Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 ก.ค. 50 แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) จัดแถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนของกลุ่มที่ต้องการให้ยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งประเทศ ณ ห้องสีดา 3 โรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์


 


นายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำ นปก. กล่าวว่า จุดยืนของกลุ่มคือต้องการให้ยกเลิกอัยการศึกทั้งประเทศ เพราะการประกาศใช้กฎอัยการศึกต้องมีเงื่อนไขสงครามหรือมีปัญหาทางความมั่นคงภายในหรือภายนอกประเทศ แต่ตอนนี้นอกจากในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่เป็นพื้นที่มีเหตุการณ์เฉพาะแล้ว พื้นที่อื่นในประเทศไทยต้องยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกทันที การคงกฎอัยการศึกไว้ทำให้ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง ซึ่งอาจถือได้ว่าทำลายเสรีภาพในการพิจารณาประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในวันที่ 19 ส.ค. 50 นี้อีกด้วย


 


แกนนำ นปก. ยังได้กล่าวถึงกรณีการควบคุมตัว นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด สมาชิกกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ด้วยกฎอัยการศึกด้วยข้อหาเป็นศัตรูของชาติ เมื่อคืนวันที่ 6 ก.ค. ที่จังหวัดเชียงรายว่า คณะรัฐประหารบิดเบือนประเด็น เพราะสิ่งที่นายสมบัติทำคือการปราศรัยรณรงค์ที่มีเป้าหมายจุดสูงสุดคือให้คณะรัฐประหารยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศ


 


นายสมบัติ กล่าวว่า ในวันที่ถูกจับเป็นวันเดียวกับที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 วาระที่ 3 วันนั้นทางกรุงเทพ ฯ ก็รณรงค์ในเรื่องประชามติให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ในจังหวัดเชียงรายกับอีก 35จังหวัดกลับทำการรณรงค์แบบนี้ไม่ได้ ทั้งที่ ไม่มีการสู้รบในพื้นที่ อีกทั้งมีเวลาเหลือเพียงเดือนเศษก็จะถึงวันลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่กลับไม่สามารถพูดคุยเรื่องการเมืองหรือรณรงค์ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้ จึงจะทำให้การตัดสินใจของประชาชนต่อการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีข้อจำกัด


 


อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่เหลือเพียงเดือนเศษก็ไม่มีผู้บริหารคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คนใดพูดถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกเลย มีแต่จะออกกฎหมายลงประชามติและให้อำนาจฝ่ายทหารสูงขึ้น จึงตรงกับหลักการว่าเราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ภายใต้เผด็จการ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องว่าหากคณะรัฐประหารที่อ้างตัวเป็นทหารประชาธิปไตยก็จะต้องยกเลิกกฎอัยการศึก ต้องทำให้การมืองฟรีและแฟร์ คือมีเสรีภาพและมีความยุติธรรม


 


จากนั้น นายสมบัติได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกทหารควบคุมตัวที่จังหวัดเชียงรายว่า ตอนนั้นปราศรัยผ่านโทรโข่งบนหลังคารถ สักพักทหารก็มาดึงตัวลง ตัวเองก็พยายามดันตัวขึ้น เป็นอย่างนี้ประมาณ 5 ครั้ง แต่ยืนยันว่าไม่ติดใจอะไรกับทหารและตำรวจเพราะถือว่าทำตามหน้าที่ แต่ติดใจสิ่งที่ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองข่าวซึ่งจำชื่อไม่ได้ที่มาคุยโดยตรง


 


"ท่านเห็นว่าผมไม่แฟร์ เพราะจัดปราศรัยโดยพูดคนเดียว ไม่ยอมให้คนที่สนับสนุน คมช.ขึ้นพูดมาด้วย เลยเชิญไปที่จังหวัดพิษณุโลกเพื่อจัดเวทีสาธารณะกัน จึงรับปากท่านไว้และยินดีไปร่วม บอกท่านว่าจะเชิญพีเน็ตมาเป็นกรรมการก็ได้ ท่านบอกว่าไม่จำเป็นแค่เอากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต.มาก็พอ ซึ่งก็ยินดีพูดคุยกับทหารในกองทัพภาคที่ 3 เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ"


 


นายสมบัติ ระบุว่าได้วางแผนไว้ว่ายินดีใช้หากทางกองทัพภาคที่ 3 ให้ใช้ห้องประชุมกองทัพ แต่ถ้าไม่ว่าง จะขออนุญาตใช้พื้นที่ด้านหน้ากองทัพภาคที่ 3 ในการจัดประชุมเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในวันเสาร์ที่ 14 ก.ค.ช่วงเย็น โดยจะเชิญประชาชนและทหารมาร่วม นอกจากนี้ยืนยันว่าจะรณรงค์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในจังหวัดต่างๆที่ยังประกาศใช้รวมทั้งที่ จ.เชียงรายต่อไป


 


สำหรับข้อสังเกตส่วนตัวเห็นว่า ผู้ใหญ่ในกองทัพควรมีโอกาสเชิญบุคคลที่มีความเห็นหลากหลายไปคุยในกองทัพ เพราะเข้าใจว่าเวลานี้ทหารไม่มีเวลาฟังข้อมูล ส่วนข้อมูลที่ปรากฏในสื่อก็มีด้านเดียว การจัดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญในกองทัพจึงเป็นโอกาสที่ดีและจะไม่เกิดความวุ่นวาย


 


ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นศัตรูของชาติ ผิดประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 116 ที่ทำให้ถูกควบคุมตัวไปก็อยากให้สรุปเร็วๆ ว่าเป็นศัตรูของชาติอย่างไร เพื่อจะได้รีบดำเนินการกับตัวเองได้เลย


 


นายสมบัติกล่าวอีกว่า ถูกควบคุมตัวไว้ประมาณ 23 ชั่วโมง ตอนแรกที่ถูกควบคุมนึกไว้ในใจว่าคงจะปล่อยตัวในตอนเช้า ชุดที่จับเป็นทีมกองทัพบกเชียงราย แต่เมื่อถึงตอนเช้ามีคณะทหารจาก จ. พิษณุโลก มายึดอำนาจกันในค่าย บอกว่ารับการสั่งการโดยตรงมาจากกองทัพ และแจ้งสิทธิเป็นอันดับแรกว่าเขาจะใช้อำนาจสูงสุดที่มีในมือมาจัดการในฐานะศัตรูในชาติ ประการแรกคือคุมตัวได้ 7 วันเต็ม ประการที่สองจะนำไปค่ายที่ จ.พิษณุโลก จากนั้นจึงสอบปากคำ เมื่อเสร็จจึงเตรียมไป จ.พิษณุโลก จนกระทั่งเวลา 16.00 น. สถานการณ์ก็เปลี่ยน


 


เขาเดินมาบอกว่านายแพทย์เหวงเป็นห่วง จะพาพวกไปกองทัพบก ผอ.กองข่าวจากพิษณุโลก พูดว่ามีการกดดันจากภายนอก จนกระทั่งประมาณ 17.00 น. เขาเริ่มมีอารมณ์แล้วเดินมาบอกว่า กองทัพภาคที่ 1 บอกมาให้รีบปล่อย แต่เขาว่าเป็นคนละหน่วย ไม่มีใครมาสั่งตนได้ ในพื้นที่นี้เขามีอำนาจสูงสุด สักพักทางแม่ทัพภาคที่ 3 โทรมาอีก หลังจากนั้นเขาจึงสั่งเจ้าหน้าที่ให้เร่งพิมพ์คำให้การ เวลานั้นโทรศัพท์ดังตลอดเวลา เลยรู้มีการเคลื่อนไหวภายนอก และคาดว่าจากหลายส่วน


 


เมื่อถามถึงความรู้สึก นายสมบัติตอบว่า ทหารเริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลเชิงข่มขู่ เช่น บอกว่าความผิดสูงสุดในกฎอัยการศึกคือโทษประหารชีวิต และบอกสิทธิว่าการสอบสวนของทหารกับตำรวจค่อนข้างแตกต่างกัน โดยตำรวจจะสอบถามเฉพาะความผิดตรงนั้น แต่ทหารจะสืบตั้งแต่เกิดไปจนถึงความผิดก่อนหน้านี้ และที่ทำแบบนี้เพราะถูกระบุว่าเป็นศัตรูของชาติ ส่วนข้อมูลที่ได้จะเก็บไว้ในระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่สืบค้นได้ตลอด ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตที่จะไปทำอะไรต่อที่ไหน อย่างไร


 


นอกจากนี้ ยังไม่สามารถแต่งตั้งทนายหรือหาคนที่ไว้วางใจมาร่วมนั่งฟังการสืบสวนได้ตามประมวลกฎหมายพิจาณาความอาญา หรือขณะสอบสวนต่อเนื่องจะไม่มีสิทธิดื่มน้ำ อยากรู้ว่าทำไม เมื่อถามเขาขอสิทธิไม่อธิบาย แต่เขาก็ยิ้มแย้มดี


 


ด้านความรู้สึก นายสมบัติบอกว่า ไม่รู้สึกกังวล เพราะในหน่วยราชการทั้งตำรวจและทหารไม่ได้มีข้าราชการประเภทเดียว กองทัพก็ไม่ใช่กองทัพของ คมช. ในกองทัพเองส่วนใหญ่ไม่ใช่ว่าอยากจะมีหน้าที่หรืออำนาจในการบริหารหรือดำเนินการด้านการเมือง เท่าที่สังเกตการณ์จากภายในพบว่าความใส่ใจทหารอยู่ที่สถานการณ์ในภาคใต้ ยกเว้นนายทหารที่มาจากกองทัพภาคที่ 3 ดังนั้นจึงเห็นว่า นายทหารที่มีปัญหามีอยู่ไม่มาก แต่สถานการณ์ส่วนใหญ่ทหารที่รับราชการมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ จะเชื่อระบบสายบังคับบัญชาสูง ซึ่งเขาก็คิดได้เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง จึงเชื่อว่าหลังพ้นวิกฤติและเอาประชาธิปไตยกลับมาแล้ว กองทัพจะสามารถฟื้นฟูได้ เพราะทหารไม่ได้เลวร้ายแต่คนเลวร้ายมักเป็นคนมีอำนาจจึงต้องเอาออกไป


 


ส่วนการดูแลทางกายภาพนั้นดีมาก อย่างไรก็ตาม มีความพยายามให้เซ็นต์ชื่อรับรองว่าจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่ก็ปฏิเสธ


 


นายแพทย์เหวง กล่าวอีกรอบว่า จะเชิญชวนให้ลงประชามติโดยการกาช่องไม่รับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยให้เหตุผลว่า การรับรัฐธรรมนูญจะเป็นการปกป้องและสืบทอดการรัฐประหาร ประการที่สองคือเป็นการสร้างอำมาตยาธิปไตย ประการที่สามคือทำลายประชาธิปไตย


 


นอกจากนี้ นายแพทย์เหวง ยังกล่าวด้วยว่า ต้องการให้คณะรัฐประหารหยุดพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะสิทธิเสรีภาพจะเกิดขึ้นได้อำนาจต้องอยู่ในมือประชาชน เพราะถ้าอยู่ในมือทหาร ต่อให้พูดสวยแค่ไหนสิทธิเสรีภาพก็ไม่เกิด อย่างเช่นในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้ตอนนี้ มีมาตรา 3 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพอยู่ แต่นายสมบัติก็ถูกจับ ในหลายพื้นที่ก็ไม่สามารถพูดเรื่องรัฐธรรมนูญได้ บางแห่งมีทหารตรวจตรามากมายยิ่งกว่าสมัยคอมมิวนิสต์ ดังนั้น คำถามคืออำนาจสูงสุดอยู่ในมือใครกันแน่ ขอท้าจัดให้จัดวงถกเถียงกันผ่านช่อง 11 ถ้าทหารจริงใจ รักประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเองในวันเข้าคูหา สื่อรัฐต้องให้เวลาเท่าเทียมกัน


 


สำหรับสิ่งที่จะทำต่อคือจัดการรณรงค์เล็กๆ อย่างไม่ผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น โดยจะนำป้ายกาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปถือที่อนุสาวรีชัยสมรภูมิในช่วงเช้าและเย็น นับตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. เป็นต้นไป เพื่อที่คนผ่านไปมาจะได้เห็นทรรศนะทางการเมืองของเรา การไปยืนนิ่งเฉยเป็นสิทธิที่ไม่ผิดกฎหมาย จะไม่มีการใช้โทรโข่ง นอกจากนี้ ยังจะมีการไปแจกใบปลิวตามชุมชน จะรณรงค์ไปจนถึงวันเข้าคูหา ส่วนการตัดสินใจรับหรือไม่รับสุดท้ายนั้นให้เป็นสิทธิของประชาชน


 


"เราสนับสนุนให้ประชาชนเข้าคูหา แต่อยากให้ช่วยพิจารณาไม่รับ ไม่ได้ทำลายหรือขวางการลงประชามติ กลับสนับสนุนให้ไป แต่วินาทีกาฝากวินิจฉัยด้วย" นายแพทย์เหวง กล่าว


 


ด้านนายจรัล ดิษฐาอภิชัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การลงประชามติเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยใหญ่สุดเท่าเทียมกับการเลือกตั้ง แต่การจัดประชามติภายใต้เผด็จการไม่มีความหมาย การจัดให้ลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค. นี้จึงเป็นปาหี่ที่จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย อีกทั้งมีลักษณะหลอกหลวงมากมายหลายประการ


 


เมื่อถามถึงในมุมมองในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อกรณีการถูกควบคุมตัวของนายสมบัติ นายจรัลกล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในทางความเห็น ประการที่สองการถูกจับก็ละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอย่างเสรีภาพ ประการที่สาม ถ้าให้ข่าวว่านายสมบัติไปรับจ้างเพื่อปราศรัย ก็ถือว่าละเมิดชื่อเสียงและเกียรติยศของครอบครัว


 


"เหมือนปัญหาภาคใต้เมื่อตอนที่ประกาศกฎอัยการศึกใหม่ๆ ตอนนั้นยังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อยู่ จะไม่คำนึงถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ทหารจะถือว่าพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก กฎอัยการศึกจะถือว่าเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ ตอนนี้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 3 ซึ่งก็เขียนไว้หลอกๆ ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นการใช้กฎอัยการศึกมาละเมิดสิทธิ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ไม่เป็นข่าว"


 


นายจรัล กล่าวอีกว่า ถ้าหากบ้านเมืองหรือประเทศอยู่ในภาวะสงครามก็ไม่ว่าอะไร แต่คราวนี้เป็นการใช้กำลังทหารมากสุด ในสมัยพรรคอมมิวนิสต์มาตั้งกองกำลังยังไม่เห็นทหารเยอะเท่าครั้งนี้ ทั้งที่ ในพ.ศ.นี้ไม่น่าจะเห็น แม้แต่ไปย่างกุ้ง ประเทศพม่าก็ยังไม่มากเท่า เมืองไทยขณะนี้แปลกประหลาดมาก ที่วิตกกังวลมากคือ ความคิดในการทำรัฐประหารกำลังเกิดในทหารระดับนายร้อย นายพัน ซึ่งใน 15 ปี ที่ผ่านมาความคิดนี้มันจางไป แต่การทำรัฐประหารทำให้ทหารมีอำนาจทางการเมือง ทั้งนี้ใครมีอำนาจการเมืองก็มีประโยชน์ตามมาด้วย เวลานี้กำลังย้อนกลับไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net