Skip to main content
sharethis

26 มิ.ย. 50 ในช่วงบ่ายที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม วานนี้ (26 มิ.ย.) ได้มีการพิจารณาแปรญัตติใน ม.192 ที่บัญญัติเกี่ยวกับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์อื่นขององคมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางคือในวรรคสองเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ซึ่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ได้ตัดสิทธิบุคคลดังกล่าวออกทั้งหมด คงเหลือไว้แต่องคมนตรีเพียงองค์กรเดียว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในมาตรานี้แม้ไม่มีผู้แปรญัตติแต่ก็มี ส.ส.ร.หลายคนลุกขึ้นอภิปรายโดยเฉพาะบรรดา ส.ส.ร. ที่เคยเป็น ส.ว. อาทินายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายการุณ ใสงาม รวมทั้งนายเศวต ทินกูล ที่ต่างระบุว่านักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่เพื่อบ้านเมืองควรจะได้รับการเลี้ยงดูในบั้นปลายชีวิต โดยทั้งสามคนได้ยกชีวิตตัวอย่างของนายสมคิด ศรีสังคม อดีต ส.ส. และ ส.ว.หลายสมัย มาอ้างว่าเป็นแบบอย่างของความไม่เป็นธรรมที่สังคมทำกับนักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาชน เพราะสุดท้ายสังคมไม่ดูแล ต้องปล่อยให้ล้มป่วยและรักษาตัวอย่างอนาถา


 


นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับร่างของ กมธ.แต่ส่วนตัวแล้วยังต้องการให้รัฐธรรมนูญหามาตรการรองรับกับนักการเมืองที่ดีแต่ยากจน ยกตัวอย่างนายสมคิด ศรีสังคม หรือนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.ที่ไม่มีเงินแม้แต่จะรักษาร่างกาย พวกตนต้องช่วยเหลือโดยควักเงินให้คนละ 1-2 หมื่นบาท คนเหล่านี้ไม่ใช่ตระกูลชินวัตร ที่มีเงินทองร่ำรวย นอกจากนี้ยังไม่เข้าใจว่ากมธ.ใช้เกณฑ์อะไรในการตัด ส.ส. และ ส.ว. ทิ้งโดยไม่ตัดองคมนตรีออกไปด้วย


 


ขณะที่นายการุณ ยืนยันว่า นักการเมืองก็เป็นสังคมเช่นเดียวกับข้าราชการหรือทุกวงการที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนที่ดีแต่ยากจนมีจำนวนมากสังคมต้องหามาตรการช่วยเหลือให้เขายังชีพได้ ไม่เข้าใจว่าทำไมกมธ.ยกร่างฯ ใจดำขนาดนี้ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับนักการเมือง


 


"นักการเมืองทั้งประเทศมีแค่ 2 พันไม่ได้มากมายอะไร มีดีและมีเลวปะปนเหมือนทุกที่ การตัดไม่ให้เขาได้รับความช่วยเหลือ ผมขอถาม กมธ.ยกร่างฯว่าใจดำเกินไปหรือไม่ และถามผู้ทรงเกียรติในสภาแห่งนี้ทุกคน ถ้าไม่มีความเป็นธรรม ก็ถือว่าความทรงเกียรติหมดลง"


 


ปรากฏว่าเหตุผลของนายการุณ ถูกตอบโต้อย่างดุเดือดจากฝั่ง กมธ.ยกร่างฯ โดยนายวิชา มหาคุณ กล่าวว่า กมธ.ไม่ได้ปิดทางในเรื่องค่าตอบแทนของนักการเมือง ได้เปิดช่องเอาไว้ให้สามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ การที่นายการุณมาพร่ำพรรณนาด้วยความเศร้าสลดว่าเราใจร้ายกับนักการเมืองนั้นขอให้นายการุณพิจารณาทั้งระบบด้วย ในฐานะที่ตนเป็น ป.ป.ช. ต้องตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ส.ส. และ ส.ว. ยืนยันได้ว่าไม่พบคนจนเลย มีแต่คนสะสมทรัพย์สิน ร่ำรวยที่ดินไม่รู้เท่าไหร่ ถ้าเอาที่ดินของนักการเมืองมารวมกันทั่วประเทศจะมากขนาดไหน


 


"ถ้าอยากรู้ผมจะเอาให้ดูก็ได้ แต่ผมไม่อยากแฉ เรื่องนี้ประชาชนเรียกร้องมาให้ กมธ.ตัดบำเหน็จบำนาญของนักการเมือง เพราะเห็นอยู่ว่าใครตักตวงผลประโยชน์เท่าไหร่ ใครทำอะไรมีบ้านหลังใหญ่ขนาดไหน สะสมเงินเท่าไหร่ ร่ำรวยมหาศาลจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ท่านพูดแต่ในแง่คนจน แต่คนรวยที่อาศัยตำแหน่งและหน้าที่ ที่ต้องมาชี้แจง ผมต้องเรียกท่านทั้งหลายมาชี้แจงๆว่า ท่านได้มาอย่างไร หุ้นได้มาอย่างไร ผมพูดกับเพื่อนว่า ตำแหน่งของกระผม มันนรกโดยแท้ ทั้งนี้เรื่องค่าตอบแทนอื่นนั้นเรามีระบบที่จะออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ฎ. ก็ได้ เปิดช่องอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องบรรจุในรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าเราไม่ได้ตัดสิทธิอะไรเลย" นายวิชากล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ


 


ขณะที่นายศิวะ แสงมณี ส.ส.ร. ได้ลุกขึ้นตอบโต้นายการุณ ด้วยเช่นกันโดยอภิปรายว่า ยืนยันว่าสภาแห่งนี้มีความเมตตาธรรมแน่นอน แต่เห็นว่าคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก็ไม่ควรจะมาลงสมัครเป็น ส.ส.


 


เช่นเดียวกับ นายสุนทร จันทรังสี ส.ส.ร.อภิปรายว่า ที่ต้องกำหนดบำเหน็จบำนาญให้องคมนตรีเพราะเป็นตำแหน่งที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาท แต่สำหรับส.ส.นั้นที่ดีมีคุณภาพเป็นส่วนน้อย แต่ค่ารักษาพยาบาลก็ควรจะให้


 


"รัฐธรรมนูญไม่ควรร่างเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย ไม่น่าจะนำมากล่าวอ้าง ประเทศที่เจริญนักการเมืองต้องช่วยตัวเองได้ก่อนจึงจะช่วยเหลือสังคม ดังนั้นคนที่เข้าไปเป็นนักการเมืองก็จะไม่รวยขึ้นหรือจนลง ขณะที่ประเทศที่ไม่พัฒนานักการเมืองจะรวยขึ้นๆ รวยจนถูกยึดทรัพย์ในที่สุด



ท้ายที่สุดนายเสรี ให้ยุติการอภิปรายโดยให้ ม.192 เป็นไปตามร่างของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ คงเหลือสิทธิดังกล่าวไว้แต่องคมนตรีเพียงองค์กรเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net