2 ปีกับมรณกรรมของ "พระสุพจน์ สุวโจ" : แม้แต่พระยังต้องสังเวยต่ออำนาจทุนนิยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความตายของพระนักพัฒนา : "พื้นที่ - ผลประโยชน์ - อิทธิพล"

18 มิ.ย.48 พระสุพจน์ สุวโจ ถูกพบว่าเสียชีวิตบริเวณพงหญ้าริมทางเดินเล็กๆ ในเขตสถานปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรม ในเบื้องต้นพบว่า พระสุพจน์ สุวโจ ถูกทำร้ายกระทั่งถึงแก่มรณภาพด้วยของมีคมไม่ทราบชนิด อย่างเหี้ยมโหด แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นหาอาวุธ หลักฐาน หรือวัตถุพยานใดๆ ระดับบ่งชี้บุคคล ได้ในที่เกิดเหตุ ทั้งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำร้าย เพราะไม่มีประจักษ์พยาน ตลอดจนไม่สามารถประมวลข้อมูลที่มี-ที่ทราบ เพื่อนำไปสู่การค้นหาตัวผู้ต้องสงสัยใดๆ ได้แม้แต่คนเดียว

ความตายของพระสุพจน์ สุวโจ ยังคงทำให้ถูกเป็นปริศนา ...แต่ใครหลายคนก็พอที่จะปะติดปะต่อเหตุการณ์นี้ได้ลางๆ โดยผู้เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับการทำงานร่วมกับพระสุพจน์ สุวโจ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เบื้องหลังของเหตุการณ์ลอบสังหารครั้งนี้ ก็คือ การที่ภิกษุกลุ่มพุทธทาส ซึ่งรวมถึงตัวท่านด้วย อาจหาญเข้ามาปกป้องพื้นที่ ปกป้องชุมชน และปกป้องชาวบ้าน จากการรุกรานของอำนาจทุน อำนาจเถื่อนของผู้มีอิทธิพลในเขตสถานปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรม

เพราะว่าสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ เคยถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพล นายทุน ที่หวังจะใช้ประโยชน์จากที่ดินซึ่งมีสภาพเป็นป่าต้นน้ำที่สถานปฏิบัติธรรมดูแลอยู่

พระสุพจน์ สุวโจ และเพื่อนภิกษุ มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยใช้ศาสนาเพื่อระงับความขัดแย้ง ตลอดจนการแก้ปัญหาความรุนแรง อันเกิดจากการกระทำของรัฐและฝ่ายทุนด้วยสันติวิธี ร่วมกับขบวนการและเครือข่ายภาคประชาชน จนก่อให้เกิดความไม่พอใจจากฝ่ายปกครองและนายทุนเสมอ

ซึ่งมันคือความขัดแย้งทางชนชั้น ระหว่าง นายทุน-ชนชั้นปกครอง กับประชาชนส่วนใหญ่ !

คดีนี้อาจจะเป็นเพียงคดีฆาตกรรมทั่วไป ที่ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวชก็มีสิทธิ์สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อในยุคสมัยอันมืดมนอย่างปัจจุบัน แต่เมื่อหากพินิจพิเคราะห์จากรายละเอียดเรื่องราวต่อจากนี้ไป เราจะเห็นความเชื่อมโยงและปัญหาในมุมที่กว้างขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่แค่การฆ่าพระที่ อ.ฝาง ไม่ใช่แค่การฆ่าพระที่เชียงใหม่ และมันไม่ใช่การฆ่าพระที่ประเทศไทย ปัญหานี้มันยิ่งใหญ่กว่านั้นหลายเท่านัก

มันคือปัญหาการช่วงชิงทรัพยากรของโลกนี้ โดยกลุ่มนายทุน-ชนชั้นปกครอง เพื่อนำไปแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มตนเอง มันคือปัญหาการเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ทำให้มนุษย์ผู้รักความยุติธรรมหลายๆ คนต้องออกมาสู้ แม้ว่าผลลัพธ์ของการต่อสู้อาจจะมีความตายรออยู่เบื้องหน้า ...แต่มนุษย์ผู้รักความยุติธรรม จักไม่ยอมหยุดสยบและถอยก้าวออกไป เช่นเดียวกับพระสุพจน์ สุวโจ

ความตายของพระนักพัฒนา : "พื้นที่ - ผลประโยชน์ - อิทธิพล"

หลังรัฐประหาร ปี 2550 วงการสงฆ์ไทยกำลังครึกครื้นด้วยการระดมพลเคลื่อนไหวขอให้บรรจุ ถ้อยความเจาะจงให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ลงไปในรัฐธรรมนูญเถื่อนที่เกิดจากการรัฐประหารของผู้ที่มีอาวุธอยู่ในมือ นับว่าไม่มีให้เห็นมากนัก ที่เราจะเห็นสงฆ์ไทยออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง แต่กลับเป็นเกมการเมืองแบบชนชั้นนำ

แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปช่วยชาวบ้าน เคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง การเมืองของชาวบ้าน เกมแห่งความเป็นความตายระหว่างการนายทุนที่รังแกชาวบ้าน

โดยกลุ่มพุทธทาสศึกษาที่ยังคงอยู่ ได้สรุปเหตุการณ์และความเป็นมา กรณีการลอบสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ ไว้ดังนี้ ...

เมื่อปี 2541 พระภิกษุหนุ่ม "กลุ่มพุทธทาสศึกษา" ซึ่งประกอบด้วย พระสุพจน์ สุวโจ พระมหากิตติ ธัมมปาโล , พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ , พระทวีศักดิ์ จิรธัมโม และพระมหาเชิดชัย กวิวํโส ได้โยกย้ายจากวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมาจำพรรษาที่สถานปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน หมู่ ๕ ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ตามคำอาราธนาของพระอาจารย์สิงห์ทน นราสโภ (ดร.สิงห์ทน คำซาว) และนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยความเห็นชอบของท่านเจ้าคุณโพธิรังสี รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ (ในขณะนั้น) เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดจนเผยแผ่ศาสนา ตามแนวทางของท่านพุทธทาสภิกขุ และแนวปฏิบัติของสวนโมกขพลาราม และดูแลที่ดินจำนวนกว่า 1,500 ไร่ ที่พระอาจารย์สิงห์ทนมอบให้อยู่ในความดูแลของสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ซึ่งที่ดินแห่งนี้นั้น เป็นที่หมายปองของนายทุนที่ต้องการมาลงทุนในอ.ฝาง ยิ่งนัก

โดยที่ที่ดินดังกล่าวนั้น เดิมถูก ดร.สิงห์ทน คำซาว ซื้อมาแบบมือเปล่า ตั้งแต่เมื่อประมาณปี 2523 จากชาวบ้านหลายราย และหลายครั้ง ภายหลังออกหนังสือแสดงสิทธิ์เป็นเอกสารสปก. 4-01 ในนามคนงานและชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงซึ่งเคยทำงานกับพระอาจารย์สิงห์ทนครั้งยังมิได้อุปสมบทแทบทั้งสิ้น จึงเป็นที่หมายตาของผู้มีอิทธิพล ที่จะเข้ามาข่มขู่เพื่อบีบบังคับให้ชาวบ้านอนุญาตให้เข้าไปทำการเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ได้โดยง่าย นอกจากบริเวณที่จัดไว้เป็นเขตสังฆาวาสประมาณ 75 ไร่เศษเท่านั้น ที่มีหนังสือแสดงสิทธิ์ นส.3 ก. ในชื่อนายสิงห์ทน คำซาว

ในครั้งแรกเริ่ม ก็มีความพยายามจากผู้มีอิทธิพลและนักเลงอันธพาลในพื้นที่ พยายามกดดัน ข่มขู่ คุกคาม ต่อผู้อยู่อาศัยในสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะจุดไฟเผาป่า ส่งคนมาลอบยิงปืนใกล้กุฏิพระ ส่งคนมาลักลอบตัดฟันต้นไม้และพืชสมุนไพรที่ทางคณะสงฆ์พยายามปลูกไว้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า เป็นต้น

ในปี 2542 คณะสงฆ์ในสถานปฏิบัติธรรมหารือร่วมกับเจ้าของที่ดินเพื่อยกที่ดินจำนวน 800 ไร่ ให้เป็นป่าชุมชน และแบ่งบางส่วนเป็นที่พักสงฆ์ (ซึ่งเป็นพระในพื้นที่) ขึ้นอีกที่หนึ่ง เพื่อลดปริมาณการถือครอง ไม่ให้มีมากเกินไป แต่การคุกคามก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด

ในปี 2543 จึงได้จัดตั้งมูลนิธิ "เมตตาธรรมรักษ์" ขึ้น และได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ในวันที่ 20 ธ.ค.43 (ใบอนุญาตเลขที่ ก.ท.1064)โดยมี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นายพิภพ ธงชัย นายอนันต์ วิริยพินิจ นายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นกรรมการชุดแรก เพื่อให้สถานปฏิบัติธรรมอยู่ภายใต้การดูแลของทางมูลนิธิที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง

ในปี 2544 (โดยประมาณ) เจ้าของที่ดิน (พระสิงห์ทน นราสโภ) มอบอำนาจจัดการที่ดิน การดูแลสถานปฏิบัติธรรม ตลอดจนผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ แก่พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มพุทธทาสศึกษาและตัวแทนคณะสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ที่นั่น โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่า เพื่อให้ดูแลและจัดการให้เป็นไปโดยประโยชน์ของการเผยแผ่พระศาสนาเท่านั้น

จากนั้น คณะสงฆ์และมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ก็มีกิจกรรมและดำเนินการอย่างแข็งขัน จึงมีการกดดันจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น

กลางปี 2544 มีนายทหารนอกราชการ สมาชิก อบต. และผู้กว้างขวางในพื้นที่ส่วนหนึ่ง รวมกลุ่มกันและชักชวนให้กลุ่มคนเข้ามารุมทำร้าย นายไพบูลย์ เมืองสุวรรณ อดีตลูกศิษย์และผู้ดูแลสถานที่ของพระสิงห์ทน นราสโภ และนายไซ คนงานเชื้อสายปะหล่อง ผู้อาศัยอยู่ในสวนเมตตาธรรม จนได้รับบาดเจ็บ ขณะเดียวกัน ก็มีการเรียกเก็บหนังสือแสดงสิทธิ์ สปก.4-01 จากชาวบ้านรอบๆ สถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม" เพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินใหม่ สปก. 4-01 ขึ้นใหม่อีกด้วย

ปี 2545 คณะสงฆ์แห่งสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรมและเจ้าของที่ดิน ได้มอบหมายให้ พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ เป็นตัวแทนเพื่อแจ้งความดำเนินคดี ทั้งในกรณีการบุกรุกที่ดิน การข่มขู่คุกคาม ตลอดจนการลักทรัพย์ของสถานปฏิบัติธรรม แต่ไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่แต่อย่างใด

จากนั้นกลุ่มผู้มีอิทธิพลเริ่มปฏิบัติการก่อกวน ด้วยการลักทรัพย์ของสถานปฏิบัติธรรม เช่น เครื่องสูบน้ำ หรืองัดแงะกุฏิสงฆ์หลายครั้งหลายครา กระทั่งในที่สุดก็บุกรุกเข้าตัดไม้แล้วแผ้วถาง เพื่อตัดแบ่งที่ดินบางส่วนประมาณ 70-80 ไร่ ในการดูแลของสถานปฏิบัติธรรม ขายที่ดินให้กับคนนอกพื้นที่ เพื่อให้ทำสวนส้ม ซึ่งระยะนั้นเริ่มเป็นที่สนใจ และมีการขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมของนายทุนการเกษตรขนาดใหญ่แพร่หลายไปทั่วพื้นที่อำเภอฝาง

รวมถึงการเข้ามาข่มขู่พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ และพระสุพจน์ สุวโจ ถึงในบริเวณกุฏิสงฆ์ ด้วยการกล่าวว่า "ให้พระเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดิน และให้ออกนอกพื้นที่เสียโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย" พร้อมทั้งพยายามแสดงให้เห็นว่า ตนมีอาวุธครบมือ พร้อมที่จะทำร้ายหรือเข่นฆ่าได้โดยง่าย โดยกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "ถึงแม้เป็นพระ ก็อย่าคิดว่าจะไม่กล้าทำอะไรรุนแรง" นอกจากนี้ยังมีการเข้ามาลักลอบเข้ามาตัดฟันไม้และจุดไฟเผาป่าในที่ดินซึ่งเป็นที่รกร้างไปกว่า 20 ไร่ เพิ่มเติมอีก

การกดดันของกลุ่มผู้มีอิทธิพลดำเนินการอย่างเป็นระบบมากว่า 3 ปี (2545-2548) ในที่สุด มีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งบุกรุกเข้ามาไถเกรดปรับสภาพที่ดิน เพื่อเตรียมที่จะใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ที่ยังมีปัญหา และเมื่อชาวบ้านใกล้เคียงทราบข่าว ก็แจ้งให้ พระสุพจน์ สุวโจทราบ พระสุพจน์จึงประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจมาตรวจสอบในที่เกิดเหตุ ซึ่งต่อมาทราบว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปห้ามปรามและตักเตือนคนขับรถไถ ตลอดจนคนดูแลการทำงาน พร้อมทั้งแนะนำให้คนเหล่านั้นมาขออนุญาตจากพระสุพจน์เสียก่อน

พร้อมๆ กันนั้น มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ก็อนุมัติให้ทางคณะสงฆ์ใช้งบประมาณของมูลนิธิ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ตลอดจนขุดลอกสระน้ำ และจัดทำแนวทางเดิน รวมทั้งถนนในเขตสถานปฏิบัติธรรมทั้งหมด เพื่อเตรียมการเคลื่อนย้ายสำนักงานมูลนิธิในส่วนกลาง มาเปิดสำนักงานใหม่ขึ้นในบริเวณสถานปฏิบัติธรรม ซึ่งกำหนดไว้โดยเบื้องต้น ว่าจะดำเนินงานต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ หลังการฉลอง 100 ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ในปี 2549

และโดยที่มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์กับกลุ่มเสขิยธรรม เริ่มเตรียมการประสานงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มจะเปิดโครงการอื่นๆ ตามมาอีก ทำให้ในที่สุด ก็คล้ายกับว่า ความตื่นตัวเหล่านั้นทำให้ผู้ประสงค์ร้าย ตัดสินใจลงมือสังหารพระสุพจน์ สุวโจ ในวันที่ 17 มิ.ย.48 นั่นเอง

ดังนั้นความตายของพระสุพจน์ สุวโจ ถ้าไม่ใช่อุบัติเหตุอื่นใด เราก็มองไม่เห็นว่าสาเหตุอื่นจะสำคัญเท่ากับการที่ท่านออกมาปกป้องพื้นที่ ปกป้องชุมชน และปกป้องชาวบ้าน ซึ่งมันย่อมอาจไปขวางทางอิทธิพลในการเข้าครอบครองพื้นที่ของกลุ่มอิทธิพลและนายทุน อย่างเห็นได้ชัด!


สรุปประวัติ พระสุพจน์ สุวโจ (ด้วงประเสริฐ)

พระสุพจน์ สุวโจ เกิดวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2509 จบการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อทำงานได้ระยหนึ่งแล้วจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ในปี พ.ศ. 2535 ขณะบวชมีอายุ 26 ปี

หลังจากบวชแล้วพระสุพจน์ได้ศึกษาปฎิบัติธรรมหลายแห่ง และได้เข้าร่วมการอบรมอานาปานสติที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ท่านสนใจที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมในสวนโมกข์มานับแต่นั้น

อุปนิสัยโดยทั่วไปของท่าน เป็นคนโอบอ้อมอารี เป็นมิตรกับผู้อื่นได้ง่าย และด้วยพื้นฐานของความเป็นสัตวแพทย์ที่รักและเมตตาสัตว์ ท่านจึงมักจะคอยช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่เสมอ ท่านสุพจน์เป็นคนมีอัธยาศัยดี เป็นที่รักของคนรอบข้าง และเป็นคนประนีประนอม ไม่ชอบมีเรื่องขัดแย้งกับใคร ท่านมักจะยินดีให้ความช่วยเหลือแก่คนที่เดือดร้อนเสมอ ทั้งในด้านของวัตถุและการให้คำปรึกษา

ผลงานในระหว่างที่อยู่สวนโมกข์

* ช่วยงานด้านเอกสารต่างๆ และงานบัญชีของวัด โดยรับผิดชอบงานด้านนี้อย่างเต็มตัว ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส (แต่งตั้งเป็นการภายใน) ในระยะเวลาต่อมา
* รับผิดชอบและดูแลงานห้องสมุดธรรมะ ของสวนโมกข์ (โมกขพลบรรณาลัย)
* เป็นวิทยากรในการฝึกอบรมธรรมะให้กับกลุ่มเยาวชน และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่สนใจเข้ามาศึกษาปฎิบัติธรรมในสวนโมกข์
* ช่วยงานของวัดในการอบรมอานาปานสติ และการจัดค่ายเยาวชน
* ริเริ่มและพัฒนาการฝึกอบรมในสวนโมกข์โดยใช้วิธีการอบรมแบบมีส่วนร่วม
* ร่วมจัดตั้งกลุ่มพุทธทาสศึกษา เพื่อศึกษาผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างเป็นระบบ
* จัดทำเอกสาร และเตรียมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมประยุกต์ธรรมะเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม
* ร่วมเตรียมการและจัดกิจกรรม ในโครงการธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูทะเลสาปสงขลา ซึ่งเป็นการเดินรณรงค์ให้ชุมชนหันมาสนใจทะเลสาปสงขลา ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยโครงการนี้ได้จัดอย่างเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี พงศ. 2538 - 2548
* ร่วมรือฟื้นหนังสือพิมพ์ "พุทธศาสนา" เพื่อสื่อสารธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสกับคนร่วมสมัยให้มากขึ้น
* ออกแบบและจัดรูปเล่มหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสให้น่าดึงดูดใจผู้อ่านมากขึ้น โดยผลงานจัดรูปเล่มหนังสือที่สำคัญในช่วงนี้คือ ผลงานชุด "ปณิธาน : เพื่อสืบสานปณิธานพุทธทาส" จำนวน ๑๒ เล่ม
* ร่วมกิจกรรมที่เน้นประเด็นทางสังคม โดยประสานงานกับกลุ่มต่างๆ ทั้งในและนอกสวนโมกข์

ผลงานหลังออกจากสวนโมกข์และจัดตั้งกลุ่มพุทธทาสศึกษา

* เป็นรองประธานของมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตตามหลักธรรมะ และสนับสนุนกิจกรรมทางด้านชุมชน การศึกษาและสิ่งแวดล้อม
* ทดลองจัดทำเว็บไซต์ธรรมะ "สมาคมคนน่ารัก" (www.khonnarak.com) เพื่อสื่อสารหลักธรรมอย่างเรียบง่าย และงดงามผ่านอินเทอร์เน็ต
* จัดทำและพัฒนาเว็บไซต์พุทธทาสศึกษา (www.buddhadasa.org) ซึ่งมีผู้เข้ามาใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก
* จัดทำและพัฒนาเว็บไซต์กลุ่มเสขิยธรรม (www.skyd.org) ซึ่งเป็นเครือข่ายของพระสงฆ์และแม่ชีที่ทำงานด้านประยุกต์ใช้ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
* จัดทำและพัฒนาเว็บไซต์ www.kruamas.org และล่าสุดกำลังเตรียมการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อรณรงค์ให้วัด และพระปลอดบุหรี่ ชื่อเว็บไซต์ โครงการเสริมสร้างภูมิชีวิตพิชิตบุหรี่ในเพศบรรชพชิต (www.nosmoke.in.th)
* ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ การใช้คอมพิวเตอร์กับองค์กรต่างๆ ที่ทำงานทางด้านสังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอ ดังเช่น องค์กรในเครือข่ายของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิโกมลคมทอง เครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม
* เป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของจดหมายข่าวเสขิยธรรมรายสามเดือน
* จัดรูปเล่มหนังสือธรรมะต่างๆ จำนวนมาก อาทิเช่น หนังสือชุดสรรนิพนธ์พุทธทาส ชุดธรรมทัศน์ของพุทธทาส จดหมายข่าวธรรมานุรักษ์ และหนังสือธรรมะอื่นๆ จำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 100 เล่ม

พระสุพจน์ สุวโจ มรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2548 โดยถูกรุมทำร้ายจากคนไม่ทราบจำนวน ด้วยของมีคม และวิธีการที่โหดเหี้ยมทารุณยิ่ง ณ สวนเมตตาธรรม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ขณะมีอายุ 39 ปี อายุพรรษา 13 พรรษา

จนถึงปัจจุบัน (เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550) ความคืบหน้าของคดีนี้ ยังไม่คืบไปจนถึงการเสาะหาตัวผู้สังหารหรือผู้บงการได้

ที่มา : http://www.semsikkha.org

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท