บทความ : ความโลภอันไม่สิ้นสุด ของอุตสาหกรรมยา : ปรากฏการณ์ในไทยและอินเดีย

หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิม "ความต้องการแสวงหากำไรไม่สิ้นสุดของอุตสาหกรรมยา

ปรากฏการณ์ในไทยและอินเดีย"

 

 

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา

องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย)

 

อุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรสูงที่สุดในโลก และเป็นอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลสูงที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง วาระหลักของอุตสาหกรรมยาในปัจจุบันถูกตั้งข้อสงสัยว่ายังเป็นไปเพื่อการวิจัยและพัฒนายาเพื่อรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์หรือไม่ ในเมื่อสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมยาเฉลี่ยอยู่ที่ 13.9% เท่านั้น ขณะที่ค่าการตลาด โฆษณา และค่าบริหารจัดการสูงถึง 32% เมื่อบวกกับพฤติกรรมของอุตสาหกรรมยาที่มีอิทธิพลเหนือการเมืองสหรัฐฯ การเจรจาการค้าในระดับต่างๆ ทำให้ข้อสังเกตของแพทย์หญิงมาร์เซีย แอนเจลล์ ที่เขียนไว้ใน หนังสือกระชากหน้ากากธุรกิจยาข้ามชาติ เป็นความจริงที่ยากปฏิเสธ

 

"ไม่มีสิ่งใดที่บริษัทยาทำแล้วกำไรงามเท่ากับการขยายสิทธิการผูกขาดตลาดของบรรดายาที่มียอดขายสูงของตน..."

 

ฉะนั้น ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีต่างๆ ที่หยิบมาใช้ตอบโต้ประเทศต่างๆ จึงเป็นไปเพื่อขัดขวางการมีอยู่ของอุตสาหกรรมยา ชื่อสามัญที่จะมาลดทอนกำไรของบรรษัทยา ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร และกดดัน-กีดขวางประเทศต่างๆ ในการใช้กลไกยืดหยุ่นเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขต่างๆ

 

ในกรณีของไทย จากการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (CL) กับยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานเอฟฟาไวเร้นซ์ (efavirenz) หรือชื่อทางการค้าว่า สต๊อคริน (Stocrin) ของบริษัท เอ็มเอสดี (29 พฤศจิกายน 2549) ยาต้านไวรัสสูตรสำรอง โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir) หรือ ชื่อทางการค้าว่า คาเลทตร้า (Kaletra) ผลิตโดยบริษัทแอ๊บบอต (24  มกราคม 2550) และ โคลพิโดเกรล (clopidogrel) หรือชื่อทางการค้าว่า พลาวิกซ์ (Plavix) ผลิตโดยบริษัท ซาโนฟิ อเวนติส (25  มกราคม 2550) ได้รับเสียงชื่นชมจากทุกสารทิศทั่วโลก ต่อการที่ไทยได้แสดงให้เห็นถึงสิทธิของการมีชีวิตของประชาชนอยู่เหนือผลประโยชน์การค้า

 

บริษัทยาต้นแบบยอมลดราคาลงมากกว่า 70% ให้กับทุกประเทศ และอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญมีแรงจูงใจที่จะผลิตเพื่อแข่งขันให้ยามีราคายิ่งถูกลง เพราะมองเห็นตลาด รวมทั้ง ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวางถึงระบบสิทธิบัตรว่า ยังเป็นระบบที่เหมาะสมต่อการขยายการเข้าถึงยาของประชาชนหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใช้สิทธิซีแอลในประเทศไทย ยังต้องเผชิญแรงตอบโต้จากอุตสาหกรรมยาและรัฐบาลประเทศพัฒนาบางประเทศที่หากำไรจากการค้าชีวิตที่ใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบเข้าต่อตี ทั้งการคัดค้าน การต่อต้าน และการล็อบบี้

 

ดังจะเห็นได้จากการเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของทูตสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์หลายต่อหลายครั้ง โดยส่งสัญญาณไม่พอใจการประกาศซีแอลของไทย โดยอ้างประเด็นที่ไม่เจรจากับผู้ทรงสิทธิก่อน แม้จะยอมรับว่า ทั้งกฎหมายไทยและข้อตกลงระหว่างประเทศไม่ได้กำหน

 

บริษัทแอ๊บบอตเลือกใช้ยุทธวิธีการต่อต้าน ด้วยการยื่นหนังสือถึงกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิกถอนคำขอขึ้นทะเบียนยาใหม่ 10 ตำรับในประเทศไทย ซึ่งรวมทั้ง Aluvia tablet ยาต้านไวรัสสูตรสำรองซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของคาเลทตร้าที่ทนความร้อนได้ดีกว่ารูปแบบเดิม เพื่อตอบโต้รัฐบาลไทยที่ประกาศบังคับใช้สิทธิในยาต้านไวรัส โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์  หรือ คาเลทตร้า

 

"แอ๊บบอตไม่ยื่นขอขึ้นทะเบียนยาใหม่ และเพิกถอนคำขอขึ้นทะเบียนยาใหม่จนกว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งยกเลิกมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร" ตามการรายงานข่าวของ มติชน และ เดอะ วอลล์สตรีทเจอร์นัล

 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แอ๊บบอตยังพยายามที่จะใช้กลยุทธ์เพื่อปิดปากนักกิจกรรมด้านเอดส์ในฝรั่งเศส ACT-UP Paris ด้วยการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่รณรงค์ประท้วงแอ๊บบอตทางอินเตอร์เนต จากการที่แอ๊บบอตไม่ยอมรับการใช้สิทธิตามกฎหมายของไทย และตอบโต้ด้วยการถอนคำขอขึ้นทะเบียนยา ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการจับผู้ป่วยเป็นตัวประกัน

 

การใช้กลยุทธ์ทางสื่อสารมวลชน และการประชาสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติก็ดุเดือดไม่แพ้กัน

 

สื่อต่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล กล่าวโจมตีไทยอย่างรุนแรงว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และอีกหลายฉบับที่ยังพยายามใช้วาทกรรม "Breaking the patent", "Overriding the patent" ซึ่งมีนัยยะแห่งการไม่เคารพกฎหมาย แม้ในเนื้อข่าวจะระบุว่า เป็นกลไกตามกฎหมายของ WTO ก็ตาม

 

แต่ที่ต้องยกให้เป็นที่สุดของที่สุด คือ การที่องค์กร USA for Innovation ที่อ้างว่าเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรได้ซื้อหน้าโฆษณาของสื่อต่างประเทศ และสื่อในประเทศไทย รวมทั้งสร้างเว็บไซต์กล่าวหาว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของไทย กำลังทำประเทศไทยให้เป็นพม่า ด้วยการประกาศบังคับใช้สิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจมตียาจีพีโอเวียร์ขององค์การเภสัชกรรมว่าด้อยคุณภาพ และยังทำจดหมายถึง สมาชิกรัฐสภาสหรัฐ และรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ตอบโต้ประเทศไทย

 

ต่อมา วันที่ 1 พ.ค. 50 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ปรับอันดับประเทศไทยจากประเทศที่ถูกจับตามอง หรือ Watch List (WL) มาเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หรือ Priority Watch List (PWL) แม้นายราล์ฟ บอยซ์ จูเนียร์ เอกอัครราชฑูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยจะอ้างว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการทำซีแอลของไทย หรือไม่ได้เป็นเหตุผลหลัก แต่ในรายงาน Special 301 ระบุว่าชัดเจนว่า

 

"นอกเหนือจากความวิตกอันมีมานานต่อความไม่เพียงพอในการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเหล่านี้แล้ว ปลายปี 2549 และต้นปี 2550 ยังมีสิ่งบ่งชี้มากขึ้นถึงความอ่อนเปลี้ยในการเคารพสิทธิบัตร ดังที่รัฐบาลไทยได้ประกาศการตัดสินใจที่จะใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์ยาที่ติดสิทธิบัตรแล้วหลายรายการ"

 

นอกจากนี้ นายเจมส์ คารูโซ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของสถานทูตสหรัฐฯ ในไทย ยังพูดตอกย้ำว่า การใช้สิทธิของไทยขาดความโปร่งใสและไม่ถูกต้อง

 

ทุกๆ ยุทธวิธีที่กล่าวมา มุ่งหวังเพื่อบ่อนทำลายการใช้ซีแอลในประเทศไทย และทำให้อุตสาหกรรมยาสามารถดำรงการแสวงหากำไรผูกขาดได้ต่อไป

 

ในกรณีของอินเดีย อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญอันเป็นที่พึ่งพาของคนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่การใช้สิทธิซีแอลต้องนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดีย กำลังถูกท้าทายทางด้านกฎหมายจากอุตสาหกรรมยาในลักษณะที่เรียกว่า ถอนรากถอนโคน

 

ราวต้นปี 2549 สำนักงานสิทธิบัตร เมืองเชนไน ประเทศอินเดีย ได้ปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรในยารักษามะเร็ง  Imatinib Mesylate หรือในชื่อทางการค้า กลีเวค (Gleevec) ของบริษัทโนวาติส (Novartis) อุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นโมเลกุลเก่า และบริษัทยาในอินเดีย อาทิ Cipla, Hetero, Natco และ Ranbaxy ก็สามารถผลิตได้นานแล้ว โดยราคายากลีเวคของโนวาติส ขายอยู่ที่ 2,500 เหรียญสหรัฐ (120,000 รูปี) ต่อผู้ป่วยต่อเดือน แต่บริษัทยาชื่อสามัญของอินเดียสามารถขายยาชื่อสามัญเพียง 175 เหรียญสหรัฐฯ (8,000 รูปี) ต่อผู้ป่วยต่อเดือนเท่านั้น

 

แทนที่โนวาร์ติสจะยอมรับในคำตัดสิน กลับยื่นฟ้องศาลสูงเมืองเชนไนน์ 2 คดี

 

คดีแรก ฟ้องเพิกถอนคำตัดสินสำนักงานสิทธิบัตร เมืองเชนไนน์ ที่ปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยากลีเวค โดยคดีนี้ทนายความของสมาคมผู้ป่วยโรคมะเร็งอินเดียจะต้องขึ้นให้การในศาล ฐานะที่เป็นผู้คัดค้านคำขอสิทธิบัตร การที่โนวาติสท้าทายต่อคำตัดสินของสำนักงานสิทธิบัตรครั้งนี้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อผู้ป่วยมะเร็งว่า จะเกิดภาวะขาดยากลีเวคที่เป็นชื่อสามัญในตลาด และยังทำให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆกังวลว่าจะกระทบต่อยาตัวอื่นๆที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสิทธิบัตรทั้ง 4 แห่งของอินเดีย เนื่องจากคำตัดสินในกรณีของยากลีเวค สร้างบรรทัดฐานที่สำคัญกับการพิจารณาสิทธิบัตรยา

 

คดีที่สอง บริษัทโนวาติสฟ้องว่า กฎหมายสิทธิบัตรของอินเดีย ในมาตรา 3 (d) ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

บริษัทโนวาติสท้าทายกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียที่ให้สิทธิบัตรแก่ยาที่มีความใหม่และ มีความก้าวหน้าทางการประดิษฐ์อย่างแท้จริงเท่านั้น โดยบริษัทโนวาติสฟ้องร้องว่า มาตรา 3 (d) ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของอินเดีย ไม่เป็นไปตามความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ขององค์การการค้าโลก ดังนั้นจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งที่ในความเป็นจริงความตกลงทริปส์ได้กำหนดมาตรการปกป้องสาธารณสุขที่อนุญาตให้แต่ละประเทศปฏิบัติได้ ซึ่งอินเดียก็ได้ระบุเช่นนั้นในกฎหมายสิทธิบัตรของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น คำประกาศโดฮาว่าด้วยทริปส์และการสาธารณสุขที่ลงนามโดยประเทศภาคี เมื่อปี 2544 ก็ยังได้ย้ำถึงสิทธิของประเทศต่างๆ ในการใช้มาตรการปกป้องสิทธิเหล่านั้น

 

ข้อกำหนดในมาตรา 3d มีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จาก ร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ฉบับประชาชน มาตรา 7 ที่ระบุว่า การประดิษฐ์มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ได้แก่  การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น และเป็นการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเทคนิคเมื่อเปรียบเทียบกับองค์ความรู้เดิม นั้นคือ  เกลือ เอสเทอร์ อีเทอร์ โพลีมอร์ฟ เมตะโบไลท์ สารบริสุทธิ์ ขนาดอนุภาค ไอโซเมอร์ ส่วนผสมของไอโซเมอร์ สารประกอบเชิงซ้อน สารผสมและอนุพันธ์ของสารที่รู้แล้ว ถือว่าไม่มีการขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

 

โดยมีเหตุผลของการบรรจุมาตรานี้ เพื่อให้การตรวจสอบการประดิษฐ์มีความรัดกุม รอบคอบ และช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพของสิ่งประดิษฐ์ที่จะขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตร และเพื่อป้องกันสิทธิบัตรคุณภาพต่ำ (frivolous patent) จากกระบวนการจดสิทธิบัตร แบบ ever greening อันจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของนักประดิษฐ์ไทยและผู้ป่วยเสียโอกาสในการเข้าถึงยา 

 

หากมาตราดังกล่าวในกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียถูกทำลาย จะทำให้ยาที่ไม่มีนวัตกรรมการประดิษฐ์ที่แท้จริงได้รับสิทธิบัตรง่ายๆ ซึ่งจะขัดขวางการผลิตยาชื่อสามัญราคาถูกที่ใช้ในการรักษาโรคในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ นอกจากนี้จะเป็นปรากฏการณ์ระดับสากลที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยาแสวงหาการปกป้องสิทธิบัตรที่เข้มงวดมากขึ้นด้วยการท้าทายกฎหมายสิทธิบัตรในประเทศต่างๆที่ปกป้องสิทธิของประชาชนมากกว่าสิทธิบัตรซึ่งเป็นสิทธิผูกขาดของคนเพียงบางกลุ่ม

 

ดังนั้น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้ร่วมกับ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อินเดีย, the People"s Health Movement, the Centre for Trade and Development (Centad) และ องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ซึ่งเป็นองค์การสาธารณกุศลด้านการแพทย์นานาชาติ เรียกร้องให้บริษัทโนวาติสถอนฟ้องคดีทันที โดยมีประชาชนมากกว่า 400,000 คนจาก 150 ประเทศทั่วโลกร่วมลงชื่อออนไลน์ในครั้งนี้ด้วย

 

ความพยายามของอุตสาหกรรมยาที่ต้องการแสวงหากำไรบนชีวิตของผู้คนอย่างไม่สิ้นสุดจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม นักวิชาการ บุคลากรวิชาชีพ องค์กรภาคประชาชน รวมทั้ง ข้าราชการ นักการเมือง ที่ต้องยึดมั่นในประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ทั้งความแข็งแกร่งในระดับประเทศ และการทำงานสอดประสานกันในระดับนานาชาติ เพื่อยืนยันอย่างหนักแน่นว่า สิทธิการเข้าถึงยาราคาถูก เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการปกป้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท