Skip to main content
sharethis

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์  ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)


 


Shukur2003@yahoo.co.uk


 


 


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


 


เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่เขาจะลาออก เพราะไม่พอใจที่กระทรวงมหาดไทยไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน


 


เหตุผลของกระทรวงมหาดไทยนั้นไม่เห็นด้วยในเรื่องของอำนาจ เพราะเกรงจะไปซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำให้หวั่นเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งกัน เมื่อมีองค์กรอื่นเข้ามาแทรกแซงระบบของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะเกิดปัญหาว่าหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะขึ้นกับใคร ใครจะเป็นผู้บริหาร และถ้าหากมีความขัดแย้งขึ้นระหว่างองค์กรต่อองค์กรซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ใครจะเป็นคนตัดสิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นกฎหมายขึ้นมาแล้ว ผู้ว่าราชการก็ไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวประการใด


 


ผู้เขียนมีทัศนะว่าสภาผู้นำชุมชน ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอนั้น น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในแก้ปัญหาชุมชนชายแดนใต้


 


เป็นที่ทราบว่า หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นโยบายด้านสังคมเรื่องแรกคือ การปฏิรูปสังคมสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขอย่างสมานฉันท์ ซึ่งได้แปรมาเป็นยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการอยู่ คือ ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรม


 


จะเห็นได้ว่าสังคมเข้มแข็งมาจากฐานรากที่สำคัญคือ ชุมชุนท้องถิ่น ซึ่งเครื่องมือสำคัญของชุมชนท้องถิ่นคือองค์กรชุมชนที่ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย ขณะนี้มีอยู่หลายร้อยแห่งทั่วชายแดนใต้ ในแต่ละตำบล ในเขตเทศบาลจะรวมตัวกันเอง ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงเห็นว่าถ้ามีกฎหมายรองรับ และเรียกตัวเองว่า "สภาองค์กรชุมชน" มีตัวแทนจากชุมชนต่างๆ มารวมตัวกันเป็นสภา จะได้เป็นที่ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น และร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำให้ท้องถิ่นมีความเข็มแข็งเป็น 3 ขา และมีความสมดุลคือ ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาองค์กรชุมชน


 


เมื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน จะพบว่าไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เป็นเพียงสภาที่ปรึกษาหารือกันเอง หรือภาษามลายูถิ่นชายแดนใต้เรียกว่าสภาชูรอซึ่งมีข้อดี (1) มากมายและชุมชนดำเนินเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้วอีกทั้งยังสอดคล้องกับศาสนาที่เป็นวิถีชุมชนชายแดนใต้


 


ดังที่พระเจ้าได้โองการความว่า "เจ้าจงปรึกษาแก่พวกเขาในกิจการ ดังนั้นเมื่อเจ้าตั้งใจแน่วแน่แล้ว ก็จงมอบหมายกับอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักผู้มอบหมาย" อาละอิมรอน 259 และศาสดามุฮัมมัดวัจนะความว่า "ไม่มีใครที่จะปรึกษากับสาวกของเขามากกว่าท่านศาสดา บันทึกโดยอิม่ามติรมีซีย์"


 


ในอดีตจะพบว่าการพัฒนาชายแดนใต้ที่มาจากรัฐ สภาพัฒนาเศรษฐกิจฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมาจากข้างนอกทั้งสิ้น คนในรับรู้เพียงน้อยนิด นโยบายจากส่วนกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้ดังกล่าวได้ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างคน 2 กลุ่ม 2 สังคม คือสังคมใหญ่กับสังคมย่อย สังคมใหญ่เป็นสังคมมหาชนที่มีรัฐเป็นองค์กรใหญ่กับสังคมท้องถิ่นที่เป็นสังคมเล็กๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด (2) เช่น การพัฒนาของภาครัฐเพื่อตอบสนองตลาดการพาณิชย์ได้ทำให้ระบบนิเวศน์อ่าวปัตตานีและนิเวศน์ชายฝั่งมีปัญหา เรื่อง ซีฟู้ดแบงค์ (Sea Food Bank) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่อยากเปลี่ยนแปลงอ่าวปัตตานี เป็นความคิดที่อยากให้มีความทันสมัยระดับโลก ปัญหาพรุลานควาย การสัมปทานพื้นที่ป่าให้กับนายทุนและอื่นๆ อีกมากมาย


 


อาจจะมีผู้แย้งว่าปัจจุบันมีการเลือกตั้งท้องถิ่น มีการพัฒนาชุมชนจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่มาจากฐานอำนาจทางการเมืองภายในชุมชนเองอยู่แล้ว


 


ใช่...เป็นที่ทราบดีว่าปัจจุบันไทยแบ่งการปกครองออกเป็นสามระดับ คือ ท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง แต่ความเป็นจริงท้องถิ่นเป็นเพียงฝ่ายปฏิบัติตาม และรอรับการอุปถัมภ์จากส่วนกลางเท่านั้น การปฏิรูปการเมืองในอนาคต ต้องปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อตัดวงจรอุบาทว์แบบเก่าๆ ยกตัวอย่าง อบต.ทุกวันนี้ก็ถูกตีกรอบการทำงานจากอำเภอ ถูกควบคุมด้านระเบียบการบริหารส่วนกลางโดยปลัด อบต.เป็นต้น


 


จุดสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจะให้ท้องถิ่นมีอิสระ มีความหลายหลากสามารถบริหารจัดการตนเองอย่างเหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ได้ วิธีคิดแบบเลือกตั้งครอบงำชุมชนมาโดยตลอด ทั้งที่อดีตหากพบว่าบุคคลที่มีคุณธรรมความดีก็จะเชิญมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน และให้การอุปถัมภ์ผู้นั้น เราต้องช่วยกันออกแบบชุมชนต้องฟื้นฟูวัฒนธรรมปรึกษาหารือ


 


ใช่...นับจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ได้นำไปสู่ผลักดันแนวคิดการกระจายการปกครองแก่ท้องถิ่น จนปรากฏเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นทำพลาดไปคือ การไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมออกแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่กลับโยนให้รัฐเป็นฝ่ายคิดค้นออกแบบ ดังนั้นภาครัฐจึงนำรูปแบบการบริหารและโครงสร้างแบบเดิม ที่กำกับจากส่วนกลาง จังหวัด และอำเภอมาใช้ ผ่านกฎหมายอบต. และพ.ร.บ.การกระจายอำนาจ ซึ่งหากมองเส้นทางของกฎหมายในการออกแบบชุมชนท้องถิ่นกว่า 9 ปีที่ผ่านมา การเกิดอบต.ทั่วประเทศก็คือการครอบงำชุมชนท้องถิ่นอย่างเบ็ดเสร็จ


 


ที่ร้ายกว่านั้นมีการใช้กลไกการเมืองระดับบน ผ่านหัวคะแนนต่างๆ เชื่อว่าในยุคต้นสมาชิกอบต.กว่าร้อยละ 80 เป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองควบคู่กับการใช้อำนาจการปกครองท้องถิ่นกำกับ และกฎหมายดีๆ ที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นหลายฉบับก็ไม่ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.กระจายอำนาจ กำหนดให้โอนภารกิจกว่า 250 ให้อบต.ทั้งหมดภายในปี 2550


 


แม้จะมีแนวคิดในการส่งเสริมท้องถิ่น ด้วยการมีปลัดอบต. หัวหน้าฝ่ายการคลัง และฝ่ายโยธา แต่ในทางปฏิบัติแทนที่จะเป็นการเพิ่มความเข้มแข็ง กลับเป็นการเพิ่มกลไกกำกับดูแลจากระเบียบของส่วนกลางทำให้ อบต.ขยับตัวหรือทำงานยากขึ้น หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้ทุนและนักการเมืองเข้ามาเบียดบังเอาทรัพยากรฯ ของท้องถิ่นไป ซึ่งความเดือดร้อนดังกล่าวเกิดขึ้นกับชาวบ้านทั่วประเทศโดยเฉพาะชายแดนใต้


 


ดังที่นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกอบต.แม่ทา อ.แม่ทา จ.เชียงใหม่ได้กล่าวไว้ในเวทีสัมมนาชุมชนท้องถิ่นกับการปฏิรูปการเมืองและสังคม ณ บ้านธารแก้ว จ.เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2548


 


นายกนกศักดิ์ ยังกล่าวต่อไปว่า ในปี 2547 เมื่อตนได้อาสาเข้าไปเป็นนายก อบต.แม่ทา โจทย์สำคัญลำดับแรกที่เริ่มเข้าไปหาคำตอบคือ ทำอย่างไรที่จะให้ชาวบ้าน องค์กรชาวบ้าน และองค์กรปกครองท้องถิ่นทำงานอย่างสอดประสานกัน และสลับบทบาทกันเป็นผู้นำและตาม เมื่อทดลองมาระยะหนึ่งจึงพบว่าการทำงานสามารถได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 1.ฟื้นองค์กรชาวบ้านที่มีความเข้มแข็ง และผู้นำตามธรรมชาติ ให้กลับมาทำงานอย่างมีกำลังใจเหมือนเดิม  2.ส่งเสริมให้ผู้บริหารอาทิ ปลัดอบต.หัวหน้าส่วนการคลัง และหัวหน้าส่วนโยธาฯ มีความเข้าใจแนวคิด และการทำงานกับชาวบ้าน


 


"ยกตัวอย่าง การจัดการทรัพยากรซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งของ อบต.ที่ไม่มีศักยภาพจะขับเคลื่อนเพียงลำพัง จึงได้ประสานไปยังเครือข่ายทรัพยากรฯ เครือข่ายเกษตรยั่งยืน สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ อบต.และองค์กรชาวบ้าน โดย อบต.มีบทบาทเป็นผู้หนุนเสริม นอกจากนี้บรรยากาศการทำงานใน อบต.ก็มีการเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่พยายามปรับตัวเข้าหาชาวบ้าน เกิดการเรียนรู้ และมีการแบ่งงาน คือทำงานหลักร้อยละ 60 อีก ร้อยละ 40 ทำงานร่วมกับชาวบ้าน มีการบริการถ่ายเอกสารฟรี พิมพ์ซองผ้าป่าฟรี ทำให้เจ้าหน้าที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน"


 


การทำงานกับปลัด อบต.และเจ้าหน้าที่ส่วนโยธาก็ดีขึ้นตามลำดับ มีการพูดคุย ปรับเข้าหากันและหาทางออกที่ดีที่สุด ด้านการทำงบประมาณก็มีคณะกรรมการระดับตำบลทั้งตัวแทนองค์กรชาวบ้าน สภาอบต. มาร่วมตั้งงบประมาณด้วยกัน ซึ่งเห็นได้ว่าองค์การชาวบ้านมีความพร้อม และมีความตื่นตัวในการทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกัน


 


ทั้งนี้ การสัมมนาได้หยิบยก ร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างปรับปรุงแก้ไขขึ้นมาแลกเปลี่ยนอีกด้วย ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีหลักคิดที่ต้องการเปลี่ยนจาก 1.) การรวมศูนย์อำนาจแบบบนลงล่างมาสู่การกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นให้สามารถจัดการตนเองได้อย่างบูรณาการบนวิถีพอเพียง 2.) ให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจการกำหนดทิศทางการพัฒนาและการจัดการตนเอง ซึ่งมีความหลายรูปแบบ และระดับที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ทุนทางสังคม ไม่ใช่แบบเดียวกันทั้งประเทศ 3.) จากภายนอกจัดการชุมชนสู่การเปิดพื้นที่โอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปกครองทุกระดับ ดูแลจัดการตนเองอย่างบูรณาการเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง/สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน


 


การจัดตั้งให้เกิดสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติ โดยจะมีบทบาท


1.) วิเคราะห์และกำหนดนโยบายทิศทางแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาระดับชาติ


2.) ให้ความเห็นต่อนโยบาย กฎหมาย แผนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อวิถีชีวิต


3.) ปกป้องคุ้มครอง สร้างเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิการทำมาหากิน สิทธิการศึกษา และศาสนาวัฒนธรรม สิทธิจัดการกองทุนและสวัสดิการที่เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละองค์กรท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและสังคมทุกระดับ


4.) ติดตามตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐทุกระดับ เรียกดูข้อมูล กลั่นกรอง ทบทวน ยับยั้ง ยกเลิก จัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อความโปร่งใส และธรรมาภิบาล เพื่อแก้ปัญหา หรือเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน หรือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยให้ผ่านกระบวนการลงประชามติในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับชาติ


5.) รับรององค์กรชุมชน โครงการ แผนงาน และนโยบายขององค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน


6.) สนับสนุน ส่งเสริมการจัดเวทีเรียนรู้ การวิเคราะห์และการจัดทำแผนของกลุ่มต่างๆ ในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล เวทีเครือข่ายระดับจังหวัดและระดับชาติ


7.) เลือกคระกรรมการ แต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะทำงานตามความจำเป็น และ


8.) จัดเวทีสมัชชาและนำเสนอผลการทำงานต่อสาธารณะตามที่สภาฯมีมติเห็นชอบ


 


ทั้งนี้ วิธีการได้มาของสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นทั้ง 3 ระดับจะใช้กระบวนการสรรหาและลงประชามติโดยเสียงส่วนใหญ่ในชุมชน เนื่องการการเลือกตั้งทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากนักการเมืองและผู้มีอิทธิผล และเพื่อให้ได้คนดีมีคุณธรรม โดยสมาชิกสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นมีวาระการทำงาน 3 ปี เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน คุณสมบัติของสมาชิก ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา แต่ต้องเป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีคุณธรรม จริยธรรมที่ดี และได้รับการยอมรับจากชุมชน ไม่สังกัด หรือเป็นสมาชิก และไม่เกี่ยวข้องในพรรคการเมือง รวมถึงไม่เป็น สส. หรือ สว.และมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ตำบลไม่น้อยกว่า 1 ปี


 


ในชายแดนภาคใต้ ก็มีตัวอย่างให้เห็นถึงสภาที่ปรึกษาชุมชนเช่นกันเช่นชุมชนบ้านตาแปด อ.เทพา จ.สงขลา ได้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาชุมชน (ชูรอ) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นการลดภาระให้กับรัฐได้มาก


 


วิธีการอย่างหนึ่ง คือการการสร้างเวทีการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหา ภายในกรอบของศีลธรรม จริยธรรม ย่อมมีส่วนสร้างสังคมให้สันติสุข


 


เริ่มด้วยการเรียกโต๊ะอิหม่าม (ผู้นำศาสนาในชุมชนมุสลิม) ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ของบ้านตาแปด และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มาคุยกันว่า ในหมู่บ้านมีปัญหาอะไรบ้าง จึงทราบว่าเป็นหมู่บ้านที่ล้าหลังที่สุดในตำบลตาแปด ที่ผ่านมาแต่ละคนต่างคนต่างอยู่ การบริหารจัดการไม่เป็นระบบ ผู้นำในหมู่บ้านไม่สามัคคี 


 


จึงเสนอไปว่าจะทำอย่างไรที่จะให้กลายเป็นหมู่บ้านที่เจริญที่สุดในตำบล อะไรบ้างที่ต้องพัฒนาด่วนที่สุด มีการเสนอว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้นำแต่ละฝ่ายมาร่วมกันแก้ปัญหา ในวงปรึกษาหารือ จึงได้เสนอ ให้จัดตั้งระบบสภาที่ปรึกษาชุมชน (ชูรอ) โดยตกลงจะเรียกประชุมใหญ่ของหมู่บ้าน นั่นคือ โดยใช้รูปแบบสภาที่ปรึกษาชุมชน (ชูรอ) เป็นครั้งแรก


 


ในที่ประชุมได้ลงมติเน้น 4 ประเด็นที่จะต้องมีการพัฒนา คือ เรื่องการประกอบศาสนกิจของคนในหมู่บ้าน การศึกษา เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการชุมชน ครั้งนั้นที่ประชุมเลือกจะพัฒนาด้านการศึกษาเป็นอันดับแรก แต่ในเมือมาพิจารณากันใหม่พบว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาก่อนคือ การบริหารจัดการชุมชน จากนั้นจึงให้ชาวบ้านเสนอว่าอะไรที่ต้องบริหารจัดการก่อน นั่นคือการมาจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของหมู่บ้าน เพราะทำให้ชาวบ้านเห็นปัญหาของหมู่บ้าน


 


วันแรกของการประชุมสภาที่ปรึกษาชุมชน(ชูรอ) ก็มีการท้าทายเกิดขึ้น เมื่อมีคนขโมยวัวของชาวบ้าน ทำให้โต๊ะอิหม่าม รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านคิดว่า นี่คือปัญหาที่ทุกคนจะต้องร่วมกันแก้ไขและถือว่าเป็นปัญหาของตัวเองด้วย


 


สภาที่ปรึกษาชุมชน (ชูรอ) ของบ้านตาแปดจะมีขึ้นเดือนละครั้ง จะเรียกทุกคนในหมู่บ้านมาประชุม แล้วให้เสนอว่าในรอบเดือนที่ผ่านมามีปัญหาอะไรในชุมชนบ้าง แล้วก็มาวิเคราะห์แล้วจัดลำดับว่า เรื่องใดสำคัญที่สุด จึงมาหาแนวทางแก้ไข ในการประชุมจะไม่กำหนดว่าให้ใครเป็นประธานในที่ประชุม แต่จะใช้รูปแบบเสวนา จากนั้นก็หาเจ้าภาพรับผิดชอบแต่ละเรื่อง จากนั้นก็จะเอาผลการประชุมไปเสนอให้ อบต.รับทราบ สิ่งที่ได้คือ ชาวบ้านมีความรู้มากขึ้น การบริหารจัดการปัญหาชุมชนเป็นระบบมากขึ้น


 


ในการประชุมครั้งแรก ชาวบ้านเห็นว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนก่อน คือคณะกรรมการมัสยิด จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนตัวบุคคลให้เหมาะสมมากขึ้น เกิดการผสมผสานกันระหว่างกรรมการชุดเก่า กับคนใหม่ จากนั้นการบริหารมัสยิดจึงเป็นระบบมากขึ้น เมื่อชาวบ้านเห็นว่าการบริหารมัสยิดเป็นระบบมากขึ้น ชาวบ้านก็จะเชื่อถือหันมาให้ความร่วมมือมากขึ้น


 


ผลที่ได้คือ เดิมจะไม่ค่อยสนใจปัญหาในชุมชนมากนัก แต่เดี๋ยวนี้จะช่วยกันเฝ้าระวังมากขึ้น ช่วยกันสังเกตว่ามีอะไรที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นบ้าง ผู้ปกครองรวมทั้งเยาวชนมีความต้องการทางด้านการศึกษามากขึ้นเพราะเห็นอนาคตของการศึกษา ส่วนในชุมชนรอบข้าง ก็มีความสนใจจะเข้ามาเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านได้เชิญเข้ามาประชุมด้วยทุกครั้ง เพื่อต้องการขยายแนวคิดนี้ออกไป ซึ่งก็ได้ผลเพราะมีคนมาเรียนรู้มากขึ้น


 


ขอโต้แย้งต่อทัศนะซึ่งมองว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเกิดความขัดแย้งกับสภาที่ปรึกษาชุมชนนั่นขึ้นอยู่กับกระบวนการจัดการประชุมและการลงมติ  ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับสภาที่ปรึกษาชุมชนและใช้กระบวนการปรึกษาหารือในการพัฒนาชุมชนก็จะทำให้การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนและได้รับฉันทานุมัติจากชาวบ้าน


 


ผู้เขียนมีกรณีศึกษาจากบ้านตะโละ จ.นราธิวาสซึ่งมีการร่วมมือกันระหว่างสภาประชาชนกับสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายสะมะแอ สะมะแอ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตะโละ ได้เล่าในวงสัมมนากระบวนทัศน์อิสลามกับการพัฒนา (จัดโดยโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ : ดับบ้านดับเมือง ในงานมหกรรมสันติวิธี ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ) ว่าเขาเข้ามาเป็นประธานสภาเมื่อเดือนกันยายน 2548 ได้นำรูปแบบการปรึกษาหารือ เข้าไปใช้ในการประชุมสภา อบต. รู้สึกว่าใช้ได้ผลมาก


 


วันแรกของการประชุมสภา ได้เชิญผู้นำสภาทีปรึกษาชุมชนเชิญคือผู้นำศาสนามาร่วมประชุมด้วย เพื่อมาอธิบายว่า ระบบปรึกษาหารือ (ชูรอ) หมายถึงอะไร มีรูปแบบวิธีการอย่างไร ซึ่งที่ตำบลตะโละ จะมี อบต.ที่เป็นคนไทยพุทธอยู่ด้วย 6 คน วันแรกเราให้ผู้นำศาสนาไปอธิบายให้เขาถึง 3 ชั่วโมง เพื่อให้เขาเข้าใจ พอเข้าใจแล้วจึงมาประชุมด้วยกัน ซึ่งก็ไม่มีใครคัดค้าน แต่กลับเห็นด้วยว่าใช้ได้ผลมาก ในการประชุมเราจะเน้นเรื่องความสามัคคี จะไม่ใช้อารมณ์ ถ้ามีการใช้อารมณ์ ก็จะเอาหลักธรรมศาสนามาดูว่าเรื่องนี้ศาสนธรรมว่าอย่างไร ถ้ามีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ก็จะเอาศาสนธรรมเป็นตัวตั้ง ซึ่งทุกคนก็ยอมรับ เลยทำให้บรรยากาศการประชุมดีขึ้นด้วย


 


การประชุมทุกครั้ง จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับวาระการประชุม คนอื่นก็สามารถเข้ามาร่วมประชุได้ด้วย เมื่อเข้ามาแล้ว จะถือว่าทุกคนเหมือนกันหมด ไม่ว่าใครจะเป็น อบต. โต๊ะอิหม่าม กำนัน ผู้ใหญ่ ถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน


 


ถ้าจะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ 1.) ต้องไม่ขัดกับหลักศาสนธรรม 2.) มีประโยชน์ต่อส่วนรวม และ 3.) เคารพความเห็นของผู้เข้าประชุม


 


ที่ประชุมจะไม่มีประธานในที่ประชุม แต่จะใช้รูปแบบการเสวนา จากนั้นก็จะหาเจ้าภาพ ว่าใครจะจัดการเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะไม่มีวิธีการโหวต หรือยกมือให้คะแนน ถ้ามีเรื่องที่จะต้องตัดสินใจก็จะยึดหลัก 3 ข้อดังกล่าว จะเน้นการอธิบายว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อส่วนร่วมอย่างไร แต่ก็จะให้ยกมือสนับสนุนด้วย


 


ดังนั้นในภาวะที่ประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ยังไม่มั่นใจในการพัฒนาและกระบวนการยุติธรรมของรัฐ รัฐและครม.ควรรีบรับข้อเสนอของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เกี่ยวกับพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน


 


สำหรับผู้เขียนขอเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับพ.ร.บ.นี้ควรมีการส่งเสริมบทบาทของประชาสังคมในกระบวนการยุติธรรม


 


การส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรมทางสังคม และสิทธิมนุษยชนเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติที่ยั่งยืนอันเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น สามารถวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวได้ เพื่อสร้างทางเลือกในการเข้าถึงความยุติธรรมด้วยวิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับบริบทสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น การเคลื่อนไหวของประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จึงเป็นพลังเชิงสร้างสรรค์และเป็นกิจกรรมที่รัฐควรการสนับสนุน ซึ่งในสถานการณ์ร่วมของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็สามารถนำยุทธศาสตร์บางประการมาปรับใช้เฉพาะกิจได้เช่นกัน


 


แนวทางการดำเนินการ


- กระตุ้นและผลักดันให้ภาคประชาสังคมจัดตั้ง "หน่วยพิทักษ์ยุติธรรม" ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน ที่มีความสนใจเพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ติดตาม ตรวจสอบ เสนอแนะการดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม อันเป็นการลดเงื่อนไขที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม


 


- เร่งสนับสนุนการใช้กลไกภาคประชาสังคมที่มีอยู่ เช่น กก.ตร.สภอ.ให้ทำหน้าที่ส่งเสริม หรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามหลักนิติธรรม


 


- ให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคมในเรื่องของคุตบะฮวันศุกร์ (การเทศนาธรรมประจำสัปดาห์โดยอิหม่าม การเทศนาวันพระ) มาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมและการกระทำผิดในชุมชน


 


- ควรมีการดูแลเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากอาจส่งผลต่อปัญหาสังคมระยะยาวตามมา


 


- ประสานความร่วมมือและบูรณาการกำหนดยุทธศาสตร์การข้าถึงเยาวชน องค์การนิสิตนักศึกษาใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาการถูกชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย และเปิดพื้นที่ให้เยาวชนและนิสิต นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมฐานะ "ยุวชนและนิสิต นักศึกษายุติธรรม"


 


- สื่อมวลชนร่วมแสดงบทบาทเชิงรุก ด้วยการให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดรายการโทรทัศน์และวิทยุ ที่สอดคล้องกับความต้องการบริโภคของชุมชนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


- ผลักดันให้ภาควิชาการผลิตและขับเคลื่อนองค์ความรู้ การพัฒนากระบวนการยุติธรรมโดยวิธีวิจัยต่างๆทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ



 


 


(1)    "สภาชูรอ" ที่ชายแดนใต้: ศีลธรรมกับการมีส่วนร่วม.


(2)    เฮาะออแรฆามา พื้นที่สาธารณะที่ถูกเหยียบย่ำ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net