Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 



 


ภาพจาก AFP


 


และแล้วสถานการณ์ก็เข้าสู่ช่วงที่แหลมคมขึ้นทุกทีสำหรับการเมืองแบบการทหารในประเทศไทย หากนับกันมาตั้งแต่วันรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นเวลาเกือบ 10 เดือนแล้วที่ทหารออกจากกรมกองมา "เพ่นพ่าน" ตามเมืองและหมู่บ้าน


 


ปกติแล้ว "พวกท่าน" เหล่านี้เข้าจะมาเป็นประจำตามรอบเวลา ถึงเวลาก็มาทีคล้ายๆ สตรีอั้นประจำเดือนไม่ไหวคราวนี้อั้นกันมากว่า 15 ปีแล้ว ซึ่งการออกมารอบนี้ก็ทำให้ปวดหัวกันไปทั่วไม่ต่างจากในอดีตว่าจะทำอย่างไรจึงจะให้ "ท่านทั้งหลาย" เหล่านี้กลับไปสู่ที่มาให้เร็วที่สุด


 


เพราะว่าการออกมาของ "พวกท่านทั้งหลาย" แต่ละครั้งนั้น ต้องแลกกับสิทธิเสรีภาพที่ค่อยๆ หดหายไปพร้อมๆ กับความกลัวที่ถาโถมทวีเข้าสู่ประชาชนมากขึ้นทุกที


 


เกิดเป็นประชาชนก็มีแต่มือเปล่าๆ เท่านั้นแล…


 


นับประสาอะไรใครหนอจะอยากเป็นเหยื่อลูกตะกั่วเอ็ม 16 ยกแม็ก หรือตายโหงคาตีนตะขาบรถถังคันโตเล่า จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาเวลา "พวกท่านทั้งหลาย" ออกมาที ก็ทำให้คนบางคนก็หายตัวไปเสียเลยดื้อๆ ชาวบ้านเขาเรียกว่า "โดนอุ้ม" ส่วน "พวกท่านทั้งหลาย" หลังถูกประชาชนไล่กลับทีไรก็ "โดนอุ้ม" เหมือนกัน แต่อุ้มแล้วให้ไปนอนเงียบๆ บนฟูกนุ่มๆ


 


ประชาชนก็ตายกันไปไม่รู้กี่คนและกี่รอบแล้วกับการไล่ "พวกท่านทั้งหลาย"


 


เอาล่ะ เอาเป็นว่า 10 เดือนมานี้ "พวกท่านทั้งหลาย" ก็ถูกไล่กับเขาบ้างแหล่ะ อย่างน้อยๆ ก็เห็นเค้าความพยายามอยู่รำไร ไม่ว่าจะกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร, โดมแดง, ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊ก, แนวร่วมประชาธิปไตยต้านรัฐประหาร หรืออื่นๆ หากมารวมๆ กันแล้วก็นับว่ามากโขอยู่ อย่างน้อยๆ ก็สะเทือนซาง "พวกท่าน" จนไม่กล้ายกเลิกกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ และส่ง "กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน" (กอ.รมน.) ลงไปจับตาประชาชนแบบติดหมู่บ้าน


 


จากการที่กลุ่มต่างๆ ออกมาต้านการรัฐประหารแบบนี้ รวมๆ ไปกับความเป็นจริงจากบทเรียนในประวัติศาสตร์การยึดอำนาจแล้ว  ตัว "พวกท่าน" ก็คงอยากจะกลับกรมกองไปให้เร็วๆ เหมือนกัน เพราะขืนอยู่นานคงจะกลายเป็น "เป้า" ที่โดน "ล่อ" เหมือนรุ่นพี่ๆ ตอนโดนไล่สังเวยการเมืองไทย ถึงกระนั้นจะถอยทั้งทีอย่างน้อยๆ ก็ต้องมีอะไรติดไม้ติดมือกลับไปให้คุ้มค่าน้ำมันรถถังบ้าง มันเลยก็ต้องหาทาง "การสืบทอดอำนาจ" กันสักเล็กสักน้อยตามประสาคนมีอาวุธยุทโธปกรณ์


 


ไปเช็คดูเองเถอะ สัญญาณแห่งการสืบทอดอำนาจมีปรากฏให้เห็นกันเนืองๆ ทั้งทางการออกกฎหมายหรือการตัดฐานกำลังฝ่ายตรงข้ามที่จะเตะตัดขา ง่ายๆ ก็ตั้งแต่การตัดท่อน้ำเลี้ยงกลุ่มอำนาจเก่าด้วยการอายัดทรัพย์ "ตระกูลชิน" การตัดสินยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง 111 ผู้บริหารพรรคไทยรักไทย การฟื้นความสำคัญให้ทั้งเงินและอำนาจอย่างยิ่งยวดแก่ กอ.รมน.การอนุมัติงบประมาณทางการทหารอย่างมากมายโดยที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปรบกับใคร แผนผ่าตัดโครงสร้างตำรวจใหม่ หรือแม้แต่การเตรียมออกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... เป็นต้น เรียกได้ว่าไอ้พวกนี้ ถ้าไม่ทันเกมหรือค้านยันกันไว้แบบหนักแน่นเหมือนที่หลายๆ กลุ่มกำลังทำอยู่คงมีหวังต่อท่ออำนาจกันถาวรชั่วลูกหลานและทั่วประเทศแน่


 


ผ่านเรื่องยิบย่อยพวกนั้นไปก่อน มากันที่ในระยะอันใกล้นี้ก็จะมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษ นั่นก็คือ การจัดให้ลงประชามติ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าเป็น "กฎหมายสูงสุดของประเทศ" มีที่มาจากการ "รัฐประหาร" และ "ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540" ดังนั้น ในแง่เนื้อหาก็ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคงมี "กลิ่นเหม็นเขียว" โชยตุๆ ออกมาบ้าง


 


โดยการ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นี้เองจะเป็นจุดแหลมคมของสถานการณ์ เพราะบนปลายแหลมมันคือความไม่แน่นอน บนความไม่แน่นอน การเลือกอย่างหนึ่งย่อมมีความหมายสูงค่าอย่างยิ่ง ถ้า "รับ" คือเส้นทางทางหนึ่ง ส่วน "ไม่รับ" ก็จะเป็นเส้นทางฉีกไปอีกเส้น


 


ทางแรกหาก "รับ" ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ที่จะหมายความว่า "การรัฐประหาร 19 กันยาฯ" ยึดอำนาจได้อย่างค่อนข้างสำเร็จสมบูรณ์ แม้จะมีการเลือกตั้งตามมาในภายหลัง หรือจะเห็นภาพ "พวกท่านทั้งหลาย" กลับเข้ากรมกองไป อำนาจแฝงสีเขียวจะยังมีอิทธิพลปกคลุมผ่านรัฐธรรมนูญนี้อย่างเป็นสัญญะที่ส่อถึงรากวัฒนธรรมไทยที่ไม่เคยจะเปลี่ยนว่า อยากเป็นขี้ข้ายอมรับในอำนาจที่เหนือกว่าอยู่ร่ำไป...ถ้าเป็นแบบนี้บางทีประเทศไทยอาจไม่น่าอยู่เสียแล้ว


 


เอาล่ะ หันมาลองดูทางหลังกันหน่อย การลงมติ "ไม่รับ" ซึ่งเป็นแนวทางที่ฝ่ายไม่ยอมรับการรัฐประหารยึดเป็นธงนำในการรณรงค์ล่ะ...แนวโน้มน่าจะเป็นอย่างไรต่อ?


 


เขาว่ากันว่า ทางนี้คงจะเป็นทางเลือกที่เลี่ยงสามารถนำ "พวกท่านทั้งหลาย" กลับกรมกองได้โดยสันติที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือเลี่ยงการสูญเสียหลังการไล่ทหารแบบทุกครั้งที่ผ่านมาในอดีต ความหมายแฝงของทางเลือกนี้คงสะท้อนได้บ้างว่า "การรัฐประหาร 19 กันยาฯ" ไม่สำเร็จสมบูรณ์เสียทีเดียว


 


เพราะหมายถึงการที่ประชาชนกดดันให้คายอำนาจคืนมาได้ผ่านกระบวนการแบบประชาธิปไตย การ "ไม่รับ" จะสามารถสื่อความหมายของการไม่ยอมรับอำนาจอื่นที่มาสร้าง "กฎเกณฑ์สูงสุด"


 


และนั่นย่อมหมายความว่า ประชาชนกำลังต้องการอำนาจอธิปไตยกลับคืนมา ทั้งนี้ หลังการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งในอดีตจะต้องถูกนำมาประกาศใช้ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าความเพียรพยายามใส่กลิ่นทหารลงในรัฐธรรมนูญกันแทบตายกว่าครึ่งปีต้องพลันสูญสลายลงสิ้นเชิง


 


ทั้งนี้ ไม่ว่าทหารจะขู่อย่างไร การเลือกตั้งก็ย่อมเกิดขึ้น และ "ท่านทั้งหลาย" ย่อมต้องกลับกรมกองเนื่องจากไม่มีเหตุผลที่จะต้องคงอยู่หลังการเกิดขึ้นของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และจะตามมาด้วยความมั่นคงในประเทศ...อย่างน้อยๆ ก็คงจนกว่าจะอั้นประจำเดือนไม่ไหวอีก


 


อย่างไรก็ตาม หากสามารถส่ง "พวกท่านทั้งหลาย" กลับกรมกองคราวนี้ได้จริง ต่อไปก็คงไม่มีหน้าออกมาเพ่นพ่านเรี่ยราดได้อีก เพราะมันทั้ง "เสี่ยง" และ "สูญเปล่า" เหลือเกินกับความพยายามที่อาจสูญเปล่าในครั้งนี้


 


แต่ !!! อย่าเพิ่งนอนใจว่าการลงประชามติครั้งนี้จะนำ "พวกท่านทั้งหลาย" กลับกรมกองได้ง่ายๆ เพราะผลประชามติ "รับ" ดูจะถือไพ่เหนือกว่าอย่างน้อยๆ ก็แต้มสองแต้ม


 


ทว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเกิดแนวทางอีกหนึ่งปรากฏตัวขึ้นอย่างสนใจ และไพ่ใบนี้ก็น่าลุ้นยิ่ง เพราะถึงผลประชามติ "รับ" เหนือแต้มกว่า "ไพ่" ใบนี้เมื่อหงายมาอาจทำให้ "พวกท่านทั้งหลาย" ต้องเหนื่อยกันอีกเฮือกหนึ่ง


 


ไพ่ใบนี้เปิดมาโดย  "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอให้ "ไม่รับ" "ประชามติ" เสียตั้งแต่แรกไปเลย


 


สำหรับเหตุผลที่ให้มาค่อนข้างชัดเจนว่า การไปลงประชามติเท่ากับ "ผูกมัด" ตัวเอง หรือก็คือการบอกว่ายอมรับ กับกระบวนการลงประชามติ ยอมรับกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งการยอมรับเหล่านี้มีนัยยะของ การรัฐประหาร, การล้มรัฐธรรมนูญเก่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้การปกครองของทหาร


 


ทั้งหมดทั้งปวงย่อมขัดกับแนวทางประชาธิปไตยที่ประชาชนทั้งหลายทั้งปวงกำลังแสวงหา


 


ในมุมมองของนักวิชาการค่ายธรรมศาสตร์ท่านนี้เห็นปัญหาที่ตามมาจากการยอมรับการลงประชามติก็คือ นอกจากเป็นการสร้างหรือยอมรับความชอบธรรมให้กับกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงด้วย เพราะหากผลที่ออกมา เสียงที่ลงส่วนใหญ่  "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในทางทฤษฎีก็ต้องยอมรับผลนั้นด้วย


 


ส่วนข้อเสนอที่ตามมา ของนักวิชาการท่านนี้ก็คือ การปฏิเสธกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งกระบวนการ ด้วยแนวทางทำ "บัตรเสีย" "ฉีก"หรือ "เผา"บัตรลงประชามติ (แต่แนวทาง 2 ประการหลังนี้ ตามมาด้วยความเสี่ยงทางกฎหมายอย่างยิ่ง อาจเดินทางไปใช้ชีวิตในคุกสักพักใหญ่ได้ ผู้เลือกใช้โปรดพิจารณาไตร่ตรองและรับผลด้วยตัวเอง)


 


ความน่าสนใจอย่างมากต่อแนวทางนี้ ก็คือ เหมือนเลือกไพ่ไว้ 2 ใบ เพราะหากผลประชามติ "รับ"ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็น "เสียงข้างน้อย" ก็เท่ากับการเดินสู่เส้นทางเดียวกับที่กลุ่มลงประชามติ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญมองเอาไว้ นั่นก็คือการนำ "ท่าน" กลับกรมกองอย่างข้างสันติที่สุด


 


ส่วนหากเสียงที่ "รับ" ยังคงเป็น "เสียงข้างมาก" การต่อสู้กับการรัฐประหารจะยังดำเนินต่อไปได้ ด้วยเหตุผลที่การลงประชามติทั้งหมด "ไม่เป็นประชาธิปไตย" และไม่เคยถูกยอมรับการลงประชามติภายใต้เผด็จการตั้งแต่ต้น


 


แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น หากการณ์เป็นไปในทางหลังสุดซึ่งก็คือเลวร้ายที่สุดแล้ว การไล่ "พวกท่าน" กลับกรมกองรอบหลังสุดนี้ คงไม่หนีไปจากการเดินตามรอยของบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา...


 


คิดแล้วเสียวหลังวาบเลยครับ...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net