กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ให้ ครม.ทบทวนมติปิดเขื่อนปากมูล

ประชาไท - 26 มิ.ย.50 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแถลงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี อันเนื่องมาจากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ค.50 ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานสุดบานประตู เป็นเวลา 4 เดือน โดยเริ่มเปิดประตูตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 50 แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีกลับมีมติเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 50 ให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ 106-108 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวร

 

ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 พ.ค. 50 ที่ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำนั้น เป็นมติที่มาจากข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในระดับหนึ่ง ในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 50 ซึ่งให้รักษาระดับน้ำไว้อันเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวรนั้นเป็นการตัดสินใจที่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และฉบับที่กำลังยกร่างอยู่ในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ได้เสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ 4 แนวทาง คือ หนึ่ง ปิดประตูน้ำ ใช้เขื่อนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดปี สอง ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูฝน คือ กรกฎาคม - พฤศจิกายน รวม 5 เดือน สาม ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำจากเดือนเมษายน - พฤศจิกายน รวม 8 เดือน อันเป็นช่วงปลายฤดูแล้งต่อช่วงฤดูฝน และสี่ เปิดประตูระบายน้ำตลอดปี

 

"คณะผู้วิจัยได้สรุปว่า ทางเลือกที่สี่เป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนได้ถึงกว่า 8,000 ครัวเรือน อีกทั้งในเมื่อการผลิตกระแสไฟฟ้ายังมิใช่ความจำเป็นเร่งด่วน แม้ว่าจะไม่ได้มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูลเลยก็จะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของกระแสไฟฟ้า และเขื่อนยังไม่ได้มีบทบาททางการชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ จึงสมควรมุ่งประโยชน์ของลำน้ำมูลเพื่อเศรษฐกิจพื้นฐานของชุมชนด้วยการพักการใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ก่อน จนกระทั่งความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปจากสภาวการณ์ในปัจจุบัน" นายเสน่ห์ กล่าว

 

ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข้อเสนอว่า ขอให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 50 โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยทางวิชาการ และอยู่บนพื้นฐานกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะมีนัยยะสำคัญต่อเจตนารมณ์ปฏิรูปการเมืองในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบ้านเมืองขณะนี้

 

ด้าน น.ส.สมภาร คืนดี ชาวบ้าน ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดเขื่อนปากมูล กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องเขื่อนปากมูลมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ สมัยรัฐบาลทักษิณนั้นมีมติให้เปิดประตูเขื่อน 4 เดือน ซึ่งก็เป็นมติที่ขัดต่อความต้องการของชาวบ้านซึ่งต้องการให้เปิดตลอดปี ต่อมาเดือนมิถุนายน 47 คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้เปิดเขื่อนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน แล้วให้มีกลไกที่เรียกว่าคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูลเป็นผู้กำหนดวันเปิดประตูน้ำว่าจะเปิดเมื่อไหร่ในช่วงสองเดือนนี้ ซึ่งนับแต่นั้นมา จะมีการเปิดเขื่อนโดยพิจารณาสภาพแวดล้อมและปริมาณน้ำในแม่น้ำ

 

"ปีนี้คณะรัฐมนตรีมีมติที่ถูกเสนอโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งถือว่าไม่ใช่กลไกปกติ เพราะปกติกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจ แต่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มิถุนายน นั้น ถูกเสนอโดย กอ.รมน. โดยอ้างว่าประชาชน 23,000 คนต้องการให้รักษาระดับน้ำ ซึ่งหมายถึงการปิดเขื่อน และมีการเลี่ยงบาลีในมติคณะรัฐมนตรีให้สังคมเข้าใจว่าไม่ได้ปิดเขื่อน นอกจากนี้กระบวนการได้มาซึ่งตัวเลขของรายชื่อประชาชน ต้องตั้งคำถามว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ และเราเห็นว่าการดำเนินการครั้งนี้ของ กอ.รมน. ถือว่าเป็นคุกคามชาวบ้าน" น.ส.สมภาร กล่าวและว่า

 

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเขื่อนปากมูลต้องการให้มีการตัดสินว่า เมื่อมีการรักษาระดับน้ำแบบนี้แล้ว คนได้ประโยชน์คือคนสองหมื่นกว่าอย่างที่มีการอ้างจริงๆ หรือไม่ หรือว่ากรณีนี้เป็นแค่การนำตัวเลขมาอ้างกัน

 

"การที่นายพลคนหนึ่งลงไประดมรายชื่อในพื้นที่ เพื่อเอามาสนับสนุนการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้พูดถึงว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร" น.ส.สมภาร กล่าว

 

ขณะที่ ศ.เสน่ห์ จามริก กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้นได้ทำการยื่นหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีไปเมื่อเช้านี้แล้ว ส่วนที่ผู้สื่อข่าวถามว่าจะยื่นหนังสือไปยังพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ด้วยหรือไม่นั้น เขาตอบว่า การยึดอำนาจของ คมช.จะเป็นด้วยอะไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องทำงานในกรอบสิทธิเสรีภาพ เวลาติดต่ออะไรจึงไม่ติดต่อไปที่ คมช.

 

 





แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกรณีเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี

 

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้งแปดบานสุดบานประตู เป็นเวลา ๔ เดือน โดยเริ่มเปิดประตูตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ แต่ต่อมา คณะรัฐมนตรีกลับมีมติเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ ๑๐๖-๑๐๘ เมตร (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวร

 

จากการติดตามศึกษาการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากรอย่างกว้างขวาง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ดังนี้

 

 

๑. ข้อมูลและข้อเสนอที่นำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้งแปดบานสุดบานประตู เป็นเวลา ๔ เดือนนั้น เป็นข้อมูลและข้อเสนอจาก "คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล" ซึ่งแต่งตั้งโดยคำสั่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ ค.๕๐/๒๕๕๐ คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การดำเนินงานของคณะกรรมการอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และข้อมูลจากการศึกษาวิจัย มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ จึงเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในระดับหนึ่ง

 

๒. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ ๑๐๖-๑๐๘ เมตร (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำถาวรนั้น เป็นการตัดสินใจที่อาศัยข้อมูล จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้มีส่วนได้เสีย ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.... ซึ่งกำลังยกร่างอยู่ในปัจจุบัน

 

๓. การใช้ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาเป็นข้อมูลชี้ขาดในการตัดสินใจโดยละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบนั้น เป็นวิธีการเช่นเดียวกันกับการดำเนินงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลในปี ๒๕๔๗ โดยในครั้งนั้น รัฐบาลได้มีมติเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เลื่อนการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจากวันที่ ๑ กรกฎาคม - ๓๑ ตุลาคม เป็นการเปิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจนครบ ๔ เดือน โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้พิจารณากำหนดวันเปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

 

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ เกิดจากผลการศึกษาของกรมชลประทานและกรมประมง และผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยมิได้ใช้ข้อมูลและข้อเสนอแนะจากการศึกษาวิจัยของคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ว่าจ้างให้ดำเนินการศึกษาด้วยงบประมาณ ๑๐,๒๐๐,๐๐๐ บาท (สิบล้านสองแสนบาทถ้วน)

 

๔. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ได้เสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ ๔ แนวทาง คือ

 

๔.๑  ปิดประตูน้ำ ใช้เขื่อนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดปี

 

๔.๒  ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูฝน คือ กรกฎาคม - พฤศจิกายน รวม ๕ เดือน

 

๔.๓  ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำจากเดือนเมษายน - พฤศจิกายน รวม ๘ เดือน อันเป็นช่วงปลายฤดูแล้งต่อช่วงฤดูฝน

 

๔.๔ เปิดประตูระบายน้ำตลอดปี

 

โดยคณะผู้วิจัยได้สรุปว่า ทางเลือกที่สี่เป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนได้ถึงกว่า ๘,๐๐๐ ครัวเรือน อีกทั้งในเมื่อการผลิตกระแสไฟฟ้ายังมิใช่ความจำเป็นเร่งด่วน แม้ว่าจะไม่ได้มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูลเลยก็จะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของกระแสไฟฟ้า และเขื่อนยังไม่ได้มีบทบาททางการชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ จึงสมควรมุ่งประโยชน์ของลำน้ำมูลเพื่อเศรษฐกิจพื้นฐานของชุมชนด้วยการพักการใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ก่อน จนกระทั่งความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปจาก สภาวการณ์ในปัจจุบัน (ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันก็ยังมีกำลังไฟสำรองอยู่ในระบบอยู่มาก ไม่มีความจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล)

 

๕.จากรายละเอียดข้างต้น จะเห็นได้ว่ามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ เป็นการตัดสินใจโดยใช้วิธีการเดียวกันกับรัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ทำให้การจัดการ แก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ และโดยเนื้อหาของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มีผลเท่ากับเป็นการปิดประตูน้ำอย่างถาวรนั้น จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและผลกระทบต่อระบบนิเวศร้ายแรงยิ่งไปกว่ามติ คณะรัฐมนตรีวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ควรดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงใคร่ขอเสนอให้ รัฐบาลโปรดพิจารณาให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยทางวิชาการ และอยู่บนพื้นฐานกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อเจตนารมณ์ปฏิรูปการเมืองในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบ้านเมืองขณะนี้

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๐

 

 

ที่มา : สำนักข่าวชาวบ้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท