Skip to main content
sharethis

 


 


 


จบลงไปแล้วอย่างงดงามสำหรับ "เทศกาลหนังขายยา โครงการ1" ที่หลายองค์กรร่วมกันจัดฉายหนังสารคดีชั้นเยี่ยมที่สามารถคลี่ขยายวิธีการเอารัดเอาเปรียบผู้คนทั่วโลกของบริษัทยายักษ์ใหญ่ได้อย่างน่าสนใจ


 


เรื่องราวของบริษัทยากำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นในบ้านเรา ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา หรือที่เรียกกันบ่อยๆ ว่ามาตรการบังคับใช้สิทธิ  (ซีแอล) หลังจากนั้นการประลองกำลัง การกดดันทางการเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนสงครามข่าวสารก็เกิดขึ้นไม่ขาดสาย


 


คำอธิบายต่อเรื่องนี้มีมากมาย และอธิบายกันมายาวนาน แต่ 1 ชั่วโมงกว่าของ "Dying for Drugs" หนังสารคดีของ Brian Wood และ Deborah Shipley แห่งบริษัท True Vision T.V. ซึ่งฉายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของอังกฤษเมื่อ 4 ปีที่แล้ว กลับกลายเป็นคำตอบรวบยอดอันทรงพลัง


 


มันยากจะคาดเดาว่า เรื่องซีแอลซึ่งเริ่มหลุดไปจากกระแสข่าวสารแล้ว จะยังมีผู้สนใจติดตามอยู่เพียงไหน ก่อนหน้านั้นผู้จัดหลายคนต่างคาดเดาว่า ขอเพียงมีคนมาร่วมดูหนัง-ฟังเสวนาในงานนี้สักครึ่งหนึ่งของสถานที่จัด ก็นับว่า "หรู" แล้ว


 


แต่สิ่งที่เกิดวันนี้เป็นไปในทางตรงกันข้าม 700 ที่นั่งในหอประชุมคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ดูเหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับความสนใจ นิสิตจุฬาฯ จากหลากหลายคณะ โดยเฉพาะคณะเภสัชศาสตร์มาจับจองที่นั่งกว่าครึ่งห้อง ขณะที่ผู้คนทั่วไปก็มีจำนวนไม่น้อย


 


แล้ว "Dying for Drugs" ก็พาคนทั้งห้องไปพบกับโลกที่พวกเขาไม่เคยเห็น หรืออาจเห็นแต่ไม่ทันได้ใส่ใจจริงจัง


 


ที่แอฟริกา บริษัทยายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งทดลองยาในเด็กแอฟริกาโดยที่พ่อแม่ของเด็กไม่ได้รับรู้ว่าลูกๆ ของพวกเขาถูกนำไปเป็นหนูทดลอง 


 


ที่แคนาดา บริษัทยายักษ์ใหญ่อีกแห่งหนึ่งใช้การกดดันสารพัดวิธีเพื่อปิดปากนักวิจัยที่สงสัยว่ายาของบริษัทที่พวกเขากำลังร่วมทดลองอยู่มีปัญหาต่อสุขภาพคนไข้ และเด็กๆ ในยุโรปกำลังได้รับยานี้


 


ที่เกาหลีใต้ คนไข้ลูคีเมียรวมตัวกันประท้วงบริษัทยายักษ์ใหญ่อีกแห่ง เพราะเมื่อสิ้นสุดโครงการทดลองยาก็ขึ้นราคายาสูงจนอดีตผู้ป่วยที่ร่วมโครงการทดลองหายาต่อชีวิตกันไม่ได้


 


และที่ฮอนดูรัส การตั้งราคายาสูงลิบของบริษัทยายักษ์ใหญ่บางแห่งทำให้ผู้ติดเชื้อที่นั่นไม่มีทางเลือกที่จะมีชีวิตยาวนานขึ้น


 


นอกจากจะได้เห็นกลวิธีไม่ชอบมาพากลสารพัดในแวดวงธุรกิจยาใน 4 กรณีดังกล่าว หนังยังมีรายละเอียดที่ทำให้เราได้เห็น "บริบท" อื่นๆ ที่หล่อเลี้ยงความฉ้อฉลไม่ชอบธรรมเหล่านั้นให้สถิตสถาพร ทั้งการเมืองสหรัฐที่มักเป็นเนื้อเดียวกับทิศทางที่บริษัทยาต้องการ, ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างกฎหมายกีดกันไม่ให้ผู้คนข้ามพรมแดนไปซื้อยาที่ดีกว่า จนต้องมีการลักลอบกันเองเพื่อมาต่อชีวิตลูกหลาน, สภาวะยากลำบากของอินเดียที่กำลังจะผลิตยาสูตรสามัญยากขึ้นตามกติกาองค์กรการค้าโลก ซึ่งกระทบประเทศจนๆ ที่ต้องพึ่งพิงยาราคาถูกจากที่นั่น ฯลฯ


 


รายละเอียดของหนังอาจจะเยอะ แต่คนดูไม่ต้องใช้ความอดทนมากนักในการทำความเข้าใจ ทุกอย่างค่อยๆ คลี่ออกไป จนกระทั่งเราข้ามมายังฮอนดูรัส ที่นั่นเราได้พบกับ "ไจโร" เด็กชายผู้สะกดคนในห้องให้หายใจในจังหวะเดียวกัน


 


เสียงฮือในห้องประชุมดังขึ้น เมื่อเห็นภาพไจโรแก้ผ้า ไม่ใช่เพราะสยิวกับสรีระเด็กชาย หากแต่หดหู่กับสภาพกระดูกเดินได้ของเด็กชายผู้ติดเชื้อนี้ คนที่บ้านไม่มีปัญญาซื้อยาต้านไวรัสให้เขาเพราะราคามันแพงกว่ารายได้ที่ครอบครัวหาได้ต่อสัปดาห์เสียอีก สารคดีถ่ายทำตั้งแต่ตอนที่แววตาของไจโรผู้ฝันอยากเป็นหมอยังพอมีชีวิตชีวา ตั้งแต่ที่เขายังโต้ตอบหมอได้เมื่อหมอถามว่ากินข้าวหรือยัง "ผมชอบกินแต่ขนม"


 


เสียงถอนหายใจดังหนักหน่วงทั้งห้องประชุมอีกครั้ง เมื่อนักกิจกรรมหญิงสามารถผ่านด่านตรวจของตำรวจ เพื่อลักลอบนำยาราคาถูกกว่าจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามชายแดนเข้ามาเป็นผลสำเร็จ กล้องยังคงจับความเคลื่อนไหวจนกระทั่งถึงบ้านไจโรอีกครั้ง แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะสายเกินไป ไจโรไม่มียา อาการทรุดลงเรื่อยๆ กินข้าวไม่ได้มา 5 วัน บัดนี้เราไม่เห็นแววตาขี้เล่นของเขาอีกต่อไป


 


กล้องยังคงจับความเคลื่อนไหวทุกอย่างต่อไป จนกระทั่งเสียงโฮสุดท้ายของญาติพี่น้องไจโร ... พร้อมๆ กับน้ำตาหยดแรกของสาวน้อยคนข้างๆ ที่นั่งอยู่นอกจอ


 


บางทีจุดสำคัญที่สุดของหนังเรื่องนี้ อาจไม่ได้อยู่ที่การแฉบริษัทยาเพื่อให้เราเกลียดชังมัน เท่ากับเป็นการฉายชีวิต เพื่อให้เราตั้งคำถามอันขมขื่นกับตัวเองว่า เราปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างไร ?


 


 


 


---------------------


Dying for Drugs  โดย Brian Wood และ Deborah Shipley แห่งบริษัท True Vision T.V.


 


คณะผู้จัด เทศกาลหนังขายยา โครงการ 1


แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แผนงานเภสัชศาสตร์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ (คภ.สสส.)


เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย


มูลนิธิเข้าถึงเอดส์


องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย)


อ็อกซ์แฟม


 


 


อ่านเพิ่มเติม


 


เกี่ยวกับ "เทศกาลหนังขายยา โครงการ 1"



 


โลกมันโหดร้าย (แต่คนโหดเหี้ยมกว่า)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net