Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 7 ก.ค. 50 ในรายการตัวจริงชัดเจน ซึ่งมีนายจอม เพชรประดับเป็นผู้ดำเนินรายการ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี วานนี้ (6 ก.ค.) ได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550


 



 


สมคิดแจง รธน.50 เอา 40 ตั้ง ยันสิทธิเสรีภาพประชาชนดีขึ้นมาก


โดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเลขานุการกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่าการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวตั้ง โดยแก้ไขจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ครึ่งหนึ่งหรือ 150 มาตรา อะไรไม่ดีก็แก้ไข ที่ดีก็คงไว้


 


จุดแรกคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนดีขึ้นอย่างมาก รัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนว่ามีกี่อย่าง รัฐธรรมนูญปี 2550 เรามีทุกอย่าง แถมแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น ให้ประชาชนเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ให้ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ มีการรับรองการรวมกลุ่มของเอ็นจีโอ สิทธิสตรีจะดีขึ้นกว่าเดิม และมีการตัดคำว่า "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติออก" เพื่อให้สิทธิที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ทันที และบังคับกรอบเวลาเรื่องการออกกฎหมายลูกด้วย เพื่อให้มีกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญทันที


 


ยัน ส.ว.สรรหา เพราะเลือกตั้งแล้วได้ผลไม่ดี มั่นใจสรรหาได้ ส.ว.น้ำดีเข้าสภา


ข้อดีที่สองของรัฐธรรมนูญ ที่ ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อไปคือ การทำให้ระบบการเมืองประเทศเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ปฏิรูปการเมือง แต่ต้องทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากที่สุด ระบบเลือกตั้งเราเปลี่ยน ส.ส. 500 คน เปลี่ยนเป็น 480 คน กำหนดให้มี ส.ส.เขตละ 3 คน และระบบบัญชีรายชื่อเปลี่ยนเป็น 8 บัญชีๆ ละ 10 คน เพื่อให้กระจายตามพื้นที่ต่างๆ


 


ส่วนการเลือกตั้ง ส.ว. ที่ผ่านมาเราได้ผลการเลือกตั้งที่ไม่ดีนัก แม้ว่าการเลือกตั้งจะดีสำหรับประชาชนก็ตาม เลยเปลี่ยน เป็นใช้ระบบเลือกตั้ง 76 คนในแต่ละจังหวัด และ สรรหา 74 คน ซึ่งเราเชื่อว่าการสรรหาจะได้ ส.ว. น้ำดี ได้คนที่อยากช่วยสังคมไทย แต่ลงเลือกตั้ง ส.ว. แล้วไม่ได้เป็นแน่ เช่น หมอประเวศ วะสี หรือคุณสุริยะใส


 


ศ.ดร.สมคิด กล่าวถึงข้อดีที่สามของรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 นี้ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน คุณธรรม และจริยธรรม ถูกเขียนเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดย ศ.ดร.สมคิดเชื่อว่าถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดห้ามมิให้นักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามา ในระยะยาวจะได้นักการเมืองน้ำดีมากขึ้นเรื่อยๆ


 


นายจอม เพชรประดับ ผู้ดำเนินรายการสอบถามถึงสาเหตุที่ ส.ส.ร.ไม่บัญญัติข้อความพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ โดย ศ.ดร.สมคิดตอบว่า เรื่องนี้ไม่ควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ทาง ส.ส.ร.ก็ได้เขียนไว้ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทยนับถือมาช้านาน


 


สุริยะใสชี้ไม่พอใจ รธน.50 หลายจุด แต่จะคว่ำต้องคิดหนัก เพราะหลายมาตราดีขึ้น


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้ประสานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พปป.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 เราคาดหวังว่าจะทำให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเข้มข้น แต่สุดท้ายไปไม่ถึง สุดท้ายมีขั้วอำนาจเดียวเข้าบริหารประเทศ มันตอบโจทย์ปัญหาการเมืองไทยไม่ได้ ฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 บนเงื่อนไขนี้ ส.ส.ร.ชุดปัจจุบันจึงรับภาระหนักกว่า ส.ส.ร. ชุดแรก แต่เขาก็เห็นความตั้งใจ ส.ส.ร. ชุดปัจจุบันที่เข้ามาแก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2540


 


อย่างไรก็ตาม เลขาธิการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า ยังไม่มั่นใจการมีส่วนร่วมของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะยังดึงอำนาจสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไว้ที่ศาลและข้าราชการ ไม่ได้ให้ประชาชน ทั้งที่ มีองค์กรภาคประชาชนที่สามารถตรวจสอบการคอร์รัปชั่นได้ ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย และนายสุริยะใสยังเห็นว่าการเมืองภาคพลเมืองในรัฐธรรมนูญปี 2550 มีฐานะขึ้นมากกว่าปี 2540


 


สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2550 นายสุริยะใสคิดว่าตัวเขาติดอยู่หลายสิบมาตรา แต่จะให้คว่ำรัฐธรรมนูญหรือไม่คงต้องคิดหนัก เพราะมีหลายมาตราในรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นธรรม


 


กกต.แจงหน้าที่ตาม รธน.50 ลดความเบ็ดเสร็จกว่า รธน.40


นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ตัวเองในฐานะประชาชน เห็นว่า บทบาท กกต. ภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือจัดการลงประชามติ และการเลือกตั้ง แต่อำนาจหน้าที่ของ กกต. ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีการปรับปรุงอย่างชัดเจน อย่างการให้ใบเหลืองใบแดง ในอดีต กกต. ถูกวิจารณ์ว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเอง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับฟังความคิดเห็น และมีการแก้ไขจากเดิม โดยที่ในส่วนอำนาจหน้าที่ของ กกต. ก่อนที่จะรับรอง ส.ส. อำนาจการให้ใบเหลืองใบแดง ป้องกันซื้อเสียง ป้องปรามคนทุจริต อยู่ที่ กกต. แต่ภายหลังที่รับรอง ส.ส. แล้ว ถ้า กกต. เห็นว่าจะให้ใบเหลืองใบแดงต้องไปศาลฎีกา ถือว่าเป็นจุดปรับเปลี่ยน แก้ไข ตามที่ไประดมความเห็นประชาชนมา


 


เลขานุการ กกต. ผู้นี้ยังกล่าวว่า บทบาทของ กกต. นอกจากออกเสียงประชาชน และเลือกตั้งแล้ว ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ยังระบุให้ กกต.มีบทบาทด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย ส่วนที่มาของ ส.ว. สรรหา ตัวเขาเข้าใจว่าเป็นเจตนาดีของ ส.ส.ร. ที่ระบุ ส.ว. ประเภทสรรหามาเสริมเพื่อให้เกิดการประนีประนอมกัน


 


นิธิออกวีทีอาร์ยัน รธน.ไม่ได้เกิดจากผู้มีความรู้มาร่าง ฉีก รธน.สังคมนับหนึ่งใหม่เสมอ


ในช่วงหนึ่งของรายการ ได้มีการถ่ายทอดคำให้สัมภาษณ์ของผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า ประเทศประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดจากประชุมของผู้มีความรู้มาร่างรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญมันเป็นกระบวนการทางสังคมที่เกิดตามสำนึกเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทางสังคม ไม่ใช่มาเขียนว่าประชาชนควรมีสิทธิอะไรบ้าง เมื่อใดก็ตามที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ สังคมก็ต้องนับหนึ่งใหม่เสมอ


 


ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อไปว่า ข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ การไม่เชื่อใจประชาชน คิดว่าประชาชนโง่ ถ้ามีการเลือกตั้งต้องขายเสียงแน่ แทนที่ ส.ส.ร. จะไปสู้เรื่องการขายเสียง กลับไปสู้ให้ที่มาของ ส.ว. เกิดจากการคัดสรร โดยไม่ให้ความสำคัญกับพลังประชาชน และการที่เปลี่ยนให้การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเขตเลือกตั้งใหญ่ ทำให้แทบไม่ได้ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนประชาชนเลย


 


ศ.ดร.นิธิ ยังพูดถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ ส.ส.ร. ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้ ส.ส. ซึ่งมาจากประชาชนทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นตัวแทนพื้นที่เลือกตั้งไม่ได้ แต่เป็นตัวแทนประชาชนองค์รวมทั้งประเทศ ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งจึงไม่ได้เข้าสภา สภาไม่เคยถกเถียงเรื่องนี้ ที่เถียงกันในสภาจึงเป็นประเด็นของคนชั้นกลางที่เสียงดังสุด


 


ตั้งคำถาม รธน.50 เพิ่มสิทธิในชีวิตประจำวันขนาดไหน?


ทั้งนี้ ศ.ดร.นิธิ ยังตั้งข้อสังเกตถึงร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีการกล่าวถึงว่ามีสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นว่า ข้อดี ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนเพิ่มขึ้นนั้น เสรีภาพที่ให้เพิ่มเป็นแค่สัญลักษณ์ไม่มีความหมาย เช่น การลดจำนวนคนขอถอดถอดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการเสนอกฎหมายนั้น ไม่มีความหมาย จริงๆ ตัวเลข 50,000 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ใช่มากมายอะไร เสนอกฎหมายถ้าหาไม่ได้ 50,000 ชื่อ แปลว่าคุณไม่ควรเสนอกฎหมายฉบับนั้น


 


อย่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน จะต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้มีเสียงดังพอให้คนในประเทศเข้าใจว่า กฎหมายป่าชุมชน จะดีกว่า กฎหมายป่าอันเดิมอย่างไร แต่เพราะประชาชนเข้าไม่ถึงสื่อของรัฐ ดังนั้นถ้าคุณอยากเข้าใจปัญหาของประเทศไทย ต้องทำให้เสียงของคนเท่าเทียมกัน ศ.ดร.นิธิยกตัวอย่าง


 


"สิทธิเสรีภาพที่ให้กันมาในรัฐธรรมนูญปี 2550 มันเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชนในชีวิตจริงขนาดไหน" ศ.ดร.นิธิกล่าวในที่สุด


 


วีระแจงเหตุ 4 ข้อไม่รับ รธน.50 พ่วงไม่บรรจุพุทธเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน.


ต่อมาทางรายการได้ถ่ายทอดเทปให้สัมภาษณ์ของนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยนายวีระกล่าวถึงสาเหตุที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า หนึ่ง เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่บรรจุเรื่องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งน่าบรรจุไว้เพราะจำเป็น ประเทศให้สิทธิเสรีภาพทุกศาสนาอยู่แล้ว แต่คนนับถือพุทธศาสนากว่าร้อยละ 90 และเจริญรุ่งเรืองมานาน จึงน่าบรรจุ


 


สอง วิธีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตละ 3 คน แทนวันแมนวันโหวต ทำให้ได้ ส.ส. แบบเบี้ยหัวแตก จะทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้เสียงอย่างเด็ดขาด ทำให้การเลือกตั้งได้รัฐบาลผสมแน่นอน


 


สาม สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดละคน ทำให้แต่พื้นที่ได้ ส.ว. ไม่เท่ากัน กรุงเทพมหานครเคยได้ ส.ว.18 คน ตอนนี้ได้ 1 คน เท่ากับที่ ระนองได้ 1 คน แต่ก็ไม่ร้ายเท่าทั้ง 76 จังหวัด ได้ ส.ว. เพียง 76 แถมมี ส.ว. สรรหาอีก 74 คน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเกลียดที่สุด


 


สาม การนิรโทษกรรม ตัวเขาไม่เห็นด้วย เหมือนส่งเสริมให้คนยึดอำนาจ ทั้งที่ใครยึดอำนาจไม่ได้ต้องมีความผิด นิรโทษกรรมไม่ได้ ไม่ใช่เขียนรัฐธรรมนูญแล้วมีนิรโทษกรรมให้ คมช. อันนี้รับไม่ได้ แกนนำ นปก. กล่าวในที่สุด


 


สมคิดยัน รธน.50 เชื่อประชาชนไม่ใช่นักการเมือง 3 พัน 5 พัน


ในช่วงท้ายของรายการ ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า อยากย้ำว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นี้เชื่อมั่นประชาชนว่าจะทำให้การเมืองไทยดีขึ้นแน่นอน ไม่ใช่นักการเมืองเพียง 3,000-5,000 คน และจะมีกองทุนพัฒนาการเมืองประชาชน กองทุนเกษตรกร รับรองสิทธิเอ็นจีโอ ตัวเขาเชื่อมั่นว่าประชาชนเป็นหนทางเดียวของระบอบประชาธิปไตย


 


ตัวร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีปัญหาอย่างที่หลายฝ่ายกังวล และคิดว่าทุกฝ่ายต้องมีสิทธิรณรงค์ได้ คุณวีระ อาจารย์นิธิ พูดได้ไม่ผิด ส.ส.ร. เสนอว่าผ่านประชามติแล้วจะมีเลือกตั้งก็ไม่ผิด ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญต้องรณรงค์กันเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยและให้ทหารกลับเข้ากรมกอง ศ.ดร.สมคิดกล่าว


 


กกต.ยันไม่ห้ามรณรงค์ไม่รับ รธน.50 แนะคนอยู่ไกลรีบทำเรื่องใช้สิทธินอกเขต


นายสุทธิพงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการออกเสียงประชามติที่จะมีขึ้นนี้ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นอำนาจของ ส.ส.ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญและจะมีหน่วยงานรับผิดชอบขั้นตอนการลงประชามติอีกทอดหนึ่ง ส.ส.ร.จึงออกหลักเกณฑ์มาให้ กกต. ดำเนินการลงประชามติให้สุจริตและเที่ยงธรรม


 


ขอย้ำว่าการออกเสียงประชามติเป็นสิทธิ ถ้าไม่ออกเสียงไม่ผิด แต่ กกต. คงรณรงค์ให้ท่านออกมาใช้สิทธิและไม่ได้ห้ามคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ หรือไม่ให้รับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ห้าม


 


นายสุทธิพงศ์กล่าวถึงการทำหน้าที่ของ กกต. ในการลงประชามติว่า เป็นจุดสมดุลระหว่างการใช้สิทธิเสรีภาพประชาชน ในสภาวการณ์ที่บ้านเมืองไม่ปกติประชาชนเห็นแตกต่างกันในความคิด มีเห็นลบ เห็นด้วย จึงต้องสร้างจุดสมดุล ถ้าถึงขนาดก่อความวุ่นวาย เช่น การออกเสียงมีการนำบัตรออกเสียงที่ไม่ใช่บัตรออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดถือว่าผิด ก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง รบกวน ให้หรือเสนอให้ทรัพย์สินให้ผู้ออกเสียงจูงใจออกเสียงทางใดทางหนึ่ง ถือว่าผิด


 


นายสุทธิพงศ์ยังฝากไปยังประชาชนทั่วประเทศว่า ท่านอาจไปทำงานที่อื่น ก็สามารถออกเสียงประชามติโดยระหว่างวันที่ 10-19 ก.ค. ให้ขอใช้สิทธินอกจังหวัด โดยจะมีแบบฟอร์มการลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตจังหวัดที่อำเภอ ที่สำนักงานเขต หรือเทศบาลที่ท่านอาศัยอยู่ ขอให้เชื่อว่า กกต. จะจัดการลงประชามติอย่างบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม


 


สุริยะใสชี้อยากให้ 2 ฝ่ายรับ-ไม่รับมีเวทีชี้แจง ให้สังคมตัดสินใจเอง


สุดท้าย นายจอม เพชรประดับ ผู้ดำเนินรายการ ถามนายสุริยะใส กตะศิลาว่า คิดอย่างไรถ้าร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ผ่านประชามติ ปัญหาจะเป็นอย่างไร รัฐบาลควรทำอย่างไร นายสุริยะใสกล่าวว่า การลงประชามติมีนัยยะที่สลับซับซ้อนไม่ใช่กาว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่เป็นการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ว่าเห็นด้วยกับการรัฐประหาร 19 กันยาหรือไม่ ถือว่าเป็นการลงประชามติที่แปลกมาก


 


นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า เขาไม่อยากให้ชี้เป็นชี้ตายในวันที่ 19 ส.ค. และเสนอว่า ก่อนที่จะถึงการลงประชามติเราจะทำให้เกิดการถกแถลงทั้งฝ่ายเห็นด้วย ไม่เห็น มีพื้นที่แบบรายการวันนี้ จัดให้มีเวทีอย่างไร ให้คนตัดสินใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ผ่านเพราะ คมช. สั่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือไม่เห็นด้วย เพราะติดว่ารัฐธรรมนูญมาจากการรัฐประหาร หรือไม่เอาเพราะประเด็นพุทธเป็นศาสนา ถ้าแบบนี้เท่ากับลดส่วนประเทศไทย ซึ่งมองกันแคบไป นายสุริยะใสกล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net