Skip to main content
sharethis

อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

Shukur2003@yahoo.co.uk



ดร. มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี พบกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
(ภาพจาก www.manager.co.th
)


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสดามุฮัมมัด ผู้ เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีทุกท่าน


ระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน 2550 ผู้อ่านคงได้มีโอกาสอ่านข่าว ฟังข่าวเกี่ยวการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลของ ดร. มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี[1] (Dr. Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์และผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ หรือ Grand Imam of Al Azhar เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านกิจการศาสนาอิสลาม ตลอดจนการขยายความร่วมมือด้านการศึกษาของเยาวชนไทยมุสลิม และเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา (interfaith dialogue) ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้


แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้จักสถาบันอัลอัซฮาร์แห่งนี้ ดังนั้นการรู้จักสถาบันแห่งนี้จะทำให้หลายคนรู้ถึงจุดประสงค์ของวิถีทางการทูตของรัฐต่อโลกมุสลิมในการแก้ปัญหาชายแดนใต้


รู้จักอัลอัซฮาร์


ในขณะนักเรียนมัธยมทั่วประเทศได้ทราบผล Anet และ Onet เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสถาบันต่างๆ ของประเทศไทย


แต่สำหรับนักเรียนมุสลิมภาคใต้ หรือภาคอื่นของไทยดูเหมือนจะมีทางเลือกมากกว่านักเรียนทั่วไปแม้สถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาการมุสลิมในประเทศจะมีอยู่เพียง 2 แห่ง เท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะนักเรียนส่วนหนึ่งกำลังหาที่เรียนในต่างประเทศ สถาบันหนึ่งที่นักศึกษามุสลิมต้องการไปเรียนมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮ(AL-Azhar) ประเทศอียิปต์ สถาบันวิชาการศาสนาของโลกมุสลิม ซึ่งก่อตั้งมานานนับพันปี เรียกได้ว่าเก่าแก่กว่ามหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ของอังกฤษเสียอีก


ที่นี่เสมือนมหาวิทยาลัยเปิด ตลาดวิชาสำหรับมุสลิมผู้ศรัทธา ใส่ใจในหลักวิชาการศาสนาทุกคน ไม่มีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษา


ในปีหนึ่งๆ จะมีนักศึกษามุสลิมจากภาคใต้หรือที่อื่น เข้าศึกษาต่อด้านศาสนาและสามัญ (แต่ส่วนใหญ่เป็นศาสนา) ในระดับอุดมศึกษาที่สถาบันแห่งนี้ ไม่ต่ำกว่า 100 คน หากรวมนักศึกษามุสลิมจากประเทศไทย ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันแห่งนี้ทุกชั้นปี คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 3,000 คน


ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงสาเหตุที่มุสลิมไปเรียนต่อที่อียิปต์ ผู้เขียนขอกล่าวถึงหลักสูตรการเรียนศาสนาที่จังหวัดชายแดนใต้


หลักสูตรการเรียนศาสนาอิสลามได้แบ่งชั้นเรียนเป็น ๑๐ ชั้นปี (แต่ปัจจุบันได้ปรับเป็น 12 ปีตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ได้แก่ หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น (- อิบติดาอียะฮฺ ปีที่ 1-4 หรือ 1-6) หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง (- มุตาวัซซีเตาะฮฺ ปีที่ 5-7) และหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย (- ซานาวียะฮฺ ปีที่ 8-10)


การเรียนการสอนในหลักสูตรจะแบ่งเป็น 3 หมวดวิชา 1.ด้านศาสนา ประกอบด้วยวิชาหลักศรัทธา, คัมภีร์อัลกุรอาน, อรรถาธิบายอัลกุรอาน, หลักการอรรถาธิบายกุรอาน, วจนะศาสดา, หลักการวจนะศาสดา, กฏหมายอิสลาม, หลักการนิติศาสตร์อิสลาม, การแบ่งมรดก 2 หมวดภาษา ประกอบด้วย ภาษาอาหรับ, สำนวนโวหารอาหรับ, ภาษามลายู, ภาษาอังกฤษ 3.หมวดสังคมและจริยธรรม ประกอบด้วยวิชาประวัติศาสตร์อิสลามมารยาทอิสลาม และมารยาทกับต่างศาสนิก, เศรษฐศาสตร์อิสลาม, ตรรกศาสตร์, ปรัชญาอิสลาม, ดาราศาสตร์


โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่า 300 แห่ง และผู้ที่จบระดับซานาวีย์ (อิสลามศึกษาตอนปลาย) ในปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 900 คน ในขณะสถาบันการศึกษาด้านศาสนาระดับมหาวิทยาลัยของไทยมีเพียง 2 แห่ง คือวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งรับนักเรียนปีหนึ่งๆ เพียงไม่กี่คน ทำให้นักเรียนที่เหลือต้องดิ้นรนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียอินโดนีเซีย บูรไน ตะวันออกกลางซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นมหาวิทยาลัยปิดมีโควตาชัดเจนในการรับนักศึกษาใหม่


แต่สำหรับอัลอัซฮัรเป็นมหาวิทยาลัยเปิดรับไม่อั้น เพียงให้มีใบรับรองการจบศาสนาระดับซานาวีย์ก็เพียงพอ ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้มีนักศึกษาไทยตัดสินใจไปที่นั้นเป็นเหตุผลหลัก ส่วนเหตุผลรองคือ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรเป็นมหาวิทยาลัยด้านอิสลามศึกษาติดอันดับหนึ่งของโลกมุสลิม และที่สำคัญหากต้องการพูดอาหรับได้ดีต้องเรียนโลกอาหรับเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับภาษาอังกฤษหากต้องการพูดภาษาอังกฤษได้ดีต้องเรียนกับเจ้าของภาษาเท่านั้น


ประวัติ การก่อตั้ง มหาลัยอัลอัซฮัร


ลังการพิชิตอียิปต์ของพวกฟาตีมียะห์ โดยแม่ทัพ เญาฮัร อัซซิกิลลีย์ ในยุคสมัยคอลีฟะห์ อัลมุอิซซ์ลี ดีนิลลลาห์ แห่งราชวงศ์ฟาตีมียะห์ แม่ทัพเญาฮัร อัซซิกกิลลีย์ก็ได้สร้างกรุงไคโร ขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แล้วเสร็จราว 9 เดือน แม่ทัพเญาฮัรก็ได้สร้างมัสยิดญามิอ์ อัลอัซฮัร เพื่อเป็นสถานที่ประกอบนมัสการ โดยเปิดละหมาดวันศุกร์อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 7 เดือนรอมาดอน ปี ฮ.ศ. 361


มัสยิดญามิอ์ อัลฮัซฮัร นับเป็นมัสยิด สำคัญแห่งที่ 4 ในหัวเมืองสำคัญของอาณาจักรอิสลาม ในยุคแรกวัตถุประสงค์การก่อสร้างนั้น มิใช่เพื่อจะให้เป็นสถาบันทางการศึกษาเหมือนดังปัจจุบัน แต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นมัสยิดหลวงอย่างเป็นทางการของพวกฟาตีมียะห์ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการเผยแพร่แนวคำสอนของชีอะห์ อิสมาอีลียะห์ที่พวกฟาตีมียะห์ยึดถือ


ความคิดในเรื่องการใช้มัสยิดอัลฮัซฮัรเป็นสถาบันการศึกษานั้น เพิ่งจะมาเริ่มในยุคสมัยคอลีฟะห์ อัลอาซีซ บิลลาห์ อันเป็นผลมาจากการแน่นหนักในการเผยแพร่แนวคำสอนของชีอะห์ ดังนั้นในปี ฮ.ศ. 378 เสนาบดียะกู๊บ อิบนุ กิลลิซ ซึ่งเป็นชาวยิวที่รับอิสลาม ได้แต่งตั้งนักวิชาการนิติศาสตร์จำนวน 37 ท่าน ให้ดำเนินการเรียนการสอนตามแนวทางชีอะห์


ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา มัสยิดญามิอ์ อัลอัซฮัร ก็กลายเป็นสถาบันทางการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่สำคัญในโลกอิสลาม เหตุที่เรียกสถาบันทางการศึกษาซึ่งแต่ดั้งเดิมคือ มัสยิดญามิอ์แห่งนี้ว่า อัลอัซฮัร ก็เพื่อว่าเป็นอนุสรณ์แก่ท่านหญิงฟาตีมะห์ อัซซะฮ์รอฮ์ บุตรีของท่านศาสนทูต บ้างก็ว่าที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะมีบรรดาปราสาท และตำหนักของคอลีฟะห์ตลอดจนสวนดอกไม้ ที่ถูกสร้างอยู่รายรอบ


นาม "มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮ อัชชะรีฟ" ซึ่งมีความเก่าแก่มากกว่ามหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ของอังกฤษเสียอีก
 
คณะการศึกษาต่างๆ อัลอัซฮัร


มหาวิทยาลัยอัล อัซฮัร จะเปิดรับสมัครนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศประมาณกลางเดือนกันยายน - กลางเดือนตุลาคมของทุกปี และจะเปิดทำการสอนภาคเรียนที่ 1 ประมาณเดือนตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งคณะต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยจะทำการเปิดสอนมีดังนี้


1. คณะศาสนศาสตร์
2. คณะนิติศาสตร์อิสลาม-สากล
3. คณะอักษรศาสตร์
4. คณะศึกษาศาสตร์อิสลามและภาษาอาหรับ
5. คณะนิเทศศาสตร์อิสลาม
6. คณะพาณิชยกรรมศาสตร์
7. คณะคุรุศาสตร์
8. คณะอักษรศาสตร์และการแปล
9. คณะแพทย์ศาสตร์
10. คณะเภสัชกรรมศาสตร์
11. คณะทันตกรรมศาสตร์
12. คณะวิศวกรรมศาสตร์
13. คณะวิทยาศาสตร์
14. คณะเกษตรศาสตร์


ทั้ง 14 คณะที่กล่าวข้างต้นนั้น ที่เป็นสายศาสนามี 4 คณะ คือ คณะศาสนศาสตร์ คณะนิติศาสตร์อิสลามและสากล คณะอักษรศาสตร์ภาษาอาหรับ คณะนิเทศศาสตร์อิสลาม
ส่วนคณะที่เป็นกึ่งศาสนา - สามัญ มี 2 คณะ คือ ศึกษาศาสตร์ และคุรุศาสตร์ ส่วนคณะต่าง ๆ ที่นอกเหนือจาก 6 คณะนี้ เป็นสายสามัญ (ซึ่งหากนักศึกษาไทยสามารถนำมาวุฒิมัธยมศึกษาปีที่6มาศึกษาต่อได้)


คำสอนของท่านศาสนาระบุไว้ชัดเจนกว่าพันปีแล้วว่า มุสลิมที่ดีต้องเรียนรู้ศึกษาตลอดชีวิต จากครรภ์มารดา จนถึงหลุมฝังศพ


อัลอัซฮ เป็นตัวอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ในโลกมุสลิม ซึ่งมุ่งให้โอกาสทางการศึกษาแก่มุสลิมผู้ศรัทธาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงแม้แต่ความสามารถและสติปัญญา


อัลอัซฮ ไม่เพียงแต่สถาบันการศึกษาเท่านั้นแต่ ยังเป็นสถาบันที่ (ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการโลกมุสลิม) ให้บริการตอบปัญหาศาสนาแก่มุสลิมทั่วโลกตามแนวคิดอิสลามสายกลางโดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้ายที่ทำในนามศาสนา ซึ่งปัญหาการตีความศาสนาเกี่ยวกับชายแดนใต้หากเป็นไปได้ควรให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับหรืออังกฤษส่งไปสถาบันแห่งนี้ได้ อันจะนำความกระจ่างแก่คนมุสลิมชายแดนใต้อย่างแน่นอน (โปรดดูคำวินิฉัยของผู้ก่อการได้ที่ http://amandamai.com/thai/content.php?page=sub&category=28&id=251)


หากผู้อ่าน รัฐบาลหรือผู้ที่ทำงานความมั่นคงอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวผู้นำอัลอัซฮาร์ และ สถาบันอัลอัซฮาร์สามารถหาข้อมูลภาษาอาหรับหรืออังกฤษเพิ่มเติมได้ที่ http://www.alazhar.org/index6.htm หรือข้อมูลนักเรียนไทยที่อียิปต์ได้ที่ http://www.miftahcairo.com






[1] ประวัติโดยสังเขปของ ดร. มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี เกิด 28 ตุลาคม 1928 ที่เมืองซูฮาค ประเทศอียิปต์ จำคัมภีร์อัลกุรอานตั้งแต่เด็ก จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 ที่วิทยาลัยอเลกซานเดรีย ปริญญาตรี โท และเอก สาขาวิชาอรรถาธิบาย คัมภีร์อัลกุรอาน ณ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ ประเทศอียิปต์ ระดับเกรียรตินิยม ปี 1966 ปี 1968 เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ ปี 1976 เป็นคณบดีคณะศาสนศาสตร์ ปี 1986 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมุฟตี ( ผู้ตัดสินปัญหาศาสนา) ประจำประเทศอียิปต์ ปี 1996 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำสูงสุดของอัลอัซฮาร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net