Skip to main content
sharethis

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช     
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


จุดเริ่มต้นของความเลวร้ายที่ครอบงำนักกฎหมายมาเป็นเวลาหลายทศวรรษก็คือคำสอนของ John Austin ที่ว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์ เเละ Hans Kelsen ที่ว่า เมื่อมีการทำรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารนั้นกลายมาเป็นรัฐบาลตามความเป็นจริง1 สองคำสอนนี้ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำรัฐประหารในประเทศไทยในอดีต รวมทั้งรัฐประหาร 19 กันยายนด้วย ทั้ง ๆ ที่นักปราชญ์ทั้งสองมิได้มีเจตนาที่จะส่งเสริมให้มีการทำรัฐประหารเเต่ประการใด ที่ Austin สอนว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐธิปัตย์นั้นก็ด้วยในเวลานั้น การสร้างรัฐสมัยใหม่จำต้องอาศัยกฎหมายเป็นรากฐาน ส่วนที่ Kelsen ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารเนื่องจากว่า Kelsen เป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศ ท่านจึงพยายามอธิบายว่า การทำรัฐประหารหาได้มีผลกระทบต่อความสืบเนื่อง (Continuity) ของรัฐไม่ เพราะคณะรัฐประหารได้กลายเป็นรัฐบาลตามความเป็นจริงที่เรียกว่า de facto government


ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดยพลโท ผิณ ชุณหะวัณ ล้มล้างรัฐบาลพลเรือน นับเเต่นั้น การเมืองไทยก็เข้าสู่วงจรอุบาทเรื่อยมา บวกกับความชาญฉลาดของบรรดาเนติบริกรที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายคอยร่าง "ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว" ตลอดจนบรรดา "ประกาศ" เเละ "คำสั่ง" ของคณะรัฐประหาร ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเเก่ผู้มีอำนาจเเละตัดช่องทางมิให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายเเละความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ออกโดยอำนาจปืน โดยไม่ใยดีกับหลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน เเละความเป็นอิสระของตุลาการเเต่ประการใด โดยเนติบริกรนี้ได้เรียนรู้ว่า หากนำคำสอนของนักปราชญ์ทั้งสอนท่านมารวมกันได้เเล้ว ก็จะได้เเก่นคำสอนขั้นสุดยอด คำสอนที่ว่านี้ก็คือ "กฎหมายคือ สิ่งที่เขียน" เเล้วเนติบริกรก็เเปรหลักการที่ว่านี้เป็นความเลวร้ายที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นข้อๆ เช่น


1. ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเเม้จะเป็นการฆ่าประชาชน (สมัยรสช.)


2. ออกกฎหมายนิรโทษกรรมบรรดาการกระทำทั้งที่เป็นอดีตเเละอนาคต (สมัยคมช. โปรดดูธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2549 มาตรา 36 เเละ 37) ซึ่งโดยปกติเเล้ว วัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรมเป็นการไม่เอาผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เเต่คราวนี้เนติบริกรได้บิดเบือนหลักการของนิรโทษกรรมให้ขยายถึงการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


3. ออกกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษอย่างรุนเเรงอย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่ให้เข้าข่ายโทษอาญา 5 สถานเป็นอันใช้ได้


4. ออกกฎหมายยุบศาลรัฐธรรมนูญ เเล้วตั้งตุลาการเฉพาะกิจ (ad hoc tribunal) เเล้วนั่งออกบังลังก์วินิจฉัยคดี โดยที่ไม่ต้องสวมครุยเเละมิได้ทำในนามพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจตุลาการ โดยรัฐธรรมนูญของไทยตั้งเเต่ฉบับเเรก2จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 25403 ได้รับรองว่า การตัดสินคดีของศาลต้องทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์เท่านั้น จนอาจกล่าวได้ว่า การตัดสินคดีของศาลโดยพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นราชนิติประเพณีของประเทศไทย


อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2549 มาตรา 2 บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และศาล…" และมาตรา 18 ยังบัญญัติต่อไปอีกว่า " ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์…" ปัญหาก็คือ คดียุบพรรคนั้นมิใช่เป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยศาล เนื่องจาก "ตุลาการรัฐธรรมนูญ"มิใช่ "ศาลรัฐธรรมนูญ"4 อีกทั้งการทำคำวินิจฉัยยังไม่ปรากฏว่าทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์อีกด้วย จึงมีประเด็นน่าขบคิดว่าการทำคำวินิจฉัยดังกล่าวจะเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หรือไม่


5. ตั้งองค์กรเฉพาะกิจอย่างคตส. (องค์กรเเบบนี้ในสมัยรสช. ก็มี) ซึ่งจะเเต่งใครก็ได้ ไม่เว้นเเม้เเต่บุคคลที่เคยมีท่าที ทรรศนะคติ ที่เป็นปฎิปักษ์ต่อบุคคลที่จะถูกตรวจสอบ โดยไม่ใส่ใจต่อสาธารณชนที่จะตั้งคำถามสงสัยเกี่ยวกับความเป็นกลางเเละปราศจากอคติของคตส. อันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของคำสั่งของคตส.


6. ออกคำสั่งเเละประกาศที่มาริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเเละสื่อสารมวลชนอย่างมากมาย โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษชนเเละสิทธิพลเมืองที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีของสนธิสัญญาเเต่อย่างใด


7. กำหนดค่าตอบเเทนเเละผลประโยชน์อื่นๆ ให้กับพวกคณะรัฐประหาร


ฯลฯ


สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นสามารถทำได้สบายๆ เพียงการออกกฎหมาย (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของคำประกาศ คำสั่ง ฯลฯ) มารองรับเท่านั้น หลักที่ว่า "กฎหมายคือ สิ่งที่เขียน" เป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก เเต่การยอมรับโดยปราศจากการคัดค้านหรือวิจารณ์ต่อคำสอนดังกล่าวนับเป็นความชั่วร้ายยิ่งกว่า ผู้เขียนไม่เเน่ใจว่า ถึง ณ วันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสื่อมวลชน จะตระหนักถึงความเลวร้ายของคำสอนดังกล่าวเเละบรรดาเนติบริกรเเล้วหรือยัง หรือยังยอมรับอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหารอยู่เพียงเพื่อความสะใจที่ล้มอดีตนายกได้ นั่นหมายความว่า วิธีคิดของสังคมไทยกำลังอยู่บนพื้นฐานความคิดว่า "เป้าหมายอธิบายวิธีการ" (end justified means)


บทส่งท้าย


สังคมไทยอาจลืมไปว่า เเม้จะทำลายอดีตนายกลงได้ เเต่สังคมไทยก็ได้ทำลายหลักนิติรัฐ เเละระบอบประชาธิปไตย รวมตลอดถึงความเสื่อมอย่างรุนเเรงที่ต่อหลายสถาบันไม่ว่าจะเป็น ความเป็นกลางของสื่อมวลชนทุกเเขนง ความกล้าหาญของนักวิชาการ ความเชื่อมั่นของตุลาการ ความเป็นที่เคารพขององคมนตรี ความไม่ยอมรับในสายตาของต่างประเทศ (ยกเว้นประเทศพม่า) เเละที่ขาดไม่ได้คือสถาบันทหาร ลงไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งคุณค่าที่เสียไปเหล่านี้เป็นราคาที่เเพงเกินกว่าที่ทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มคนคนเดียว หรือว่าสังคมไทยเกลียดชังอดีตนายกทักษิณถึงขนาดยอมเเลก (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) กับสิ่งเหล่านี้ หรือสังคมไทยคิดว่า หากไม่มีอดีตนายก คุณค่าดังกล่าวก็สามารถฟื้นฟูขึ้นมาได้ เพียงเพื่อจับ "เสือ" ตัวเดียว เราถึงกับเผา "ป่า" เชียวหรือ การปลูกป่า (หลักนิติรัฐเเละประชาธิปไตย) มิใช่ทำได้โดยง่าย ต้องใช้เวลาหลายสิบปี เเต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า หากประชาชนยังขาดวัฒนธรรมหรือจิตใจอย่างประชาธิปไตยที่ยอมรับความเเตกต่างทางความคิด เชื่อมั่นในกลไกของรัฐสภา อดทนรอคอยให้ระบบเเก้ไขปัญหาตามครรลองของมันเอง (ซึ่งเเน่นอนต้องใช้เวลาระดับหนึ่ง) เเละยังมี "บรรดาเนติบริกร" ที่พร้อมจะขายวิญญาณรับใช้เผด็จการทหารเเล้ว ก็เป็นที่เชื่อได้เลยว่า ในอนาคต "รัฐประหาร" จะยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกนาน เพียงเเต่ขอให้มี "เสือ" เกิดขึ้น มหกรรมการ "เผาป่า" ก็จะตามมา ถึงเวลานั้น สังคมไทยคงโทษใครไม่ได้ นอกจากตนเองที่ยอมเชื้อเชิญเเละสนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน……

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net