Skip to main content
sharethis


วานนี้ (22 มิ.ย.) ตัวแทนพนักงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เข้าพบคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริหารประจำเดือนเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน กรณีถูกสั่งห้ามและแทรกแซงการทำงานข่าวและรายการที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งประเด็นทางการเมือง



 


นายเถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยหลังจากรับหนังสือร้องเรียนว่า ได้รับทราบข้อมูลจากตัวแทนพนักงานว่า ในช่วงระหว่าง 1 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่บรรยากาศทางการเมืองร้อนแรงมากขึ้น ฝ่ายข่าวและฝ่ายรายการของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้พยายามนำเสนอข่าวสารและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง การชุมนุม รวมทั้งคดียุบพรรคการเมือง โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมรายการ โดยทางสถานียืนยันในหลักการตามวิชาชีพที่จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมและรอบด้าน



 


อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องการให้นำเสนอความเห็นที่ขัดแย้งหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลเรื่องความสมานฉันท์ภายในชาติ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็จะถูกดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป พร้อมกับแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบบทและประเด็นข่าวก่อนออกอากาศ อีกทั้งยังมีตัวแทนหน่วยงานรัฐมาร่วมประชุมกับกองบรรณาธิการทุกวัน ทำให้กองบรรณาธิการขาดอิสระในการทำงานอย่างแท้จริง



 


"ตัวแทนพนักงาน มาร้องเรียนสมาคมฯ เพื่อขอให้หาแนวทางในการช่วยเหลือ พนักงานทีไอทีวีส่วนหนึ่งก็เป็นสมาชิกสมาคมฯ ดังนั้น เมื่อมีเรื่องแจ้งมาในฐานะองค์กรวิชาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์ ก็จะนำประเด็นนี้เข้าสู่กระบวนการคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนและฝ่ายสิทธิเสรีภาพ พร้อมกับตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป"



เขากล่าวถึงข้อเสนอที่พนักงานทีไอทีวีเรียกร้องให้มีคณะกรรมการกลางเพื่อกำกับดูแลกองบรรณาธิการ หรือ Editorial Boardนั้น ก็เห็นด้วยและควรเร่งผลักดันให้มีคณะกรรมการดังกล่าวโดยเร็ว



 


นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยังแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และยืนยันว่าโดยหลักการแล้ว การทำงานของสื่อสารมวลชน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความเป็นอิสระในการทำหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม แต่หากมีกระบวนการปิดกั้น หรือคัดกรองโดยไม่ถูกต้องแล้ว ผลเสียย่อมตกถึงประชาชน และปัญหาในสังคมก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเวทีของผู้ที่มีความเห็นแตกต่างไม่ได้ถูกนำเสนอ อาจเป็นปัญหานำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงและบานปลายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน



 


ด้านนางจันทิมา เชยสงวน รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี กล่าวว่าในช่วง ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมประชาฯ ซึ่งมีหน้าที่ดูแล ทีไอทีวี ได้ให้นโยบายกับทางสถานีเสนอข่าวในประเด็นที่สร้างความสมานฉันท์ให้สังคม เนื่องจากปีนี้เป็นปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ดังนั้นสถานีทีวีทุกช่องควรจะนำเสนอข่าวเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านต่างๆ เป็นหลัก รวมทั้งข่าวสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ และข่าวความเคลื่อนไหวการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า ซึ่งช่อง 11 ก็ดำเนินนโยบายการเสนอข่าวในทิศทางนี้เช่นกัน



 


ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือให้ทีไอทีวี ลดการนำเสนอประเด็นความขัดแย้งของสังคม ที่จะนำไปสู่ความคิดเห็นที่แตกแยกของสังคม และนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรง เช่น ในประเด็นความเห็นทางกฎหมายต่อกรณีที่ได้มีการตัดสินไปแล้ว แต่กลับมีการนำเสนอความคิดเห็นของบุคคลที่เห็นแตกต่าง ซึ่งประชาชนผู้ชมที่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมายอาจจะเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีการชุมนุมที่สนามหลวงขณะนี้ การได้รับข้อมูลต่างๆ จึงมีความสำคัญมาก เพราะอาจจะนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงได้


 



"กรมประชาฯได้มอบนโยบายการเสนอข่าวที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม และเชื่อว่าไม่ได้ทำให้การนำเสนอข่าวของทีไอทีวี ขาดอิสรภาพ เพราะทีไอทีวีต้องทำหน้าที่สื่อที่ดีของสังคม" นางจันทิมา กล่าว


 


 


..........................


ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net