"Jazz on the beach - party by the sea"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ณภัค เสรีรักษ์


 

 

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว (8-9 มิถุนายน) ผมได้ไป "หัวหิน-แจ๊สเฟสติวัล" ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 6

 

ผมไปโดยมี "ความคาดหวัง" และ "ความไม่คาดหวัง" บางอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของ "หัวหินแจ๊สฯ" สองครั้งก่อนหน้านี้

 

แม้ว่าจะรู้ก่อนแล้วว่าปีนี้จัดเวทีเดียว, ลดจำนวนวันลง 1 คืน จำนวนศิลปินจึงลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ผมก็ยังคงแบก "ความคาดหวัง" ที่จะได้ฟังดนตรีดีๆ จากนักดนตรีดีๆ และเครื่องเสียงดีๆไปด้วยในปีนี้ (แน่นอน คำว่า "ดี" ที่ผมใช้อาจไม่เท่ากับหรือเหมือนกับของใคร หรือมันอาจเป็นเพียงแค่ความพึงพอใจหรือความเพลิดเพลินส่วนตัวเท่านั้น)

 

ขณะเดียวกัน ผมก็ "ไม่คาดหวัง" กับสิ่งต่างๆ ข้างต้นไปพร้อมๆ กัน เพราะนักดนตรีที่เก่งอาจไม่ได้ทำให้ผมเพลิดเพลินกับเสียงดนตรีของเขาหรือเธอก็เป็นได้ อีกทั้งจำนวนเวทีที่ลดลงทำให้ทางเลือกในการฟังของผมลดลงตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าถ้าผมรู้สึกไม่เพลิดเพลินไปกับศิลปินที่กำลังเล่นอยู่ผมก็ไม่มีทางเลือกที่จะเดินย้ายไปฟังอีกเวที (เหมือนปีที่แล้ว) มีเพียงการเดินออกไปห่างๆ จากเวทีเท่านั้น

 

 

เรา(คณะผู้ร่วมเดินทาง) ออกเดินทางกันช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 8 โดยก็ไม่ได้คิดจะไปดูตั้งแต่โชว์แรกอยู่แล้ว และด้วยระยะทาง, สภาพการจราจร, สภาพผิวถนน, หน้าที่การงาน ฯลฯ ทำให้เมื่อไปถึงก็ปาเข้าไปช่วงปลายโชว์ของ "OMAH Special Quartet with Rydsmar Amoy" ซึ่งก็ทำให้ผมไม่ได้เพลิดเพลินไปกับดนตรีของพวกเขาและเธอสักเท่าไร

 

"OMAH Special Quartet" เป็นการรวมตัวของ ชนุตร์ เตชธนนันท์ (Drums) พิสุทธิ ประทีปะเสน(Saxophone) พงษ์ศิริ ขจรเวคิน (Guitar) และ พรชาติ วิริยะภาค (Acoustic Bass) สองคนแรกนั้นเป็นสมาชิกวง "แม้นศรี" ที่หลายท่านคงรู้จักกันดี ขณะที่สองคนหลังนั้นเป็นสมาชิกวง "Quintet-X" ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศรุ่น open ในงาน Thailand Jazz Competition ครั้งที่ 2 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วน "Rydsmar Amoy" นั้นเป็นนักร้องแจ๊สคุณภาพที่เคยเปิดการแสดงมาแล้วในหลายประเทศทั้ง ฟิลิปปินส์, จีน, ญี่ปุ่น รวมถึงไทย ซึ่งปัจจุบันเธอร่วมทำงานกับศิลปินหลายๆคนในกรุงเทพทั้งในสตูดิโอและดนตรีสด

 

 

ถัดมาเป็นโชว์ของ "เบน-ชลาทิศ" กับ "มาเรียม อัลลาคาลี่" สองนักร้องคุณภาพจาก "B5" ซึ่งเป็นช่วงที่ได้ดูเต็มๆโชว์แรกในวันนี้ อย่างไรก็ตามผมไม่ค่อยตื่นเต้นกับโชว์ช่วงนี้เท่าไร เนื่องจาก "เบน" และ "มาเรียม" ไม่ได้เป็นศิลปินที่ตามฟังได้ยากสักเท่าไร แต่ก็เป็นโชว์ที่ทำให้ผมประทับใจกับน้ำเสียงและพลังเสียงของทั้งคู่มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางบทเพลงจำนวนมากที่ทั้งคู่ถ่ายทอดผมกลับชอบสองเพลงที่ค่อนข้างมีท่วงทำนองในแบบ Soul หรือ R&B คือเพลง "สุดใจ" ของพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ซึ่งเบนเป็นผู้ร้อง และ "If I ain"t got you" เพลงของ Alicia Keys ซึ่งถ่ายทอดโดยมาเรียม

 

และแล้วก็มาถึงช่วงที่ผมรอคอย "Montefiori Cocktail" ฝาแฝดตระกูล Montefiori ชาวอิตาเลียน Federico (Kikko) ในตำแหน่ง Saxophone, Flute และร้องนำ กับ Francesco(Kekko)ในตำแหน่ง Keyboards และวงดนตรีของพวกเขา เพลงที่เล่นกันก็มาจากทั้งสองอัลบัมของพวกเขา Montefiori Appetizer Vol.1 และ 2 ไม่ว่าจะเป็น Love Generation, Non Ti Credo, Hung Up, Ordinary People, Besame Mucho, Déjà vu, Dani California, Torno in Russia ฯลฯ

 

จุดเด่นของ "Montefiori Cocktail" คือความลงตัวของเพลงแต่ละเพลงที่ถูกนำมาทำใหม่ในแบบ "Lounge Music" ที่มีกลิ่นอายดนตรียุค 60"s และ 70"s เจือปนกับดนตรี House, Breakbeat, Jungle, Drum and Bass ฯลฯ เพลงทุกเพลงอยู่ในระดับฟังสบาย, ฟังง่าย ไปจนถึงคึกคักสนุกสนานแบบเต้นรำได้ ยิ่งไปกว่านั้นลีลาการแสดงสดของ "Montefiori Cocktail" ยังสะกดผู้ชมจำนวนมากให้เพลิดเพลินล่องลอยไปกับดนตรีของพวกเขา.... แล้วคืนแรกก็ผ่านพ้นไป

 

 

วันต่อมา เมื่อไปถึงก็เป็นช่วงโชว์ของ "Bossa Blossom" ซึ่งเป็นการนำเพลง(เคย)ฮิตมาเรียบเรียงดนตรีในแบบ "Bossa Nova" ภายใต้การโปรดิวซ์ของ "โอ๋-เจษฎา สุขทรามร" ที่บางคนรู้จักกันในนาม "โอ๋ ดูบาดู" (หรือ "โอ๋ ซีเปีย") ถ่ายทอดผ่านเสียงร้องของนักร้องสาวสวย(เสียงดี?)หลายคน เพลงที่ถูกนำมาเล่นส่วนใหญ่อยู่ในอัลบัม "Bossa Blossom 2" ไม่ว่าจะเป็น ขอบฟ้า, ฤดูร้อน, คนใจง่าย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเพลงพระราชนิพนธ์อีกหลายๆเพลงซึ่งถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ในท่วงทำนอง "Bossa Nova"

 

ผมค่อนข้างผิดหวังกับโชว์ช่วงนี้พอสมควร อาจเพราะว่าผมค่อนข้างหลงใหลในดนตรี "Bossa Nova" อยู่ในระดับหนึ่งแต่ "Bossa Blossom" แทบไม่สร้างความเพลิดเพลินให้กับผมได้สักเท่าไร โดยเฉพาะเสียงร้องของนักร้องหลายๆคน ซึ่งนอกจากจะไม่เพลิดเพลินแล้วบางคนอาจทำให้ผมรู้สึกอยากเดินไปไกลๆเลยด้วยซ้ำ!

 

แล้วผมก็เดินไปที่ "Heineken Sea Bar" บาร์ริมทะเลซึ่งให้บรรยากาศปาร์ตี้ เคล้าเสียงคลื่นที่แทรกมากับเสียงดนตรี บรรยากาศการฟังเพลงของผมเปลี่ยนไป จากเดิมที่ตั้งใจมาฟังดนตรีกลับเปลี่ยนมาซึมซับบรรยากาศของปาร์ตี้มากขึ้น ผมดื่มมากขึ้น พูดคุยมากขึ้น ขณะที่ความสนใจที่จะฟังดนตรีลดลง ผมคิดว่าผู้คนบน Sea Bar ก็อาจเป็นเช่นกัน จนทำให้ผมแทบไม่ได้สนใจการแสดงของ "โปรด-ธนภัทร" และ "ดร.เด่น" จะได้ฟังก็บางท่อนของบางเพลงเท่านั้น

 

 

 

แล้วเวลาอีก 1 ชั่วโมงก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมได้ตัดสินใจออกจากบรรยากาศตรงนั้นเพื่อกลับเข้าสู่บรรยากาศการฟังเพลงเช่นเดิม เพื่อจะดูโชว์ของ "Caroline Henderson"

 

"Caroline Henderson" มีคุณพ่อเป็นนักดนตรีแจ๊สผิวดำชาว American ขณะที่คุณแม่เป็นนางงามชาว Swedish เธอผ่านชีวิตวัยเด็กในเมืองอย่าง New York, Paris, Stockholm และ Copenhagen และได้ฝึกฝนร้องเพลงแจ๊สมาตั้งแต่วัยเด็ก เธอจึงเป็นส่วนผสมของ Afro-American และ Scandinavia

 

ความสำเร็จของเธอเริ่มขึ้นในวัย 41 ปีจากอัลบัม Don"t Explain (2003) และตามมาด้วย Made in Europe (2005) และอัลบัมล่าสุด Love or Nothin" (2006) ซึ่งถ่ายทอดความเป็นตัวเธอได้อย่างชัดเจนที่สุด มีกลิ่นอาย Afro-American Tradition และเจือปนไปกับความเป็น Blues, Gospel, Swing ฯลฯ ทุกอย่างผสมผสานอย่างลงตัวด้วยความมีชีวิตชีวาในแบบของ "Caroline Henderson" เอง

 

ส่วนวงที่มาเล่นกับเธอนั้นประกอบไปด้วย "Jesper Nordenstrom" มือ Piano ชาว Swedish ในส่วนของมือกลองคือ "Kresten Osgood" ชาว Denmark นอกจากนี้ยังมี "Anders Christensen" ในตำแหน่ง Bass และ "Paulo Russo" นักดนตรีชื่อดังชาว Italian มาร่วมเล่น Bandoneon

 

ทั้งเสียงร้องและเสียงดนตรีของโชว์สุดท้ายนี้ทำให้ผมรู้สึกเพลิดเพลินกับงานครั้งนี้เป็นที่สุดแม้ว่าจะไม่เคยฟัง "Caroline Henderson" มาก่อนเลย เสียงร้องที่ทั้งอบอุ่นและนุ่มนวลของ Caroline บวกกับความลื่นไหลของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ช่างเป็นโชว์ที่ลงตัวอย่างยิ่ง จนเมื่อเพลงสุดท้ายผ่านพ้นไปผู้คนต่างตะโกนเรียกร้องให้กลับมาเล่นกันอีกครั้ง และในช่วงสุดท้ายนี้ Caroline และวงของเธอก็ไม่ทำให้พวกเราผิดหวัง ปิดเวที "หัวหินแจ๊สฯ2007" อย่างงดงาม..

 

 

ผู้คนมากมายต่างกำลังแยกย้ายจากบริเวณชายหาด.. เมื่อกระแสผู้คนเหล่านี้หมดไปก็จะเหลือไว้แต่เพียงเวทีว่างเปล่ากับชายหาด (และขยะจำนวนมาก)..

 

ผมก็เป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่กำลังจะเดินออกจากพื้นที่ตรงนี้.. เก็บบรรยากาศ, อารมณ์, ความรู้สึกต่อ "หัวหินแจ๊สฯ" เอาไว้.. และรอคอยที่จะกลับมาพบกัน ณ ที่แห่งเดิมแห่งนี้ในปีต่อๆ ไป..

 

ถึงแม้ว่าจะต้องขับรถกันมาไกลถึงหัวหิน (ทั้งที่วงดนตรีหลายๆ วงที่มาในครั้งนี้ จะสามารถหาฟังได้ในกรุงเทพอย่างไม่ยากเย็นนัก) แต่การเพลิดเพลินดนตรีแจ๊สเคล้าบรรยากาศริมทะเลที่มีลมทะเลชื้นๆ และเสียงคลื่นซัดสาดเป็นระยะๆ ก็ดึงดูดให้เหล่านักท่องเที่ยวทั้งคอเพลงแจ๊สและคอเบียร์ ทั้งขาจรและขาประจำ ได้มาเยี่ยมเยียนหาดหัวหินในเทศกาลดนตรี "หัวหินแจ๊สเฟสติวัล" กันได้ทุกปี

 

แล้วพบกันใหม่.. "หัวหินแจ๊สฯ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท