ปากคำไต่สวน อดีตแม่ทัพภาค 4 คดีตากใบ "ผมไม่สามารถกำกับดูแลสถานการณ์ได้"

 

ภาพจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

5 มิ.ย.50 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสงขลา นัดสืบพยานคดีหมายเลข ช.16/2548 ซึ่งอัยการจังหวัดปัตตานี ผู้ร้อง ขอให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ กรณีผู้เสียชีวิต 78 คนในเหตุการณ์ตากใบ โดยมี พล.อ.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี จากสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 มาเป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง

 

การสืบพยานเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 9.40 น. โดยอัยการเป็นผู้ซักพยานก่อน พล.อ.พิศาล เบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค.47 เกิดกรณีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ถูกปล้นปืนต่างจุดในเวลาใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.อ.ตากใบสอบสวนแล้ว เชื่อว่าชรบ.เหล่านี้ไม่ได้ถูกปล้น หากเป็นการเอาปืนไปให้คนอื่น ตำรวจจึงดำเนินคดีกับชรบ.ทั้ง 6 คน ในข้อหาแจ้งความเท็จ ยักยอกทรัพย์สินทางราชการ โดยฝากขังที่ศาลจังหวัดนราธิวาส

 

ต่อมาในวันที่ 25 ต.ค.47 เวลาประมาณ 6.00 น. ตนได้รับแจ้งว่า มีชาวบ้านมาชุมนุมที่หน้าสภ.อ.ตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน ตนเดินทางไปถึง สภ.อ.ตากใบเวลาประมาณ 9.00 น. พบว่ามีผู้ชุมนุมกว่า 1 พันคนบริเวณหน้าสถานีตำรวจ ซึ่งคับแคบมาก และการควบคุมทำได้ยาก โดยบริเวณด้านหน้าสภ.อ.ตากใบนั้นมีแม่น้ำที่กั้นชายแดนไทย-มาเลเซียตั้งอยู่ ทั้งนี้ ตนได้ถามเชิญคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและโต๊ะอิหม่ามให้เข้าร่วมด้วย

 

พล.อ.พิศาล เบิกความต่อว่า ตนได้ถามผู้ชุมนุมว่าต้องการให้ช่วยอะไรบ้าง ก็ได้คำตอบว่า ผู้ชุมนุมต้องการให้ตำรวจปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน หลังจากนั้นจึงได้ตามตัวพล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ผบช.ภาค 9 มาร่วมพูดคุย ได้ความว่าต้องขออำนาจศาลนราธิวาสจึงจะปล่อยตัวชรบ.ทั้ง 6 ได้ ตนจึงแจ้งผู้ชุมนุมว่าไม่มีอำนาจในการปล่อยตัว ต้องไปขอประกันตัวกับศาล โดยตนได้ให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรื่องการประกันตัว แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม ขอให้ปล่อยชรบ.ทั้ง 6 โดยไม่มีเงื่อนไข

 

"ผมขอตัวแทนเพื่อเจรจา ซึ่งผมยินดีดำเนินการตามข้อเรียกร้องให้หมด ว่าจะไปขอประกันตัวด้วยตัวเอง ขณะนั้นเวลา 12.00 น.เศษๆ จะขอใช้เวลาไป 1.30 ชั่วโมง และกลับอีก 1.30 ชั่วโมง ปรากฏว่าผู้ชุมนุมไม่ยอม ให้เวลาสูงสุดไม่เกิน 3 ชั่วโมง คือไม่เกินบ่ายสาม ขณะนั้นสถานการณ์เริ่มไม่ดี มีหลายๆ อย่าง เช่น มีการโห่ ปีนต้นไม้และเขย่า ทำท่าจะพังแผงเหล็ก" พล.อ.พิศาล กล่าวและว่า ตนขอให้คนไปรับพ่อแม่ของชรบ.มา และได้คุยกับพ่อแม่ว่า จะทำทุกทางให้ได้ประกันตัว โดยขอเวลาเพื่อดำเนินการ และให้พ่อแม่ของชรบ. พูดกับชาวบ้านที่มาชุมนุม แต่ก็มีการโห่ไล่ ฟังกันไม่รู้เรื่อง โดยขณะนั้นเป็นเวลา 14.40 น.

 

"ผมออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ว่า หากมีอะไรเกิดขึ้น ห้ามใช้อาวุธปืนโดยเด็ดขาด ให้ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเท่านั้น เพราะหากมีการใช้อาวุธ บนพื้นฐานสถานการณ์การชุมนุม จำนวนผู้ชุมนุม จะต้องเกิดการสูญเสีย"

 

"จากนั้นผู้ชุมนุมก็เริ่มพังรั้ว ปาขวดแก้ว ก้อนหิน มายังเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่หน้าสถานีตำรวจ รถดับเพลิงจึงเริ่มฉีดน้ำ แล้วก็มีเสียงปืนดังขึ้น ผมไม่รู้ว่าเป็นเสียงจากฝ่ายไหน อย่างไร แล้วก็มีเจ้าหน้าที่มาผลักผมให้ล้ม แล้วทับตัวผมไว้ เพื่อหลบวิถีกระสุน"

 

จนกระทั่งควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ผู้ชุมนุมสูญเสีย 5-6 คน ฝ่ายเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 30 คน เนื่องจากทหารไม่มีความชำนาญในการสลายการชุมนุม ตนจึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อ โดยแยกผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและผู้หญิง ซึ่งไม่มีใครได้รับบาดเจ็บออกไป ส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสรับไปดูแล

 

มีการหารือกับฝ่ายต่างๆ ว่าจะทำอย่างไร เพราะพื้นที่ล่อแหลม ได้มีความเห็นตรงกันว่าไม่สามารถให้ผู้ชุมนุม อยู่ได้ ต้องเคลื่อนย้ายไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ปรากฎว่าฝนตกลงมา การขนย้ายทุลักทุเล ตนเห็นว่ามีรถอยู่ 7 คัน ไม่น่าจะพอ จึงโทรศัพท์ขอรถเพิ่มอีก 18 คัน เป็น 25 คัน

 

จากนั้นได้ขอแยกตัวไปเข้าเฝ้าฯ ตามกำหนดการที่ตนต้องปฏิบัติหน้าที่ โดยขณะนั้น พลเอกสิริชัย ธัญญสิริ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อยู่ที่โรงแรมรอยัลปรินเซส จึงมอบหมายให้พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร (พล.ต.เฉลิมชัย ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ในขณะนั้น) เป็นผู้กำกับพื้นที่ ดูแลสถานการณ์ต่อ

 

พล.อ.พิศาล เบิกความว่า ขณะที่อยู่ระหว่างการเข้าเฝ้าฯ ได้โทรหาค่ายอิงคยุทธฯ ให้เตรียมอาหาร น้ำ พัดลม ที่นอนให้ผู้ชุมนุม แต่มีข้อเท็จจริงว่า รถชุดแรกที่ออกไปสามารถไปตามเวลาที่กำหนด แต่รถชุดต่อๆ ไป พบอุปสรรคระหว่างทาง มีการโปรยตะปูเรือใบ เผายาง

 

หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้น (26 ต.ค.47) เวลาประมาณตี 2 จึงได้รับแจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธฯ จึงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร แล้วก็ตัดสินใจขออนุมัติย้ายตัวเองพ้นออกจากพื้นที่ไป เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 

นอกจากนี้ จากการซักของอัยการ พล.อ.พิศาล ได้เบิกความต่อศาลว่า การนำตัวผู้ชุมนุมไปค่ายอิงคยุทธบริหาร ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ที่ประทับ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดชุมนุมประมาณ 30 กม. โดยเจ้าหน้าที่ต้องการสอบถามผู้ชุมนุมว่าเกิดอะไรขึ้น ใครอยู่เบื้องหลัง มีจุดมุ่งหมายอะไร ซึ่งต้องการสอบให้เสร็จภายใน 72 ชั่วโมง

 

เขาสงสัยว่า ผู้ชุมนุมบางคนมีลักษณะ "เต้น" และ "ตาขวาง" คล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผู้ต้องสงสัยบอกว่าดื่มน้ำทีมียาแก้ไอผสมโค้กและเปลือกไม้ ซึ่งตรวจหาสารเสพติดขณะนั้นไม่เจอ แต่ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันตรวจพบแล้วเป็นสารออกฤทธิ์ต่อสมอง

 

ทั้งนี้ เขาได้กำชับนโยบายการขนย้ายผู้ชุมนุมในรถคันแรกนั้น ซึ่งเห็นว่ามีการซ้อนทับกัน จึงบอกเจ้าหน้าที่ว่า เอาผู้ชุมนุมไปไม่ได้ ให้ลงมาทั้งหมด และบอกให้รอจนกว่าจะมีรถเข้ามาเพิ่ม

 

นอกจากนี้ พล.อ.พิศาล ยังเบิกความว่า พบเห็นคนพกอาวุธปืน แต่ไม่คิดอะไรมาก เพราะคิดว่าคนพกปืนเป็นเรื่องปกติ และตอนหลัง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบอาวุธ ซึ่งมาทราบวันที่ 28 ต.ค. ในสำนวนการสอบสวนว่า พบปืนในที่เกิดเหตุและในแม่น้ำ

 

โดยอัยการซักพยานเสร็จในเวลา 12.00 น.

 

หลังจากนั้น ทนายความญาติผู้ตาย จึงเริ่มซักพยาน โดยถามว่า ขณะที่ออกไปจากที่ชุมนุม พยานเห็นรถบรรทุกทหารกี่คัน พล.อ.พิศาล ตอบว่า เห็นรถ 3 คันด้านหน้า กับอีก 4 คันด้านหลัง ซึ่งได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เลิกขน จนกระทั่งรถมาครบ 25 คันแล้ว ตนจึงได้ออกจากพื้นที่ไป โดยได้มอบหมายให้พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ปฏิบัติหน้าที่แทน

 

ทั้งนี้ ไม่ได้สั่งการให้ตำรวจบันทึกภาพเป็นหลักฐาน ไม่แน่ใจว่ามีการถ่ายภาพหรือไม่ โดยปกติ การถ่ายภาพเป็นเรื่องปกติของฝ่ายข่าวที่จะทำกันอยู่แล้ว ทั้งนี้ เขามาเห็นภาพเหตุการณ์หน้า สภ.อ.ตากใบ ในภายหลัง จากการนำเสนอของสื่อมวลชนและจากวีซีดีที่ซื้อมา ซึ่งเป็นภาพที่ไม่มีตนอยู่ มีแต่ภาพตอนชุมนุมเฉยๆ ไม่มีภาพการสลายการชุมนุม ทั้งนี้ ไม่ได้ดูวีซีดีของทหารตำรวจ ดูเพียงวีซีดีที่ซื้อมาเท่านั้น

 

เมื่อทนายซักว่า พยานอยู่ตรงไหนของเหตุการณ์ตอนสลายการชุมนุม พล.อ.พิศาล ตอบว่า อยู่หน้า สภอ.ตากใบ ซึ่งทหารได้ผลักตนลงแล้วบังไว้ จากนั้น หลังสลายการชุมนุมเสร็จแล้ว จึงเข้าไปยังที่เกิดเหตุ ภาพที่เห็น เป็นภาพหลังการสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมนอนคว่ำหน้าเรียบร้อยแล้ว โดยไขว้มือไว้ด้านหลัง ถอดเสื้อออก ซึ่งเป็นวิธีการของตำรวจ

 

ทนายซักว่า เจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุมหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า เราไม่ได้ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม

 

ทนายซักว่า พยานเป็นผู้ออกคำสั่งฯ ตามคำร้องของอัยการหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า การออกคำสั่งกับแผนที่ใช้ต้องชัดเจน ขึ้นกับเวลาบ่ายสามโมง ถ้าหากเกิดเหตุร้าย ต้องสลายการชุมนุม หากห้าโมงเย็นเหตุการณ์ยังไม่ยุติ ก็จะมีขั้นตอนต่อไปที่ชัดเจน

 

ทนายซักว่า พยานคิดว่าการชุมนุมมีความปลอดภัยหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่าเชื่อว่าไม่มีความปลอดภัย เขารู้สึกเสี่ยง

 

ทนายซักว่า พยานเป็นคนพกอาวุธกี่คน พล.อ.พิศาล ตอบว่า มีไม่ต่ำกว่า 3-4 คน โดยในวันเกิดเหตุวันนั้น ยังไม่มีการพูดถึงอาวุธ แต่มีรายงานว่าคนตาย

 

ทนายซักว่า มีการออกคำสั่งสกัดกั้นคนไม่ให้เข้ามาร่วมชุมนุมหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ไม่มี ตอนตนไป มีคนชุมนุมเต็มไปหมดอยู่แล้ว

 

ทนายซักว่า มีการตั้งจุดสกัด ตรวจค้นอาวุธหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ไม่มี

 

ทนายซักว่า มีการประชุมวางแผนเพื่อสกัดกั้นคนไม่ให้มาชุมนุมหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า มีการหารือเฉพาะเรื่องว่าจะปล่อยตัว ประกันตัวชรบ.อย่างไร จะจัดการม็อบอย่างไร โดยหมายหมายให้ผู้เข้าร่วมประชุม ไปประชุมย่อยเพื่อกำหนดมาตรการดูแลความเรียบร้อยต่อไป

 

ทนายซักว่า ที่ประชุมคุยว่าจะแก้ไขการชุมนุมอย่างไร พล.อ.พิศาล ตอบว่า เราเป็นฝ่ายนโยบาย ไม่ทราบปฏิบัติ

 

ทนายซักว่า มีคำสั่งให้ใช้กระสุนยางไหม พล.อ.พิศาล ตอบว่า มีคำสั่งห้ามใช้อาวุธ ไม่มีการใช้กระสุนยาง เนื่องจากไม่มีงบประมาณ

 

ทนายซักว่า ก่อนที่รถดับเพลิงจะฉีดน้ำ มีการขว้างปาหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า มีแล้ว ทนายถามว่า ขว้างปานานแค่ไหนเจ้าหน้าที่จึงฉีดน้ำ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ไล่เลี่ยกัน

 

ทนายซักว่า ผู้ชุมนุมปีนกำแพงเข้ามาในโรงพักหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ไม่มี มีแต่คนปีนต้นไม้ตรงโรงพัก ลักษณะตาขวาง

 

ทนายซักว่า พยานได้พบและพูดคุยกับ พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ซึ่งมาชันสูตรพลิกศพหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ไม่ได้พบ

 

ทนายซักว่า ผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุม 5 คน ตายเพราะถูกกระสุนปืนหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายซักต่อว่า ผู้บาดเจ็บกว่า 30 คนถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพราะถูกกระสุนปืนหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ไม่ทราบ

 

ทนายซักว่า พยานเห็นผู้ชุมนุมใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่ก่อนไหม พล.อ.พิศาล ตอบว่า ขณะนั้นเหตุการณ์ชุลมุน ตนถูกผลักให้ล้มลง จึงไม่เห็น

 

ทนายซักว่า มีการลำเลียงอาวุธข้ามแม่น้ำหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ตนไม่เห็น เห็นเพียงคนในแม่น้ำ ประมาณ 300-400 คน อยู่ชายตลิ่งน้ำ

 

ทนายซักว่า ได้รับรายงานหรือไม่ว่ามีการลำเลียงอาวุธให้ผู้ชุมนุม พล.อ.พิศาล ตอบว่า ไม่ได้รับรายงาน

 

ทนายซักว่า มีการกำชับห้ามใช้อาวุธ อย่างไร พล.อ.พิศาล ตอบว่า ตนสั่งทุกหน่วยงานห้ามยิงประชาชนโดยเด็ดขาด ให้ดำเนินการอย่างละมุนละม่อม

 

ทนายซักว่า หลังเหตุการณ์ที่ตากใบ พยานทำอย่างไร พล.อ.พิศาล ตอบว่า ตนขออนุมัติย้ายออกนอกพื้นที่ทันทีเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 

ทนายซักว่า มีการสั่งสอบสวนเอาผิดกับใครหรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า มีการสั่ง

 

ทนายซักว่า ผลเป็นอย่างไร พล.อ.พิศาล ตอบว่า ไม่ทราบผล เพราะตนไม่ได้กลับมา

 

ทนายซักว่า พยานได้มอบหมายให้ พล.ต.เฉลิมชัย วิบูรณ์เพชร ขนย้ายผู้ชุมนุม ใช่หรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ใช่ ตนได้มอบหมายให้ พล.ต.เฉลิมชัย เป็นผู้บัญชาการกองพล จัดรถนำขบวน ดูแลการขนย้ายผู้ชุมนุม

 

ทนายซักว่า มีการให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อ เอามือไขว้หลัง มีการตรวจค้นตัว หรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ตนเห็นตำรวจดำเนินการ

 

ทนายซักว่า พยานทราบหรือไม่ว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนใช้กำลัง โดยใช้เท้าที่สวมรองเท้าบูทเตะผู้ชุมนุม พล.อ.พิศาล ตอบว่า ทราบ

 

ทนายซักว่า เมื่อรถขนผู้ชุมนุมไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร พบว่ามีคนตายในเวลาประมาณเท่าไหร่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า ประมาณ 4 ทุ่มถึงตี 2 โดยรู้ครั้งแรกตอนสี่ทุ่มซึ่งตนกำลังเข้าเฝ้าฯ และรู้อีกครั้งตอนตี 3 ซึ่งได้รับแจ้งว่ามีคนตายเพิ่มขึ้น

 

ทนายซักว่า กระทรวงกลาโหมได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนสรุปว่า พยานทำผิดวินัยทหารใช่หรือไม่ พล.อ.พิศาล ตอบว่า เป็นคณะกรรมการสอบสวนเพื่อกำหนดโทษ สรุปว่าตนบกพร่อง ไม่กำกับดูแล และตนได้อธิบายถึงสาเหตุในการไม่สามารถกำกับดูแลไปแล้ว

 

ทั้งนี้ ต่อกรณีที่กองทัพบกได้ชดเชยเงินให้ญาติผู้เสียชีวิต 78 ราย และนายกรัฐมนตรี สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้กล่าวขอโทษประชาชนในกรณีตากใบนั้น พล.อ.พิศาล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวขอโทษต่อความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ผมก็กล่าวขอโทษเช่นเดียวกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับการถอนฟ้อง ควรมีการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

 

หลังจากทนายซักพยานเสร็จแล้ว อัยการได้ถามติง โดยพล.อ.พิศาล ได้เบิกความว่า โดยหลักการ ตนได้อธิบายต่อการสอบสวนแล้วว่าไม่สามารถดูแลสถานการณ์ได้ โดยเหตุการณ์นั้นเป็นลักษณะเหมือนการจราจล ในพื้นที่ที่แคบที่สุด ซึ่งไม่ขัดแย้งกับคำพูดตนที่ว่า "ขอรับผิดชอบ" ในตอนที่ตนแถลงข่าวขอลาออก โดยตนรับผิดชอบด้วยการขอย้ายออกนอกพื้นที่ เพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างเต็มที่ อย่างอิสระ ของทุกองค์กร

 

โดยการสืบพยานเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 18.00 น.

 

อนึ่ง การสืบพยานในคดีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 78 คนจากเหตุการณ์ตากใบนี้ครั้งนี้ เป็นการให้การต่อศาลครั้งแรกของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น และเป็นการสืบพยานในคดีไต่สวนการตาย ของศาลจังหวัดสงขลาครั้งแรก หลังจากศาลปัตตานีได้อนุญาตให้โอนการพิจารณามาที่ศาลสงขลา โดยก่อนหน้านี้ มีการสืบพยานนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์ที่ศาลจังหวัดนนทบุรีไปในวันที่ 3, 4, 5 และ 10 เดือนเม.ย.50 ที่ผ่านมา

 

เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 47 โดยชาวอ.ตากใบและชาวบ้านจากพื้นที่ใกล้เคียงในจ.นราธิวาส รวมกลุ่มด้านหน้าสถานีตำรวจตากใบ จ.นราธิวาส ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คนซึ่งถูกจับกุมไป เจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการปราบปรามการชุมนุมและจับกุมผู้ประท้วงไปทั้งหมด 1,300 คน มีผู้เสียชีวิตขณะเกิดเหตุ 6 ราย และ 78 รายขณะถูกเจ้าหน้าที่ขนย้ายด้วยรถบรรทุกทหาร 25 คัน จากสภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าวชาวบ้าน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท