Skip to main content
sharethis



เรื่อง : ธิติมา  อุรพีพัฒนพงศ์  เครือข่ายจิตอาสา
จากเว็บไซต์ เครือข่ายจิตอาสา
  http://www.jitasa.com/enews/?q=node/21


 


การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของท่านติช นัท ฮันห์ พระเถระนิกายเซ็นชาวเวียดนาม และคณะภิกษุภิกษุณีกว่า 90 รูป  แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสังคมไทยไม่มากก็น้อย  ปาฐกถาธรรมและ การภาวนา "สู่ศานติสมานฉันท์" ดำเนินไปด้วยดี แต่เบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้น น้อยคนนักจะรู้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำงานของอาสาสมัครที่มาทำงานด้วยใจอีกหลายชีวิต  


และพวกเขาเองก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเองไม่มากก็น้อยเช่นเดียวกัน


"มาทำทีแรก ผมยังไม่รู้เลยนะ ว่าหลวงปู่นี่ใคร  รู้แค่ว่าชื่ออะไร แต่ไม่รู้จักงานของท่านและบริบทต่อสังคมของท่านเลย" โอม-ปรเมษฐ์ โพยมรัตน์ อีกหนึ่งคนที่อาสามาช่วยเตรียมงานสำคัญครั้งนี้เล่าถึงบรรยากาศการทำงานในช่วงแรกของตนเอง 


ก่อนที่จะเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาที่เป็นเหตุให้เด็กหนุ่มวัย 21 ปีที่เพิ่งเรียนจบทางด้านสิ่งแวดล้อมมาหมาดๆ ตัดสินใจเข้ามาทำงานนี้ว่าเกิดขึ้นจากการที่ตนเองไม่ค่อยพอใจกับการเรียนในมหาวิทยาลัยของตนเอง ซึ่งเขารู้สึกว่า ตนถูกสอนให้รับใช้ระบบเพื่อได้เงินมาแลกปัจจัยดำรงชีพ


"พอปี4ใกล้จบ มันก็เริ่มกลัวมากๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรเลยที่จะเอาไปใช้ได้ ไม่พอใจทุกสิ่งรอบข้าง คำถามที่มีให้ตัวเองก็ไม่มีคำตอบ จมกับตัวเองรู้สึกทุกข์มาก มีเจ้าของร้านร้านกาแฟเล็กๆหน้าคณะ เริ่มสอนให้เห็นว่าคำตอบของชีวิตมันไม่สามารถหาได้จากการคิด  แต่ต้องหาจากการออกไปทำแล้วพี่เขาก็ชวนไปฟังหลวงพี่นิรามิสาที่ สสส. รู้สึกว่า  เออ...มีอย่างนี้ด้วย ตอนนั้นท่านพูดเรื่องความรัก เจ๋งดี  ไม่เคยเห็นการกล่าวถึงพุทธศาสนาในมุมมองที่เรียบง่ายขนาดนี้"


หลังจากนั้น โอมก็ได้ติดตามไปฟังการนำภาวนาของคณะภิกษุภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม อีกหลายครั้ง และทุกครั้งเด็กหนุ่มจะพกคำถามที่ติดค้างในใจด้วยเสมอเกี่ยวกับการทำงาน และมักได้รับคำตอบเดียวกันว่า  การจะหาคำตอบให้กับชีวิต ต้องมาจากการลงมือทำ ไม่ใช่ความคิดเท่านั้น ดังนั้นเมื่อได้รับคำชวนให้มาช่วยงานนี้ จึงก้าวเข้ามาทำงาน  ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการหาคำตอบให้กับตัวเอง


หน้าที่ของเด็กหนุ่มช่างสงสัยคนนี้ เริ่มตั้งแต่ การหาร้านซักรีดจีวร ติดต่อเช่าเตนท์ เป็นอาสาสมัครฝ่ายสถานที่ ตลอดจนติดตามท่านติช นัท ฮันห์แทบทุกที่ เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่ต้องการอาสาสมัครเร่งด่วน  และเพียงงานแรกเท่านั้น โอมก็ได้รับบทเรียนแล้ว


เขาบอกว่าเริ่มงานในช่วงแรกหงุดหงิดมาก ตอนเริ่มไปทำความสะอาดที่พักของหลวงปู่ ที่หออาคันตุกะ พุทธมณฑล รู้สึกเหนื่อยมาก เพราะที่บ้านยังไม่ตั้งใจทำมากเช่นนี้เลย ต้องขัดห้องน้ำ เพื่อขจัดคราบที่เอาไม่ออกอยู่หลายหนเนื่องจากอาสาสมัครคนอื่นๆ ไม่เข้าใจที่ตนเองสื่อสาร หรือ เมื่อต้องบอกให้คนกลุ่มหนึ่งร่วมกันทำงานชิ้นเดียวกัน เช่น  เอาโต๊ะในห้องเก็บของมากางใต้บันได ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  


"เมื่อเทียบกับมดมันเรียบง่ายนกว่ามากโดยมันจะปล่อยกลิ่นไว้ตามเส้นทางให้มดตัวอื่นเดินตามเหมือนรถไฟเลย ไม่มีพลาดแน่นอน  แต่คำพูดคนมันต่างออกไป เป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลย ถือเป็นจุดอ่อนใหญ่มากในตัว ก่อนหน้าผมมักจะหาคำตอบอะไรด้วยความคิดของตัวเองเสมอ  ทุกสิ่งที่เป็นคำตอบมันเลยเป็นแค่ตัวผมเอง ซึ่งแคบมาก"


นอกจากนี้ ด้วยพื้นเพเดิมที่เรียนทางด้านสิ่งแวดล้อม เขาจึงฝันอยากเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม  แต่ที่ผ่านมา มองแต่เรื่องขนาดใหญ่เท่านั้น เมื่อลงมือทำสิ่งเล็กๆเช่นนี้ จึงทำให้รู้จักตัวเองชัดเจนขึ้น


"ผมเชื่อในเรื่องระบบนิเวศมาก ทุกสิ่งในระบบมีความสัมพันธ์เกื้อหนุนกันและกันไม่อาจขาดสิ่งใดได้แม้สิ่งนั้นจะเล็กเพียงใด งานนี้ตอกย้ำความเชื่อนั้นมาก เมื่อตัวเองได้กลายเป็นคนตัวเล็กๆทำงานเล็กๆที่อาจไม่มีใครเห็นวิ่งไปวิ่งมาแล้วส่งเสริมให้มีงานใหญ่ๆได้ ก่อนหน้านี้ตัวเรามันใหญ่โตมหาศาล ใครทำเราไม่พอใจ


เราสู้สุดตัวเลย พอมาทำตรงนี้ คนมากมายเดินไปมา ทุกคนแตกต่างกันหมด แต่มาเพราะจุดประสงค์เดียวกัน ซึ่งจุดนี้เองทำให้ผมคิดว่าเราไม่ต่างกันเลย เพราะฉะนั้นจะให้ผมอยู่ตรงไหนหรือให้ผมทำอะไรก็ได้"


สำหรับการทำงานกับนักบวชจากหมู่บ้านพลัม ที่เด็กหนุ่มผู้นี้ไม่คุ้นเคยมาก่อนเลยนั้น เขาสารภาพว่ารู้สึกเหนื่อยมาก บางครั้งถึงกับตั้งคำถามกับตัวเองว่า กำลังทำอะไรอยู่ ถึงกระนั้นก็ตาม ก็รู้สึกว่าหัวใจของเขาได้รับการเยียวยาอยู่ตลอดเวลา  และเข้าใจถึงความสำคัญของรอยยิ้มในการทำงานร่วมกัน
 
 "
มีหนหนึ่งที่เชียงใหม่ ห้องที่เด็กจะเข้าไปทำกิจกรรมถูกล็อก เด็กๆรอกันเต็มหน้าห้อง เราวิ่งหากุญแจไปทั่ว ไปหาพี่เจ้าหน้าที่ ซึ่งหลวงพี่สิกขากำลังให้ช่วยทำอะไรบางอย่างอยู่ เจ้าหน้าที่ก็พยายามโทรตามหาคนเปิดห้อง ขณะที่หลวงพี่ก็จะเอางาน โห! ร้อนใจมาก  เพราะเด็กรอเต็มไปหมดเลย ทุกคนกดดันหมด ทันใดนั้นหลวงพี่พิทยาเดินร้องเพลงเข้ามา แล้วทุกคนก็ร้องเพลงกันอย่างนั้น  เลยรู้สึก เออ...ดีจริงๆยิ้มออกเลย เพราะถึงรีบหรือโวยวายไปกุญแจมันก็ไม่บินมา ถ้ามันต้องรอก็ต้องรอ จะไปลนทำไม ทุกคนยิ้มออก กุญแจก็มา งานดำเนินต่อไป"


ขณะเดียวกัน ผลจากการเข้ามาทำงาน ทำให้โอมได้ซึมซับธรรมะที่ได้ฟังจากหลวงปู่ติช นัท ฮันห์มากมาย และเขาประหลาดใจมาก ที่ทุกครั้งที่เขามีความทุกข์ในใจ วันรุ่งขึ้นก็จะได้ฟังคำสอนเพื่อบรรเทาความทุกข์ในใจเสมอ


"ยังกับว่าหลวงปู่มาแอบฟัง ไปเชียงใหม่วันแรกผมไม่รู้จักใครเลย เหงาและฟุ้งซ่านมาก วันรุ่งขึ้น หลวงปู่พูดเรื่องการเจริญสติ ใช้ลมหายใจให้กายกับจิตอยู่ด้วยกัน ปิ๊งทันทีแล้วก็เริ่มสงบ เมื่อเริ่มว่าง ก็เกิดอาการหดหู่ พอวันรุ่งขึ้น หลวงปู่สอนเรื่องการเอาสติไปบำบัดเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดี ก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้น แต่แล้วก็ทะเลาะกับแฟนในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง ซึ่งวันถัดมา ท่านก็เทศน์เรื่องการเจริญสัมพันธ์กับคนรอบข้างพอดี พอวันสุดท้ายที่เชียงใหม่ ที่ว่าด้วยเรื่องนิพพาน รู้สึกเลยว่า จะสุขหรือทุกข์ มันอยู่ที่การเปลี่ยนมุมมองนิดเดียวเท่านั้น"


อย่างไรก็ตาม โอมเปรียบการที่ได้ฟังธรรมจากหลวงปู่ว่า เหมือนกับการบอกถึงเส้นทาง  การทำงานหรือการปฏิบัติคือการเดิน หากเรารู้แต่วิธีเดินเพียงอย่างเดียว แต่ไม่เดินคงไม่ถึงจุดหมาย


หนึ่งในคำสอนของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ที่โอมชอบมากที่สุด คือ  Peace is every step. หรือสันติภาพทุกย่างก้าว เขาขยายความให้ฟังว่า  "รู้สึกว่ามันจริงมาก เราสัมผัสถึงความจริงของคำพูดนั้นได้ตลอดเวลา อารมณ์ทุกสิ่งมันเป็นเพียงปฏิกิริยาเคมีและไฟฟ้าในสมอง แต่มันทำชีวิตเราป่วนได้ หากมีสติตระหนักถึง มันก็ไม่มีอะไรเลย มันเบิกบานและรู้สึกสงบเวลานึกแบบนี้ มัน peace is every step จริงๆ อยากอยู่กับคำนี้ได้เลยโดยไม่ต้องนึก"


นอกจากภาพขณะที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์จุดไม้ขีดไฟ ขณะบรรยายธรรมแล้ว  ความประทับใจอีกอย่างหนึ่งที่หนุ่มคนนี้รู้สึกก็คือ บรรยากาศการทำงานที่ห้อมล้อมไปด้วยคนที่มีชีวิตเต็มไปหมด ต่างจากภาพของคนทำงานที่เขาพบเห็นอยู่ทั่วไปซึ่งหลังเลิกงานแต่ละคนดูราวกับไม่มีชีวิต


เมื่อถามถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงาน มีผลทำให้มุมมองและความคิดของเขาเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่นั้น โอมตอบว่า เขากลายเป็นคนที่มีความสุขง่ายขึ้น โดยมองจากที่ตัวเองก่อน แทนที่จะมองในสิ่งที่ใหญ่เกินตัว


"เลิกคิดแล้วว่าถ้าจะแก้ปัญหาโลกร้อนผมต้องรอวันที่กลายเป็นศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์ก่อน แต่ผมทำได้ในวินาทีนี้เลย ถึงแม้จะเป็นแค่ผมคนเดียว แต่ 1 มันก็มีค่ามากกว่า 0 อย่างมหาศาล หรือ ผมจะมีความสุขได้เมื่อผมได้ไปทะเล แต่ตอนนี้ผมคุยอยู่ ก็เป็นความสุขที่ไม่ด้อยกว่าเลย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net