Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์


 


 


ไม่น่าเชื่อว่า กับคนในครอบครัว เราอาจไม่ได้พูดคุยเรื่องการเมืองกัน เพราะคุยแล้วพาลจะเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียดหรือทะเลาะกันเสียให้ได้ แต่คนหนึ่งที่เราพูดคุยด้วยได้คือคนขับแท็กซี่ที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก ครั้งเดียวและคงยากจะกลับมาเจอ มาเป็นผู้โดยสาร-คนขับกันอีก


 


ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีคู่ขัดแย้งชนิดแตกหักกันใหม่ๆ ระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับทักษิณ ชินวัตร เวลาขึ้นแท็กซี่แต่ละครั้งแทบจะไม่คุยกันเรื่องการเมือง ทั้งกับคนขับเองหรือคนที่ไปด้วยกัน เพราะไม่อาจรู้ได้ว่า ใครเชียร์ใคร เราจะพูดเข้าหูเขาไหม ไม่ใครก็ใครอาจพูดจี้ใจดำกันขึ้นมาให้อีกฝ่ายต้องสวนกลับ


 


ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 49 ตัวเลือกที่เดาได้ยากยิ่งเพิ่มขึ้นอีก (แต่ดูเหมือนกับหลายคนอาจยังไม่มีตัวเลือกที่ถูกใจ) เอา/ไม่เอารัฐประหาร เชียร์ คมช./ครม./สนช./ส.ส.ร. หรือว่าทักษิณ


 


แต่แม้จะบอกว่าตัวเลือกเยอะเดาใจยาก แต่คนนั่งก็อาจช่ำชองในการจับทิศทางคู่สนทนามากขึ้น ว่าเขาจะไปทางไหน ว่าไปก็ฟังดูตลกๆ ที่ต่างฝ่ายต่างกั๊กจุดยืนแท้ๆ ของตัวเองเอาไว้ และค่อยๆ รอฟังจุดยืนของอีกฝ่ายนึง เพราะต่างไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเดาถูก และจะว่าไปก็คงไม่มีใครอยากทะเลาะกับคนขับแท็กซี่จนต้องลงจากรถเอากลางทาง (ไม่ถูกไล่ลงก็อาจเป็นคนนั่งที่ขอลงเสียเอง)


 


ยอมรับว่าหลายครั้งที่คุยกันก็ไม่ได้ต้องมีความเห็นในทางเดียวกับคนขับไปเสียหมด เพียงแต่ประเด็นไหน "เสี่ยง" เกินไป อาจเป็นอันตรายก็เปลี่ยนประเด็นเสีย


 


ต่อเมื่อได้คุยกับคนขับแท็กซี่หลายๆ คนก็พบว่า เราได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้ว่าก่อน หรือรู้อยู่แล้วก็อาจได้อีกด้าน และคนขับแต่ละคนก็คือปัจเจก ไม่ได้คิดเหมือนกันเสียหมด อย่างที่มักเข้าใจกันไปว่าคนขับแท็กซี่ต้องเป็นพวกรักทักษิณแน่ๆ เพราะหลังจากได้คุยด้วยแล้ว ไม่เอาทักษิณก็มี ไม่เอา คมช. ก็มี หรือไม่เอาทั้งสองขั้วก็มีเหมือนกัน


 


ตัวอย่างเช่น บางคนเล่าว่า แท็กซี่ของเขาเป็นแท็กซี่เอื้ออาทร ซึ่งทำให้เขาสามารถมีรถเป็นของตัวเอง ในราคาที่พอจะผ่อนได้ แต่กับอีกบางคนบอกว่า เขาไม่สามารถเป็นเจ้าของแท็กซี่เอื้ออาทรได้ เพราะจองไม่ทันและถึงทันก็หมุนเงินมาไม่ทัน มุมมองต่อตัวทักษิณหรือรัฐบาลไทยรักไทยในขณะนั้นในฐานะที่เป็นคนออกนโยบายจึงต่างกันไป


 


แม้ว่าข้อมูลจะต่าง ก็ไม่ได้หมายความว่ามีใครผิด เพราะเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ละคนก็ล้วนมองมันผ่านสายตาของตัวเอง ประสบการณ์และความรับรู้ของแต่ละคนแน่นอนว่าไม่เท่ากัน


 


พาลคิดไปถึงนักข่าวพเนจรที่ประชาไทวางแผนจะทำ สิ่งที่ได้เห็นกันแน่นอนคือความสดใหม่ในการรายงาน มุมมองที่อาจแปลกแหวกแนว (กว่านักข่าวประชาไท) อย่างคาดไม่ถึง กับคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือของข่าว แน่นอนว่าคงต้องมีการตรวจสอบที่มาที่ไปของข้อมูลที่ส่งมาเพื่อเช็คความถูกต้องกันบ้าง ไม่ให้ไปละเมิดหรือกล่าวหาใครลอยๆ เพราะกฎหมายอาญาก็มีโทษไว้ แต่ข่าวไหนจะเชื่อถือได้แค่ไหน อันนี้คนอ่านก็จะได้เอ็กเซอร์ไซล์วิจารณญาณกัน ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่ต้องใช้เวลาอ่านข่าวจากสื่อทั่วไป (อันนี้เรารวมประชาไทไปด้วย) เท่าไหร่นัก


 


เทียบกันแบบหยาบๆ ข่าวก็คือข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกเสนอออกมาโดยผ่านตัวนักข่าว ในแง่นี้อาจไม่ต่างกับข้อมูลในอินเตอร์เนทหรือข้อความในเว็บบอร์ดที่แจ้งข่าวหรือเปิดเผยเรื่องต่างๆ ให้ผู้คนได้อ่าน ต่างกันก็เพียงพื้นที่นำเสนอเท่านั้น


 


จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อกับกลุ่มเสรีภาพต้านการเซ็นเซอร์ (Freedom Against Censorship Thailand- FACT) เคยเสนอว่า หากเปิดให้มีการแสดงความอย่างอิสระ แล้วเป็นการกระทบต่อบุคคลที่สาม เขามองว่า ถ้าเราเห็นเหตุการณ์อย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปคนก็จะมีภูมิต้านทานและเกิดการเรียนรู้เอง ในเมื่อรู้ว่าข้อมูลในอินเตอร์เนทตรวจสอบไม่ได้ การรับข้อมูลเหล่านั้นก็อาจต้องใช้วิจารณญาณ เพราะอาจเป็นข่าวลือ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ที่เราอ่านแล้วก็เชื่อในระดับหนึ่ง (อ่านประกอบ กลุ่มเสรีภาพต้านการเซ็นเซอร์ ตั้งคำถาม "กระทรวงไอซีทีใช้กฎหมายหรืออำนาจใดในการบล็อกเว็บไซต์")


  


แน่นอนว่าถ้าข้อมูลเหมือนกันหมดก็อาจจะง่ายขึ้นว่า ข้อมูลนั้นๆ "ถูก" แล้ว (หรือไม่ก็ "ผิด" เหมือนกันหมด) แต่ก็คงดีกว่า ถ้าเรามีข้อมูลที่หลากหลาย ให้ได้เลือกรับ เลือกชั่ง ว่าควรจะเชื่อข่าวไหนดี ไม่อย่างนั้นสื่อบ้านเราคงมีแค่เพียงชนิดละเจ้าเท่านั้นก็คงเพียงพอ


 


ส่วนเรื่องจริง-ไม่จริง จะว่าไปทุกวันนี้ข่าวลือก็ถูกรายงานออกมาเป็นข่าวเหมือนกันมิใช่หรือ-บางครั้งข่าวที่ลือว่าจะเกิดแต่ไม่เกิด แต่กับบางเรื่องในวันที่ไม่มีข่าวลือมันก็ดันเกิดขึ้นเสียอย่างนั้น


 


 


.............


ขอบคุณภาพประกอบจาก http://blog.carstensworld.com/


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net