Skip to main content
sharethis


ประชาไท  - วานนี้ (4 ก.ค.50) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง "เสรีภาพทางวิชาการกับวิกฤตการเมืองไทย"


 


ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เริ่มต้นว่า แม้ว่าคำ "เสรีภาพ" จะได้รับการรองรับอย่างเป็นทางการจาก "ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1" เมื่อปี 2475 แต่คำว่าเสรีภาพทางวิชาการแพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษ 2500 ซึ่งเริ่มมีอาชีพนักวิชาการในมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง โดยนักวิชาการในมหาวิทยาลัยมุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวคิดเสรีนิยม ซึ่งจะต้องเป็นอิสระจากรัฐราชการและอำมาตยาธิปไตย ที่ผ่านมานับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ประชาธิปไตยซึ่งก็หมายถึงเสรีภาพทางวิชาการในเวลาเดียวกัน ได้เจริญเติบโตไม่น้อย นักวิชาการไทยถูกจำกัด เซ็นเซอร์จากรัฐและตัวเองเพียงแค่เรื่องกษัตริย์และศาสนา


 


ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า การัฐประหาร 19 กันยายน ได้รื้อฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตยอันมีพลเอกเป็นผู้นำขึ้นมาใหม่ และอาจจะอยู่กับเราไปอีกนาน มีสัญญาณที่น่าวิตกด้วยว่า เสรีภาพทางวิชาการกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากผู้กุมอำนาจ มีการจำกัดเสรีภาพในการเผยแพร่หนังสือ เช่น Coup for the Riches นิตรยสารฟ้าเดียวกัน การปิดเว็บไซต์หมื่นกว่าแห่งในเวลาไม่ถึง 10 เดือน นอกจากนี้ยังมีการรื้อฟื้นบทบาทของกอ.รมน. อันเป็นบทบาทของรัฐบาลทหารในสมัยสงครามเย็นและการต่อต้านคอมมิวนิสต์ พร้อมกับปลุกบทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่


 


"บทความของนักหนังสือพิมพ์อย่างกวี จงกิจถาวรเคยเขียนว่า เว็บที่ถูกปิดเป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ เรื่องลามก เรื่องต่อต้านสถาบันกษัตริย์ และเรื่องต่อต้านทหารกับรัฐบาล กวีได้วิจารณ์ว่าไทยคงจะหลงทางไปแล้วในห้วงอวกาศของยุคอินเตอร์เน็ต และมีสถานะไม่ต่างจากพม่า ซาอุดิอารเบีย ตูนีเซีย อิหร่าน ฯ"


 


ส่วนกรณีศ.คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี แจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดร.มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ กรณีที่เขียนหนังสือ "ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2526 ดำเนินการจัดพิมพ์โดยดร.ชาญวิทย์ เมื่อปี 2543 เนื่องในวาระ 100 ปีชาตกาลปรีดีฯโดยผู้แจ้งข้อกล่าวหาระบุว่าได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เนื่องจากหนังสืออ้างช่วงหนึ่งถึงความคลางแคลงใจต่อท่าทีของฝ่ายบริหารเป็นอย่างมาก กรณีที่ศ.คุณหญิงนงเยาว์ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในทำนองว่าอาจารย์ปรีดี เป็นเพียงแค่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นเท่านั้น แต่ต่อมาในระยะหลังก็มิได้มีความผูกพันใดๆ กับทางมหาวิทยาลัย


 


ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2550 ดร.ชาญวิทย์ได้รับหมายเรียกพยานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ไปให้ปากคำ ซึ่งดร.ชาญวิทย์ ยืนยันว่า ผลงานและข้อความในหนังสือดังกล่าวเป็นการเสนอข้อเท็จจริง แสดงความเห็นติดชมเป็นไปตามเนื้อผ้า ที่ได้จากข้อมูลลายลักษณ์อักษร ทั้งผู้เขียนและผู้พิมพ์ไม่ได้มีเจตนาทำให้ศ.คุณหญิงนงเยาว์ เสื่อเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด


 


"คดีนี้นี้ถ้าไม่ใช่เพราะความเข้าใจผิดก็เป็นเพราะมาตรฐานอันต่ำของเสรีภาพทางวิชาการไทย" ดร.ชาญวิทย์กล่าว


 


ผศ.ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเพิ่งชนะคดีไม่นาน กรณีที่ถูกบมจ.ไอทีวีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 80 ล้าน เนื่องจากเขียนบทความเรื่อง "หยุดซื้อสินค้าในไอทีวี" จากปัญหาการแก้ไขสัญญาสัมปทานไอทีวี กล่าวว่า ในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอด 75 ปีแล้ว การรัฐประหาร 19 กันยาถือเป็นเพียงจุดเปลี่ยนอีกครั้งในการกลับมาของนักการเมืองทหารและข้าราชการประจำ หลังจากที่เหตุการณ์พฤษภาเลือดเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทหารในการเมืองไทย ที่ถูก "ใส่หม้อถ่วงน้ำ"


 


"19 กันยา เป็นเพียงการฟื้นคืนชีพของปีศาลประชาธิปไตย หลังจากถูกถ่วงน้ำไปเมื่อปี 35" ผศ.ธำรงศักดิ์กล่าว


 


เขากล่าวต่อว่า ผลของการมีการรัฐประหาร 19 ก.ย. ทำให้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยได้รับความเชื่อมั่นจากผู้คนตลอดว่าเป็นกฎหมายสูงสุดพังทลายลง ไม่มีใครยอมรับเรื่องนี้จนกลายเป็นวิกฤตการของการยอมรับ ทั้งที่กฎหมายอยู่ได้ด้วยการยอมรับของประชาชน


 


นอกจากนี้เขายังแสดงความเสียดายที่การเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มอำนาจเดิม กลายเป็นปัจจัยเงื่อนไขให้ทหารอ้างการคงอำนาจไว้ ดังเช่นที่เคยมีตัวอย่างในอดีตหลายกรณีไม่ว่ากรณีกบฏวังหลวงของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำให้ปรีดีต้องลี้ภัยไปปักกิ่ง จนถูกสหรัฐและรัฐบาลทหารขณะนั้นนำมาเป็นเครื่องมือปลุกผีคอมมิวนิสต์ และผู้คนในสังคมก็เชื่อ เพราะสื่อทั้งหมดตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ


 


"การเคลื่อนไหวของทักษิณและกลุ่มอำนาจเดิม ตอนนี้ถูกลดทอนเหลือแค่การปกป้องทรัพย์สินของตนเอง ของครอบครัวเท่านั้น"


 


ผศ.ธำรงศักดิ์ ยังอ้างงานวิชาการต่างประเทศที่ระบุว่าบทบาทของทหารมีอย่างเดียวคือ อำนาจและความมั่นคั่ง และหลังจากนี้ทหารกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะ "ตระบัดสัตย์" ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏในการเมืองไทยหลายครั้ง วิกฤตการณ์หลายหนที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากการตระบัดสัตย์ เพราะไม่มีการยึดอำนาจใดที่จะไม่แสวงหาตำแหน่งแห่งที่ในทางการเมืองเพื่อสืบต่ออำนาจของตนเอง


 


เขากล่าวสรุปว่า น่าแปลกที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามสร้างวัฒนธรรมของประชาธิปไตยและเสรีภาพ  แต่เมื่อเกิดวิกฤตทักษิณ และรัฐประหาร 19 กันยายน  วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็กลับมาอีกครั้ง และโดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาที่หันมาใช้วัฒนธรรมนี้โดยพร้อมเพรียงกัน


 


ดร.มรกต เจวจินดา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวยกตัวอย่างถึงรัฐธรรมนูญปี 1833 ของเยอรมนี ซึ่งเป็นฉบับแรกๆ ที่ให้สิทธิทางการเมืองและตระหนักถึงเสรีภาพสื่อมวลชน แต่หลังจากนั้นเมื่อเจ้าผู้ปกครองคนใหม่ขึ้นครองราชย์ ก็ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญนี้ แต่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกอร์ทิงเก้นที่รวบรวมรายชื่อ 7 คน เพื่อคัดค้านการยกเลิกรัฐธรรมนูญดังกล่าว จนถูกสอบสวนจากมหาวิทยาลัยและถูกไล่ออก ในจำนวนนั้นมีพี่น้องตระกูลกริมม์ ซึ่งเขียนเทพนิยายกริมม์ด้วย ทั้งคู่ถึงกับถูกยื่นคำขาดให้ออกจากเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือความตกต่ำอย่างหนักของมหาวิทยาลัย ไม่มีใครอยากเรียนอยากสอนที่นั่น กระทั่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวในเยอรมนีทำให้เกิดการปฏิวัติปี 1848


 


"นั่นคือราคาที่ต้องจ่ายในศตวรรษที่ 19 มาถึงศตวรรษที่ 21 การกดเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพทางการเมือง ราคาของมันยิ่งสูงกว่ามากนัก เพราะเป็นยุคของโลกาภิวัตน์" ดร.มรกตกล่าว


 


ดร.มรกต ขยายความว่า ในยุคโลกาภิวัตร์ซึ่งสังคมแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันมาก สิ่งที่จะเป็นทุนให้สังคมก้าวทันความซับซ้อนของยุคนี้ก็คือ ทุนทางวัฒนธรรมที่ทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งความรู้ หากไม่มีการส่งเสริมให้ดี คนก็จะมีความเข้าใจความหมายของสังคมความรู้หดแคบเหลือเพียงอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี การจัดการ แต่ลืมไปว่าแท้จริงมันคือ การมีเสรีภาพในการสร้างความคิดเห็นที่แตกต่าง แปลกใหม่ เพื่อหาความรู้ใหม่ๆ


 


"การขาดทุนทางวัฒนธรรมนี้ทำให้สังคมขาดพลัง เป็นการฆ่าตัวตายของสังคมไทยในระบบโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน" ดร.มรกตกล่าว


 


ขณะที่ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน ตั้งคำถามว่าอะไรคือนิยามของเสรีภาพและการเซ็นเซอร์  ในความเป็นจริงดูเหมือนจะมีความแตกต่างในการเรียกร้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพในบรรดานักวิชาการและนักเคลื่อนไหว สิ่งที่เราเห็นด้วยแล้วถูกกระทำเราเราเรียกมันว่าการเซ็นเซอร์ แต่เมื่อสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยถูกกระทำ เราจะเรียกมันว่าการเซ็นเซอร์และต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพเช่นกันหรือไม่


 


ธนาพลยังยกตัวอย่างการนิยาม "เสรีภาพ" จากจุดที่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ เช่น การพาดหัวของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจที่ระบุว่า "การเมืองเปิด"ทำให้ช่องเนชั่นได้กลับเข้ามาแข่งขันออกอากาศตามสถานีต่างๆ อีกครั้ง ในขณะที่เขาเห็นว่าบรรยากาศตอนนี้ไม่มีทางที่จะนิยามว่า "การเมืองเปิด" ได้


 


นอกจากนี้เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เสรีภาพทางวิชาการไม่ควรจำกัดอยู่เพียงเสรีภาพของนักวิชาการที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น การนิยามคำว่า "วิชาการ" อย่างแคบทำให้งานประเภทอื่นๆ ที่ไม่ถูกนับเป็นวิชาการไม่ได้รับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก มีการยกตัวอย่างหนังสือเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ ที่เล่มหนึ่งเขียนในรูปแบบวิชาการเพื่อเชื่อมโยงปรีดีกับกรณีสวรรคตของร.8 ขณะที่อีกเล่มของสุพจน์ ด่านตระกูล เขียนในรูปแบบสารคดีการเมือง แต่เข้าใกล้ความเป็นจริงของประวัติศาสตร์มากกว่า


 


"ที่จริงแล้ว เสรีภาพก็คือเสรีภาพ ความจริงก็คือความจริง" ธนาพลกล่าว


 


อาจารย์วิภา ดาวมณี อาจารย์จากวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มธ. กล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองในการสอนที่มธ. ว่า รู้สึกสับสนในสโลแกนของธรรมศาสตร์ในเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย เพราะเมื่อครั้งสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิตยังมีเสรีภาพมากกว่าในการจัดรูปแบบการสอนนักศึกษา มีการพานักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองโดยสมัครใจได้ ขณะที่ที่ธรรมศาสตร์จะมีข้อจำกัด แม้แต่การขอใช้ห้องจัดเสวนาก็ยังยากลำบาก หากเป็นประเด็นจำพวกสังคมนิยม โลกที่ใฝ่ฝัน ไม่ใช่ประเด็นนักบริหาร นอกจากนี้การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ มีการบังคับให้ใส่เสื้อเหลืองทุกวันจันทร์ในบางคณะ ทั้งนี้ แต่ละคณะในมหาวิทยาลัยก็มีเสรีภาพในระดับที่แตกต่างกันไป


 


นอกจากนี้ยังมีการแสกนนิ้วมือของเจ้าหน้าที่ในคณะเช้า กลางวัน เย็น เป็นนวัตกรรมใหม่ของการตอกบัตร และคาดว่าอาจารย์ซึ่งกำลังกลายเป็นพนักงานก็จะต้องทำแบบเดียวกันหากมีการออกนอกระบบอย่างสมบูรณ์


 


อาจารย์วิภาเสนอว่า สิ่งที่บรรดาอาจารย์ต้องทำเพื่อให้มีเสรีภาพในทางวิชาการ หรือเสรีภาพในการแสดงออกต่างๆ รวมถึงอิสระในการทำงาน คือ ต้องตั้งสหภาพแรงงานอาจารย์ เพราะตอนนี้อาจารย์ก็ไม่ต่างอะไรกับพนักงานปกคอขาวอื่นๆ ทั่วไป


 


ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง พ.ร.บ.ความมั่นคง ว่า หลังจากดูเนื้อหาในพ.ร.บ. นี้พบว่า ให้อำนาจทหารมากเกินความจำเป็น ไม่มีมาตรการตรวจสอบใดๆ เลยแม้แต่ศาล ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ Homeland Security Act ของสหรัฐที่ร่างขึ้นเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและถูกวิจารณ์ว่ากฎหมายนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายด้านก็ยังต้องให้อำนาจศาลในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ในพ.ร.บ.ความมั่นคงยังการนิยาม "ภัยต่อความมั่นคง" ที่มีคำจำกัดความกว้างขวางมาก


 


ศ.ดร.ผาสุก ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ขณะนี้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มอีก 11 คน เป็นเพราะจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ตอนนี้ไม่พอที่จะผ่านกฎหมายฉบับนี้หรืออย่างไร รวมทั้งมีกระแสว่า ร่างกฎหมายนี้ผ่านครม.อยู่ชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ออกมาบอกว่าอาจจะเลื่อนพิจารณาไปเป็นปีหน้า เพราะมีงานล้นมือ พอดีกับที่ผู้มีอำนาจออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นปีหน้าเช่นกัน


 


 


-----


งานเสวนาจัดโดย


สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


ภาพประกอบหน้าแรกจาก http://atlasshrugs2000.typepad.com/atlas_shrugs/images/academic_freedom.jpg

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net