Skip to main content
sharethis

ผศ.ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์


คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


 


 


ที่มาของภาพ http://www.searin.org


 


ตามที่รัฐบาลยุคปัจจุบันมีมติครม. ให้ปิดเขื่อนปากมูลทั้งปีโดยมีเหตุผลคือเพื่อรักษาระดับน้ำไว้ในแม่น้ำมูล ระหว่าง 106-108 มร.ทก. เป็นการตัดสินใจโดยขาดหลักการทางวิชาการและขาดการคำนึงถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศและเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน พอเพียง และพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่สามารถลดการพึ่งพาทุนจากข้างนอก ของคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่และกลุ่มคนเมืองที่อาศัยแม่น้ำมูลหล่อเลี้ยงชีวิต


 


ทั้งที่ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมานั้นประตู เขื่อนปากมูลได้เปิด 4 เดือน (ระหว่างพฤษาคม-สิงหาคม) และ ปิด 8 เดือน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานวิชาการระดับหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านจำนวนมากกว่า 6000 ครอบครัวในพื้นที่เขื่อนปากมูลโดยตรง    ใน 3 อำเภอคือพิบูลมังสาหาร สิรินธรและโขงเจียม และชาวบ้านยากจนกลุ่มอื่นๆในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ           และอุบลราชธานีที่อาศัยตลอดริมแม่น้ำได้ประโยชน์ในการจับปลากินและขายจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูลแม้จะเปิดเพียง 4 เดือนก็ตาม


 


มติครม. เดือนมิถุนายน 2550 ให้ปิดประตูเขื่อนเพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนนั้นไม่มีฐานคิดทางวิชาการรองรับ เนื่องจากขาดข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์สนับสนุนการตัดสินใจโดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศ วิถีชีวิตการพึ่งตนเองของชุมชน ดังนั้นการพิจารณาการปิดประตูเขื่อนปากมูลจึงต้องคำนึงถึงข้อมูลทางวิชาการ ดังนี้


 


1. การอพยพของปลาระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล


การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเปิดประตูเขื่อนปากมูลตลอดปี 2543 ได้มีการศึกษาด้านประมงของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีใน 25 สถานี (เหนือเขื่อน 9 สถานี ใต้เขื่อน 9 สถานี และสถานีในลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล อีก 7 สถานี) พบว่าพันธุ์ปลาในลำน้ำมูลมีมากถึง 184 ชนิด ในจำนวนนี้พบชนิดปลาที่มีการแพร่พันธุ์ในแม่น้ำโขงจำนวน 27 ชนิด ปลาหายาก 21 ชนิด ซึ่งพบในเดือนมิถุนายน และเดือน พฤศจิกายนตามลำดับ ซึ่งน่าจะสรุปได้ว่าประชากรปลาอพยพมาจากแม่น้ำโขงสู่แม่น้ำมูลในเดือนมิถุนายนและกลับสู่แม่น้ำโขงอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน


           


ข้อมูลการศึกษาของนักวิชาการอื่นๆ (ที่ใช้วิธีการศึกษาที่หลากหลาย) เกี่ยวกับการสำรวจพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลดังนี้


 


























































ปีที่ศึกษา


 ช่วงเวลาเปรียบเทียบ


กับเขื่อน


พื้นที่สำรวจ


ผู้สำรวจ


ชนิดปลาที่พบ


2512


ก่อนมีเขื่อน


จากพิมายถึงอุบล


อำนวยและนิพนธ์


112


2534


ช่วงก่อสร้างเขื่อน


แม่น้ำมูลตอนล่าง


วรารัตน์และคณะ


59


2535


ช่วงก่อสร้างเขื่อน


จากโคราชถึงอุบล


ไมตรีและสันทนา


70


2536


ช่วงก่อสร้างเขื่อน


บริเวณเขื่อน


สัทนาและคณะ


51


2537


ช่วงปิดเขื่อน


บริเวณเขื่อน


ปราณีตและคณะ


71


2542


ช่วงปิดเขื่อน


จากแก่งสะพือถึงหน้าเขื่อน


ทวนทองและคณะ


56


2542


ช่วงปิดเขื่อน


อุบลจากถึงบริเวณเขื่อน


คณะกรรมการเขื่อนโลก


96 และ ปลา 56 ชนิดสูญหายไปจากแม่น้ำมูล


2543-44


ช่วงเปิดเขื่อนตลอดปี


บริเวณเขื่อนทั้งเหนือ


 ใต้เขื่อนและลำน้ำสาขา


คณะนักวิจัยด้าน


ประมง ม.อุบลราช


ธานี


184


 


โดยรวมแล้วจะพบว่าชนิดพันธุ์ปลาที่พบในแม่น้ำมูลก่อนการสร้างเขื่อนปากมูลมีมากชนิดกว่าที่พบในช่วงระหว่างการก่อสร้างและหลังมีเขื่อนปากมูล และพบชนิดปลามากขึ้นอีกครั้งหลังจากการมีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในปี 2543-44


 


นอกจากนี้ นักวิชาการประมงจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพบว่าการพบชนิดปลาที่มากมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่ชาวบ้านมีการจับปลาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ดูจากผลจับต่อหน่วยการลงแรงงานต่อวัน- Catch per Unit of fishing efforts: CPU)


 


2. มีมุมมองรอบด้านระหว่างความเกื้อกูลของระบบนิเวศกับชีวิตชาวบ้าน


จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2543-44 โดยการใช้แบบสอบถาม ใน 22 หมู่บ้านตัวอย่างและสุ่มตัวอย่างประชากรประมาณ 30% ในแต่ละหมู่บ้านที่เป็นตัวอย่าง ได้จำนวนผู้ให้ข้อมูลจำนวน 899 คน พบว่ารายได้หลักสำคัญของชาวบ้านที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านมาจากการขายปลาตามฤดูกาลที่จับได้จากแม่น้ำมูลโดยเปรียบเทียบช่วงก่อนมีเขื่อน หลังมีเขื่อน และระหว่างการเปิดประตูเขื่อนให้มีการศึกษา (ปี 2543) ดังตารางนี้


 


ตารางแสดงรายได้จากการจับปลาเปรียบเทียบกับรายได้จากแหล่งอื่นๆ (บาท/ปี)
























  ช่วงปี


 รายได้เงินสดจากประมง


รายได้จากเกษตร(ทำนาและอื่นๆ)


รายได้จากการรับจ้างต่างถิ่น


ปี 2533


25,742


12,518


20,099


ระหว่างสร้างและหลัง


มีเขื่อนนับจากปี 2533


3,045


11,113


36,905


ระหว่างเปิดประตูเขื่อนปี 2543


10,025


7,720


36,957


ที่มา: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (2545)


 


มีคำอธิบายสำคัญสองประการจากข้อมูลในตารางนี้      


ประการแรก รายได้จากปลาเปรียบเทียบระหว่างก่อนมีเขื่อน ระหว่างมีเขื่อน และระหว่างการเปิดประตูเขื่อน พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด การเปิดประตูเขื่อนปากมูลตลอดปีทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการจับปลามากขึ้นอย่างเห็นชัดเจนแม้ว่าจะต่ำกว่ารายได้ที่เคยได้จากการจับปลาในช่วงก่อนที่จะมีเขื่อน


 


ประการที่สอง หากเปรียบเทียบรายได้จากปลากับการทำกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น ภาคเกษตร (ทำนา ปลูกพืช) โดยเฉลี่ยพบว่ารายได้จากภาคเกตรมีน้อยกว่ารายได้จากประมง เนื่องจาก ความอุดมสมบูรณ์ของดินมีระดับต่ำ พื้นที่ทำกินอยู่ในเขตภูเขา โดยเฉพาะอำเภอโขงเจียม นอกจากนี้แม้รายได้จากการย้ายถิ่นจะสูงมากที่สุดแต่ชาวบ้านต้องแลกเปลี่ยนกับต้นทุนทางสังคมของที่ค่อยๆหายไป เช่น ความอบอุ่นในครอบครัวที่ญาติพี่น้องไม่ได้อยู่ร่วมกัน


 


3. การใช้น้ำชลประทานเพื่อการเกษตร


การสำรวจปี 2543-44 ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า การปลูกข้าวส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ส่วนการใช้น้ำมูลจากการสูบด้วยไฟฟ้าที่มีสถานี 16 แห่ง (ม.อุบลราชธานีศึกษา 9 สถานีได้แก่ สถานีบ้านทรายมูล ท่าเสียว โนนข่า หนองโพธิ์ ท่าช้าง วังแคน ดอนชี คันเปือย และสุวรรณวารี) พบว่า ชาวบ้านขอใช้น้ำจากการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ช่วงหน้าแล้งเพื่อปลูกข้าวนาปรังไม่ค่อยนิยมในหมู่ชาวบ้าน (มีเพียง13 %) ส่วนมากขอน้ำปลูกแตงโม (61%) และปลูกพืชอื่นๆ และ บ่อปลา ประมาณ 26 %)


 


จำนวนพื้นที่รวมกันที่ใช้น้ำมูลที่สูบจากไฟฟ้ามีเพียง 2,426 ไร่ เท่านั้น (เพียง 10 %) หากเปรียบเทียบกับพื้นที่การเกษตรทั้งหมดในเขต 9 สถานีสูบน้ำ ที่มีมากถึง 24,200 ไร่


 


ส่วนการใช้น้ำสูบด้วยไฟฟ้าหน้าฝนเพื่อทำนาปีมักจะเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝนในการหว่านกล้าช่วงฝนทิ้งช่วง เหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านไม่ใช้น้ำที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าคือ ค่าน้ำมีราคาแพง ไม่คุ้มค่า และพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก


 


นอกจากนี้ยังพบว่าการเปิดประตูเขื่อนปากมูลไม่มีผลกระทบต่อการสูบน้ำเนื่องจากการออกแบบหัวสูบ สามารถที่จะมีการปรับขึ้นลงตามระดับน้ำได้ แต่บางสถานีมีปัญญาสูบไม่ได้นั้นไม่เกี่ยวกับการเปิดประตูเขื่อนปากมูล แต่เกิดขึ้นจากการขาดการประสานกันระหว่างเขื่อนปากมูลและผู้ดูแลสถานีสูบน้ำเท่านั้น


 


4. ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า


การศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทยต่างพบว่า เขื่อนปากมูลไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามที่คาดการณ์เอาไว้คือ 136 เมกกะวัตต์


 


จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในปี 2544 ในช่วงที่มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลทั้งปีนั้นพบว่าการที่เขื่อนปากมูลไม่ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดปีไม่มีผลต่อปัญหาความมั่นคงทางพลังงานในภาคอีสานตอนล่างแต่ประการใด ดังนั้นการเปิดประตูเขื่อนปากมูลจึงไม่มีผลต่อความไม่เพียงพอและความมั่นคงของไฟฟ้า


 


5. กลุ่มใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบกรณีปิดเขื่อนปากมูลเพื่อรักษาระดับน้ำ


กลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการปิดประตูเขื่อนปากมูลคือชาวบ้านมีทำการประมงอย่างน้อย 6,000 ครอบครัวตลอดลำน้ำมูลนับจากปากแม่น้ำมูลจนถึงเมืองอุบลราชธานี


 


ดังนั้น การเปิดเขื่อนปากมูลอย่างน้อย 4 เดือนดังที่เคยมีมาก่อนสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการสูญเสียรายได้จากการประมงของชาวบ้าน การฟื้นฟูระบบนิเวศประมง เช่น เปิดเส้นทางธรรมชาติให้ปลาจากแม่น้ำโขงมาวางไข่และแพร่พันธุ์ในแม่น้ำมูลเพื่อเป็นอาหารและรายได้สำคัญของชาวบ้าน ตลอดจนให้ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตอย่างพอเพียงบนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net