Skip to main content
sharethis

สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข (สวรส.) เปิดเผยข้อมูลว่า มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่สามารถตรวจพบได้ด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบันมีผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับสอง รองจากมะเร็งปากมดลูก และมักพบในระยะที่รุนแรง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยรู้จักการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถพบมะเร็งเต้านมได้ในระยะแรก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตในช่วง 5 ปีหลังจากพบว่าเป็นมะเร็ง และช่วยลดความทุกข์ทรมานของโรค เพราะหากมีการกระจายของมะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆ จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน และเจ็บปวดมากขึ้น


 


ทั้งนี้ ดร.หทัยรัตน์ แสงจันทร์ ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้จะมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงตรวจเต้านมอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าผู้หญิงบางกลุ่มยังมีข้อจำกัดในการรับข้อมูลข่าวสารจากการรณรงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้หญิงมุสลิม ซึ่งจากการสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในประชากรภาคใต้ โดยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ พบแนวโน้มของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น จาก 14.8 คน ต่อ 1 แสนคน ในปี 2542 มาเป็น 16.1 คน ต่อ 1 แสนคน ในปี 2548


 


การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นช่วงอายุที่น้อยลง นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะที่ 2 -3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการตรวจเต้านมในผู้หญิงภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมยังมีการปฏิบัติน้อย และผู้หญิงที่มาพบแพทย์มักมีอาการก่อนจึงค่อยมารับการตรวจ ทำให้การรักษาล่าช้าและผู้ป่วยต้องทนเจ็บป่วยทรมานมากขึ้น


           


เพื่อแก้ปัญหา สวรส. จึงได้สนับสนุนให้มีการทำวิจัยเรื่อง "การเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม การรับรู้สมรรถนะแห่งตน และการปฏิบัติการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีไทยมุสลิม โดยใช้รูปแบบการสอนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ในชุมชนตัวอย่างตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา" เพื่อหาสาเหตุและข้อจำกัดที่ทำให้หญิงมุสลิมไม่สามารถเข้าถึงสื่อการรณรงค์ รวมทั้งหารูปแบบการให้ความรู้ที่ทำให้หญิงมุสลิมสามารถปฏิบัติการตรวจเต้านมด้วยตัวเองได้


 


"จากการเข้าไปศึกษาในชุมชนมุสลิม ทำให้ทราบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงมุสลิมไม่สามารถเข้าถึงสื่อการรณรงค์ได้ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการปฏิบัติตามหลักศาสนา เพราะโดยปกติศาสนาอิสลามจะมีหลักเรื่องการปกปิดอวัยวะ โดยเฉพาะอวัยวะที่เป็นสื่อทางเพศ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แผ่นพับให้ความรู้เรื่องการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง และมะเร็งเต้านมมักมีรูปภาพของผู้หญิงเปลือยอก ทำให้ผู้หญิงมุสลิมไม่กล้าหยิบแผ่นพับมาอ่าน และไม่ได้รับข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ประกอบกับท่าทางของการตรวจเต้านมต้องมีการคลำและเปิดเต้านมดูในกระจก หญิงชาวมุสลิมจึงเกรงว่าการกระทำเช่นนี้อาจผิดต่อหลักศาสนา นอกจากนี้ วิถีชีวิตของชาวมุสลิมภาคใต้ ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ทำให้ต้องตื่นแต่เช้ามืดไปกรีดยาง กว่าจะเสร็จงานก็กินเวลาไปถึงช่วงสายหรือเที่ยง และหลังจากนั้นจะต้องทำงานบ้าน ทำอาหาร เลี้ยงลูก จึงไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ที่โรงพยาบาลหรือสาธารณสุขจัดให้ได้"


 


อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การรณรงค์เข้าถึงกลุ่มหญิงมุสลิมมากขึ้น จึงได้จัดทำโปรแกรมการเสริมการรับรู้กับประชาชน ซึ่งเป็นการรณรงค์เชิงรุกให้ผู้หญิงในชุมชนมุสลิมมีการรับรู้และปฏิบัติการตรวจเต้านมมากขึ้น โดยในขั้นแรกอาศัยผู้นำศาสนา เพราะหากมีคำยืนยันจากผู้นำศาสนาว่า กิจกรรมการตรวจมะเร็งเต้านมเป็นกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ขัดต่อหลักศาสนาแล้ว อาสาสมัครหญิงจะทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว โดยนำความรู้ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ไปสื่อสารกับคนในชุมชนในรูปแบบของสื่อต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาของการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง


 


โดยนำแผ่นพับดังกล่าวมาแปลเป็นภาษาที่ผู้หญิงในชุมชนสามารถเข้าใจได้ง่าย และสื่อประกอบการเรียนรู้ หรือ โมเดลเต้านม ที่มีสัมผัสเหมือนเต้านมจริง เพื่อให้รู้จักวิธีการคลำที่ถูกต้อง และสัมผัสถึงส่วนที่มีความผิดปกติได้จริง ส่วนการเข้าไปหากลุ่มหญิงมุสลิมในชุมชนจะเข้าไปในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้หญิงจะมีการรวมกลุ่มพูดคุยและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อาสาสมัครหญิงจะเข้าไปชวนคุย และชี้ให้เห็นความสำคัญของการตรวจเต้านม เมื่อหญิงมุสลิมเริ่มยอมรับ ทีมวิจัยจะให้ความรู้โดยการให้อ่านแผ่นพับที่จัดทำขึ้น และให้ฝึกคลำร่วมกัน การฝึกจะมีขึ้นทุกเดือนเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการคลำ


 


"การเก็บข้อมูลหลังจากจบโปรแกรมเสริมสร้างความรู้ไปแล้ว 3 เดือน พบว่าการรับรู้เรื่องการตรวจเต้านมตัวเองในผู้หญิงมุสลิมดีขึ้น สามารถตรวจเต้านมด้วยตัวเองได้ และมีการปฏิบัติจริงทุกเดือน จากเดิมที่มีการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเพียง 18% แต่ภายหลังจากร่วมกิจกรรมแล้วมีการตรวจเต้านมด้วยตัวเองถึง 92% แสดงให้เห็นว่าการสร้างการรับรู้ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมจะทำให้มีการรับรู้และการปฏิบัติตามดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการติดตามผลกิจกรรมครั้งนี้จะไม่จบอยู่ที่ 3 เดือน แต่จะมีการติดตามผลติดต่อไปอีก 1 ปี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของกิจกรรม และในอนาคตทีมวิจัยมีแนวคิดว่าจะนำโปรแกรมดังกล่าวไปใช้กับชุมชนมุสลิมอื่น เพื่อให้มีการตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างแพร่หลาย"


 


ดร.หทัยรัตน์ กล่าวต่อว่า การตรวจเต้านมด้วยตัวเองควรเริ่มทำตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจเต้านมทุกเดือน หลังจากหมดประจำเดือนไป 3 วัน การตรวจทุกเดือนจะทำให้เกิดความคุ้นเคยกับเต้านม และสามารถรับรู้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ สำหรับผู้หญิงที่อายุ 35-40 ปี นอกจากตรวจเต้านมด้วยตัวเองแล้ว ควรเพิ่มการตรวจแมมโมแกรม หรือตรวจโดยแพทย์ ปีละ 1 ครั้ง และในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมบ่อยขึ้น ทั้งนี้ หากผู้ใดสนใจข้อมูลและการตรวจที่ถูกวิธี สามารถหาข้อมูลได้ที่เว็บไซด์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ หรืออาจค้นหาด้วยคำว่า breast self examination

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net