บทความ "ประเวศ วะสี" : จะออกจากมิคสัญญีกลียุคได้อย่างไร

ประเวศ วะสี

(13 มิถุนายน 2550)

 

๑.

มิคสัญญีกลียุค

 

ทำไมตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองมาตั้ง 75 ปีแล้วระบอบประชาธิปไตยก็ไม่เกิด ทำไมความเป็นเมืองพุทธศาสนาจึงไม่สามารถสถาปนาศีลธรรมขึ้นมาได้ ทำไมพระเจ้าอยู่หัวตรัสสอนเรื่องความดีมาตลอดรัชกาลศีลธรรมก็ไม่เกิด ทำไมท่านอาจารย์พุทธทาสเผยแผ่ธรรมะอย่างมหาศาลและเรียกร้องให้ศีลธรรมกลับคืนมา ศีลธรรมก็ไม่กลับคืนมา แต่กลับเลวลงอีก ทำไมพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ก็รจนาพุทธธรรมไว้เป็นหลักอย่างดี ศีลธรรมก็ไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น

 

ทำไมการเมืองไม่สามารถนำสิ่งดีงามสู่บ้านเมือง ตรงกันข้ามมีความขัดแย้งรุนแรงและนำไปสู่การนองเลือดหลายครั้งหลายหน รวมทั้งความแตกแยกในปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือดถึงขั้นมิคสัญญีกลียุค คนไทยควรพิจารณาอย่างจริงจังว่าเราจะออกจากมิคสัญญีกลียุคได้อย่างไร

 

๒.

ถ้าระบอบประชาธิปไตยไม่ลงตัว ทุกฝ่ายลำบากหมด

 

ถ้าระบอบประชาธิปไตยไม่ลงตัวทุกฝ่ายลำบากหมด ใครมาเป็นรัฐบาลก็ลำบาก ย้อนไปดูตั้งแต่อาจารย์สัญญา เสนีย์ คึกฤทธิ์ ล้วนลำบากทั้งสิ้น คุณเปรมเองก็เคยถูกลอบสังหารและทำรัฐประหารหลายครั้ง ชาติชาย ชวน บรรหาร ชวลิต ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ ทักษิณมีอำนาจมากก็ลำบากจนถูกรัฐประหาร รัฐบาลสุรยุทธในปัจจุบันก็ลำบาก หรือใครมาเป็นรัฐบาลต่อไปในอนาคตก็ลำบาก

 

ตราบใดที่ระบอบประชาธิปไตยไม่ลงตัว พระมหากษัตริย์ก็ลำบาก และจะลำบากและสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ถ้าระบอบประชาธิปไตยไม่ลงตัว ประชาชนก็ลำบากสุดๆ นอกจากแก้ความยากจนและความไม่เป็นธรรมทางสังคมไม่ได้ ยังถูกลากเข้าไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินลงอย่างน่าอนาถ

 

เราอาจจะไม่มีภาพระบอบประชาธิปไตยที่ลงตัวเพราะเราไม่เคยมี ในประเทศอังกฤษหลังจากผ่านการต่อสู้กันมายาวนาน ระบอบประชาธิปไตยลงตัวมาตั้งแต่ก่อนสมัยควีนวิคตอเรีย ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ของเขาจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์หลายองค์ไม่เก่งเลย และบางองค์ก็ไม่ดีเสียด้วยซ้ำ แต่ก็อยู่ได้เพราะมีระบบที่เป็นที่ยอมรับกัน มีนายกรัฐมนตรีที่เก่งๆ เช่น ลอร์ด เมลเบิร์น วิลเลียม พิตต์ แกลดสโตน ดิสราเอลี และคนอื่นๆ กับมีประชาชนที่มีคุณภาพเป็นผู้กำหนดความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

 

ถ้าสังคมคาดหมายว่าต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นคนเก่งท่ามกลางระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะเครียดและลำบากสุดๆ เราไม่น่าจะมีทางเลือกอื่นนอกจากมีระบอบประชาธิปไตยที่ลงตัว

 

๓.

จะติดอยู่ในอดีตหรือเคลื่อนไปสู่อนาคต

 

ลองดูความเป็นมาทางการเมืองตั้งแต่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 จะเห็นว่าเต็มไปด้วยการต่อสู้ การแก้แค้นและการทำลาย ระหว่างฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ถึง พ.ศ. 2500 ฝ่ายคณะราษฎรถูกกวาดล้างไปอย่างสิ้นเชิง แต่ระบอบอมาตยาธิปไตยก็ต้องมาเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่พยายามดิ้นรนไปสู่ประชาธิปไตย จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตามมาด้วยการสังหารหมู่นักศึกษาอย่างโหดเหี้ยม เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 แล้วก็มีเหตุการณ์นองเลือด พฤษภาคม 2535 เพราะการรัฐประหาร กรณีทักษิณนำความขัดแย้งไปสู่มิติใหม่ ที่มีทุนขนาดใหญ่เข้ามาขัดแย้งกับระบอบอมาตยาธิปไตย ทุนขนาดใหญ่มีฤทธิ์ มีอำนาจในการต่อสู้มาก ความขัดแย้งจึงมีขนาดและขอบเขตใหญ่และรุนแรงได้มาก มีการชูคำขวัญว่าทุนนิยมสามานย์ที่ก้าวหน้าดีกว่าศักดินาที่ล้าหลัง แต่ไม่ว่าทุนนิยมสามานย์ที่ก้าวหน้าหรือศักดินาที่ล้าหลังก็จะมีฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่ยอมรับ ไม่สามารถนำไปสู่การลงตัวได้ การยึดมั่นทางใดทางหนึ่งก็ไม่เป็นทางที่เราจะออกจากมิคสัญญีกลียุคได้ และจะพากันพ่ายแพ้ด้วยกันทั้งหมด

 

การติดค้างอยู่ในอารมณ์อดีตเก่าๆ ทำให้เราเคลื่อนไปสู่อนาคตไม่ได้ การแก้ปัญหาเก่านั้นยากและทะเลาะกันมากขึ้น การรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดีนั้นง่ายกว่าและจะรักกันมากขึ้น

 

๔.

พระพุทธเจ้ายังแก้ความขัดแย้งของสงฆ์ไม่ได้ ทำไมเล่นฟุตบอลกันได้ทั่วโลก

 

การจะรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดีนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ผลอย่างไรและใครทำ จะขอยกตัวอย่างประกอบ 2 เรื่อง

 

เรื่องหนึ่งคือ เมื่อครั้งพุทธกาล ครั้งหนึ่งพระสงฆ์ในกรุงโกสัมพีแตกแยกแบ่งเป็นสองพวก ทะเลาะกัน ทำอย่างไรๆ ก็ไม่หยุด พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามก็ไม่เชื่อ แถมยังว่าพระพุทธเจ้าอีกว่า "ขอพระผู้มีพระภาคจงขวนขวายน้อย" คืออย่าขยันมาห้ามเขาจะทะเลาะกัน พระพุทธองค์มีพุทธดำเนินหลีกเข้าป่าปาเลไลยไป เมื่อตอนมีลิงมีช้างนำของมาถวายนั่นแหละครับ ต่อมาชาวเมืองเขารำคาญเลยหยุดใส่บาตรทั้งคู่ ทำให้หมดแรงและหยุดทะเลาะกันไปได้ ประเด็นคือประชาชนเป็นผู้แก้ความขัดแย้งที่ดีที่สุด

 

เรื่องที่สองคือ การเล่นฟุตบอลสามารถเล่นกันได้ทั่วโลก ไม่ว่าคนเล่นจะเป็นชาติใด ภาษาใด ประเทศมีความเจริญแค่ไหน เพราะในการเล่นมีกรอบคือสนาม กติกา และกลไก ที่ชัดเจน ผู้กำกับเส้นคือผู้รักษากรอบ กรรมการคือผู้รักษากติกา ผู้กำกับเส้นและกรรมการอาจโกงได้ แต่ทำไม่ได้ เพราะมีคนดูหรือประชาชนที่เข้าใจกรอบ กติกา และกลไก คอยกำกับอีกที ประเด็นคือการมีกรอบ กติกา กลไก และมีประชาชนเป็นผู้กำกับ ทำให้การเล่นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ

 หากปราศจากกรอบต่อให้เอาพระอรหันต์มาเล่น เดี๋ยวก็ออกไปเล่นในป่า ถ้าปราศจากกติกา ปล่อยให้มีการจิกหัว ด่าทอ กระทืบกัน กีฬาก็จะกลายเป็นโกลาหล จลาจล

 

ฉะนั้น ระบอบประชาธิปไตยจะก้าวหน้าไปได้ต้องมีกรอบ กติกา กลไก ที่ชัดเจน และมีประชาชนเป็นผู้กำกับ

๕.
การมีประชาชนเป็นผู้กำกับ คือ มีรากฐานอยู่ในประชาธิปไตย

 

การเมืองของเราก้าวหน้าไปได้น้อย เพราะขาดกรอบกติกาและกลไกที่ได้ผล เพราะไม่ได้ให้ประชาชนเป็นผู้กำกับ เมื่อมีเรื่องกันก็จะพากันไปเรียกร้องให้ในหลวงมาเป็นกรรมการหรือเข้าข้างตัว ซึ่งก็ทำให้ท่านลำบากสุดประมาณ และไม่ได้ผลถาวร ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ

 

อย่าลืมแม้แต่พระพุทธองค์ยังไม่สามารถทำให้พระสงฆ์ที่กรุงโกสัมพีหยุดทะเลาะกัน ยังมีเรื่องอื่นอีก เช่น เรื่องพระพุทธองค์ไม่สามารถยับยั้งพระเจ้าวิฑูทัพภะ แห่งแคว้นโกศล ยกไปฆ่าล้างโคตรพวกศากยวงศ์ที่กรุงกบิลพัสดุ์ได้ พระญาติของพระองค์ยังถูกฆ่าตายหมดเลย

 

แม้ในหลวงจะดีและเก่งแค่ไหน ก็อย่าไปคิดว่าจะทรงขจัดความขัดแย้งและความรุนแรงได้จริง ประชาชนต้องเป็นผู้เข้ามากำกับกรอบ กติกา และกลไก จึงจะเป็นกระบวนการประชาธิปไตย

 

ถ้าเราคิดว่าต้องรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ทีดี และสิ่งใหม่ที่ดีนั้นคือระบอบประชาธิปไตยที่ลงตัว และการที่ประชาธิปไตยจะลงตัวได้ก็เพราะมีกรอบ กติกา และกลไก ที่มีประชาชนเป็นผู้กำกับ ก็ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนสามารถมีบทบาทสร้างและกำกับกรอบ กติกา และกลไกประชาธิปไตย

 

๖.
กรอบและกติกาอันเป็นรากฐานของประชาธิปไตย

 

จะแตกต่างกัน จะถกเถียงกัน จะชุมนุม จะเดินขบวน เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ควรอยู่ในกรอบและกติกาอันหนึ่ง นั่นคือ กรอบของสันติวิธี และกติกาว่าจะใช้หลักฐานข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผล

 ค้านได้ ไม่เห็นด้วยได้ แต่ต้องแสดงเหตุผล สมมติว่าไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญก็แสดงเหตุผลว่าเป็นเพราะอะไรๆ การด่า การประณาม การพูดเสียดสีที่เรียกว่าผรุสวาจา ไม่ทำให้คนฉลาดขึ้น นำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรง ฉะนั้นกติกาในเรื่องสัมมาวาจา คือการใช้ความจริง ใช้เหตุใช้ผล จะช่วยให้ทุกฝ่ายฉลาดขึ้น

 

ฉะนั้นสันติวิธีและสัมมาวาจา จึงเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ช่วยป้องกันความรุนแรงและเปิดโอกาสให้กระบวนการประชาธิปไตยก้าวหน้าไปได้

 

ในทางตรงข้าม การเหะหะ ด่าทอ การใช้กำลังเข้าประทุษร้ายกันไม่ทำให้สังคมฉลาดขึ้น ดักดานอยู่ในความไม่รู้ ความรุนแรง ไม่มีแสงสว่าง นำไปสู่มิคสัญญีกลียุคได้ในที่สุด

 

ทุกฝ่ายควรจะเข้ามาสร้างกรอบและกติกาพื้นฐานร่วมกันเสียก่อนว่าจะใช้สันติวิธีและสัมมาวาจา เพื่อเปิดโอกาสให้สิ่งดีๆ เกิดตามมาได้

 

๗.
เวทีประชาธิปไตยที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ

 

ถ้าจัดให้มีเวทีประชาธิปไตยที่ผู้คนทุกฝ่ายสามารถถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผล และมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศให้ประชาชนรับดูรับฟังและมีส่วนร่วม ประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้กำกับว่าต้องทำตามกรอบและกติกา ทุกฝ่ายที่มาถกเถียงกันภายในกรอบกติกาโดยมีประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้กำกับก็จะต้องอยู่ในร่องในรอย ใช้ข้อมูลหลักฐานและเหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้โดยมีคณะกรรมการเวทีประชาธิปไตยเป็นผู้รักษากรอบและกติกา ทำนองเดียวกับกรรมการห้ามมวย ที่อาจมีการตัดสินลงโทษในระดับต่างๆ ตั้งแต่ตักเตือนไปจนถึงไล่ลงจากเวที

 

เมื่อมีการถกเถียงกันโดยใช้หลักฐานข้อเท็จจริงและเหตุผลท่ามกลางสายตาคนดูทั้งประเทศ จะเกิดการยกระดับสติปัญญาและการมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศโดยรวดเร็ว จะกระตุ้นให้มีการค้นคว้าวิจัยเพื่อเอาหลักฐานข้อมูลความรู้มาแสดงต่อสาธารณะมาขึ้น สื่ออื่นๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์และอินเตอร์เน็ตเข้ามาเชื่อมโยงถ่ายทอดจากเวทีประชาธิปไตยขยายออกไป กำหนดให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาทั้งประเทศ มีชั่วโมงเรียนที่นำเรื่องจากเวทีประชาธิปไตยไปวิเคราะห์วิจารณ์ให้สติปัญญาแตกฉาน

 

มีการรวบรวมความคิดเห็นที่ประชาชนส่งเข้ามาซึ่งอาจมีเป็นแสนๆ ชิ้นต่อวัน จัดหมวดหมู่ วิเคราะห์ สังเคราะห์ นำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป

 

เวทีประชาธิปไตยที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศนี้ควรจัดให้มีขึ้นไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ถ้ายิ่งจัดถ่ายทอดแบบรวมวงการเฉพาะกิจได้ยิ่งดี ทำไมเราจัดถ่ายทอดรวมวงการเฉพาะกิจในเรื่องอื่นๆ ได้ ทีเรื่องที่จะยกระดับสติปัญญาและการมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศเช่นนี้จะถ่ายทอดทุกช่องพร้อมกันไม่ได้

 

การมีเวทีที่ทุกฝ่ายเข้ามาถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผลโดยมีคนดูทั้งประเทศเช่นนี้ จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักการเมืองและบุคคลอื่นให้เป็นไปทางสร้างสรรค์มากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนฉลาดขึ้นและเป็นผู้เข้ามากำกับกรอบและกติกา ประชาธิปไตยเกิดเร็ว ลดความรุนแรง ช่วยให้บ้านเมืองพัฒนาก้าวหน้าไปได้

 

๘.
จะเริ่มต้นอย่างไร

 

สี่องค์กรรวมกันควรเป็นผู้เริ่มต้น ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ ทั้งนี้ เพราะสถาบันพระปกเกล้าเป็นสถาบันที่ได้รับการตั้งขึ้นโดยรัฐสภาและมีหน้าที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อ ๓ องค์กรเป็นองค์กรอิสระที่ใกล้ชิดความรู้สึกนึกคิดของประชาชนมากกว่าองค์กรอิสระอื่นๆ

 

องค์กรทั้งสี่ควรปรึกษาหารือกันว่าจะเชิญทุกฝ่ายมาร่วมสร้างกรอบ กติกา และกลไก เบื้องต้นร่วมกันอย่างไร เชิญบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นคณะกรรมการประชาธิปไตย อาจเป็นคนในวงการสื่อสารเอง และในวงวิชาการที่เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคม ประสานงานจัดตั้งเวทีประชาธิปไตย และประสานงานกับรัฐบาลให้มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ รัฐบาลควรถือเป็นโอกาสที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณไม่มาก แต่จะพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว และยกระดับสติปัญญาของคนทั้งประเทศขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันสั้น ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามากำหนดและกำกับกรอบ กติกา และกลไกประชาธิปไตยได้ ประเทศจะพ้นวิกฤตได้ต่อเมื่อระบอบประชาธิปไตยลงตัว เราควรจะหาทางไปสู่จุดลงตัวใหม่ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้ได้

 

ถ้าเรารวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี ไม่เป็นการยากเลยที่ภายใน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะแข็งแรง สันติ และร่มเย็นเป็นสุข เราควรมองไปข้างหน้าและเห็นอนาคตที่ดีร่วมกัน มากกว่าไปขมขื่นอยู่กับอดีต

 

โบราณว่าวิกฤตเป็นโอกาส

 

เพื่อนคนไทยครับ โอกาสอยู่ต่อหน้าท่านแล้ว ที่เราจะไปสู่จุดลงตัวใหม่ที่ดีร่วมกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท