Skip to main content
sharethis

นักวิชาการเผยตำรับอาหารไทยท้องถิ่นจำนวนมากเป็นแหล่งแคลเซียมชั้นเลิศ ปลอดภัย สะดวก และราคาถูก ชี้สามารถประยุกต์นำสัตว์น้ำเล็กมาเพิ่มแคลเซียมในอาหารท้องถิ่นได้โดยไม่เสียอรรถรส แนะหันมารณรงค์ให้คนไทยป้องกันโรคกระดูกพรุน ด้วยการบริโภคอาหารไทยที่อุดมด้วยแคลเซียมเพื่อแก้ปัญหาได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย


 


ผศ.สมเกียรติ โกศัลวัฒน์ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการศึกษาเรื่อง "โครงการพัฒนาตำรับอาหารไทยที่มีแคลเซียมสูง" สนับสนุนโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ด้วยการรวบรวมแหล่งและชนิดของอาหารที่มีแคลเซียมสูงที่ได้รับความนิยมในแต่ละท้องถิ่นทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อคัดเลือกเป็นตำรับอาหารไทยแคลเซียมสูงที่เหมาะสม และมีคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ ดีต่อสุขภาพนั้น พบว่า วิถีชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ที่อาศัยในภูมิภาคต่างๆ ยังมีรูปแบบการบริโภคอาหารแบบท้องถิ่นค่อนข้างมาก โอกาสในการส่งเสริมให้ได้รับแคลเซียมจากการบริโภคอาหารท้องถิ่นจึงยังเปิดกว้างมาก


 


"การรณรงค์ให้คนไทยหันมาบริโภคแหล่งอาหารแคลเซียมในแต่ละท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่ได้มาจากสัตว์น้ำเล็ก เช่น กุ้ง และปลา ในรูปแบบของการบริโภคทันทีและแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นกุ้งฝอย กุ้งแห้ง กุ้งแก้ว ปลาซิว ปลาแห้ง ปลากรอบ ปลาป่นสำเร็จรูป รวมถึงกบเขียดแห้งและสด มาบริโภคหรือนำไปเพิ่มเป็นส่วนประกอบในอาหารตำรับอื่น โดยไม่เสียรสชาติของอาหารท้องถิ่นนั้นจะช่วยให้การบริโภคแคลเซียมโดยเฉลี่ยของประชากรไทยที่ต่ำกว่าความต้องการของร่างกายอยู่มากสามารถกลับมาสูงมากพอจะป้องกันโรคกระดูกพรุนที่จะเกิดในช่วงสูงอายุได้


 


ผศ.สมเกียรติ กล่าวว่าจากการวิเคราะห์อาหารที่นำมาศึกษา จะพบว่ามีปริมาณแคลเซียมระหว่าง 130-1,200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งส่วนของปริมาณอาหารที่บริโภค เช่น การเติมแหล่งแคลเซียม "กุ้งแก้ว" ลงไปในตำรับอาหารไทยอย่างผัดพริกขิงหมู ยำวุ้นเส้น ยำถั่วพู น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกมะม่วง หลนเต้าเจี้ยว ผัดหมี่ชาวเหนือ น้ำชุบหยำ และผัดเผ็ดหน่อเหรียงกับหมู ปริมาณแคลเซียมจะเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่ทำลายความอร่อยทั้งรสชาติและกลิ่นของอาหารเมื่อเทียบกับตำรับอาหารดั้งเดิมก่อนการดัดแปลง


 


นอกจากนั้น ยังสามารถนำแหล่งแคลเซียมราคาประหยัดเหล่านั้นมาทำเป็นเครื่องเคียง เช่น ปลาขาว ปลาดำ นำมาย่างไฟอ่อนหรือทอดในน้ำมันแล้วบริโภคเป็นเครื่องเคียงกับแกงเขียวหวาน แกงส้ม และนำมาทำเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารประเภทยำก็ได้ หรือไม่ก็นำมาแทนเนื้อสัตว์โดยตรง โดยใช้ลักษณะทั้งตัวหรือป่น เช่น แกงส้มปลาช่อน ก็สมารถใช้ปลากรอบทั้งตัวหรือป่นก่อนมาแกงก็ได้ รวมถึงนำปลากรอบมาทำเป็นต้มยำแทนเนื้อไก่ก็คงความอร่อยได้เหมือนกัน


 


"คนไทยสามารถบริโภคแคลเซียมได้เพียงพอด้วยการบริโภคจากอาหารไทยท้องถิ่นตำรับต่างๆ โดยอาหารท้องถิ่นจำนวนมากเป็นแหล่งที่ดีของแคลเซียมที่สามารถป้องกันโรคกระดูกพรุนในคนไทยที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์แคลเซียมสำเร็จรูปราคาแพงเพื่อจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมเพียงพอต่อร่างกาย" ผศ.สมเกียรติสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net