Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา


 


 



 


คำโฆษณาตัวเป้งกลางหน้าหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับ แผ่หราไว้ว่า


 


รวมพลังประชามติ


"เห็นชอบ"


รัฐธรรมนูญใหม่ ให้เมืองไทยมีการ


"เลือกตั้ง"


 


โปรดสังเกต คำว่า "เห็นชอบ" กับคำว่า "เลือกตั้ง" ต่างก็อยู่ในเครื่องหมายคำพูด ที่ขับเน้นคำทั้งสองในประโยคดังกล่าว พาให้ตีความได้ว่า คำทั้งสองมีความเชื่อมโยงกัน เหมือนจะสื่อความว่า การไปลงมติ "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การเลือกตั้งและขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองให้เดินหน้า


 


ซึ่งเป็นโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน หลอกลวงผู้บริโภค


 


ซ้ำร้ายกว่านั้น กระแสที่ถูกพูดถึงต่อเกี่ยวกับโฆษณาชิ้นนี้ ไม่ได้มองว่ามันเป็นการกระทำที่เข้าข่าย "หลอกลวง" แต่วิพากษ์กันเพียงระดับที่ว่า เนื้อความแบบนี้ถือเป็นการ "ชี้นำ" ว่าให้ไปลงมติ "รับ" หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน แล้วหลังจากนั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ออกมาโต้แล้วว่า ไม่ได้ชี้นำ แค่ชักชวนกันไปตามเรื่องตามราวกระแสข่าวรายวัน


 


นอกจากเราจะถูกหลอกด้วยข้อมูลผิดๆ แล้ว (ด้วยเงินของเราเอง) ประชาชนส่วนใหญ่ ยังถูกปิดกั้นไม่ให้เห็นทางเลือกทางออกอื่นๆ ของการเมือง ที่หลากหลายมากกว่าแค่ไปลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำประชามติก็ยังไม่ถูกทำให้คลี่คลาย เช่น ถ้ามติออกมาว่าไม่รับร่างรธน. 2550 มันจะนำไปสู่อะไร ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทั้ง คมช., กมธ.ยกร่าง และ ส.ส.ร.จำเป็นต้องมีคำตอบชัดๆ ให้ประชาชนรู้แน่


 


และประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่อง "การใช้เหตุผล" ของทั้งภาครัฐ สื่อมวลชน และกระแสตอบรับในสังคมเวลานี้


 


คมช.และรัฐบาลชอบที่จะพูดว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่นั่นไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย


 


หากพูดกันตามหลักเหตุผล การรับร่างร่างธรรมนูญอาจเป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง และหากตรองดูแล้ว เหตุที่การเลือกตั้งเป็นเป้าหมาย ก็เพราะคนไม่ต้องการอยู่ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร และไม่ต้องการยืดช่วงเวลาดำเนินการเพื่อการสืบทอดอำนาจด้วย


 


เพราะการรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจได้ และมันก็ไม่ใช่วิถีทางเดียวที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้น แต่นี่เป็นสิ่งที่คนในคณะรัฐมนตรีไม่พูดกัน


 


จึงมีผลออกมาเป็นโฆษณากรอกหู ด้วยการอ้างตรรกะผิดๆ ที่ตลกร้ายกว่านั้นคือ ในบางพื้นที่ มีสปอตวิทยุในสังกัดกองทัพออกอากาศเพลงเชิญชวนให้ประชาชนออกเสียงรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา


 


แบบนี้ ครีเอทีฟเอย ก้อปปี้ไรเตอร์เอย รวมถึงนักคิดในแวดวงโฆษณา ก็คงต้องร้องจ๊ากส์ เพราะปกติคิดงานขายสินค้าให้ลูกค้า ยังมีจรรยาที่จะไม่หลอกลวงกัน อย่างร้ายก็แค่บอกความจริงครึ่งเดียว ไม่ใช่การหลอกลวงด้วยข้อมูล และโฆษณาชวนเชื่อเช่นที่กระทำอยู่


 


นอกจากเรื่องรัฐธรรมนูญแล้ว อีกเรื่องที่ฟังแล้วชวนขำขันในรัฐบาลชุดนี้ คือ คนบางกลุ่มเชื่อว่า กฎหมายแบบที่ประชาชนต้องการ ไม่ค่อยเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยหรอก แต่มักจะผลักดันได้ก็ต้องรอรัฐบาลรัฐประหาร และเราก็เห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติออกมาจำนวนมาก ทั้งที่มาจากการเคลื่อนของนักวิชาการและภาคประชาชนบางส่วน รวมๆ แล้ว  เวลานี้ ครม.ส่งกฎหมายไปรอที่ สนช.แล้วเกือบ 300 ฉบับ


 


จนเมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีท่านหนึ่งก็ออกมาให้ข่าวว่า รัฐบาลจะยังไม่ผลักดันกฎหมายเรื่องภาษีมรดกและภาษีที่ดินเข้าสภาในเวลานี้ เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง จึงสมควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนดำเนินการมากกว่า


 


ถ้าเชื่อในเหตุผลของรัฐมนตรีท่านนี้ แล้วจะให้คิดอย่างไร กับกฎหมายอื่นๆ ที่คณะรัฐมนตรีผลักดัน?


 


ใครตอบที…


 



 


เครื่องเคียง


 


หลังจากงุนงงกับวิธีอธิบายหรืออ้างเหตุผลในแบบที่อบอวลอยู่รอบข้างเราทุกวันนั้น ทำให้ไปค้นสมุดจดจากวิชาตรรกศาสตร์ (Logic) เจอข้อมูลที่พูดเรื่อง "ความบกพร่องในการอ้างเหตุผล" ว่าเกิดขึ้นได้ เมื่ออ้างบนพื้นฐานเหล่านี้


 


•           ด่วนสรุปเกินไป ขนาดของสิ่งที่สรุปไม่มากพอ


•           กลุ่มตัวอย่างที่อ้างถึงไม่ใช่ตัวแทนที่ดี


•           เปรียบเทียบผิดพลาด สิ่งที่พูดถึงไม่อาจนำไปสู่ข้อสรุป


•           เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน เป็นเหตุของผลที่ตามมา โดยละเลยที่จะใส่ใจความเกี่ยวข้องระหว่างเหตุผล ซึ่งอาจจะเกิดจากความบังเอิญ (เช่น มักเผลอเชื่อกันว่าฟ้าแลบเป็นสาเหตุของฟ้าร้อง แต่จริงๆ เป็นเพราะแสงเดินทางเร็วกว่าเสียงต่างหาก)


•           สับสนในการอ้างเหตุและผล (เช่น อาหารเน่าทำให้เกิดเชื้อรา จริงๆ ไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเชื้อราที่ทำให้อาหารเน่า)


•           สับสนระหว่างเหตุการณ์สองเหตุการณ์ ที่ต่างก็เป็นผลของเหตุเดียวกัน


•           ไปเชื่อหรืออ้างบุคคล ตำรา ผู้เชี่ยวชาญ


•           ใช้เหตุผลมาขู่ อ้างพรรคพวก อ้างจำนวน


•           เอาความเห็นใจ ความสงสารมาเป็นข้ออ้าง เช่น การเขียนในรัฐธรรมนูญให้สงเคราะห์คนด้อยโอกาส ...ทั้งที่เป็นสิทธิของเขา


•           อ้างความไม่รู้ อาจเพราะยังไม่เคยมีใครพิสูจน์


•           โจมตีคนอื่น โดยที่ไม่ได้โจมตีการอ้างเหตุผลของเขา


•           ไม่พูดเหตุผล แต่วกไปสู่คำถาม


•           อ้างเหตุผลผิดมาตั้งแต่แรก ก็นำไปสู่การอ้างผิดถัดๆ มา


•           อ้างคนอื่นเป็นตัวอย่าง เช่น คนอื่นก็ทำกัน


•           เตรียมข้อสรุปเอาไว้แล้ว แต่เหตุหรือข้ออ้างเหล่านั้นขัดแย้งกันเอง


•           เลือกเอาแต่เหตุผลที่ตัวเองได้เปรียบมาใช้ โดยจงใจปกปิดแง่มุมอื่น


•           เชื่อว่า ลักษณะแบบส่วนย่อยจะนำไปสู่ลักษณะส่วนรวม แต่ผิด เช่น โซเดียม กับคลอไรด์ ต่างก็เป็นสารพิษ เอามารวมกันเชื่อว่าน่าจะเป็นพิษ แต่มันคือเกลือแกง


•           เชื่อว่าลักษณะแบบส่วนรวมจะนำไปสู่ส่วนย่อย เช่น เกลือดูไม่มีพิษ สารประกอบก็ไม่น่าจะมีพิษ


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net