Skip to main content
sharethis

 


 



 


 


สุรพล ธรรมร่มดี


 


การมาพบกันในการสัมมนาเรื่อง ขบวนการเพื่อความยุติธรรมของโลก: ดอกผลและหนทางข้างหน้า (The Movement for Global Justice - Balance and Perspectives) ของซูซาน จอร์ช ผู้นำสำคัญของ Attac (ฝรั่งเศส) จอห์น ฮอลโลเวย์ นักคิดผู้เสนอให้เปลี่ยนโลกโดยไม่ยึดอำนาจ และอเล็กซ์ คลานิครอส ผู้นำพรรค Socialist Worker (อังกฤษ) ทำให้ที่ประชุมที่ Mau Club เนืองแน่นไปด้วยปัญญาชน นักคิด และนักกิจกรรมเยาวชน


 


นอกจากนี้ บนเวทียังมีนักวิจัยด้านขบวนการทางสังคมจากอาเจนตินา คือ อิสซาเบล โรลเบอร์ เข้าร่วมด้วย ทำให้ประสบการณ์จากลาตินอเมริกาถูกนำเสนออย่างน่าสนใจ


 


การสัมมนาครั้งนี้ เป็นเวทีหนึ่งของ Alternative Summit จัดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน เวลา 20.00 - 22.00 น. โดยเครือข่ายองค์กรประท้วง G8 ปี 2007


 


สำหรับจอห์น ฮอลโลเวย์ นั้น หนทางข้างหน้าของขบวนการทางสังคมไม่ใช่การแตกหัก (break down) กับระบบทุนนิยม แต่เป็นการข้ามพ้น (breakthrough)


 


เขาเห็นว่า การมองการปฏิวัติสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ นำโดยขบวนการแรงงาน ภายใต้การนำของพรรคปฏิวัติเช่นในอดีต รังแต่จะผลิตซ้ำโครงสร้างแนวดิ่งที่ผู้นำครอบงำผู้ตาม นักปฏิวัติครอบงำคนงาน


 


แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาเสนอการปฏิวัติสังคมแนวใหม่ว่า เป็นการข้ามพ้น คือ การปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของขบวนการทางสังคมในแนวนอน ในกระบวนการนี้ เราต้องข้ามพ้นตัวของเราเอง ด้วยการไม่ผลิตซ้ำโครงสร้างนั้นเข้ามาอยู่ในอุปนิสัยใจคอของเรา (internalization)


 


พลังการผลิตในความหมายเดิมของแนวทางมาร์กซ์คลาสสิคคือ เทคโนโลยี่ แต่สำหรับตามแนวทางใหม่ของเขา มันคือพลังสร้างสรรค์ (power-to-do) ที่มีอยู่ในแต่ละคน ซึ่งทุนนิยมทำลายและครอบงำมันไว้ พลังเช่นนี้มีอยู่ในทุกส่วนสัดของกลุ่มต่างๆ ที่จะไม่ยอมรับคำสั่งจากระบบเบื้องบน โดยการกระเทาะระบบนี้ (crack) และสร้างสรรค์ใหม่อย่างข้ามพ้นระบบ เขาเรียกสิ่งนี้ว่า คุณค่าแท้ (dignity)


 


บนหลักการนี้ การกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ทางสังคมจะต้องมาจากการยอมรับความแตกต่างที่หลากหลายของกลุ่มทางสังคมต่างๆ ซึ่งจะแสดงออกมาจากหลายทิศทาง แล้วนำสิ่งนี้มารวมกันเป็นคุณค่าแท้เพื่อสร้างโลกใหม่ที่มีความหลากหลายดำรงอยู่


 


ส่วนซูซาน จอร์ช ภารกิจของขบวนการทางสังคมคือ ยังคงเปิดโปงธาตุแท้และปฏิเสธทุนนิยมอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่า ลึกลงไปแล้วก็คือความเห็นแก่ตัว อันเป็นสิ่งที่อดัม สมิทเชิดชู


 


การต่อสู้ที่สำคัญเป็นรูปธรรมคือ การยกเลิกหนี้สินของประเทศยากจน ปัญหาความหิวโหยขาดแคลนอาหารและปัจจัยสี่ ปัญหาโลกร้อน เป็นต้น โดยขบวนการทางสังคมต้องสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็ง แล้วกดดันให้รัฐออกกฎหมายบังคับใช้แก้ปัญหาให้ได้


 


ในกระบวนการนี้ ซูซาน จอร์ช เห็นด้วยกับฮอลโลเวย์ว่า จะต้องไม่ผลิตซ้ำโครงสร้างสั่งการจากบนลงล่างเข้ามาในขบวนการทางสังคม ประชาธิปไตยถูกทำลายทุกครั้งที่มีรัฐหรือองค์กรผูกขาดอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นต้องข้ามพ้นสิ่งนี้ไปให้ได้


 


อิสซาเบลให้แง่คิดจากประสบการณ์ของลาตินอเมริกาว่า ขบวนการทางสังคมมีความหลากหลายเกินกว่าที่จะมีพรรคการเมืองใดมาสร้างได้ และต้องแตกหักกับพรรคการเมืองที่ต้องการบงการให้เราทำตาม เพื่อคิดถึงการเมืองใหม่ แต่หากจะสร้างพรรคการเมืองก็ต้องสร้างขึ้นมาจากเบื้องล่าง


 


เธอย้ำว่า ปัญหาอำนาจเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญ ทุนนิยมสอนให้เรายอมรับคำสั่ง มันบอกว่าอำนาจอยู่ที่รัฐบาล และบรรษัทข้ามชาติ ไม่ใช่ตัวเรา ทุนนิยมยัดเยียดให้เราเชื่อ แต่เราจะเชื่อได้อย่างไร ในเมื่อเราเป็นผู้สร้างโลกนี้ และเราสามารถสร้างให้ดีกว่าเดิมกว่าที่เคยมีได้


 


ในลาตินอเมริกา เช่นที่โบลิเวีย เป็นครั้งแรกในรอบห้าร้อยปีที่ชาวพื้นเมืองได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ด้วยการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมที่หลากหลายที่มุ่งทำลายการครอบงำให้เป็นอาณานิคม เพราะมันเป็นโครงสร้างครอบงำของกลุ่มผู้นำ ซึ่งทำลายประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน


 


สุดท้าย อเล็กซ์ คลานิครอส เริ่มต้นด้วยความชื่นชมต่อความสำเร็จในการปิดกั้นถนนประท้วง G8 และกล่าวถึงผลงานที่กลุ่มของตนได้ร่วมสร้างขบวนการต่อต้านสงครามในอิรักที่ชื่อ REPECT ในอังกฤษ และระบุสถานการณ์ที่โน้มนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ควบคุมพื้นที่ได้เพียงหนึ่งในสามของเมืองแบกแดด เขายังเชิญชวนให้ชาวเยอรมันร่วมกันสร้างขบวนการต่อต้านสงครามเพื่อรณรงค์ต่อต้านไม่ให้รัฐบาลเยอรมันส่งทหารไปอีรักอีกในวันที่ 15 กันยายนนี้


 


เขายังประเมินขบวนการทางสังคมว่า ยังไม่เข้มแข็ง แม้ว่าจะมีปฏิบัติการของมวลชน มีประชาธิปไตยเปิดกว้างในขบวนการที่หลากหลาย แต่ที่ยังขาดคือโครงการต่อสู้ทางการเมืองร่วมกันเพื่อโค่นอำนาจรัฐ นั่นคือ ต้องมีเค้าโครงการ (Programe) และสร้างองค์กรของตนเอง (self organization) ที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อบรรลุเป้าหมาย ประสบการณ์ในลาตินอเมริกาบอกว่า อำนาจรัฐกำลังถูกกดดันอย่างหนักโดยขบวนการทางสังคม เช่นในโบลิเวียและเวเนซูเอล่า ดังนั้น ความคิดของฮอลโลเวย์จึงผิดพลาด ที่ไม่มุ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมไปที่อำนาจรัฐ


 


ถึงตรงนี้ ฮอลโลเวย์แลกเปลี่ยนกับคลานิครอสว่า เราต้องก้าวกระโดดทางการเมืองให้ได้ โดยสมมุติให้คลานิครอสเป็นคณะกรรมการกลาง (Central Committee) ของทุกคนในที่ประชุมนี้ และกำหนดให้มีเค้าโครงการและลงมติเห็นชอบ จากนั้นก็กำหนดการแถลงข่าวและเคลื่อนไหว


 


ถ้าดำเนินการเช่นนี้ ทุกคนย่อมรู้สึกว่า นี่เป็นพฤติกรรมสั่งการจากเบื้องบนแบบเดียวกับอำนาจรัฐ หรือระบบทุนนิยมทำ ถ้าทุกคนเบื่อกับสิ่งนี้แล้วกลับบ้านไปก็ไม่เป็นไร เพราะมีคณะกรรมการกลางอยู่ที่นี่ คอยทำงานแทนทุกคนอยู่แล้ว แต่เรามีทางเลือกที่ดีกว่านั้นคือ เราจะร่วมกำหนดและรับผิดชอบร่วมกัน แทนที่จะให้คณะกรรมการกลางมาตัดสินแทนเรา


 


ฮอลโลเวย์ยังย้ำต่อไปอีกว่า อย่าเล่นกับเกมของอำนาจ ที่โบลิเวียดูเหมือนดีมากที่ได้ประธานาธิบดีที่มาจากขบวนการทางสังคม แต่แล้วพวกเขาก็กลับบ้านปล่อยให้ประธานาธิบดีทำงานแทนเรา นี่คือการบั่นทอนการเคลื่อนไหวของมวลชนลงไปอย่างน่าเสียดาย ตรงกันข้ามกับกรณีของซาปาติสต้า พวกเขาไม่ได้สร้างอำนาจรัฐขึ้นมา แต่เป็นการจัดตั้งตนเองจากข้างล่างโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม และเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ใช่ให้ใครมาสั่งการ


 


คลานิครอสตอบโต้ว่า เห็นด้วยกับฮอลโลเวย์ที่ว่า เราไม่ควรเล่นกับเกมของอำนาจ และตัวเขาเองก็มีประสบการณ์กับองค์กรของตนที่มีความเป็นประชาธิปไตย ทางออกต่อเรื่องนี้มีอยู่ แต่ที่ฮอลโลเวย์เลี่ยงความเป็นจริงก็คือ คิดว่าการต่อสู้โดยทำกิจกรรมจากเบื้องล่าง แล้วจะข้ามพ้นทุนนิยม ทว่าทุนนิยมเป็นระบบโลกที่แทรกซึมกระทบไปทุกส่วนของสังคม และเราต้องเผชิญกับเรื่องอำนาจแน่นอน เพียงแต่หลักประกันที่สำคัญคือ เราต้องมีองค์กรของตนเองที่เข้มแข็ง ที่ต่อต้านโครงสร้างแบบกำหนดมาจากเบื้องบน งานนี้มีความท้าทายและยากลำบาก ต้องเอาชนะให้ได้ จากประสบการณ์ของเขาในขบวนการ ทำให้เขามั่นใจว่า ยังเห็นความต่อเนื่องในการต่อสู้เพื่อสิ่งนี้อยู่


 


แม้ความเห็นต่อทางออกของขบวนการทางสังคมจะยังคงแตกต่างกัน แต่เราจะพบได้ว่า การต่อสู้เพื่อโลกใหม่ในศตวรรษที่ 21 นี้น่าจะดีกว่าที่แล้วมา เพราะผู้คนในขบวนให้ความสนใจต่อบทเรียนการปฏิวัติ ที่สำคัญยิ่งนั่นคือ ปัญหาโครงสร้าง ผู้นำ ผู้ตาม และการบงการจากเบื้องบน คำตอบยังคงวนเวียนอยู่ที่ความเข้มแข็งของขบวนการทางสังคม แต่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งได้อย่างไร ควรเป็นคำถามที่รอการทดลองที่หลากหลาย ของนักต่อสู้ในทุกมุมโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net