อำนาจกับการเคลื่อนไหวทางสังคม : บทสัมภาษณ์จอห์น ฮอลโลเวย์

 

 

สุรพล ธรรมร่มดี

 

ในการประท้วง G8 ที่เยอรมนีปี ค.ศ.2007 ที่ผ่านมา นอกจากกิจกรรมการเดินขบวน และการปิดกั้นถนนแล้ว กิจกรรมหลักอีกประการหนึ่งคือ การจัดการประชุม Alternative Summit ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อการประชุมที่หลากหลายเช่น ทางออกต่อระบบทุนนิยม ปัญหาโลกร้อน ปัญหาผู้อพยพ สงครามและการขยายกำลังรบ การศึกษา เรื่องเพศสภาพและการเหยียดเชื้อชาติ ทิศทางการต่อสู้ของขบวนการทางสังคม เป็นต้น

 

ผู้เขียนมีโอกาสได้พบกับ "จอห์น ฮอลโลเวย์" อีกครั้งหนึ่ง เขาคือนักคิดคนสำคัญของขบวนการทางสังคมระดับสากล งานเขียนที่ชื่อ การเปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่ยึดอำนาจรัฐ (Changing The World Without Taking Power) ส่งผลสะเทือนอย่างสำคัญและต่อเนื่องต่อนักกิจกรรมของขบวนการ หลังจากนั้นเขาตระเวนทำกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการตามกิจกรรมของขบวนการที่สำคัญ เช่น สมัชชาสังคมโลก (World Social Forum) และครั้งนี้ใน Alternative Summit

 

ประเด็นที่ผู้เขียนสัมภาษณ์มุ่งดึงฮอลโลเวย์มาใกล้ชิดสถานการณ์ของไทย อันเป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไหวที่พัวพันกับอำนาจรัฐ เพื่อให้เขาได้ย้อนทวนความเห็นของเขาว่า การต่อสู้ที่มุ่งไปสู่อำนาจรัฐยังคงไม่ใช่หนทางที่ควรไปใช่หรือไม่? ถ้าคำตอบคือ ไม่ใช่ แล้วอะไรคือสิ่งที่ควรทำต่อไป?

 

เกิดการเคลื่อนไหวแตกหักกับระบบ ( Crack) ครั้งใหญ่ที่เมืองไทย และสามารถทำให้นายกฯต้องหาทางลงจากอำนาจ แต่ทว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของไทยไม่มีทางออก ไม่มีทางเลือกใหม่จึงทำให้ต้องพึ่งพิงอำนาจอื่น ดูเหมือนว่า หนังสือของคุณที่แนะนำการเปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่ยึดอำนาจรัฐไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของไทยเลย

(หัวเราะ)อันที่จริงการเคลื่อนไหวไปสู่การยึดอำนาจ แทนที่อำนาจ หรือกระทั่งในระบบเลือกตั้งในท้ายที่สุดแล้วจะต้องนำความผิดหวังมายังผู้คนอย่างแน่นอน ในช่วงแรกคุณอาจได้ผู้นำที่ดีกว่าผู้นำคนก่อน รัฐบาลที่ดีกว่ารัฐบาลก่อน แต่สุดท้ายสักระยะหนึ่งคนที่ขึ้นไปสู่อำนาจก็จะทรยศต่อสิ่งที่เขาเคยพูดเคยสัญญา ดังนั้นผมจึงคิดว่า จะต้องหาทางออกอื่นที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวต่อสู้ที่มุ่งไปที่การยึดอำนาจ แต่ตรงกันข้ามคือการเคลื่อนไหวที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนทุกระดับอย่างกว้างขวาง ผมไม่ค่อยรู้เรื่องเมืองไทยมากนัก แต่ประสบการณ์ในอาเจนติน่าก็ดี ในบราซิลก็ดียืนยันเหมือนกันว่า หลังจากยึดอำนาจแล้ว พวกคุณก็กลับบ้าน ปล่อยให้รัฐบาลใหม่ทำงาน มันเท่ากับเป็นการสลายการรวมตัวของประชาชน(Demobilization) และสร้างนิสัยการพึ่งพิงระบบตัวแทน แล้วสุดท้ายเมื่อพวกคุณผิดหวัง ก็หมดความหวังตั้งใจที่จะต่อสู้ต่อไป ผมว่าเราควรหาทางสู้ที่ไม่ใช่เรื่องการยึดอำนาจกันไม่ดีกว่าหรือ

 

แล้วหากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมสามารถยึดอำนาจสำเร็จด้วยการจัดตั้งองค์กรของตนเอง เลือกผู้แทนของตนเองเข้าไปแทนที่รัฐบาลเดิมที่ถูกโค่นไปล่ะ เราน่าจะทำอะไรได้อีกมากมิใช่หรือ ?

ก็อาจจะจริง แต่ก็อีกนั่นแหละคุณก็ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ผู้นำ หรือรัฐบาลใหม่อาจไม่ทำตามที่พวกคุณคาดหวัง ผมอยากยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย คือกรณีของโบลิเวีย ที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมสามารถรวมตัวจัดตั้ง และต่อสู้จนคนของพวกเขาได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจเป็นประธานาธิบดี สุดท้ายพวกคุณก็กลับบ้าน แล้วมาพบภายหลังว่า ผู้นำเริ่มบิดเบี้ยวไปจากแนวทางที่ควรจะเป็น ขบวนการเคลื่อนไหวแทบจะหมดพลังในการควบคุมอำนาจรัฐไปเลยเพราะผิดหวังอย่างแรง

 

กรณีรัฐบาลลูล่าที่บราซิลก็เช่นกัน แม้แต่ผู้นำที่มีพื้นฐานมาจากการต่อสู้ในขบวนการแรงงานมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อมีอำนาจเริ่มตั้งแต่ในพรรค และไปสู่ในคณะรัฐบาล โดยตัวโครงสร้างของสิ่งเหล่านี้คือการแบ่งชั้นวรรณะระหว่างผู้นำ กับผู้ตามซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและมวลชนโดยพื้นฐาน ตรงนี้แหละที่เราควรคิดถึงกันให้มากว่า หากเรามิได้มุ่งแต่ยึดอำนาจรัฐ แต่หันกลับมาทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่จะกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์แห่งการต่อสู้ที่มีอยู่แล้วในตัวของประชาชนทุกคนได้งอกงามออกมา เราจะได้ขบวนการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งกระจายไปทุกส่วนสัดของสังคม และด้วยพลังเช่นนี้แหละเราจึงจะสามารถควบคุมอำนาจรัฐให้อยู่ในมือของเราได้

 

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดข้อวิจารณ์ที่คุณมีกับโครงสร้างอำนาจภายในพรรคการเมืองระบุว่า การจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองตามแนวทางแบบเลนินสร้างปัญหาอย่างสำคัญต่อการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ผมเห็นว่าแนวคิดและประสบการณ์อย่างนั้นก่อให้เกิดการผลิตซ้ำโครงสร้างเชิงอำนาจขึ้นระหว่างผู้นำกับผู้ตาม ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้โครงสร้างเช่นนี้ไปสร้างโลกใหม่ เพราะมันจะผลิตซ้ำความอ่อนแอให้เกิดขึ้นกับขบวนการทางสังคมในระดับประชาชนโดยทั่วไป ผมจึงย้ำว่า สิ่งที่เป็นทางออกใหม่คือหันเหออกจากโครงสร้างดังกล่าวแล้วสร้างเสริมการเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้นเสียใหม่ในระดับแนวนอนเริ่มตั้งแต่แม้แต่ในตัวของเราแต่ละคน

ในระดับครอบครัว เพื่อนบ้าน และชุมชน เริ่มต้นสร้างการต่อต้านทุนนิยมในทุกๆส่วนของชีวิตประจำวันของเรา ด้วยหนทางนี้เท่านั้นที่เราจะได้ขบวนการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็ง มีความเป็นตัวของตัวเอง และเปิดกว้าง

 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่คุณมองเห็นข้อจำกัดในการคิดแบบเดิมคือ การมองการต่อสู้มุ่งแต่ขบวนการแรงงาน และมุ่งการปฏิวัติในยามวิกฤต

มันขึ้นอยู่กับว่า คุณมองขบวนการแรงงานอย่างไร ถ้าเป็นขบวนการแรงงานที่ถูกทำให้กลายเป็นสถาบันไปแล้ว มีโครงสร้างการจัดตั้งระหว่างผู้นำกับผู้ตามไม่ได้แตกต่างไปจากของพรรคการเมือง หรือบริษัทในระบบทุนนิยมเลย นั่นย่อมเป็นขบวนการที่มีข้อจำกัดอย่างมากในการเติบโตเป็นที่พึ่งของประชาชน สิ่งนี้คือสภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

แต่ถ้าเป็นขบวนการแรงงานที่เรากำลังสร้างขึ้นโดยเริ่มจากกิจกรรมต่อต้านทุนนิยมของกลุ่มคนงานพื้นฐานแล้ว นั่นคือความพยายามใหม่ที่ข้ามพ้นข้อจำกัดดังกล่าว ส่วนการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นนั้น การมองมันเชื่อมกับวิกฤติทางเศรษฐกิจออกจะคับแคบไป เพราะความขัดแย้งของระบบทุนนิยมปรากฎอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว ดังนั้นการปฏิวัติในมุมมองใหม่ของผม คือ การแตกหักกับระบบในชีวิตของเราไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลเช่น การเลือกอาชีพที่ไม่รับใช้การกอบโกยเงินทอง หรือในระดับกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นในชุมชนต่างๆที่คิดกิจกรรมที่จะต่อต้านทุนนิยมอย่างยั่งยืน

 

แม้ว่าเราจะคิดสร้างขบวนการทางสังคมขึ้นใหม่จากการต่อสู้ทางสังคมที่หลากหลายในแนวนอน และลดทอนการแบ่งชั้นระหว่างผู้นำ และผู้ตาม แต่นี่คือความเป็นจริงที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ที่จะคงมีผู้นำ และผู้ตาม มีระบบตัวแทนไปทำงานอยู่ เราจะข้ามพ้นความเป็นจริงไปได้อย่างไร ?

นี่คือสิ่งที่เราตระหนักอย่างมากสำหรับการต่อสู้ในยุคของเรา ปัญหาการแบ่งแยกเป็นผู้นำ และผู้ตามอาจถูกแก้ได้ถ้าประการแรก เรายังคงมุ่งการต่อสู้ไม่ใช่เพื่อชิงอำนาจ แต่เพื่อทำให้ขบวนการเข้มแข็ง นั่นคือ ทำให้เกิดความตื่นตัวจัดตั้งตนเอง และทำกิจกรรมการต่อสู้ในระดับประจำวันอย่างกว้างขวาง ขบวนการเช่นนี้จะเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการนำของคนกลุ่มน้อยเหนือคนกลุ่มใหญ่ได้

 

ประการที่สอง เราต้องส่งเสริมให้เกิดระบบหมุนเวียนการนำในองค์กร เพื่อที่ว่ากลุ่มผู้แทนที่เข้าไปทำงานจะไม่ควบคุมงานการนำนั้นนานเกินไปจนพัวพันกับการใช้อำนาจหรือการคอรัปชั่นต่างๆ ประสบการณ์ของซาปาติสต้านั้นน่าสนใจมาก พวกเขาจัดตั้งคณะกรรมการเทศบาลที่จะเข้ามาดูแลกิจการด้านการบริหารจัดการท้องถิ่น โรงเรียน สาธารณสุข ให้กับชุมชนหกแห่ง โดยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกลุ่มตัวแทนเข้ามาทำงานเป็นคณะกรรมการเทศบาลนั้นทุกๆสองสัปดาห์ นี่มันอาจจะมากเกินไป และอาจจะดูแล้วกลับทำให้ระบบงานยุ่งเหยิงก็เป็นไป แต่เป็นสิ่งที่พวกเขาได้ทดลองทำ และเรียนรู้ไปกับมัน ผมเชื่อว่าด้วยการทดลองทำสิ่งใหม่ๆเพื่อเอาชนะปัญหาผู้นำผู้ตามเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้ในระยะยาวแล้วการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดมีความยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท