Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 


 


สดใสกับทหารหญิงของกองทัพแดงในรูปโฉมใหม่ (ซ้าย) และทหารชายที่ดูเนี๊ยบขึ้นกว่าเดิม (ขวา) (ที่มาภาพ : AP และ Reuters)


 


 


กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (Chinese People's Liberation Army : PLA) หรือกองทัพแดงอันเกรียงไกรของจีน กำลังทุ่มเงินหลายพันล้านหยวนเพื่อปรับปรุงสมรรถภาพของกองทัพ


 


ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่อาวุธยุทโธปกรณ์ดังที่เคยทำๆ กันมา ... แต่กลับเป็นการเสริมสร้างรูปลักษณ์ใหม่ !


 


ยุทธศาสตร์ "07 Style" ถูกนำมาเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยกำลังพลถึง 2.3 ล้านคน --- โดยยุทธศาสตร์นี้จะเป็นการอัพเกรดแฟชั่นเครื่องแบบของเหล่าทหารชายหญิงแห่งกองทัพแดงให้น่าดูชมยิ่งขึ้น


 


สีสันเครื่องแบบของทหารหนุ่ม จะถูกดีไซน์ให้ใช้โทนสีที่มืดลงกว่าเดิม ชุดเข้ารูปขึ้น และตัดแถบต่างๆ ที่ดูรุ่มร่ามออกไป ในส่วนทหารของหญิงจะได้อวดขาขาวๆ ขึ้นมาอีกหน่อย เมื่อขอบกระโปรงจะขึ้นสูงมาจากขอบถุงเท้าเป็น 5 ซม. จากมาตรฐานเครื่องแบบเก่า ที่กระโปรงจะขึ้นสูงมาจากขอบถุงเท้าแค่ 1 ซม.


 


หวู่ยวี๋ (Wu Yu) ดีไซน์เนอร์สาวของกองทัพแดงกล่าวกับสำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ว่า เธอกำลังปฏิรูปแฟชั่นของกองทัพแดงอันคร่ำครึ โดยได้ออกแบบยูนิฟอร์มของฝ่ายชายในสไตล์ T และของหญิงในสไตล์ X ซึ่งเธอก็ได้โยน "ถุงคลุมเก่าๆ เขียวๆ" จากยูนิฟอร์มแบบ H แบบเก่าสำหรับทั้งชายและหญิงลงถังขยะไป


 


"นั่นคือสิ่งของจากอดีต" เธอกล่าว


 


โดยยูนิฟอร์มของฝ่ายชายในสไตล์ T จะเป็นลักษณะที่ทำให้ผู้สวมใส่ดูเข้ารูป สูงโปร่ง ไหล่กว้าง ผ่าเผยและดูเข้มแข็ง ส่วนยูนิฟอร์มในสไตล์ X ของทหารหญิงนั้น จะดู "โคตรเปรี้ยวโฉบเฉี่ยวยิ่งนัก" ("much sassier")


 


ส่วนนายพลเลี่ยว ซี หลง (Liao Xilong) นายพลฝ่ายส่งกำลังบำรุงของกองทัพแดง (PLA's General Logistics Department) กล่าวถึงรูปลักษณ์ของกองทัพแดงใหม่นี้ว่า "เป็นการผสมผสานเทรนด์ของโลกเข้ากับวัฒนธรรมของจีนได้ดีโดยแท้"


 


รูปลักษณ์ใหม่ของกองทัพแดง เปิดเผยต่อสายตาของชาวโลกครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาที่ฮ่องกง เนื่องในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบวาระ 10 ปี การได้คืนเกาะฮ่องกงจากการปกครองของอังกฤษ


 


ทั้งนี้ ทหารในกรุงปักกิ่งและในมาเก๊า จะเริ่มเปลี่ยนชุดในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 80 ปีการสถาปนากองทัพแดง ส่วนทหารในพื้นที่อื่นๆ จะเริ่มเปลี่ยนเครื่องแบบทั้งหมดภายในปี 2009


 


ซึ่งคาดการณ์กันว่ายุทธศาสตร์ "07 Style" นี้ต้องใช้เงินถึง 6,000 ล้านหยวน (787 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)


 


 


โปสเตอร์สไตล์วินเทจของกองทัพแดงในยุคเก่าก่อน ... คงจะไม่มีแล้วที่ต้องไปแบกหัวจรวด เพราะปัจจุบันทหารยุคโลกาภิวัฒน์เขาหันไปหิ้วโน้ตบุ๊กกันหมด (ที่มา : http://en.wikipedia.org)


 


ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณทางการทหารสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากการประเมินของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์มของสวีเดน เปิดเผยรายงานว่าด้วยการใช้จ่ายของกองทัพทั่วโลกประจำปี 2006 ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว กองทัพจีนใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารสูงถึง 49,500 ล้านดอลลาร์


 


ซึ่งนับว่าเป็นชาติที่ใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารมากที่สุดในเอเชีย รองลงมาคือญี่ปุ่น ใช้งบประมาณด้านการป้องกันประเทศราว 43,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับทั่วโลก พบว่าจีนใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านการทหารมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า เฉพาะปีที่แล้ว งบประมาณการใช้จ่ายด้านกองทัพทั่วโลกคิดเป็นเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.5%


 


จีนมักถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอว่า ไม่มีความโปร่งใสเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณด้านกองทัพ ขณะที่สหรัฐอ้างว่า การใช้เงินส่วนนี้ของจีนอาจมากกว่าตัวเลขที่รัฐบาลจีนประกาศราว 2 ถึง 3 เท่า ซึ่งอาจยังไม่รวมถึงงบประมาณเพื่อการนำเข้าอาวุธ


 


รวมถึงปฏิบัติการทางทหารของจีนที่ว่างเว้นไปเสียนาน ซึ่งสำหรับปัจจุบัน สภาวะเสี่ยงจริงจังในการเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้ามของกองทัพแดง ก็คงจะมีแค่ความตึงเครียดจากวิกฤตในช่องแคบไต้หวัน


 


ส่วนภารกิจจริงจังครั้งล่าสุดที่กองทัพแดงเพิ่งได้ประกาศศักดาให้ชาวโลกเห็น ก็คือการเข้าไปปราบปรามตั๊กแตนที่ที่ราบสูงทิเบตและเสฉวน


 







การปฏิบัติการทางทหารอย่างเป็นทางการของกองทัพแดง


 


1931 ถึง 1945: สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อต้านญี่ปุ่น


1945 ถึง 1950: สงครามกลางเมืองกับฝ่ายก๊กมินตั๋ง และการเข้าครอบครองทิเบต


1950 ถึง 1953: สงครามเกาหลี (จีนส่งทหารไปช่วยฝ่ายเกาหลีเหนือ)


1954 ถึง 1955: วิกฤติช่องแคบไต้หวันครั้งแรก


1958: วิกฤติช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 2


1962: สงครามจีนอินเดีย


1967: ความขัดแย้งพรมแดน จีน-อินเดีย


1969 ถึง 1978: ความขัดแย้งพรมแดน จีน-โซเวียต


1974: สงคราม Hoang Sa


1979: สงครามจีน - เวียดนาม


1986 และ 1988: ความขัดแย้งพรมแดน จีน-เวียดนาม


1995 ถึง 1996: วิกฤติช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 2


ที่มา : http://en.wikipedia.org


 


 


การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของทหารจีนครั้งนี้ ก็เหมือนกับการพลางตัวในยุคดิจิตอล (Digital camouflage) เปรียบเสมือนกับการปรับกลยุทธ์ของกองทัพให้เป็นไปตามยุคสมัยและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่มีผลมากกว่าความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางการทหารเพียงอย่างเดียว


 


นับว่าจีนก็ได้ซึมซับและรู้จักที่จะนำหลักการตลาดเข้ามาใช้สร้างภาพลักษณ์ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเปิดประเทศ การค้าเสรี การสถาปนาความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมด้วยการจัดกีฬาโอลิมปิค


 


...นี่สิ! การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของมหาอำนาจใหม่


 


แต่ก็คงเป็นได้แค่การพัฒนาแบบ "เปลือก" เพราะจีนให้ความสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ไม่พัฒนาการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนของตนควบคู่กันไปด้วย --- ซึ่งมันคือระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด (ดังๆ) อยู่!


 


... และสำหรับในบางประเทศที่งบของกองทัพพุ่งพรวดขึ้นอย่างมหาศาล เงินระดับแสนล้าน อย่างน้อยเอามาซื้อชุดสีสันสดใหม่ให้พลทหาร ซื้อบัตรเติมเงินให้ไอ้เณรไว้โทรหาลูกหาเมีย แจกเบอร์ IP เล่นอินเตอร์เนตฟรีให้ลูกหลานทหารหาญยศน้อยทั้งหลาย หรือนำมาใช้กับอะไรก็ตามที่ให้ชาวบ้านได้เห็นเป็นประจักษ์แก่ลูกกะตาว่าเอามาทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันและคืนความมั่นคงในชีวิตให้คนรอบๆ กรมกองเสียบ้าง


 


ไม่ใช่มัวแต่ตะบี้ตะบันทำอะไรอย่างลับๆ นะจ๊ะ! เดี๋ยวประชาชนเขาจะไม่ปลื้มเอา ... ขอบอก ;-)


 


 


 


ประกอบการเขียน :


 


"Snappy" makeover for China"s army


People"s Liberation Army From Wikipedia, the free encyclopedia


"กองทัพจีน ใช้จ่ายงบประมาณมากที่สุดในเอเชีย ติดอันดับ 4 ของโลก" - ศูนย์ข่าวแปซิฟิค 12-06-07


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net