Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 26 มิ.ย. 50 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและการสูญหายของบุคคล โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง "ชำแหละร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ...." ณ ห้องประชุม 101 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิและเสรีภาพเพื่อประชาชน กล่าวว่า รัฐบาลก่อนเคยออกกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวกับความมั่นคง กฎหมายแรกเป็นกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย มีที่มาจากการอ้างภัยสมัยใหม่ที่รัฐต้องเผชิญ ต่อมาก็ได้ออกกฎหมายอีกฉบับ คือ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) โดยเป็นสถานการณ์ที่ประเมินว่าสังคมไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินบางอย่าง ซึ่งทั้ง 2 กฎหมายเร่งออกโดยฝ่ายบริหารเป็น พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับ

ส่วนร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... (พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน) นี้หากมองอย่างตรงไปตรงมาที่สุดคือ การขยายบทบาทให้กองทัพมีบทบาททางการเมืองในบ้านเมืองในหลายๆ เรื่อง เหตุผลพูดไว้ชัด อย่างใน มาตรา 9 ให้ตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และ มาตรา 10 ที่ให้มีหน้าที่ทั้งในภาวะบ้านเมืองปกติและไม่ปกติ ซึ่งต่างจากในอดีตที่จะต้องมาในรูปของกฎอัยการศึก หรือต้องประกาศพื้นที่ชัดเจนในภาวะไม่ปกติก่อน เจตนาของกฎหมายจึงชัดเจนเหมือนกับในอดีตที่เคยให้ กอ.รมน. มีบทบาทสูงในการสู้ภัยคอมมิวนิสต์

ประการต่อมา ขอบเขตคำว่า ภัยความมั่นคง และนิยามของคำว่า ภัยคุกคาม ตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในกว้างขวางมาก และเดิมทีก็มีกฎหมายรับรองในเรื่องความมั่นคงหมดแล้ว ซึ่งรวมไปถึงการก่อการร้ายด้วย เพียงแต่ใช้ตามปกติไม่ได้ พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงเหมือนการเปิดโอกาสให้ทหารเข้ามาจัดการและเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ ผ่านการตั้ง กอ.รมน. ทั้งระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด การที่ระบุลงไปว่าความมั่นคงทั้งในระดับปกติและไม่ปกติเดิมจะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี แต่กฏหมายฉบับนี้ให้อำนาจ ผอ.รมน. สามารถสั่งการได้ มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลได้ทันทีเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดเป็นอำนาจรัฐซ้อนรัฐ จนดูเหมือนจะมี 2 รัฐบาลในเวลาเดียวกัน

ประเด็นถัดมาคือ เรื่องอำนาจ ในมาตรา 24 ตาม ร่าง พ.ร.บ. นี้ได้ให้อำนาจผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) โดยตำแหน่ง แบบสุดๆ เช่น หากเห็นว่ามีความไม่ปลอดภัยต่อความมั่นคงให้ทำหน้าที่ได้ทันที สามารถบังคับบัญชาหน่วยงานรัฐทุกหน่วยได้ แต่งตั้งบุคคลได้

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในยังให้อำนาจ ผบ.ทบ. ลิดรอนสิทธิประชาชนได้หลายเรื่อง เช่น ห้ามเดินทาง ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามชุมนุมการเมือง ห้ามแสดงมหรสพ ห้ามโฆษณา ห้ามออกจากเคหะสถาน ให้เจ้าของกิจการรายงานประวัติลูกจ้างทั้งหมด หรือครอบครองสินค้าได้ กฎเหล่านี้สามารถออกได้ทันทีโดยคำวินิจฉัย ผบ.ทบ. ในส่วนของการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมหรือเรียกมาควบคุมตัวได้ทันที การให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ยกเว้นการเข้าไปในเคหะสถาน

ในส่วนของอำนาจควบคุมตัวนั้น ถ้าสงสัยสามารถเรียกมาคุมตัวก่อนได้ภายใน 30 วัน โดยเรียกว่า ผู้ต้องสงสัย ซึ่งยังไม่ใช่ผู้ต้องหา โดยที่การเป็นผู้ต้องสงสัยไม่สามารถมีสิทธิอะไร ทั้งห้ามเยี่ยม ห้ามมีทนาย สรุปแล้วผู้ต้องสงสัยกลับมีสิทธิน้อยกว่าผู้ต้องหาเสียอีก

นายไพโรจน์ ยังได้ยกตัวอย่างมาตราอื่นๆ ตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน ที่น่าเป็นห่วงอีก เช่น มาตรา 30 ผอ.รมน. สามารถเข้าแทรกแซงการสอบสวนได้ โดยสามารถเรียกข้อมูลการสอบสวนทางอาญาหรือเข้าฟังการสอบสวนก็ได้ หรือในมาตรา 31 ผอ.รมน. สามารถสั่งปล่อยได้ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายวินิจฉัยแทนศาลอันเป็นอำนาจตุลาการ นอกจากนี้ มาตรา 34 สามารถสั่งย้ายราชการโดยอ้างความมั่นคงได้

ประเด็นสำคัญอีกประการที่นายไพโรจน์เป็นห่วงมาก คือ การที่ร่าง พ.ร.บ. นี้ เขียนไว้ว่าห้ามตรวจสอบโดยศาลปกครอง จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคำสั่งที่ออกมานั้นชอบหรือไม่ ขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพหรือไม่ นอกจากนี้การเขียนไว้ว่าห้ามตรวจสอบโดยศาลปกคองแล้ว ที่สำคัญกว่าคือเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตาม ร่าง พ.ร.บ. นี้ ไม่ต้องรับความผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย จึงเท่ากับให้อำนาจเจ้าหน้าที่สูงล้น และใช้คนเดียว แต่ไม่มีใครตรวจสอบได้ และสามารถมาแทนกลไกปกติได้ทั้งหมด จึงเป็นการท้าทายต่อหลักนิติธรรมในประเทศค่อนข้างสูง

นายไพโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน ขัดต่อหลักการ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารบ้านเมือง ถ้าถูกควบคุมเหมือนทุกวันนี้จะยิ่งลำบาก ต่อมาคือขัดต่อหลักการกระจายอำนาจ แม้จะบอกว่ารวบอำนาจจำกัดเฉพาะเรื่องความมั่นคงแต่ขยายความค่อนข้างสูง เป็นการย้อนยุคให้อำนาจ ผบ.ทบ. สูงมากและตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้นรัฐสภาจึงไม่ควรออกกฎหมายในยุคนี้เพราะผ่านการตรวจสอบได้ยาก ถ้าจะออกควรไปออกในสมัยหน้าที่เปิดให้มีการถกเถียงมากกว่านี้

อีกเรื่องหนึ่งคือต้องประเมินด้วยว่าเราใช้กฏหมายเดิมที่มีอยู่ไม่ได้ผลหรือ ทำไมต้องรวบอำนาจให้กองทัพบกและ กอ.รมน. ทั้งที่ กอ.รมน. น่าจะหมดไปตั้งแต่สมัยคอมมิวนิสต์แล้ว การทำเช่นนี้เหมือนกับการให้ที่ยืนกับคนกลุ่มหนึ่ง กำลังจะสร้างอำนาจซ้อนรัฐ ถ้ารัฐบาลสมัยหน้าอ่อนแอ ส่วนนี้จะมีอำนาจเหนือรัฐ

ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้อ่าน พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในเปรียบเทียบกับประเทศ 4 ประเทศ คือ อเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ และอิสราเอล

พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในเกิดมาจากทัศนคติของการกลัวภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ ซึ่งผ่านมา 4 ทศวรรษแล้ว คือเมื่อปี 1950 ในอเมริกา ปี 1960 ในมาเลเซีย ปี 1963 ในสิงคโปร์ และปี 1979 ในอิสราเอล ส่วนในปัจจุบันคือเรื่องของการต้านการก่อการร้าย และหากดูในเนื้อหาแล้ว พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในของไทยเหมือนจะนำรูปแบบเดียวกับอิสราเอลมาใช้ แต่อิสราเอลมีกรณีฉนวนกาซ่าและเขตเวสแบงค์ แล้วไทยเรามีสถานการณ์เหมือนอิสราเอลหรือไม่

ส่วน พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในของมาเลเซีย สามารถให้ควบคุมตัวได้ 60 วัน แต่ผู้ใช้อำนาจคือมหาดไทย อย่างไรก็ตาม มีคนกว่า 1,000 คน ถูกจับด้วยอำนาจตาม พ.ร.บ. นี้ แต่สำหรับไทยเหมือนจะยกอำนาจให้กองทัพบกไปเลย

ส่วนสิงคโปร์ มี พ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงภายใน เนื่องจากการจับกุมคอมมิวนิสต์และล่าสุดคือความกลัวภัยการก่อการร้าย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาเจะห์และเจไอ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทยกลับไม่ได้มาจากความกลัวภัยก่อการร้าย แต่น่าจะมาจากความพยายามในทางการเมืองไทยเอง ซึ่งมีความพยายามจะออกกฎหมายแบบนี้มาหลายครั้งหลังยกเลิก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ แล้วต้องการให้มีกฎหมายอื่นมาแทน โดยก่อนหน้านี้ผ่านการถกมาแล้วว่าไม่สามารถออกกฎหมายแบบนี้ได้เพราะขัดต่อสิทธิเสรีภาพ แต่สุดท้ายก็มาพยายามผลักดันกันในรัฐบาลชุดนี้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ใช่ พ.ร.บ. มาทำหน้าที่ดูแลประเทศ แต่เป็นความพยายามที่จะรักษาโครงสร้างกอ.รมน. ที่เคยใช้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ และหาพื้นที่ให้ หลายคนจึงพูดว่าเป็นการฟื้นแนวคิดอมาตยาธิปไตย

ดร.นฤมล ยังกล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้มีหลายเรื่องกินเนื้อที่มากมาย การห้ามออกจากเคหะสถาน การห้ามมีมหรสพ ดูแล้วจะทำให้หลักการเรื่องเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น การเดินทางถูกจำกัดไปโดยปริยาย นอกจากนี้ การนิยามเรื่องความมั่นคงของไทยนั้น ถ้าไม่เห็นด้วยกับรัฐก็ถือเป็นภัยความมั่นคงแล้ว ร่างพ.ร.บ.นี้จึงไม่ถูกทั้งในแง่สิทธิเสรีภาพ ทั้งไม่มีความชอบธรรมในเรื่องที่มาของรัฐบาล

ด้าน ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง คงก็อปปี้มาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลายอย่าง แต่จุดที่ไม่เหมือนคือการใช้ต้องประกาศสถานการณ์ก่อน ซึ่งเป็นหลักการเช่นเดียวกับการใช้กฎอัยการศึก แต่สำหรับ พ.ร.บ. นี้ใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องประกาศอะไรทั้งสิ้น ผอ.รมน. จะมีอำนาจทั่วทั้งประเทศ

สำหรับประเด็นที่ ดร.ปริญญา แสดงความเป็นห่วงค่อนข้างมากได้แก่ มาตราที่ 36 ที่ระบุว่า ฟ้องศาลปกครองไม่ได้ และมาตรา 37 คือไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา

"นี่คือการเอาฝ่ายตุลาการออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหาก พ.ร.บ. ฉบับนี้สามารถประกาศใช้ได้จริง จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะร่าง พ.ร.บ. นี้ขัดกับมาตรา 3 เรื่องของหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะออกมาให้ประชาชนทำประชาพิจารณ์ในเรื่องของหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ สมัย รสช. ยังไม่กระทำกันขนาดนี้ มันไม่สมควรที่รัฐจะออกกฏหมายเช่นนี้ เพราะมันไม่สอดคล้องกับวิถีทางประชาธิปไตย ตอนยึดอำนาจก็บอกว่าเป้าหมายคือการปฏิรูปการเมืองไทย แต่นี่ไม่ใช่หลักการของประชาธิปไตยในหลักการของการปฏิรูป เพราะฉะนั้น สนช.ต้องไม่รับร่างฉบับนี้ไปพิจารณา เพราะถ้าพูดแรงๆ นี่คือการสืบทอดอำนาจ เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้ง แต่ฝ่าย คมช.ยังต้องการสืบทอดอำนาจต่อไป" ดร.ปริญญา ระบุ

นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ตามหลักการปกครองต้องแบ่งแยกอำนาจออกเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เพื่อคุ้มครองสิทธิ แต่นี่เป็นการเอาฝ่ายตุลาการออกไปโดยสิ้นเชิง และเป็นอำนาจที่เกิดทันทีที่ พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ การห้ามได้ก็คือการที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ และหากการห้ามได้นั้นขึ้นกับ ผบ.ทบ. การต้องขอ ผบ.ทบ. มันก็คือเผด็จการแล้ว เนื่องจากการใช้สิทธิประชาธิไตย ประชาชนไม่ต้องขอใคร

ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า "เมื่อมีอำนาจตรงไหน สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะหายไปตรงนั้น อำนาจกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนสวนทางเสมอ จริงอยู่ว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมมันจำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง เช่น เจอไฟแดงก็ต้องหยุด แต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพก็ต้องเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็นและประชาชนยินยอมโดยผ่านกระบวนการตรากฎหมาย หรือผ่านผู้แทนที่ปะชาชนเลือกเข้าไป แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้มาจากประชาชนเลย ดังนั้น สนช. จะไม่มีความชอบธรรมในการรับร่างฉบับนี้ไว้พิจารณา ถ้าจะจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนต้องยินยอม อำนาจทำให้เสื่อม ไม่อยากให้กองทัพเสื่อม"

ด้านนายสมชาย หอมลออ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน ผ่านมติคณะรัฐมนตรี คงเป็นการกดดันเต็มที่จากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องจับตาต่อไปว่า สนช. จะเป็นจำเลยด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ คนที่ดำรงตำแหน่งประธานคมช. อาจจะยังไม่มีอำนาจเท่า ผบ.ทบ. ซึ่งคือผู้ที่จะเป็น ผอ.รมน. ในอนาคตเสียอีก

นายสมชาย กล่าวต่อว่า กฎหมายให้อำนาจ ผบ.ทบ. มาก แต่มีเสียงโต้จากฝ่ายมั่นคงว่า อำนาจ ผอ.รมน. ไม่มากหรอก นายกรัฐมนตรีจะปลดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่มันหมายถึงว่าต้องเท่ากับปลด ผบ.ทบ. ด้วย ในขณะที่คณะกรรมการ กอ.รมน. ถึง 2 ใน 3 เป็นข้าราชการประจำ เช่น ปลัดกระทรวงต่างๆ หรือเสนาธิการก็อยู่ในส่วนเลขาธิการ จึงเห็นชัดว่าเป็นการเสริมอำนาจอย่างเข้มแข็งให้ข้าราชการทหาร รวมทั้งให้สามารถสั่งการข้าราชการพลเรือนได้ จนเหมือนกับให้กองทัพเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แต่เป็นพรรคนอกระบบเป็นรัฐซ้อนรัฐ เป็นอำนาจซ้อนอำนาจ และจะสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวเป็นอันมากในภายหลัง

ทั้งนี้ คมช. พยายามจะใช้ผีระบอบทักษิณเพื่อให้ประชาชนวางเฉยต่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ คมช. อยากเรียกร้องให้ประชาชนจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เรากำลังกำลังเจอเผด็จการตัวใหม่ เหมือนหนีเสือปะจระเข้โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ฟื้นฟูระบอบทักษิณมาอีก

อีกหลักการคือ การที่ศาลที่ถูกตัดอำนาจไป ในขณะที่ปกติข้าราชการก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่กว้างขวางอยู่แล้ว และแทบไม่มีสักรายที่ถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและวินัย จนเกิดวัฒนธรรมที่ข้าราชการชั่วๆ มากมายลอยนวลเหนือประชาชน อย่างกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่หายตัวไป กรณีในภาคใต้ หรือการที่นักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน 30 กว่าคนเสียชีวิตไปในรัฐบาลทักษิณก็ไม่ดำเนินคดีเอาผิดได้ ร่าง พ.ร.บ. นี้จะไปเสริมวัฒนธรมข้าราชการที่ทำผิดได้โดยไม่ต้องรับโทษ ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ซึ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ นายสมชาย ยังขอให้ สนช. ระงับขั้นตอนการดำเนินการและให้ถอนเรื่องออกจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หากไม่ทำตาม ขอเรียกร้องประชาชนให้ร่วมกันคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ และถ้าไม่ได้รับการดำเนินถอนเรื่องออกมาคงต้องคัดค้านรัฐบาลและ คมช. ด้วย

นายพิภพ ธงไชย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ถ้ากฎหมายนี้ผ่านจะมีรัฐซ้อนรัฐในประเทศ รัฐธรรมนูญก็หมดความหมาย ดังนั้น ถ้ากฎหมายนี้ผ่านก็ควรร่วมกับกลุ่มอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ส่วนทาง คมช. ก็ขอให้ออกรัฐธรรมนูญของตัวเองออกมา ขอให้พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ประธาน คมช. ทำให้สุดๆ ไปเลย อย่าออมชอม เพราะจะได้สู้กันสุดๆ เพราะในขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังใช้ธงในการสู้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 อยู่ก็เข้ามาแย่งธงของพันธมิตรฯ ไป

นายพิภพ ระบุว่า การออกกฎหมายความมั่นคงภายในเป็นการสืบทอดอำนาจที่เนียนกว่าการกระทำของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และเลวร้ายยิ่งกว่า มาตรา 17 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตต์ ทหารมีคนดีและไม่ดี แต่เราไม่สามารถตรวจสอบงบลับทหาร หรือ กอ.รมน. เลย ทั้งที่ใช้งบประมาณมหาศาลมาก ได้คุยกับ พล.อ. คนหนึ่งซึ่งเป็นที่ปรึกษา กอ.รมน. เขาบอกว่า งบประมาณที่ให้ กอ.รมน. ปกติก็สูญเสียไป 40 -60 เปอร์เซ็นต์ เหมือนบอกชาวบ้านจะให้วัวไปเยียวยา 5,000 ตัว กับเงินอีก 5,000 บาท เขาก็จะให้แต่เงิน วัวจะไม่ได้เลย

นายพิภพ กล่าวต่อไปว่า คำว่า ความมั่นคง ต้องตีความใหม่ ความมั่นคงนั้นเกิดจากความไม่สมดุลของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และอำนาจประชาชน แต่กฎหมายนี้ประชาชนหายไปเลย ดังนั้น ถ้ากฎหมายนี้ผ่าน สนช. คิดว่าควรสู้กันในทางสัญลักษณ์อย่างจริงจัง ตั้งแต่ คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งคณะควรลาออกเพื่อเป็นการประท้วง ส่วน สนช. คนใดที่อ้างประชาธิปไตยก็ควรลาออกเช่นกัน เช่น นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รศ.สุริชัย หวันแก้ว หรือ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เป็นต้น

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องทำแบบเดียวกัน แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ต้องออกมาหรือลาออกประท้วงด้วย และถ้ารวมตัวไม่สำเร็จสุดท้ายต้องปฏิเสธรัฐธรมนูญ 2550 เพราะถ้ารับกฎหมายนี้แล้วรัฐธรรมนูญก็ไม่มีความหมาย มันไปละเมิดสิทธิประชาชนหมด อำนาจตุลาการ 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยไม่สามารถตรวจสอบได้เลย เรื่องนี้เครียดกว่าเรื่องการรัฐประหารอีก เพราะเป็นการรัฐประหารยึดอำนาจระยะยาวมาก เป็นการต่ออำนาจโดยไม่สิ้นสุด อำนาจจะอยู่ที่ ผบ.ทบ. ศาลต่างๆ จะไร้ความหมาย การกระทำของ กอ.รมน. ถือว่ายกเว้นหมด

โดยสรุปไม่มีอะไรที่เลวร้ายในการยึดอำนาจครั้งนี้นอกจาก ร่าง พ.ร.บ. นี้ ทหารเองเคยได้รับการปรบมือจากการยึดอำนาจ แต่คราวนี้จะถูกสาปแช่งและต่อต้านด้วย ต้องสู้กันทุกระดับ ต้องต้านทานเชิงสัญลักษณ์ให้มากขึ้น อยากขอให้คณะรัฐมนตรีถอนร่างออกมาจากกฤษฎีกาแล้วไปยื่นต่อสภาสมัยหน้า เพื่อให้เกิดการถกเถียงกันที่ ดีที่สุดคือให้มาจากสภาของประชาชน

 

จับตา! บางมาตราใน พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ....
รวบรวมข้อมูลโดย สำนักข่าวชาวบ้าน

มาตรา 9 ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เรียกชื่อโดยย่อว่า "กอ.รมน." เป็นหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีหน้าที่รับผิดชอบบังคับข้าราชการ การดำเนินงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และอนุมัติแผนแม่บทหรือแผนปฏิบัติการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

มาตรา 10 ให้กองอำนวยการรักษาความั่นคงภายในมีบทบาทเป็นองค์กรกลางในการอำนวยการและ ประสานการปฏิบัติ ในการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงภายในของรัฐ และวาระเร่งด่วนแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ

การแบ่งงานภายในของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในให้จัดทำเป็นกฏกระทรวง

มาตรา 24 เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีภารกิจในการรักษาความมั่นคงในราช อาณาจักร และให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการ ป้องกัน แก้ไข ปราบปรามระงับยับยั้งการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร การฟื้นฟู และการช่วยเหลือประชาชน

ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเป็นเจ้าพนักงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร และอาจมีคำสั่งแต่งตั้งคณะบุคคล หรือบุคคลเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน หรือเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความั่นคงใน ราชอาณาจักร

ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาจมอบหมายให้ผู้อำนวยรักษาความมั่นคงภายใน ภาคหรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด หรือกรุงเทพมหานครเป็นผู้ใช้อำนาจตามวรรคสองแทน และให้ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง

ให้หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุน หรือกระทำการใดๆ เมี่อได้รับการร้องขอจากเจ้าพนักงาน

มาตรา 25 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราช อาณาจักรยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้

(1) ห้ามบุคคลใดนำอาวุธที่กำหนดในกฏกระทรวงออกนอกเคหสถาน

(2) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(3) ห้ามมิให้การชุมนุม หรือมั่วสุมกัน ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นการชักชวนหรือยั่วยุให้มีการกรำความผิด กฏหมาย

(4) ห้ามให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น

(5) ให้บุคคลใดนำอาวุธที่กำหนดในกฏกระทรวงมามอบไว้เป็นชั่วคราวตามความจำเป็นโดย การส่งมอบ การรับมอบ และการดูแลรักษาอาวุธดังกล่าวให้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่เห็นสมควร

(6) ให้เจ้าของกิจการ หรือผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในกิจการ หรือการทุจริต ซึ่งมีพนักงานหรือลูกจ้าง หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ หรือการจัดการธุรกิจ จัดเก็บ และเก็บประวัติและแจ้งการย้ายเข้าและการย้ายออก การเลิกจ้าง และแจ้งพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวให้เจ้าพนักงานทราบ

(7) ออกคำสั่งให้การซื้อขายใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจใช้กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรต้องรายงาน หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนด

(8) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจเช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของ เจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของทหารจะกระทำได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฏอัยการศึก

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติของเจ้าพนักงาน หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานกำหนดพื้นที่ และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่ เหตุก็ได้

เมื่อการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรยุติลง ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประกาศยกเลิกข้อกำหนดตามมาตรานี้โดยเร็ว

มาตรา 26 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้มีประสิทธิภาพ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในออกประกาศให้เจ้าพนักงานมีอำนาจดังต่อไป นี้

(1) จับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดการกระทำอัน เป็นภัยต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นภัยความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการ ใดๆ อันจะทำให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับการกระทำเช่นว่านั้น

(2) ดำเนินการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคล หรือกลุ่มองค์กรที่ก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

(3) ออกหนังสือสอบถาม หรืออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใด เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

(4) ตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ใดๆ ตามความจำเป็นเมื่อมีเหตุสงสัยตามสมควรว่ามีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

(5) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น เมื่อมีเหตุสงสัยว่ามีบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นภัย ต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรหลบซ่อนตัวอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำเช่นว่านั้น หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานลงโทษผู้กระทำความผิดได้ เมื่อมีเหตุอันเชื่อได้ว่าหากไม่รีบดำเนินการบุคคลนั้นจะหลบหนี หรือทรัพย์สินจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(6) ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

มาตรา 27 ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในมาตรา 26 (1) ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วให้เจ้าพนักงานจับกุม และควบคุมตัวได้ไม่เกินเจ็ดวัน และต้องควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดไว้ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขังทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวต่อเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขกระทำอันเป็น ภัยต่อความมั่นคงในพระราชอาณาจักร ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาล เพื่อขยายระยะเวลาการควบคุมตัวต่อได้อีกคราวละเจ็ดวัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินกว่าสามสิบวัน เมื่อครบกำหนดแล้วหากจะควบคุมตัวต่อไปให้ดำเนินการตามประมวลกฏหมายวิธี พิจารณาความอาญา

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้เจ้าพนักงานจัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุม และ ควบคุมตัวบุคคลนั้นเสนอต่อศาลที่มีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง และจัดทำสำเนารายการนั้นไว้ ณ ที่ทำการของเจ้าพนักงานเพื่อให้ญาติของบุคคลนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าว ได้โดยตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้

การร้องขอต่ออนุญาตต่อศาลตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกกฏหมายอาญาตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 30 เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข่าวสาร หรือป้องกันการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด หรือผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานร่วมฟังการสอบสวน หรือเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญามาตรวจดูได้

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแต่งตั้งเจ้าพนักงานร่วมฟังการสอบสวน หรือเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญามาตรวจดูได้

มาตรา 31 ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นภัยความมั่นคงในราชอาณาจักร ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหาคนใดได้กระทำความผิดดังกล่าวเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเหตุที่ไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคนใด ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบสวนสำหรับผู้ต้องหาคนนั้น พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน

ถ้าผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเห็นชอบด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ว่าไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการ ถูกฟ้องคดีโดยให้ผู้ต้องหาคนดังกล่าวเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และจะกำหนดเงื่อนไขให้มารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นครั้งคราวตามที่ กำหนดภายหลังการอบรมแล้วด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดระยะเวลาที่ให้มารายงานตัวเกินหนึ่งปีไม่ได้

การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการฟ้องร้องคดีตามวรรคสอง จะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว และเมื่อผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว จะฟ้องเป็นผู้ต้องหาสำหรับการกระทำที่ต้องหานั้นอีกไม่ได้

มาตรา 36 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำตามพระราชบัญัญัตินี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฏหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฏหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

มาตรา 37 เจ้าพนักงาน และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ในการระงับ หรือป้องกันการกระทำผิดกฏหมายหากเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตาม กฏหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net