Skip to main content
sharethis

  






การเมือง


 


"สุขุม นวลสกุล" อัด คมช.อยู่ใต้อิทธิพลกลุ่มพันธมิตร


เดลินิวส์ - ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น มีการจัดสัมมนาเรื่อง คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ กรณียุบพรรคการเมือง ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์อันอาจเป็นเหตุเข้าลักษณะหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ รวมทั้งการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550


 



นายสุขุม นวลสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวแสดงความเห็นตอนหนึ่งว่า การเมืองในช่วงนี้ กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะกลัวกลุ่มอำนาจเก่าฟื้นคืนชีพ เนื่องจากคดีต่าง ๆ ยังไม่มีข้อสรุปขึ้นสู่ศาล จึงถือว่าเป็นกลุ่มที่คิดกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งขณะนี้มีคนเชื่อว่าพล.อ.สนธิ บุณยรัตนกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มพันธมิตร ได้หารืออยู่กับกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะที่กลุ่มไทยรักไทยพยายามดิ้นให้พวกตัวเองมีสิทธิ์ลงเลือกตั้งได้ ดังนั้นกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ท้องสนามหลวงจะเคลื่อนไหวไปจนกว่ากรรมการบริหารพรรค 111 คน ลงเลือกตั้งได้ และให้ใช้ชื่อพรรคไทยรักไทย ตรงนี้อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ เพราะแต่ละฝ่ายยังไม่นิ่ง และตนสังหรณ์ใจว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านการทำประชามติ เพราะแต่กลุ่มในสังคมมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในประเด็นต่าง ๆ


 



"การที่พล.อ.สนธิ ออกมาพูดตามที่มีคนเขียนให้ โดยที่ผ่านมาพูดว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคที่เคยเป็นรัฐบาลก็จะเป็นฝ่ายค้าน ไม่ทราบว่าจะพูดทำบ้าอะไร การพูดแบบนี้ถ้าผลเป็นอย่างที่พูด จะทำให้มีข้อกล่าวหาว่าพล.อ.สนธิ เป็นผู้บงการ วางแผนให้เกิดสิ่งที่พูด ทำให้สังคมเกิดความระแวง" นายสุขุม กล่าว


 



ส.ส.ร.ได้ข้อสรุปนายกฯมาจากส.ส.เป็นติดต่อกันไม่เกิน8ปี


คมชัดลึก - หลังวุ่นเสียงเอานายกฯคนนอกสูสี  "เสรี" ชิงพักการประชุม กมธ.ยกร่างแจงเอาคนนอกระวังเปิดช่องหวั่นรัฐประหารซ้ำ ขณะที่ "วุฒิสาร" แจงกลับมติไม่เชื่อใจ ปชช.ทำใจรณรงค์รับประชามติไม่ได้ "วิชา" แปลกใจมีคนหนุนคำแปรญัตติเปิดช่อง


 


การประชุมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้มีการพิจารณาในหมวด 9 เรื่องคณะรัฐมนตรีในมาตรา 167 เรื่องเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรีและเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีโดยนายศรีราชา เจริญพานิช ในฐานะคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยได้ขอแปรญัตติให้มีการตัดในวรรค 2 ของมาตรา 67 ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าตามหลักการของรัฐธรรมนูญไม่ควรกำหนดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เท่านั้น เพราะส.ส.จะเป็นผู้ใช้วิจารณญานว่าใครเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้


 



อย่างไรก็ตามเป็นเพียงแค่หลักการ เพราะโดยปกติส.ส.ก็คงไม่มองคนอื่นมาพิจารณา ก็คงต้องเป็นคนในวงการเมือง แต่เราก็เปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นได้ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนเหตุที่เกิดในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีคนเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ขอนายกฯพระราชทานเพราะการกำหนดไว้เช่นนี้ถือเป็นการจำกัดสิทธิและเราก็ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า เมื่อเราไม่มีทางออกเพราะเราตัดมาตรา 68 วรรค 2 เรื่ององค์กรแก้วิกฤตทิ้งไปแล้วเราก็ควรเปิดช่องตรงนี้ เพราะไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะมีจุดจบเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญและมีการปฏิวัติจนก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมหาศาล


 


ครป.จี้ยับยั้ง พ.ร.บ.มั่นคงชี้ละเมิดสิทธิ ปชช.


ผู้จัดการ - สำนักงานคณะกรรมการรรรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษา ครป. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำพันธมิตร และ ผู้อำนวยการ สปป. และนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาฯครป. ร่วมกันแถลงสนับสนุนการเลือกตั้ง โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง หรือ สปป.ขอสนับสนุนคำประกาศของนายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2550 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจของ คมช.และรัฐบาลบนโครงสร้างอำนาจแบบอำมาตยาธิปไตย


 


สปป.เห็นว่าการกำหนดวันเลือกตั้งจะส่งผลให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมืองทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ สถาบันทางวิชาการกระทั่งสังคม ตื่นตัวและออกมาเสนอแนวความคิดและนโยบายมในการแก้ปัญหาของประเทศในด้านต่างๆ ทำให้ความแตกแยกและความขัดแย้งในสังคมการเมือง กลับเข้าสู่กรอบกติกาและอยู่บนวิถีของระบบรัฐสภาและระบอบประชิปไตยที่แท้จริง โดย กกต.ต้องคำนึงถึงการจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและไม่ใช้เงินเป็นใหญ่เหมือนที่ผ่านมา


 


นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สปป.ขอเรียกร้องให้พรรคการเมือง สถาบันทางวิชาการ และภาคส่วนต่างๆ ใช้โอกาสของการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเงื่อนไขจัดทำสัญญาประชาคมระหว่างรัฐบาลกับประชาชน โดยร่วมกันกำหนดวาระแห่งชาติ ซึ่ง สปป.ขอเสนอให้นำเอาประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติในการเลือกตั้งคือ 1.แนวทางและมาตรการในกาแก้ไข วิกฤตการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.แนวทางและมาตรการในการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม 3.แนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาที่อยู่อาศัย การเก็บภาษีทรัพย์สินมรดก ภาษีที่ดินอัตราก้าวกน้า และการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม 4.การปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังการเลือกตั้ง 5.การปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง และ 6.การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชน โดยไม่นำไปแปรรูปในตลาดหลักทรัพย์หรือขายกิจการให้กลุ่มทุนเอกชนเหมือนที่ผ่านมา


 


ที่ประชุมสสร.ลงมติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก สส.


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - ที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสสร.ได้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในหมวดคณะรัฐมนตรีมาตรา 167 ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีซึ่งนายศรีราชา เจริญพานิช ได้เสนอขอให้ตัดข้อความในวรรค 2  ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร หรือ สส.ออก ซึ่งสมาชิก สสร.ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งแสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยโดยนายวุฒิสาร  ตันไชย  กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ สสร.ทบทวนถึงผลดีผลเสียของการพิจารณาให้ครั้งนี้  พร้อมย้ำถึงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์การเมืองที่มีความหวาดระแวง ดังนั้น การตัดสินใจใด ๆ จะต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาด้วย


 


"องค์กรพุทธ" ประกาศงดชุมนุม


แนวหน้า - พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ประธานองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย เปิดแถลงข่าวประกาศขอยุติการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 27-28 มิถุนายนนี้ ในกรณีเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งขอปฏิเสธ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือกลุ่มอิทธิพลใดๆ ทั้งการดำเนินการอดข้าวที่หน้ารัฐสภา หรือกรณีนอนในโลงศพ ก็ไม่ได้เป็นมติขององค์กรชาวพุทธ


 



ส่วนหากในวันดังกล่าวยังคงมีการชุมนุมอยู่ที่หน้ารัฐสภานั้น พล.อ.ธงชัย กล่าวยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรชาวพุทธ แต่เป็นเครือข่ายที่มีเป้าหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตาม องค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย ยังคงยืนยันที่จะเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติต่อไป และหากยังไม่มีการสนองเจตนารมณ์ ก็จะมีการเคลื่อนไหวในประเด็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ


 






คุณภาพชีวิต - การศึกษา


 


ชาวแฟลตดินแดงที่เห็นด้วยรื้อสร้างใหม่ขอรับประกันได้เช่าต่อ


ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้ว่าฯ และกรรมการ กคช.ยอมรับต่อผู้นำชุมชนแฟลตดินแดงมีมติสร้างใหม่ ยืนยันให้สิทธิผู้อยู่เก่าทุกราย และห้าม กคช.หากำไร ชี้ตัดสินเพื่อความปลอดภัย และบอร์ดจะประชุมด่วนในวันที่ 25 มิ.ย. สรุปผลและทิศทางดำเนินการที่ชัดเจน ด้านผู้นำชุมชนร่วมประชุม 34 ราย รับได้ถ้าจะสร้างใหม่ แต่ขอสัญญาลายลักษณ์อักษรให้อยู่ที่เดิม ค่าเช่าไม่เกิน 1,500 บาท เชื่อชาวแฟลตจำนวนมากก็เห็นด้วยให้สร้างใหม่ ระบุให้ กคช.คุยกับผู้อยู่อาศัยจริง เพราะเริ่มมีการเมืองเข้ามาแทรกหวังฐานเสียงแล้ว


 


รุกหาพื้นที่ว่างเปล่าทำสวนสาธารณะปลูกต้นไม้เพิ่มสีเขียวเล็งของ"เอกชน"


แนวหน้า - นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กล่าวว่า จากนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทั่วกทม.ของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อยปีละ 750 ไร่นั้น ปัจจุบันกทม.ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านพื้นที่ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของแล้ว ไม่ใช่ที่สาธารณะ ทำให้ไม่สามารถจัดหาพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้มากเท่าที่ควร สสล.จึงได้ดำเนินการโดยประสานขอใช้พื้นที่ของเอกชน เช่น พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยจะเข้าไปปรับปรุงให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความร่มรื่นสวยงามมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อประชาชนจะได้เข้าใช้ประโยชน์ เช่น พักผ่อน ออกกำลังกาย


 



นายนิคม กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นจะให้ทุกเขตไปสำรวจว่ามีพื้นที่เอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือมีพื้นที่ใดที่ปล่อยทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าบ้าง และให้ประสานเจ้าของพื้นที่เพื่อขอเข้าไปปลูกต้นไม้และจัดระเบียบ ทั้งนี้ หากเจ้าของพื้นที่ต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินในช่วงระยะเวลาต่อมา กทม.ยินดีที่จะเข้าไปรื้อย้ายต้นไม้ออกให้ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกเขตเริ่มเข้าไปสำรวจพื้นที่แล้ว จากนั้นจะรวบรวมพื้นที่ที่จะดำเนินการเพื่อวางแผนการเข้าพื้นที่ปลูกต้นไม้ต่อไป


 



วธ.เตรียมเสนอ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์" เป็นบุคคลสำคัญของโลก


ผู้จัดการ - รมว.วัฒนธรรม เผยเตรียมเสนอชื่อ "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" ให้ยูเนสโกพิจารณายกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระครบ 100 ปี ในปี 2554 ระบุตลอดชีวิต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไว้มาก ทั้งการเมือง สังคม ศิลปวัฒนธรรมไทย วรรณกรรม โดยเฉพาะหนังสือ "สี่แผ่นดิน" สะท้อนประวัติศาสตร์ 4 ยุคของไทยให้คนรุ่นหลัง ด้าน "ม.ล.รองฤทธิ์" ดีใจที่เห็นผลงานของบิดา เผยอนาคตจะยกบ้านเรือนไทยเป็นสมบัติหลวง ให้กรมศิลปากรดูแล


 


 






ความมั่นคง


 


นราฯ ปรับแผน รปภ.ครู แบ่ง 4 โซนให้ดูแลได้ทั่วถึง


ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเผย กองกำลังฝ่ายมั่นคงมีการปรับแผน รปภ.ครู ให้เข้มงวดแล้ว อีกทั้งมีการแบ่งโซนโรงเรียนออกเป็น 4 โซน เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าดูแลโรงเรียนที่มีความเสี่ยงอย่างเต็มกำลัง


 


นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงการจัดกองกำลังในการดูแลความปลอดภัยให้กับครูในพื้นที่ หลังจากรับข้อเสนอมาจากทางสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ขณะนี้กองกำลังฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่นราธิวาส ได้ปรับเปลี่ยนกำลังในการดูแลรักษาความปลอดให้กับครูรัดกุมขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างที่ทางสมาพันธ์และครูต้องการ เพื่อเป็นการสร้างความสบายใจให้กับครูในพื้นที่


 


อีกทั้งทางจังหวัดมีการแบ่งโซนโรงเรียนออกเป็น 4 โซนแล้ว คือ โซนที่มีความเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลาง และโรงเรียนที่ครูไม่สามารถเข้าไปสอนตามปกติได้ ซึ่งโรงเรียนที่ถูกแบ่งโซนเหล่านี้จะมีการส่งกำลังเข้าไปดูแลให้รัดกุมขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีความเสี่ยงมากจะมีกองกำลังเข้าดูแลเป็นพิเศษ


 


ส่วนกรณีการยุบโรงเรียนที่ครูไม่สามารถเดินทางเข้าไปสอนได้ ขณะนี้ยังไม่มีการยุบโรงเรียนใดเข้าด้วยกัน เว้นแต่โรงเรียน 3 แห่งในพื้นที่ อ.รือเสาะ ที่มีการยุบรวมกันไปก่อนหน้านี้แล้ว


 


นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวอีกด้วยว่า ในวันที่ 25 มิ.ย.จะมีการสรุปแผนการดำเนินงานด้านฝ่ายความมั่นคง เสนอให้สมาพันธ์ครูทราบ รวมถึงนำเสนอต่อ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทราบด้วย


 


ภาคเอกชนเรียกร้องเลือกตั้งเร็วขึ้น หวังฟื้นความเชื่อมั่นระบบ ศก.


ผู้จัดการออนไลน์ - ภาคธุรกิจอยากเห็นเลือกตั้งเร็ว สร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ หลายฝ่ายมีมุมมองการแก้ไขปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ เชื่อประเทศไทยยังมีจุดแข็งอีกมาก แต่ต้องนำมาใช้ให้ถูกต้อง ภาคธุรกิจเรียกร้องเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อมีรัฐบาลใหม่และความเชื่อมั่นน่าจะกลับมา "เกษมสันต์ วีระกุล" เรียกร้องให้กลุ่มพลังเงียบที่เป็นคนส่วนใหญ่ ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้กลุ่มประท้วงหยุดเคลื่อนไหวเพื่อลดความขัดแย้ง


 


 






ต่างประเทศ


 


ลูกสาวเติ้ง เสี่ยว ผิง ปกป้องเรื่องจตุรัสเทียนอัน เหมิน


สำนักข่าวเนชั่น - เติ้ง หลิน บุตรสาวคนโตของเติ้ง เสี่ยว ผิง อดีตผู้นำสูงสุดของจีนผู้ล่วงลับ ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุแห่งหนึ่งของฮ่องกงในวันนี้ ปกป้องการตัดสินใจของบิดา เรื่องส่งทหารเข้าบดขยี้บรรดานักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอัน เหมิน เมื่อปี 2532 โดยเธอให้เหตุผลว่าจีนจะตกอยู่ภายใต้ความปั่นป่วนวุ่นวาย ถ้าไม่มีการปราบปรามดังกล่าว ซึ่งว่ากันว่ามีผู้เสียชีวิตหลายร้อยหรืออาจมากถึงหลายพันคน เธอกล่าวด้วยว่าการตัดสินใจสั่งการในเรื่องนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามการสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมิน ไม่ใช่การตัดสินของบิดาเพียงผู้เดียว แต่เป็นการตัดสินใจของคณะผู้ปกครองจีนทั้งคณะ


 


ถ้อยแถลงของเติ้ง หลิน มีขึ้นหลังมีความขัดแย้งกันมานานในฮ่องกง ต่อถ้อยแถลงของนายหม่า ลิค หัวหน้าพรรคการเมืองโปรจีนที่ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่สมควรจะถูกเรียกว่า "การสังหารหมู่" แต่ก็เชื่อกันว่าถ้อยแถลงของเขามีส่วนทำให้มีผู้คนจำนวนมากกว่าเดิม เข้าร่วมในการจุดเทียนไว้อาลัยผู้เสียชีวิตในวันครบรอบการเกิดเหตุ ซึ่งมีขึ้นเป็นประจำทุกปี  โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนปีนี้ มีคนประมาณ 55,000 คน เข้าร่วมในพิธีจุดเทียนซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกงเพียงแห่งเดียว และพวกนักเคลื่อนไหวโปรประชาธิปไตยกำลังวางแผนจะประท้วงเพิ่มเติม ในช่วงเดียวกับวาระครบรอบ 10 ปีที่ฮ่องกงกลับเป็นของจีนใน 1 กรกฏาคม


 


สิ่งทอพม่าประสบปัญหาหลังถูกสหรัฐคว่ำบาตร


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - อุตสาหกรรมส่งออกสิ่งทอของพม่าเข้าสู่ภาวะซบเซาหลังการประกาศคว่ำบาตรของสหรัฐ ขณะที่มีการตั้งคำถามถึงผลกระทบของมาตรการต่อการกดดันให้ปฏิรูปประชาธิปไตยเจ้าหน้าที่สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอแห่งพม่าเปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมส่งออกสิ่งทอของพม่าซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐยังอยู่ในช่วงซบเซา และยังไม่เห็นสัญญาณกระเตื้องแม้ได้พยายามหาทางคลี่คลายปัญหามาตลอด โดยมีรายงานด้วยว่า มีคนงานในภาคการผลิตสิ่งทอถูกปลดออกแล้วประมาณ 80,000 คน และมีโรงงานเลิกกิจการอีกจำนวนมาก


 


ปัจจุบันพม่ายังคงส่งออกสินค้าสิ่งทอไปยังญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา โดยกลุ่มผู้ประกอบการยืนยันว่าจะยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอต่อไป แม้มูลค่าการส่งออกได้ลดลงมาเป็นลำดับซึ่งมูลค่าการค้าในปี 2549 ลงมาอยู่ที่ระดับ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,032 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนถึงร้อยละ 12


 


ด้านสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ชี้ว่า มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันให้พม่าปฏิรูปประชาธิปไตยอาจไม่ได้ผล เพราะการโดดเดี่ยวพม่ายิ่งทำให้รัฐบาลพม่าดำเนินกิจกรรมไปตามใจชอบ ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่ามาตรการคว่ำบาตรพม่าจะไม่มีผลหากปราศจากความร่วมมือจากจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net