บทความ: ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อผังวัด ที่ฝั่งโขงในปัจจุบัน (ตอนจบ)

อรรคพล สาตุ้ม


 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นตอนที่ 4 ของบทความชุด "การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมและระบบนิเวศของวัด" ซึ่งปรับปรุงเพิ่มเติม และตัด เชิงอรรถกับบรรณานุกรมบางส่วนออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอในเวบไซต์ประชาไท โปรดดูเพิ่มเติมในผลงานชื่อหัวข้อเดิม คือ การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมระบบนิเวศของวัดในชุมชนชายแดนสองฝั่งโขง ในวารสารชุดภูมิภาคศึกษา สำหรับรวมบทคัดย่อและข้อเขียน อาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท ภูมิภาคศึกษา ปีที่1 ฉบับที่1 ,2549: 90-103 และ บทความนำเสนอ ใน การประชุมทางวิชาการระดับชาติ สาขาสังคมวิทยา ครั้งที่ 3 เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการพัฒนาภูมิภาคนานาชาติ 15-16 ธันวาคม 2549 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

 

อ่านตอนที่ 1      บทความ - การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรม ของวัดสองฝั่งโขง

อ่านตอนที่ 2      บทความ - ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรต่อแม่น้ำโขง และการช่วงชิงอาณานิคมของตะวันตกกับสยาม

 

อ่านตอนที่ 3      บทความ - พรมแดนความรู้ สะท้อนคติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมระบบนิเวศของวัดพระแก้วและวัดหาดไคร้ที่ฝั่งโขง

 

 

วิหารของวัดหลวง ฝั่งไทย ในขณะกำลังปรับปรุงตกแต่งใหม่ (ปี พ.. 2548)

 

 

 

ด้วยสมมติฐานว่า ความเชื่อและคติทางศิลปะเกี่ยวกับทิศและแม่น้ำ อาจจะเกี่ยวข้องในบริบทสองฝั่งชุมชน โดยนัยของการหันหน้าเข้าหาแม่น้ำย่อมเกี่ยวกับเส้นทางการค้า เพราะวัดหลวงกับวัดตีนธาตุนั้นนอกจากจะเป็นสถานที่ทางศาสนาแล้วก็ทำหน้าที่เป็นท่าเรือของชุมชนด้วย

 

และการเปลี่ยนแปลงสู่การหันหน้าเข้าหาถนนในยุคปัจจุบัน ถ้าลองจินตนาการว่าถนนเป็นภาพแทนของความเจริญ หรือการพัฒนา ในระบบทุนนิยม และผลของการมีถนนทำให้บริบทเมืองในอดีต ที่ชุมชนมีความเกี่ยวข้องกับแม่น้ำได้เปลี่ยนไป ตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งมีหลายสาเหตุทั้งกระแสวัตถุนิยมต่างๆ ในกรณีของไทยก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเส้นทางคมนาคม เช่น การพัฒนาโครงข่ายถนนมากกว่าการเดินทางน้ำ (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุวัฒน์ เจริญเมือง 2542:189-235)

 

หากมองการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ยึดอุดมคติเกินไป มีข้อสังเกตของผู้เขียนที่ต้องการชี้ให้เห็นว่าทางเนื้อหา รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของวัดย่อมเกี่ยวกับรัฐ ดังความขัดแย้งในกรณีตัวอย่างการศึกษาทางมานุษยวิทยา วัดประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่งและการพัฒนาชนบทไทย (นอกจากผู้ใหญ่บ้าน กับสมาชิกคนในชุมชน) เจ้าอาวาสก็มีการดำเนินนโยบายตามการพัฒนาของรัฐ ที่กำหนดนโยบายด้านการพัฒนาวัตถุ และเจ้าอาวาสได้ระดมทรัพยากร เน้นความหมายการพัฒนาใช้เงินก่อสร้างวัดอย่างอลังการ จนทำลายลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย และการก่อสร้าง วิหาร กุฏิ ศาลาราย กำแพงคอนกรีต ตามอุดมการณ์พัฒนาทางวัตถุจากรัฐเข้าไปในวงการสงฆ์ (ชยันต์ วรรธนะภูติ 2533:179-182)

 

แต่ยุคสมัยนี้บุญนิยมอาจจะมาคู่กับทุนนิยม ในบางวัด เช่น วัดหลวง มีการก่อสร้างวิหารใหม่ในปัจจุบันโดยกำลังทรัพย์ของชาวบ้านเอง ส่วนวัดพระแก้ว มีการทำประตูทางเข้าวัดเพิ่มเติมขึ้น เพราะเปิดทางเข้าแก่ผู้คนทางถนน แต่โลกทัศน์เดิมที่ยังหลงเหลือร่องรอยของผังวัด สะท้อนความคิดการผสมผสานคติความเชื่อผีแม่น้ำโขงบนพื้นที่บริเวณแม่น้ำโขงเข้ากับอิทธิพลคติจักรวาลแบบไตรภูมิในความสัมพันธ์เชิงซ้อน กรณีวัดหาดไคร้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนเพราะความเป็นพื้นที่ติดพรมแดนสองฝั่งโขง และความเป็นมาของอดีตในระดับชุมชนสู่ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนา-ล้านช้าง และเมืองเชียงของกับห้วยทรายก็เปลี่ยนไปอยู่ในขอบเขตแดนของสยาม

 

ดังนั้น ก่อนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย กับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะเปลี่ยนแปลงแนวคิดเดิม คือเกิดแผนที่ของสยามเพื่อสร้างขอบเขตแดน ให้มีอาณาเขตอย่างชัดเจน เพราะการเข้ามาล่าอาณานิคมของอังกฤษกับฝรั่งเศสในอุษาคเนย์ ทำให้เปลี่ยนจากแนวคิดแผนที่คติจักรวาลแบบไตรภูมิ เป็นแผนที่ตามภูมิศาสตร์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ตามตะวันตก

 

แต่ที่แม่น้ำโขงก็ยังเป็นเส้นทางสานสัมพันธ์ของผู้คนสองเชื้อชาติและสองประเทศที่ใช้ข้ามไปมาหาสู่ดุจญาติฉันท์มิตร มีการติดต่อซื้อขายกันอย่างเสรี เสมือนไร้รัฐ จะมีเพียงเส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์หรือทางธรรมชาติ คือแม่น้ำโขงที่แบ่งแยกแผ่นดินออกจากกันเท่านั้น แต่ก็ได้แสดงถึงว่าแม่น้ำโขงถูกใช้แทนความหมายเดิม เปลี่ยนความหมายสร้างวาทกรรมความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ทำให้แม่น้ำโขงกลายเป็นพรมแดนความมั่นคงและเส้นทางการค้าไปแล้ว

 

เมื่อแม่น้ำโขงถูกทำให้เป็นพรมแดนสำหรับแบ่งเป็นไทย-ลาว หรือเขา-เราแล้ว ก็เหมือนกับวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามและศาสตร์แยกส่วน ที่เป็นฐานคิดของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ก็มีส่วนไม่น้อย และแน่นอนว่าผลกระทบเกี่ยวพัน กับระบบทุนนิยม เน้นอัปลักษณ์ในการพัฒนาบูชาบริโภคสัญญะของเงินตรา(ด้านเดียว) ที่มนุษย์เป็นผู้สร้างเงินขึ้นมาแล้วตกเป็นทาสของมันอย่างเดียว ทำให้มุ่งมั่นแข่งขันเพื่อวัตถุ สุดท้ายเราก็ยังคงอยู่ใต้ปัจจุบันของโครงสร้างทุนนิยมอย่างปฏิเสธไม่ได้ จนอาจทำลายล้างทรัพยากรต่างๆ และในที่สุดแล้ว ควรเข้าใจความสัมพันธ์ของชุมชน ที่มีความเชื่อร่วมกันในความผูกพันของอาณาจักรล้านนาและล้านช้างผ่านความสัมพันธ์ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงแล้ว มีผลต่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มันเป็นตัวบ่งบอกความหมายของความสำคัญชุมชนในเส้นทางการค้าทางประวัติศาสตร์ และมีผลกระทบของการพัฒนาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในนามสี่เหลี่ยมหรือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจต่อแม่น้ำโขง

 

ผังของวัดหลวงที่วิหารหันหน้าเข้าแม่น้ำโขง

 

เหตุผลของการพัฒนาคงจะมีผลกระทบทำให้ชุมชน เกิดเปลี่ยนรูปแบบ"ศิลปะท้องถิ่น และศิลปะข้ามแดน"ในการแลกเปลี่ยนอิทธิพลกัน ตามการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้นความหมายของแม่น้ำโขง ในการรับรู้แม่น้ำโขง ต่อคน ต่อสัมพันธ์กับวัดนั้น มันมีความหมายต่างจากในอดีตกับโลกทัศน์ของคนยุคโลกาภิวัตน์นี้ (Craig J. Reynolds 2002:318)

 

โดยที่ตามเหตุผลของคนในอดีตขึ้นอยู่กับการตั้งถิ่นฐาน หรือที่อยู่อาศัย กับลักษณะความเป็นเมือง ก่อนความเป็นรัฐชาตินั้น ชุมชนอยู่ติดแม่น้ำ เข้าวัดใกล้แม่น้ำเพื่อฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระพุทธรูป ทำพิธีทางศาสนา แต่ปัจจุบันโลกทัศน์เก่าสัมพันธ์กับความหมายเดิมลบเลือนจากความทรงจำ และเน้นเศรษฐกิจกับวัตถุดังกล่าว เปลี่ยนวัตถุมงคลกลายเป็นสิ่งมีค่า ซื้อ ขาย หรือสถาปัตยกรรมงดงามอลังการต้องใช้วัสดุก่อสร้าง (ศิริชัย นฤมิตรเรขาการ 2543: 70) การใช้ไม้ในศิลปกรรมล้านนา มีสถาปัตยกรรม อาคารในทางศาสนา ได้แก่ วิหาร โบสถ์ และอาคารอื่นๆ

 

แต่ทว่าในปัจจุบันจำนวนป่าไม้ลดลง(ความเชื่อผี-รุกขเทวดาในต้นไม้ก็ลดลง) และมีความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ที่มีค่าราคาแพงแทนโดยไม่มีความหมายเพื่อเคารพกราบไหว้ในทางพัฒนาจิตใจ ทำให้ส่งผลต่อความเชื่อ ศรัทธา ทางศาสนาแปรเป็นรูปแบบการรีบเร่งก่อสร้างวิหารตามปัจจัยผู้บริจาค และประตูทางเข้าของวัดเปลี่ยนไป ตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างผังเมืองที่มีการพัฒนาเน้นทางถนนแสดงภาพแทนแม่น้ำโขงดังกล่าวไปแล้ว เพราะประวัติศาสตร์โลกทัศน์เดิมค่อยๆหมดพลังต่อรอง หรือลดแรงต้านทานกระแสของอำนาจการล่าอาณานิคม-โลกาภิวัตน์ แม้ว่าความคิด ความรู้วิทยาศาสตร์ตามมาทีหลัง ก็มีคำถาม-คำตอบทางสิ่งแวดล้อมบ้างก็ตาม แต่คำตอบยังมีมิติด้านอื่น

 

อนึ่ง มีการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ ที่มีโลกทัศน์เกี่ยวกับคติจักรวาลในฐานะโครงสร้างของจิต(อัตตา) เปรียบเทียบกับนักจิตวิเคราะห์ แล้วว่า "จักรวาลมีความคล้ายคลึงกับมณฑล และยันตร์ ซึ่งมณฑลเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมอาจเป็นแผนผังภาพวาด สถาปัตยกรรม เช่น โบสถ์ วิหาร แต่บทสรุปของการวิเคราะห์ คำพรรณนา รูปลักษณ์และโครงสร้างของจักรวาลนั้น ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์" จึงพิจารณาอีกทัศนะหนึ่งว่า จักรวาลทางพุทธศาสนาเป็นแผนผังแสดงโครงสร้างของจิตหรือนามธรรมของมนุษย์

 

ดังนั้น "แม่น้ำโขง" เกี่ยวกับคติจักรวาลในฐานะโครงสร้างของจิต ได้เปลี่ยนความหมายแทนเป็นพรมแดนแล้ว เราอาจจะเข้าใจไขว้เขวได้ จึงขอย้ำว่า อ่านบทความนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นการอ่านนิยาย "แม่โขง" เพราะมีหลักฐานกับเหตุผล ที่เป็นข้อมูลหลักฐานโบราณคดีและประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์ศิลปะ ในความคิด ความรู้ด้านคติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไปแล้วดังกล่าว บางครั้งเราเจอกับการบริโภคเหล้าชื่อ "แม่โขง" ฯลฯ ตามการโฆษณา สื่อโทรทัศน์ ต่างๆ ที่ชักชวนให้มึนเมา หรือหลงอยู่กับการบริโภคของระบบทุนนิยม ไม่เข้าใจถึงด้านนามธรรมของคติจักรวาลในอดีต เพราะว่า เราไม่ได้อยู่ในโลกแบบอดีตอันเก่าแก่

 

อย่างไรก็ตาม เราเรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันอย่างไม่สิ้นสุด ดั่งว่าประสบการณ์ทางวัฒนธรรมจากการเห็นสิ่งก่อสร้างทางศิลปวัตถุ สถาปัตยกรรมของอดีตในที่นี้ ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องเพื่อความสำคัญของปรัชญาพุทธศาสนา ฉะนั้น ผู้เขียนก็หวังว่าความหมายของแผนที่ภูมิจักรวาลในอดีต ที่มีแผนที่เป็นภูมิศาสตร์ของทิศทาง จะช่วยการพัฒนาอันบ่งชี้ความหมายของชีวิตได้ ซึ่งก็ได้สะท้อนภาพแสดงแทนผ่านผังวัด ตัวตนของวัด กับพระ ซึ่งอุปมาดั่งบ้านของเรา และพรมแดน ที่มีภูมิศาสตร์ในความสัมพันธ์ของชุมชนในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสัญญะ ในองค์ประกอบภูมิสถาปัตยกรรม และพื้นที่สัมพันธ์กับแม่น้ำโขง เพราะว่า พรมแดนความรู้ คือความหมายในระบบนิเวศตามธรรมชาติ เกี่ยวกับคติจักรวาลแบบไตรภูมิอันเป็นจริยธรรมในการเคารพธรรมชาติ ประดุจภูมิสถาปัตยกรรมสะท้อนภาพองค์รวมสรรพชีวิต

 

......................................

อ้างอิงบางส่วน

ดวงจันทร์ อาภาวัชรุวัฒน์ เจริญเมือง 2542 เมืองในสังคมไทย กำเนิด พัฒนาการ และแนวโน้ม:รายงานการวิจัย. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

 

ชยันต์ วรรธนะภูติ 2533 "รัฐกับการพัฒนาชนบทและการสืบทอดลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมในหมู่บ้านภาคเหนือของไทย" ใน รัฐกับหมู่บ้านในไทยศึกษา. กรุงเทพฯ :สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ศิริชัย นฤมิตรเรขาการ 2543"ทรัพยากรป่าไม้กับการสร้างสรรค์เอกลักษณ์และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้านนา"ใน ภูมิศาสตร์กับวิถีชีวิตไทย เอกสารประกอบสัมมนา ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, กรุงเทพฯ.

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2545.ก่อนยุคพระศรีอาริย์ ว่าด้วยศาสนา ความเชื่อ และศีลธรรม. กรุงเทพฯ:ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ.

_____________.2543.กรุงแตก,พระเจ้าตากฯและประวัติศาสตร์ไทยว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ.

 

อรรคพล สาตุ้ม 2548. แม่หญิงแห่งแม่น้ำโขง- บทบาทสตรีศรีภรรยาคนจับปลาในยุคโลกาภิวัตน นำเสนอในงาน NEW VOICES FROM THE MEKONG REGION: WOMEN IN THE PUBLIC ARENA November 7 - 10, 2005 ณ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

Craig J. Reynolds edited. 2002. National identity and its defenders : Thailand today Chiang Mai : Silkworm Books.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท