กรณ์อุมา พงษ์น้อย : คำตอบแห่งยุคสมัย และทำไมต้อง "รักท้องถิ่น" ?

คืนวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ในงานครบรอบ 3 ปีการเสียชีวิตของ "เจริญ วัดอักษร" ที่วัดสี่แยกบ่อนอก ต.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์  กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเขา ซึ่งเป็นประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ได้แถลงถึงที่มาและอนาคตของการสืบสานและเผยแพร่อุดมการณ์ "รักท้องถิ่น"


 

 

 

 

0 0 0

 


ทำไมต้อง "รักท้องถิ่น" ?


 


กรณ์อุมา พงษ์น้อย

กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก - กุยบุรี


 

 

 

สวัสดีค่ะพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนมิตรทุกท่านที่ได้เดินทางมาร่วมกันเป็นสักขีพยานในการติดตั้งรูปหล่อ "เจริญ วัดอักษร" หรือที่อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ตั้งชื่อไว้ให้ว่า "ทรนง ณ ธรณี" 

 

แม้ว่าแรงบันดาลใจในขั้นแรกของการสร้างรูปหล่อนี้ จะมาจากน้ำใจและความปรารถนาดีของเหล่าศิลปิน ที่ต้องการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อแสดงความระลึกถึงและให้เกียรติต่อ เจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี ที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๗  

 

แต่ความหมายที่แท้จริงของอนุสาวรีย์นี้ ก็เป็นอย่างที่พวกเราในที่นี้ทุกคนเข้าใจร่วมกัน และที่เป็นสาเหตุให้เราต่างมาจากทุกสารทิศเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในพิธีติดตั้งอนุสาวรีย์ในวันนี้  นั่นคือ เพื่อให้อนุสาวรีย์นี้เป็นสัญลักษณ์ถึงการต่อสู้ของชาวบ้านสามัญชนอย่างเราทั่วทุกหัวระแหง ที่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ของความรักท้องถิ่น และสามัคคีกันทั้งชุมชนเพื่อเป็นพลังอันเข้มแข็ง

 

ทำไมต้องมีอุดมการณ์ของการปกป้องรักท้องถิ่น ? 

 

ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของบ้านเมืองนี้ ชุมชนหลายแห่งได้ลุกขึ้นมาต่อรองอำนาจในการกำหนดอนาคตของตนเอง ได้เกิดการต่อสู้ขึ้นมาหลายครั้งในหลายพื้นที่ แลกมาด้วยเลือดเนื้อของชาวบ้านนิรนามไม่รู้เท่าไหร่ ทั้งที่แพ้บ้างชนะบ้าง แต่ก็ล้วนได้ลุกขึ้นสู้อย่างมีศักดิ์ศรี

 

เป็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นสู้ด้วยสำนึกอย่างชาวบ้าน ว่ากูอยู่ของกูมาอย่างนี้ จะดีจะชั่วกูก็อยู่ของกูมาแต่รุ่นปู่ย่า ทำมาหากินเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวมาโดยอาศัยทรัพยากรรอบตัว คือ ผืนดิน แม่น้ำ ป่าเขา ทะเล  อยู่ร่วมกันมาเป็นชุมชน เป็นเทือกเถาเหล่ากอ ที่สามัคคีกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ก็ยังยึดโยงกันอยู่เป็นชุมชน เพราะเราต้องพึ่งพาพึ่งพิงซึ่งกันและกัน

 

เมื่อวันหนึ่งมีคนจะมาทุบหม้อข้าว จะมาแบ่งแยกทำลายชุมชนของเรา  เราจึงมีแต่ต้องลุกขึ้นสู้ตามสัญชาติญาณ ตามสามัญสำนึก ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนตรงไปตรงมาว่า เราต้องสู้เพื่อรักษาปากท้อง หม้อข้าว และหม้อรกของเราไว้

 

อย่ามาพูดคำว่า "ผลประโยชน์ของชาติ"  หรือ "ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่" กับเราแต่เพียงลอยๆ เพื่อเป็นข้ออ้างให้เราต้องเสียสละ

 

เพราะคนส่วนใหญ่ ย่อมประกอบด้วยคนส่วนน้อย คนเล็กคนน้อยมารวมกัน ศักดิ์ศรีของคนส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าคนส่วนน้อยถูกย่ำยี

 

ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จะมีอยู่จริงได้อย่างไร ถ้ามันได้มาด้วยการยื้อแย่ง ทำลาย ปล้นชิงคนเล็กคนน้อย เพราะชาติ ประกอบขึ้นด้วยชุมชนเล็กๆ หลายๆ ชุมชน ชุมชนเข้มแข็ง ชาติจึงเข้มแข็ง

 

เรารู้ ว่าธงอย่างที่เรียกว่าธงชาติไทย มีสีอะไรบ้าง แต่เมื่อเราจะลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องท้องถิ่นของเรา เราเย็บธงของเราขึ้นเอง ตัดไม้ทำด้ามธงของเราเอง และเลือกเองว่าจะใช้ธงสีอะไร

 

การชูธงเขียว ธงแดง ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธธงชาติ ตรงกันข้าม มันคือการยืนยันตัวตนของเราในฐานะชุมชนที่ประกอบกันขึ้นเป็นชาติ

 

ถ้าเราไม่รอด ชาติก็ไม่รอด

 

ขบวนการประชาชนในระดับชุมชน อาจดูเป็นเรื่องเฉพาะประเด็น เฉพาะถิ่น แต่ภายในขบวนการเล็กๆ เช่นนี้นี่เองที่เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร เรามองเห็นได้ทะลุในทุกส่วน ทุกองค์ประกอบของขบวน เพราะมันล้วนมาจากเรา อยู่ในสายตาของเรา อยู่ในการควบคุมและตัดสินใจของพวกเรา  กระทั่งคนที่ได้ชื่อว่าเป็นแกนนำหรือผู้นำ ก็ไม่อาจตัดสินใจหรือลงมือกระทำการใด ที่รอดพ้นไปจากการกำกับตรวจสอบของพวกเราได้

 

สนามเล็กๆ นี้เองที่ฝึกฝนเราให้เท่าทันสนามที่ใหญ่กว่า ผลจากอุดมการณ์ของความรักท้องถิ่นนี่เอง ที่ทำให้เราเท่าทันกลลวงและความหมายที่แท้จริงของอุดมการณ์ที่ใหญ่กว่า

 

สำหรับเราแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือนโยบายที่แท้จริง ต้องเริ่มจากตีนเล็กๆ ของชาวบ้านที่มาเดินร่วมกัน ฟันฝ่าล้มลุกคลุกคลานด้วยกัน ผลักดันความเปลี่ยนแปลงไปทีละก้าว ทีละขั้นร่วมกัน 

 

ตราบใดที่แต่ละก้าวนั้น ย่างออกไปด้วยกำลังขาของตัวเอง และด้วยการตัดสินใจของตัวเอง จะเดินช้า หรือสะดุดล้มบ้าง ก็ยังภูมิใจได้ว่าเป็นการก้าวไปด้วยตีนของเรา

 

เหมือนอย่างที่พี่น้องสมัชชาคนจนเคยบอกว่า รัฐธรรมนูญเขียนได้ด้วยตีนของเรา เหมือนอย่างที่พวกเราเชื่อว่าถ้าอยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ก็ให้ลงมือทำเอา แล้วเดี๋ยวรัฐธรรมนูญก็จะเป็นไปตามนั้นเอง

 

พี่น้องอาจไม่ทราบว่า ในช่วงการเตรียมงานติดตั้งอนุสาวรีย์นี้ พวกเราที่นี่หลายคน อดตาหลับขับตานอน ลงแรงขนหิน ขนทราย แบกปูน ร่วมกันก่อสร้างฐานเพื่อรองรับอนุสาวรีย์นี้ เพราะอนุสาวรีย์นั้น ต่อให้ยิ่งใหญ่ หรือสูงค่าเพียงใด ก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้โดยปราศจากฐานรองรับ

 

อุดมการณ์ของการรักท้องถิ่น คืออุดมการณ์ของคนที่เชื่อในการลงแรงสร้างฐาน เพื่อนำไปสู่การผงาดของอนุสาวรีย์หรือการเปลี่ยนแปลงอันเป็นประวัติศาสตร์

 

และด้วยความเชื่อที่ว่า ความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นคือฐานสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงนี่เอง  เราจึงตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่อันเป็นสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์นี้ ให้เป็นโรงเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ปกป้องท้องถิ่น เป็นที่เก็บรวบรวมเรื่องราวการต่อสู้ของท้องถิ่น เป็นสถานที่บันทึกประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยคนท้องถิ่นที่เป็นผู้ลงมือสร้างประวัติศาสตร์เอง

 

สถานที่แห่งนี้จะเก็บรวบรวมประวัติศาสตร์และเรื่องราวการเคลื่อนไหวของชาวประจวบฯ และชุมชนต่างๆ เป็นศูนย์กลางสำหรับพี่น้องชาวบ้านชุมชนต่างๆ ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ของการต่อสู้ปกป้องหวงแหนท้องถิ่นเหมือนกัน ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ฝึกฝนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กัน

 

เราอยากเห็นชุมชนต่างๆ ลุกขึ้นมาสร้างประวัติศาสตร์ของตนเอง ต่อสู้ยืนหยัดปกป้องท้องถิ่นด้วยความเข้มแข็ง ส่งทอดและสืบสานอุดมการณ์รักท้องถิ่นให้แก่ชุมชนอื่นๆต่อไป

 

ขณะเดียวกันการรักษาอุดมการณ์และความเข้มแข็งของชาวประจวบฯ ไว้ ก็เป็นภารกิจที่ไม่ใช่เรื่องง่าย  ในวันนี้การต่อสู้ของพวกเราชาวประจวบฯเองก็ยังไม่จบสิ้น แม้โรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูดจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่โรงไฟฟ้าใหม่ๆ ทั้งถ่านหิน ก๊าซและนิวเคลียร์ ก็รอจังหวะที่จะรุกเข้ามา โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างสหวิริยาก็จ้องจะขยายอาณาจักรมารุกรานทำลายทรัพยากรและสุขภาพของชาวประจวบฯ ให้ยิ่งหนักข้อเข้าไปอีก ที่ดินสาธารณะคลองชายธงก็ยังอยู่ในมือกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น

 

ถ้าเมื่อไหร่ที่ชุมชนของเราไม่เห็นความสำคัญของการรวมตัวกันต่อสู้ด้วยความเข้มแข็ง ไม่เห็นความสำคัญของการยืนหยัดด้วยตนเอง ประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะของชุมชนที่เราเคยสร้างไว้ ก็จะกลายเป็นตำนาน เป็นนิทานปรัมปราที่มีแต่จะถูกลืมเลือนไป พร้อมๆ กับวิถีชีวิตและทรัพยากรของชุมชนที่จะถูกทำลาย

 

แล้วเราก็จะเหลือแต่อนุสาวรีย์ทองเหลืองนี้ตั้งไว้ แต่ไม่เหลือภารกิจให้สืบสานอะไร  เป็นท้องถิ่นที่หมดศักดิ์ศรีและถูกกลืนหาย เป็นชุมชนทาสอยู่ในชาติที่เรียกตัวเองว่าไทย

 

 

21 มิถุนายน 2550

ครบสามปีการจากไปของเจริญ วัดอักษร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท