รธน.50 ไม่บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พระเลิกอดข้าว-คว่ำบาตรประท้วง

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ขอแขวนเอาไว้และทบทวนการแปรญัตติ 21 มาตรา ทั้งนี้ที่ประชุมได้นำมาตรา 2 และมาตรา 78 ซึ่งเกี่ยวกับการบัญญัติพุทธศาสนาลงในรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาก่อน

 

"ประสงค์"แจงเหตุไม่บรรจุ

ทั้งนี้ ก่อนการอภิปราย น.ต.ประสงค์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงเกี่ยวกับทั้ง 2 มาตรา ว่า ที่กรรมาธิการไม่ได้บรรจุเรื่องนี้เอาไว้เพราะเหตุผล 2 ประการ คือ 1.ด้านรัฐศาสตร์ เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง และ 2.เกี่ยวกับหลักการทางศาสนา โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความเจริญขึ้น หรือเสื่อมลงของศาสนาตามแนวของพุทธองค์

 

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ก่อนจะบอกเหตุผลในทางรัฐศาสตร์ แต่ละรัฐประกอบด้วยชนชาติที่มีศาสนา จารีต เชื้อชาติที่ต่างกัน ในทางการเมืองการปกครองไม่บังคับให้ทุกคนต้องใช้วัฒนธรรมมาตรฐานเดียวกัน แต่ให้สิทธิเสรีภาพที่จะเลือกใช้วัฒนธรรมตามความเชื่อที่มีอยู่อย่างเสมอหน้า โดยไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือใคร รัฐเป็นองค์กรทางการเมืองของชาติ มีหน้าที่จัดบริหารการปกครองให้เป็นระเบียบเพื่อสวัสดิภาพ และจะไม่ใช้ความเชื่อของใครจัดระเบียบการปกครอง แต่จะใช้กฎหมายบังคับคนในรัฐให้ปฏิบัติในทางเดียวกัน รัฐไม่ได้ใช้พุทธศาสนาเป็นกฎหมายของประเทศ ดังนั้น การนำศาสนาไปบัญญัติจึงไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

 

ชี้ทรมานตนเป็นที่สุดของต่ำทราม

น.ต.ประสงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนด้านศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องความเจริญขึ้น หรือเสื่อมลง ตามคำสอนของพุทธองค์ การที่ศาสนาจะอยู่คู่ประเทศไทยนานแค่ไหน อยู่ที่การเข้าถึงและเข้าใจหลักศาสนา ตามคำสอน และนำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ได้ขึ้นกับการบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระพุทธองค์มีพระราชบิดาเป็นกษัตริย์ และมีพระราชอำนาจเต็มที่ในการสั่งการ หรือออกกฎหมายในเรื่องใดก็ได้ แต่พุทธองค์ไม่ได้ฝากศาสนาพุทธที่ตรัสรู้ไว้กับอาณาจักร หรืออำนาจ แต่ฝากไว้กับพุทธบริษัท และตรัสสอนว่า ศาสนาจะเจริญขึ้น หรือเสื่อมลง อยู่ที่พุทธบริษัทที่จะนำคำสอนไปปฏิบัติให้ถูกต้องได้อย่างไร

 

"พุทธบริษัทที่ทำตามวินัยก็มีมาก แต่ไม่น้อยก็ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวทางของพุทธองค์ พุทธบริษัทบางพวกไม่ปฏิบัติอยู่ในกิจธุระหน้าที่ของตนด้วยซ้ำไป เรามีความต้องการที่จะยกย่องเชิดชูทุกศาสนา และกรรมาธิการเข้าใจถึงความต้องการของคนบางพวกที่ต้องการให้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยความเข้าใจว่า เมื่อบรรจุศาสนาจะเจริญยั่งยืนสถาพร แต่ความเข้าใจดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง" น.ต.ประสงค์ กล่าว

 

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า วันเพ็ญเดือน 8 ที่จะมาถึงในไม่ช้าจะเป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา และในปฐมเทศนาได้ตรัสในสิ่งที่เกี่ยวกับบรรพชิตว่า ไม่ควรเสพประพฤติ หรือเกี่ยวข้อง 2 เรื่อง คือ 1.เสพกาม 2.เรื่องการทรมานตน พระพุทธองค์ตรัสว่า การประกอบตนให้ลำบากเปล่าคือการพยายามบรรลุจุดที่หมายด้วยการทรมานตน ด้วยอาการต่างๆ เป็นที่สุดของของเลว เป็นที่สุดของของต่ำทราม อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่า มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ในมาตรา 78 ก็ขยายความว่า รัฐต้องส่งเสริมคุ้มครองอุปถัมภ์พุทธศาสนาและศาสนาอื่นด้วย แต่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยที่เชื่อในศาสนาที่เขายึดถือ ดังนั้น ขอให้ที่ประชุมพิจารณาด้วยเหตุผล

 

ส.ส.ร.ถกหลากหลายความคิดเห็น

ขณะที่นายเดโช สวนานนท์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อภิปรายในฐานะ ส.ส.ร. กล่าวว่า มีคนบอกว่าต่างชาติไม่บรรจุเรื่องศาสนาเอาไว้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ที่จริงประเทศต่างๆ มีการบรรจุเอาไว้ เช่น อิสลามมีการบรรจุ 48 ประเทศ ศาสนาคริสต์มีบรรจุ 11 ประเทศ และศาสนาพุทธมี 3 ประเทศ คือ พม่า ศรีลังกา และกัมพูชา หรือประเทศที่ไม่ได้บรรจุอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ไม่มีก็เพราะอเมริกามีความหลากหลาย ไม่มีเอกภาพทางศาสนา หากยกนิกายใดเป็นใหญ่ก็จะเกิดการแตกสามัคคี อย่างไรก็ตาม สหรัฐก็ต้องการให้ศาสนาช่วยทำให้เกิดความสามัคคี จนมีคำว่า "In god we trust" (เราศรัทธาในพระเจ้า) ไว้ในรัฐธรรมนูญ

นายอรรครัตน์ รัตนจันทร์ กล่าวว่า จากการไปรับฟังความเห็น คนจำนวนมากก็ต้องการเรียกร้องเรื่องนี้ ส่วนพระที่ออกมาก็ถือว่าถูกต้อง และต้องนับว่าเป็นผู้เสียสละที่อดทนต่อคำติฉินนินทา จาบจ้วง พระสงฆ์แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ จึงออกมาขอความช่วยเหลือจากรัฐ ส่วนที่อ้างว่าบรรจุแล้วแตกแยกฟังไม่ขึ้น เพราะถึงไม่บรรจุก็แตกแยกอยู่แล้ว

 

กมธ.แจงเหตุผลไม่บรรจุ

นายธงทอง จันทรางศุ กรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจงว่า เรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธก็บัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะอยู่แล้ว และสิ่งนี้ถือเป็นการยอมรับสถานะพิเศษของพุทธศาสนา เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ประชาชนจะนับถือศาสนาใดก็ได้ มีแต่กษัตริย์เท่านั้นที่ต้องเป็นพุทธ การที่บัญญัติอย่างนี้เป็นภูมิปัญญาของไทยที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2475

 

ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า กรรมาธิการจะไม่ยอมให้คนไร้ศาสนามาใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ และเมื่อกรรมาธิการพิจารณาแล้วก็เห็นเป็นเอกฉันท์ว่า กาลสมัยนี้ยังไม่สมควรที่จะบัญญัติเอาไว้ เพราะสิ่งที่ได้จะไม่เท่ากับเสีย

 

เจิมศักดิ์แฉมี "พล.อ."ล็อบบี้

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ส.ร. อภิปรายว่า ทราบมาว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องในครั้งนี้ มีการจ่ายเงิน และช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีการแอบอ้างบุคคลระดับสูงจาก พล.อ.คนหนึ่ง โดยชวน ส.ส.ร.ไปรับประทานอาหาร พร้อมสรุปว่า ต้องบรรจุให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งนี้ พล.อ.คนดังกล่าวยังแจกนามบัตรที่สื่อความหมายแอบอ้างเบื้องสูง นอกจากนี้ยังมีผู้ไปข่มขู่อดีต ส.ส.ว่า หากไม่สนับสนุนการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะไม่สนับสนุนให้ได้รับเลือกตั้ง รวมทั้งยังขู่ ส.ส.ร.ว่า หากอนาคตจะไปเป็นอะไร ก็จะไม่ให้เป็น

 

นายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวสรุปว่า ตอนนี้ศาสนาพุทธมีหลายนิกาย หากบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ กลุ่มนิกายต่างๆ ก็จะนับว่าเป็นศาสนาประจำชาติด้วยหรือไม่ ดังนั้น อย่าได้ทำความวุ่นวายกับแผ่นดินไทยมากกว่านี้ มิฉะนั้น เราจะไม่เป็นอันดูแลและทำความผาสุกให้ประชาชนชาวไทย

 

มติ 66 ต่อ 19 ไม่บรรจุใน รธน.

หลังจากการอภิปรายกเกือบ 5 ชั่วโมง ส.ส.ร.จึงปิดการอภิปรายและลงมติ ซึ่งระหว่างลงมติมีการขอร้องให้ลงคะแนนลับ แต่ปรากฏว่านายเจิมศักดิ์คัดค้าน จึงต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย ท้ายที่สุด ส.ส.ร.ก็เห็นตามร่างของกรรมาธิการ คือ ไม่บัญญัติเรื่องพุทธศาสนา ด้วยคะแนน 66 ต่อ 19 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

 

อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 78 ซึ่งเกี่ยวกับแนวนโยบายด้านศาสนาและให้การอุปถัมภ์ศาสนา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมาธิการเห็นความสำคัญของพุทธศาสนา จึงให้ปรับแก้ถ้อยคำ โดยมีเนื้อหาว่า "รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน และศาสนาอื่นส่งเสริมความเข้าใจอันดี และความสมานฉันท์ของศาสนิกชนทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต"

 

พระหน้าสภาโวยแต่เลิกอดข้าว

ภายหลังจากที่ ส.ส.ร.มีมติไม่บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ กลุ่มพระสงฆ์และฆราวาส ประมาณ 500 คน ที่รวมตัวอยู่หน้ารัฐสภา ต่างแสดงความไม่พอใจด้วยการโห่โบกธงธรรมจักร หลังจากนั้นก็นำบาตรจำลองขนาดใหญ่ที่มีป้ายข้อความว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ก่อนนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการขอบิณฑบาตถ้อยคำดังกล่าวจาก ส.ส.ร.มาพลิกคว่ำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ทางกลุ่มจะคว่ำบาตรรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากนี้กลุ่มพระสงฆ์และฆราวาสที่นั่งรวมตัวอยู่หน้าบาตรได้สวดบังสุกุลและสวดบทกรวดน้ำ สาปแช่ง ส.ส.ร.เสียงส่วนใหญ่ที่ไม่บัญญัติตามข้อเรียกร้อง

 

พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ประธานรัฐสภาวนาราม กล่าวว่า ส.ส.ร.เป็นผู้ที่ตาบอด ใจบอด ไม่ยอมรับฟังเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น ขอคว่ำบาตร ส.ส.ร. เพราะ ส.ส.ร.เป็นคนที่ตายทั้งเป็น หากตายจะไม่ให้เข้าวัด เพราะเป็นคนไม่มีศาสนา ส่วนการเคลื่อนไหวต่อไปคงต้องหารือกันอีกครั้ง โดยผู้ชุมนุมจะเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่วนพระจะกลับไปจำวัด ระหว่างนี้จะหารือว่าจะมีวิธีการเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร โดยในวันที่ ส.ส.ร.ประชุมเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า รัฐสภาวนารามจะกลับมาชุมนุมใหญ่อีกครั้ง

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า ระหว่าง ส.ส.ร.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทั้งพระสงฆ์ สามเณร และฆราวาส ได้ประกาศยกเลิกการอดอาหารและน้ำ โดยพระมหาบุญถึง ให้เหตุผลว่า การกลับมาฉันอาหารเป็นเพราะได้อธิษฐานว่า จะปฏิบัติธรรมถึงวันที่ 28 มิถุนายน ไม่ว่า ส.ส.ร.จะบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่

 

"นรนิติ"วอนอ่านรธน.ให้ดี

ยังคกเป็นประเด็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับการจัดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. ที่มีการอ้างว่า ส.ส.ร.พยายามยัดเยียดให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว วันเดียวกัน นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวชี้แจงว่า อยากให้ไปลองอ่านดีๆ ว่า โฆษณาประชาสัมพันธ์ของ ส.ส.ร.เป็นไปตามที่นักวิชาการออกมาตำหนิหรือไม่ หากใครติก็ต้องพิจารณาว่าเป็นอย่างไร ซึ่ง ส.ส.ร.พร้อมรับฟังและนำไปแก้ไข

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีบุคคลหลายกลุ่มรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ นายนรนิติ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่จะอ้างได้ แต่อยากแนะนำให้ประชาชนอ่านรัฐธรรมนูญที่เสร็จสมบูรณ์ก่อน ซึ่งหลังจากอ่านแล้วจะลงประชามติอย่างไรก็อยู่ที่ประชาชน

 

ขณะที่ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกกลุ่มมัชฌิมา กล่าวว่า ส.ส.ร.พยายามชี้นำประชาชนว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้อยากชี้แจงว่า หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด

"สนธิ"พบมีชัยหารือเลือกตั้ง

ส่วนความคืบหน้าในการจัดเลือกตั้งทั่วไปหลังนายกรัฐมนตรีระบุว่า จะจัดเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายนนั้น เมื่อเวลา 17.30 น. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เดินทางมาเข้าพบ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยใช้เวลาหารือนานครึ่งชั่วโมง ภายหลังการหารือ พล.อ.สนธิ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า มาพบเนื่องจากจะกลับต่างจังหวัด จึงแวะมาถามเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ และเรื่องการเลือกตั้งว่าจะมีขึ้นเมื่อใด

 

นายมีชัย กล่าวว่า พล.อ.สนธิ แวะมาคุยเรื่องวันเลือกตั้งโดยได้มานั่งกาปฏิทินนับวันว่าประชามติแล้วรัฐธรรมนูญผ่านประกาศใช้จะมีระยะเวลาจัดเตรียมงานเท่าใด ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งปลายเดือนธันวาคม

 

ขณะที่ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนการกำหนดวันเลือกตั้งว่า ในส่วนของ กกต.ได้ให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมแล้ว เมื่อทุกอย่างเลื่อนขึ้นมา โดยส่วนตัวเห็นว่า ถ้าจะให้เลือกตั้งวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งวันเลือกตั้งน่าจะอยู่ในช่วงปีนี้ และควรจะจัดเลือกตั้งก่อน หรือหลังงานพิธีเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 80 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

เรียบเรียงจาก : เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท