Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


คิม ไชยสุขประเสริฐ 


 


อะไรคือความนิ่งและไม่นิ่ง?


 


"ความนิ่งในทางวิทยาศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในภาวะที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 เคลวิน และการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าความเร็วแสง (300,000 กิโลเมตรต่อวินาที) นั่นก็คือนิ่ง แต่ยังไม่มีใครหรือวัตถุใดสามารถทำได้ ดังนั้นความนิ่งจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราไม่สามารถที่จะนิ่งได้" โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM กล่าว


 


"ความนิ่งเกิดจากกลไกระดับสูงต้องการให้นิ่งมากกว่า เพื่อการควบคุมความเป็นไปของปัจเจก ไม่ให้เสียการควบคุมที่ดี เรื่องนิ่ง ไม่นิ่ง เป็นโครงสร้างของสังคมในการใช้กลไกต่างๆ ไม่ว่าโดยกรอบวัฒนธรรม เพศหญิงชาย ศาสนา และความเชื่อ โดยมีรูปลักษณ์ ที่ชัดเจนคือกฎหมาย" อัญชนา สุวรรณานนท์ นักรณรงค์เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิทางเพศ


 


"เรารู้ว่าลักษณะสากลของสรรพสิ่งคือความไม่นิ่ง แต่เราก็ยังพยายามควบคุมให้เกิดความนิ่ง ซึ่งหากเราต้องการจะหลีกหนีสิ่งเหล่านี้ก็คงต้องไปอยู่ในสภาพที่ไร้รัฐ หนีจากข้อจำกัดของเพศชายและหญิง แต่เราไม่สามารถอยู่ในสภาพนั้นได้" ลักขณา ปันวิชัย นักเขียนอิสระภายใต้นามปากกา คำ ผกา


 


จากความคิดเห็นที่ถูกนำเสนอไว้บนเวทีสัมมนา เพศไม่นิ่ง: สิทธิการเข้าถึงบริการ ในการสัมมนาระดับชาติเรื่องเอดส์ ครั้งที่11 เพื่อเปิดตัวหนังสือ เพศไม่นิ่ง: ตัวตน เพศภาวะ เพศวิถี ในมิติสุขภาพ หนังสือฉบับภาษาไทยเล่มแรกของภาคีความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ (คอนซอร์เทียม) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา


 


ในความคิดของ บก.หนุ่ม ในตัวคนแต่ละคนเองนั้นมีเพศที่ไม่ซ้ำกัน และในคนหนึ่งคนก็ไม่ได้หมายถึงการมีเพียงเพศเดียว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับอวัยวะที่บ่งบอกความเป็นเพศสภาพ แต่ขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพศมีมากมายหลากหลายในโลกจนไม่สามารถจัดการได้และในอีกมุมมองคือการสลายของการควบคุมจัดการ มันคือสมดุลที่เกิดขึ้นในความไม่อยู่นิ่ง แต่ผู้มีอำนาจกลับพยายามจัดระเบียบ ใช้ความนิ่งมาจัดการกับความไม่นิ่ง เหมือนกับการนำความไม่จริงมากำกับความจริง ทำให้เกิดสิ่งลวงตา


 


ด้านอัญชนาได้ยกข้อสังเกตจากรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ในมาตรา 30 เพื่อคุ้มครองความเท่าเทียมให้แก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกว่าความเป็นเพศไม่นิ่ง คำว่า "ความหลากลายทางเพศ" กลับถูกมองว่าไม่ดี ไม่มีการกำหนดขอบเขต จึงให้เปลี่ยนเป็น "อัตลักษณ์ทางเพศ" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ดูแลไม่อยากรับรู้ถึงความไม่นิ่งที่มีอยู่ โดยนำกรอบของสังคมมาเป็นตัวกำหนดเนื้อหาให้มีเพียงแค่ชายและหญิงเป็นขั้วสมบูรณ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่เปิดรับเพศที่อยู่นอกกรอบที่ได้กำหนดไว้


 


สำหรับนักเขียนอิสระสาวปัญหาของความนิ่งไม่นิ่งไม่ไช่สำคัญ ถ้ามันเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ไปเกี่ยวกับคนอื่น ซึ่งในฐานะพลเมืองของรัฐซึ่งกำหนดให้มีเพียง เพศชายและเพศหญิงเท่านั้น แต่เพศภาวะ เพศวิถี หรือความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่เคยอยู่นิ่ง จึงเกิดคำถามว่าจะจัดการสื่อสารแก้ไขเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร เมื่อรัฐไม่ควรตั้งฐานคิดอยู่เฉพาะบนความเป็นเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น การอุปมาของวันพ่อ วันแม่ ไม่มีได้ไหม นี่คือการแก้ไขโครงสร้างสังคมในเรื่องอำนาจสำหรับการวางกรอบคิดทางสังคม ถึงที่สุดแล้วคงต้องท้าทายรัฐในทุกๆ มิติ หากจะต้องสู้ในเรื่องเพศไม่นิ่ง


 


เวลาหนึ่งชั่วโมงกว่าหมดลงอย่างรวดเร็วกับการพูดคุยเรื่องเพศไม่นิ่งหรือภาวะของการลื่นไหลทางเพศกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ถึงความเกี่ยวโยงเหล่านี้ แม้ประเด็นสำคัญของการจัดงานจะมุงสู่เรื่องสุขภาพและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เนื่องในการสัมมนาระดับชาติเรื่องเอดส์ แต่เมื่อเรื่องของโรคเอดส์เองก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการนำมาใช้ควบคุมความไม่นิ่งของเพศ คำว่า "ติดเชื้อ" จึงเป็นผลทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยการกระทำของรัฐด้วยเช่นกัน


 


"เราต้องมองว่า HIV ไม่ใช่โรคทางศีลธรรม ตามในคำโฆษณา "สำส่อนทางเพศ ติดเอดส์แน่นอน" ที่ HIV กลายเป็นตัวประหลาดที่ทำให้เรายอมจำนนต่อรัฐ ควบคุมให้คนทำตัวให้เหมาะสม แทนที่จะคิดว่าทำอย่างไรให้ผู้ติดเชื้ออยู่ได้อย่างมีความสุขในสังคม การยัดเยียดความนิ่งนี้กลับเป็นผลทำให้เกิดมุมองเชิงลบของคนโดยรอบตัวเขา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องให้บริการในการรักษาซึ่งต้องดูแลทั้งผู้ที่ส่ำสอนและไม่สำส่อนอย่างดี เท่าเทียมกัน" ความคิดจากนักเขียนนามปากกา คำ ผกา


 


หนังสือ เพศไม่นิ่ง: ตัวตน เพศภาวะ เพศวิถี ในมิติสุขภาพ คือจุดเริ่มต้นและภาคต่อเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องเพศไม่นิ่งของการสัมมนาในวันนั้น โดยเรื่องราวจะเป็นการรวบรวมเนื้อหาจากเวทีสัมมนาในเรื่องเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพที่จัดขึ้นในหลายๆ ช่วงเวลา มีสุไลพร ชลวิไล นักวิจัยอิสระที่ทำงานด้านนี้มานาน เป็นผู้เรียบเรียงถ่ายทอดออกมา โดยได้พยายามลดความเป็นตำราวิชาการและนำเสนอความคิดผ่านคำพูดของผู้ร่วมสัมมนา ภายใต้แนวคิดในการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของเนื้องาน


 


ด้วยจุดประสงค์ที่เรื่องเหล่านี้จะไม่ได้ถูกเก็บอยู่ในเฉพาะแวดวงนักวิชาการ และนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในเรื่องเพศ แต่ขยายวงการพูดคุยในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ช่วยกันคิด ช่วยกันตั้งคำถาม และช่วยกันเผยแพร่มุมมองเรื่องเพศที่แตกต่าง เพื่อสร้างความยอมรับในกันและกันด้วยฐานะของความเป็นมนุษย์ที่หลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างเป็นสุข...


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net