ขอยั้ง กม.ภาพยนตร์ อำนาจรัฐล้น ไม่เคารพราษฎร

ประชาไท - 13 มิ.ย. 50 เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ร่อนหนังสือถึงนายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้รัฐบาลทบทวนพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ....

 

จากที่รัฐบาลจัดทำร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.. …. เพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.. 2473 ซึ่งร่างดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และอยู่ระหว่างรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อนำเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น

 

เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ซึ่งนำโดย ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ระบุข้อเรียกร้องลงในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่า แม้ในกระบวนการต่างกฎหมายภาพยนตร์ ทางเครือข่ายอาจเคยได้รับเชิญจากคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายเพื่อให้ร่างพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเรียกร้องต้องการของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ แต่ปรากฏว่า เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมรับฟังความเห็นแล้ว ปรากฏว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เคยให้ทางเครือข่ายได้เห็นผลสรุปที่ออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเลย

 

จนเมื่อร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.. …. ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปถึงคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงเพิ่งพบว่าเนื้อหาในร่างพรบ.มิได้เป็นไปในทางที่สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ของเครือข่ายที่ได้ร่วมให้ความคิดเห็นไว้ ร่างพรบ.ฉบับใหม่นี้มิได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของสังคมและเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์

 

"แทนที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าฉบับเดิม กลับจะยิ่งมีข้อเสียกว่าเดิม โดยเฉพาะฉบับใหม่นี้ ปรากฏว่ามีเจตนาที่จะให้อำนาจรัฐควบคุมมากกว่าที่จะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม อันจะเห็นได้จากจำนวนสัดส่วนของกรรมการในคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐเกือบทั้งหมด ซึ่งนี้แสดงว่า กลไกของรัฐไม่จริงใจในการรับฟังความคิดเห็นของราษฎร และไม่เคารพความเห็นของราษฎร" ความในจดหมายระบุเอาไว้

 

เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์เรียกร้องว่า ในร่างพรบ.นี้มีข้อกำหนดหลายประเด็นที่แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่แท้จริงได้ ซึ่งนอกจากร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ จะไม่เป็นไปในทางสร้างสรรค์แล้ว หากมีการบังคับใช้ จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดข้องใจและความขัดแย้งมากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรี ยังยั้งการส่งร่างพรบ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้ทบทวนแก้ไขอีกครั้ง และเมื่อปรับแก้แล้ว ควรให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญหรือให้โอกาสเข้าไปแสดงความคิดเห็น มีโอกาสลงมติยอมรับร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์นั้นเสียก่อน

 

ทั้งนี้ เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มูลนิธิหนังไทยฯ ในพระอุปภัมป์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ สมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ คณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาทางสาขาภาพยนตร์ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ กลุ่มเยาวชนรักประชาธิปไตย เทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงเทพฯ กลุ่มไทยอินดี้ กลุ่มฟิล์มไวรัส ชมรมหนังสั้นแห่งประเทศไทย กลุ่มละครมะขามป้อม กลุ่มบี-ฟลอร์เธียเตอร์ นิตยสารไบโอสโคป วารสารปาจารยสาร และนิตยสาร CMYK

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท