่างนั้น เพราะเขาเป็นคนร่าง เขาก็มีความต้องการจะรณรงค์ให้คนเห็นด้วยกับสิ่งที่เขายกร่างขึ้นมา ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ


 


ในรัฐธรรมนูญ 49 ก็บอกว่าถึงประชามติไม่ผ่าน คมช. กับรัฐบาลก็ต้องเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขให้เสร็จภายในสามสิบวัน ซึ่งแปลว่าหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต้องมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว การออกโฆษณาอย่างนี้จะถือว่าบิดเบือนหรือไม่


บิดเบือนหรือไม่อยู่ที่เขานำเสนอเนื้อหาที่ต่างไปจากเนื้อหาที่เป็นอยู่หรือเปล่า เช่น ส.ว.จากการเลือกตั้งซึ่งจริงๆ มันเป็นแบบผสมผสาน แต่ไปโฆษณาว่า ส.ว. มาจากการเลือกตั้งก็อาจจะเข้าข่ายบิดเบือนได้ เพราะข้อเท็จจริงในรัฐธรรมนูญนี้คือหยิบมาจากการสรรหา อย่างนี้ป็นต้น ก็ต้องขึ้นกับเนื้อหาที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ ก็เหมือนกับการโฆษณาสินค้า ถ้าโฆษณาว่ายารักษาได้ทุกโรคก็เกินจริง เพราะไม่มียาอะไรที่รักษาได้ทุกโรค


 


ผิดข้อเท็จจริงไหม


ก็ไม่ได้ผิดข้อเท็จจริง เขาอยากให้ไปรับ ก็รณรงค์ให้ไปรับ แต่ประเด็นคงอยู่ที่ว่า เขาใช้อำนาจหน้าที่ที่เหมาะสมหรือเปล่า ในฐานะที่เป็นคนยกร่าง แต่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ก็อาจเป็นข้อที่พูดได้ว่า เอาเงินมาใช้จ่ายฝ่ายเดียว ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรงนี้ได้ เพราะว่าถ้ารัฐจะเป็นกลางจริงๆ ก็ต้องเปิดเวทีให้ทั้งสองฝ่าย


 


หรือถ้าจะให้งบ ส.ส.ร. ในการรณรงค์รับร่าง ก็ต้องพร้อมให้คนไม่เห็นด้วยในกับการรับร่างด้วย แต่ถ้าในฐานะ ส.ส.ร. จะรณรงค์โดยหน้าที่ก็เพื่อการเผยแพร่เนื้อหาสาระ แต่ขั้นรณรงค์รับร่าง ส.ส.ร. โดยปัจเจก อยากจะทำก็น่าจะทำได้ เพราะเขาร่าง เขาคิด เขาเขียนมา ก็อยากให้คนเห็นด้วยก็เป็นเรื่องธรรมชาติ


 


แต่ประเด็นที่ต้องถกเถียงก็คือ เมื่อยกร่างฯ เสร็จแล้วเผยแพร่ก็คือเผยแพร่ แต่ถ้าก้าวไปถึงขั้นรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งถ้าใช้งบของแผ่นดินในการรณรงค์ ในรัฐที่เป็นกลางก็ต้องเอื้อแก่ฝ่ายไม่เห็นด้วยเช่นกัน ในแง่ของเวทีประชามติก็ต้องพร้อมสนับสนุนทุกฝ่าย


 


งบประมาณเป็นงบที่มาจากภาษีอากร ก็ต้องเป็นกลาง ถ้ามองอย่างไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่ง โดยหลักการคือเงินต้องใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองส่วน เอามาชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย เอามาคุยกัน บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับเรื่อง ส.ว. ว่า ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้ง อีกฝ่ายอาจจะบอกไม่ควร ก็เถียงกันบนเวทีแล้วให้คนที่ติดตามใช้ดุลพินิจตัดสินเอา นั่นคือ นัยยะของการออกเสียงประชามติ คือให้คนมาคุยกันถกเถียงกัน เข้าใจในเรื่องนั้นๆ แล้วก็ไปลงคะแนน รัฐบาล ถ้าใจกว้างพอก็ต้องพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นโดยการให้งบสนับสนุนหรืออะไรก็แล้วแต่ แม้ตอนนี้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญไม่ได้ อนาคตก็อาจจะเกิดแนวความคิดให้มีการแก้ไขปรับปรุงต่อไปได้อีก เกิดการถกเถียงให้มีโลกทัศน์ที่แตกต่างออกไป


 


 


ในสถานการณ์ตอนนี้มีเรื่องอะไรที่ควรนำมาประชามติอีกไหม


บรรดากฎหมายสำคัญๆ อย่างร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน ซึ่งกระทบกับชีวิตของประชาชน มีการรวบอำนาจให้กับคณะบุคคลในการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ในนามความมั่นคงซึ่งขยายความกันกว้างเกินเหตุ หรือการดำเนินการต่างๆ ที่มีผลกระทบ จริงๆ ไม่ควรมีการตัดสินใจในรัฐบาลนี้ ควรจะรอรัฐบาลชุดใหม่ การเซ็นสัญญาที่จะมีผลผูกมัดกับประเทศชาติควรจะรอไว้ ถ้ารอไม่ได้ก็ควรจะถามความเห็นของประชาชน เพราะภาษีก็เป็นของประชาชนและเราก็บอกว่าประชาธิปไตยคือ อำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน ก็ต้องทำส่วนนี้ให้เป็นจริง ไม่ใช่เพียงวาทกรรมสวยหรูแล้วก็หลับหูหลับตาทำอะไรลงไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net