ครม.ไฟเขียว พรบ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ชงเข้าสภาฯ เดือนหน้า

ดร.อารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ... และจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.ค.50

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมครม.มีข้อสังเกตว่า ขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความซับซ้อนเกินไปหรือไม่ และขั้นตอนการกระจายหุ้นสามารถทำได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้จริงหรือไม่ พร้อมทั้งมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะผูกขาด และกฎหมายห้ามไม่ให้แปรรูปนั้น หากมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลที่เข้ามาควบคุมทั้งราคาและคุณภาพการให้บริการ ก็ควรให้มีการแปรรูปได้

 

ดร.อารีพงศ์ ระบุว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีขั้นตอนและการดำเนินการที่ชัดเจนกว่าพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 รวมทั้งใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากกว่า แต่ก็จะทำให้การดำเนินการมีความรัดกุมและได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ในขั้นตอนก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะต้องมีการนำเสนอผลกระทบในภาพรวมให้รัฐสภารัฐทราบก่อน

 

ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะกำหนดให้ยกเลิกพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปมีสินทรัพย์มากกว่า 2 พันล้านบาท และกำหนดกิจการที่ไม่ให้แปรรูป คือ 1.กิจการซึ่งโดยสภาพกิจการหรือการลงทุนไม่มีการแข่งขันในตลาด 2.กิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีผลเสียต่อสุขภาพอนามัย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังกำหนดให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้องไม่มีผลต่อการโอนอำนาจการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ หรืออำนาจการอนุมัติ อนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน รับแจ้ง หรืออำนาจมหาชนอื่นใด รวมถึงสิทธิพิเศษที่รัฐวิสาหกิจนั้นมีอยู่ในกิจการที่จะแปรรูป ไปให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นจากการแปรสภาพโดยสิทธิพิเศษ ซึ่งรวมถึงข้อยกเว้นที่ไม่ต้องอยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า

 

ดร.โชติชัย กล่าวว่า ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลอื่นใด เพื่อประกอบกิจการใดๆ นั้น การจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลต้องไม่ประกอบกิจการที่ไม่มีการแข่งขันในตลาด หรือผลิตสินค้าหรือบริการที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัย หรือขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องไม่มีการโอนอำนาจมหาชน หรือสิทธิพิเศษอื่นใดไปยังบริษัทลูกที่จัดตั้ง และการกระจายหุ้นต้องดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้

 

นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังกำหนดขั้นตอนและกระบวนการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ รวมถึงกระบวนกระจายหุ้น ซึ่งจะดำเนินการโดยคณะกรรมการนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง และคณะกรรมการกระจายหุ้น พร้อมทั้งกำหนดลักษณะกิจการรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพ ต้องมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล เช่น กิจการที่มีอำนาจมหาชน กิจการที่มีผู้ประกอบการน้อยราย หรือมีการแข่งขันน้อย

 

ดร.โชติชัย กล่าวว่า สาเหตุที่กระทรวงการคลังเสนอร่างพ.ร.บ.ร่าง การกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจฯ เนื่องจากพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าสู่กระบวนการแปลงสภาพ และหลักเกณฑ์การการกระจายหุ้นของบริษัทที่จัดตั้งขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการดำเนินการ เกิดความขัดแย้งและไม่มั่นใจในการดำเนินการของรัฐบาล

 

 

 

ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น

ภาพประกอบหน้าแรก : www.isil.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท