อธิการ มธ. ชี้อาจออก พ.ร.บ.คืนสิทธิ์การเมืองได้เฉพาะกับคนไม่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความแตกแยก

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. สมาคมนักข่าวจัดโครงการอบรม "ความรู้ทางการเมือง เศรษฐกิจและกฎหมายสำหรับสื่อมวลชน รุ่นที่ 1" โดยนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายเรื่อง "หลักนิติรัฐ กฎหมายย้อยหลังได้หรือไม่ ศึกษากรณีคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ"

นายสุรพล กล่าวว่า พูดเรื่องนิติรัฐ อะไรคือหลักของนิติรัฐ เพราะบางครั้งอาจมีการสับสนระหว่างนิติรัฐและนิติธรรม แต่นิติรัฐกล่าวได้ว่าเป็นรัฐบาลที่ปกครองโดยระบอบกฎหมายเป็นใหญ่ โดยแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบ คือ กฎหมายเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองรัฐ นิติรัฐต้องแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของรัฐออกจากกัน และการมีระบบศาลที่เป็นอิสระจะละเมิดสิทธิภาคประชาชนไม่ได้ ดังนั้นต้องคิดว่า 5 ปีก่อนหน้านี้ประเทศไทยปกครองโดยหลักนิติรัฐหรือไม่ หรือยังเป็นนิติรัฐหรือไม่ มีการแบ่งแยกอำนาจของรัฐจริงหรือไม่หรือเป็นแบบระบบรวมศูนย์ แล้งองค์กรที่ทำหน้าที่ชี้ขาดเหมือนศาลอย่าง กกต.หรือปปช.เป็นอิสระจริงหรือไม่ หรือที่ผ่านมานิติรัฐเป็นเพียงสัญลักษณ์แล้วเราก็พยายามที่จะเอาสัญลักษณ์กลับมาโดยที่เราไม่เคยเข้าไปยุ่งกับรายละเอียด

นายสุรพล กล่าวว่า ส่วนเรื่องคำวินิจฉัยของศาลนั้น เชื่อว่าตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ที่จะจงใจยุบพรรคไทยรักไทย เพราะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ส่งให้อัยการสูงสุดยุบพรรคการเมือง 5 พรรค ตั้งแต่ 6 มิถุนายน 2549 และอัยการสูงสุดก็ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กรกฎาคม. 2549 ดังนั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร นอกจากนี้ที่ผ่านมา ก็มี พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2541 ที่กำหนดโทษเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้น

ส่วนที่มีการพูดกันว่ามีการตั้ง"ศาลเตี้ย"เพื่อมาจัดการกลุ่มอำนาจเก่าหลังรัฐประหารนั้น หากเปรียบเทียบระหว่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว กับตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้ เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือมากว่าชุดที่ก่อนรัฐประหาร ดังนั้นจึงเชื่อมั่นในตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้ และคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้มากที่สุด ดูได้ว่าคำวินิจฉัยกลางมีความน่าเชื่อถือและมีเหตุมีผล ไม่มีจุดด้อยที่ทำให้โจมตีได้เลย และตอนนี้ทุกอย่างก็ถือว่าจบแล้ว ไม่สามารถอุทธรณ์หรือยื่นอะไรได้ทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องคำวินิจฉัยมีผลย้อนหลังนั้นถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะตุลาการไม่ได้บอกว่าเรื่องนี้เป็นโทษ แต่กลับใช้คำว่าได้รับผลร้าย ดังนั้นใช้บังคับย้อนหลังได้ เพราะไม่ใช่โทษทางอาญา แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ กก.บห. ไม่มีโอกาสไปกระทำให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก จึงได้เพิกถอนสิทธิ์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หากย้อนกลับไปดูก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาก็เคยมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้มาก่อนแล้ว เลขฎีกาเลขที่ 9083/2534 ที่ระบุว่าการเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง ไม่ใช่กฎหมายอาญา แต่เป็นการจำกัดสิทธิ์ไม่ให้ไปทำทุจริต ศาลจึงมีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิ์ได้

นายสุรพล กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะยกตัวอย่างสำคัญคือ สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการนำตัวผู้นำนาซีเยอรมัน และผู้บังคับบัญชาของญี่ปุ่นหลายคน ไปขึ้นศาลที่เยอรมัน เพื่อตัดสินประหารชีวิตฐานล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ และต้องการที่จะยึดครองโลก ทั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดกฎหมายระหว่างประเทศเช่นนี้

แต่วันนี้การแย่งชิงอำนาจไม่ได้เกิดเฉพาะสงครามโลกเท่านั้น แต่มีการใช้อำนาจทางอื่น เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการที่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบเพื่อให้ตนเองชนะการเลือกตั้ง

"ถามว่าวันนี้อาชญากรรมในระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะศาลเยอรมันก็ได้ตัดสินประหารชีวิต ผู้ที่ต้องการยึดอำนาจรัฐของประเทศอื่น ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิ์ในการเลือกตั้ง 5 ปี ถือว่าเป็นเหตุผลเดียวกัน ซึ่งหากกลับไปดูคำวินิจฉัยหน้า 56-95 จะเห็นว่าพฤติกรรมบางอย่างร้ายแรงมาก ดูเฉพาะการสรุปพฤติกรรมในหน้า 99-100 อยากถามว่าพฤติกรรมที่ว่านี้เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ "ดร.สุรพล กล่าวและว่า ดังนั้นการรัฐประหารของ คมช. จึงไม่ได้เลวแตกต่างกันในการเข้ายึดอำนาจรัฐ เพียงแต่แตกต่างกันเรื่องที่พรรคไทยรักไทยเอาชนะด้วยอำนาจทางการบริหาร ขณะที่การรัฐประหารนั้น ทหารใช้อำนาจทางอาวุธในการเข้ายึดอำนาจแบบนี้จึงเลวพอๆ กัน ดังนั้นการประหารชีวิตหลังสงครามครั้งที่ 2 ฐานเป็นอาชญากรชาติ ก็ไม่ได้แตกต่างกับอาชญากรระบอบประชาธิปไตย ล้วนเป็นการทำลายทั้งสิ้น แต่อาชญากรประชาธิปไตยมีวิธีแนบเนียนกว่า ดังนั้นจึงไม่แปลกหากพฤติการณ์เช่นนี้จะสมควรได้รับการลงโทษ

นายสุรพล กล่าวว่า เห็นด้วยหากมีการเสนอให้ยกเลิกกฎหมายที่เป็นผลร้าย ทำให้เกิดการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง แต่เรื่องนี้ต้องยกเลิกให้เพียงบางคน อย่างคนที่ทำผิดชัดเจนอย่างหัวหน้าพรรค เลขาธิการ ไม่ควรยกเลิก เพราะถือว่าเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง

ส่วนจะคืนสิทธิ์ให้ กก.บห. ของพรรคไทยรักไทยที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เมื่อไหร่นั้นอยู่ที่สถานการณ์และการเมืองที่เหมาะสม แต่คิดอาจจะยกเลิกหลังจากมีรัฐสภาที่มาจากประชาชนแล้วก็ได้ แต่ต้องให้ออกมาเป็นในรูปแบบพ.ร.บ. ให้เป็นความเห็นของรัฐสภาเสียงข้างมาก ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร หรือผู้ถืออำนาจของรัฐ ส่วนประธาน คมช. เคยเอาความเห็นของตนไปพูดหรือไม่ไม่รู้

เพราะคุยเรื่องนี้กับหลายคน แต่พูดกระแสคงไม่แรงเท่าที่ท่านพูด แต่อย่างไรก็ตามหากออกกฎหมายเรื่องการคืนสิทธิ์ทางการเมือง จะทำให้ช่วยลดความขัดแย้งได้ก็ควรที่จะทำ แต่จะต้องออกมาเป็นพ.ร.บ.เท่านั้น เพราะต้องการให้สังคมเดินไปข้างหน้า เพื่อลดความขัดแย้ง ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย

การออกกฎหมายคืนสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องดูว่าจะคืนสิทธิ์ให้ใครบ้าง ไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือคนที่ถูกกกต.ดำเนินคดีอาญา แต่เป็นคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องคืนสิทธิ์เขาให้หมด เชื่อว่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสภาผู้แทนราษฎรในครั้งหน้า มีวาระอยู่ครบ 4 ปี แล้วจะรอให้รัฐสภาชุดหน้าดำเนินการเรื่องคืนสิทธิ์การเลือกตั้ง จะไม่ช้าเกินไปหรือไม่ นายสุรพล กล่าวว่า ใน 1-2 อาทิตย์ จะไปหารือกับ สนช.ดูว่าสถานการณ์เหมาะสมแล้วหรือไม่ ที่จะเสนอกฎหมายคืนสิทธิ์ทางการเมือง แก่กรรมการบริหารพรรคบางคน ต้องประเมินสถานการณ์ว่า ถ้าเสนอกฎหมายไปแล้วจะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปหรือไม่ หรือจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองกับใคร หรือถ้าไม่เสนอจะเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นหรือไม่ การตัดสินใจอะไรต้องดูมติของ สนช.ว่าจะเอาอย่างไร เขาจะเอาด้วยกับเราหรือไม่ ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน ซึ่งหากทำได้ก็อยากทำเพื่อจะช่วยลดปัญหาความรุนแรงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม

นายสุรพล กล่าวอีกว่า ที่มีหลายพรรคการเมืองเชิญไปร่วมงานทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่าน เกรงใจไม่กล้าปฏิเสธ เลยขอใช้โอกาสนี้ปฏิเสธต่อหน้าสื่อมวลชน ว่าไม่มีความถนัดทางการเมือง แต่เหมาะที่จะทำงานในมหาวิทยาลัยมากกว่า

เมื่อถามว่า ข้อเสนอของนายสุรพลในการออกพ.ร.บ.คืนสิทธิทางการเมือง จะเป็นหมันหรือไม่ หากข้อเสนอของนายจรัญ ภักดีธนากุล กรรมาธิการยกร่าง ที่ให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี ในมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายสุรพลกล่าวว่า ไม่อยากเอ่ยขนาดนั้น เพราะต้องรอให้รัฐธรรมนูญเสร็จ ตอนนี้ยังเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระบวนการแปรญญัติ ซึ่งกว่าจะมีการลงประชามติรับหรือไม่รับ 2 เรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวกัน

เมื่อถามอีกว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหน ที่จะตีความในเรื่องโทษทางอาญากับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยอย่างจริงจัง โดยการตราออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะ นายสุรพลกล่าวว่า คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถือว่าครบองค์ประกอบทางกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่พูดกันโดยรวมโดยเฉพาะเรื่องการลดหรือจำกัดสิทธิ ซึ่งการพัฒนาในทางอาญามีคดีอยู่แล้ว หลายๆ เรื่องที่สามารถดำเนินการเอาผิดทางอาญาได้ แต่ กกต.ไม่ยอมเริ่มดำเนินการต่อ เชื่อว่า กกต.จะสามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคไทยรักไทยจะต่อสู้เรื่องนี้ทางชั้นศาล หรือถวายฏีกาต่อไปได้อีกหรือไม่ นายสุรพล กล่าวว่า คำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นคำตัดสินเด็ดขาดเว้นแต่องค์กรนิติบัญญัติจะตรากฎหมายออกมาลบล้างคำตัดสินนั้น

ต่อข้อถามที่ว่า ออก พ.ร.บ.คืนสิทธิทางการเมือง ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นการลบล้างคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสุรพลกล่าวว่า ในอดีตเคยมีเรื่องทำนองนี้ ในต่างประเทศศาลก็ตัดสินคดีตามหลักกฎหมาย และศาลก็ออกมาแสดงเจตนารมณ์ในทางกฎหมายอย่างชัด โดยส่วนตัวมองว่าคำวินิจฉัยของศาล ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ที่เป็นห่วงคือการที่มีคนบอกว่าคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีเหตุผล

"ผมคิดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำวินิจฉัยที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ผมเชื่อมั่นในคำตัดสินของตุลาการทั้ง 9 ท่าน ถ้าผมเห็นว่าความขัดแย้งจะพัฒนารุนแรง จนทำให้สังคมเกิดความแตกแยก จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะทำหน้าที่ในการเสนอกฎหมายให้ผ่อนคลายความตึงเครียดนั้น และถ้าจะมีกฎหมายที่ออกมาคืนสิทธิทางการเมืองให้บางคน เพื่อลดความแตกแยกในบ้านเมืองก็ต้องคืน ถ้าถามว่า สนช. มีความจำเป็นหรือไม่ และมีความเหมาะสมหรือไม่ ในการนำเสนอกฏหมายผมคิดว่าศาลท่านต้องเข้าใจ"นายสุรพล กล่าว

 

 ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท