Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 



 


ภฤศ ปฐมทัศน์


 


            "ในโลกนี้มีคนอยู่สองจำพวก พวกที่เรียกว่าเป็นผู้ชนะ กับ พวกที่เรียกได้ว่าเป็นผู้แพ้ โอเค แล้วเธอก็รู้ว่าคนสองจำพวกนี้ต่างกันอย่างไร....ต่างกันตรงที่ ผู้ชนะ จะไม่มีวันยอมแพ้"


 


คำพูดดาดๆ หาได้ตามหนังสือเสริมกำลังใจหรือจิตวิทยาประยุกต์ทั่วๆ ไปนี้ เป็นประโยคที่ออกมาจากปากของ "ริชาร์ด" คุณพ่อนักเขียนหนังสือแนวจิตวิทยาประยุกต์ (และประโยคประมาณนี้จะถูกย้ำในหนังอีกเป็นร้อยๆ รอบ)


 


เบื้องหลังของเขานั้นเป็นครอบครัวเจ้าปัญหา ประกอบด้วยคุณปู่สุดเฮ้วและสุดกวน พูดจาโผงผางเต็มไปด้วยคำสบถไม่เกรงใจใคร ทั้งยังแอบเสพยาเป็นครั้งคราว แล้วคุณปู่คนนี้เองก็เป็นครูฝึกร้องเล่นเต้นรำ ให้กับ "โอลีฟ" หลานสาวอายุเจ็ดขวบผู้ที่กำลังเตรียมตัวจะไปแข่งการประกวดเทพีเด็ก "ตะวันส่องฉาย" Little Miss Sunshine


 


ครอบครัวนี้ยังประกอบด้วย "ดเวย์น" เด็กหนุ่มวัยรุ่นผู้ชมชอบนิชเช่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน...เขาไม่ยอมพูดอะไรเลยกับคนในครอบครัว (แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็จะเขียนกระดาษโน๊ตบอกเอา) มักแสดงความเบื่อหน่ายเมื่อเห็นว่าครอบครัวเริ่มวุ่นวาย แต่ดเวย์นก็ยังมีความฝัน ความฝันที่เขายึดติดและมุ่งไปหามันอย่างแน่วแน่ คือการเข้าโรงเรียนการบินเพื่อที่จะเป็นนักบินให้ได้


 


และมีคุณแม่หน้าตายุ่งๆ ที่ต้องจัดการความวุ่นวายต่างๆ ในครอบครัว จนเธอต้องระบายออกด้วยการแอบสูบบุหรี่โดยไม่ให้ริชาร์ดรู้อยู่บ่อยๆ (ถ้าสังเกตดูดีๆ ในบางฉากที่เธออยู่ในความวิตกกังวล เธอก็ยังจะทำมือเหมือนคีบบุหรี่อยู่โดยที่ไม่ได้มีอะไรในมือเลย)


 


ตามด้วยน้าชายชื่อ "แฟรงค์" อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ผิดหวังในรักกับเด็กหนุ่มลูกศิษย์ ซ้ำยังผิดหวังในหน้าที่การงานจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า เคยพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ นอกจากนี้ยังโดนริชาร์ดพี่เขยของเขามองเหยียดๆ ว่าเป็น "ผู้แพ้" อีกต่างหาก


 


และทุกคนที่ว่ามานี้ จำต้องเดินทางร่วมกันในรถตู้โฟล์คบุโรทั่งอาการน่าเป็นห่วง ข้ามผ่านรัฐระยะทางไกลเพียงเพื่อที่จะส่งหนูโอลีฟไปให้ถึงงานประกวด


 



 


ตัวหนังกว่าค่อนเรื่องจึงเป็นฉากการเดินทางท่ามกลางแสงตะวันส่องฉาย แต่เส้นทางของพวกเขาก็เช่นเดียวกับเส้นทางของมนุษย์เราทั่วไป...


 


มันเต็มไปด้วยอุปสรรค มีความขัดแย้ง มีความผิดพลาด บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดา และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย


 


แต่ครอบครัวอลหม่านนี้ก็ค่อยๆ ปรับตัวเรียนรู้กันและกันไปทีละน้อย อาจจะไม่ถึงขั้นเข้าใจกันในระดับอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขชั่วกาลนาน ถึงกระนั้นเราจะได้เห็นว่าบุคลิกที่ดูจะขัดแย้งกันของหลายๆ คนในที่นี้ ไม่ใช่ปัญหาในการที่จะยอมรับ เข้าใจกันและกันเลย


 


แฟรงค์ผู้เป็นโรคซึมเศร้าเริ่มเข้ากับดเวย์นผู้เงียบงันได้ และยังทำให้เขาพูดเปิดใจกันในตอนท้ายเรื่อง ดเวย์นเองที่ดูเหมือนจะเบื่อหน่ายกับครอบครัวตัวเองก็เผยอีกด้านหนึ่งออกมา เมื่อครั้งที่แม่เขาร้องไห้ เขาก็แอบเขียนในกระดาษบอกน้องสาวของเขาว่า "ไปกอดแม่สิ" และเมื่อถึงเวลาที่เขาเป็นฝ่ายผิดหวังร้องไห้เสียเอง คำปลอบใจใดๆ ก็ไม่อาจทำให้เขาสงบลงได้เลย แต่เพียงแค่น้องสาวเขาเป็นฝ่ายเดินเขาไปนั่งเงียบๆ อยู่ข้างๆ เท่านั้น ดเวย์นก็ยอมเข้าใจและออกเดินทางต่อ


 


ส่วนริชาร์ด คุณพ่อเจ้าทฤษฎีจอมวางระเบียบของเรา ก็เริ่มทำอะไรแหกคอกให้ได้เห็นได้ลุ้นกันบ้างในเวลาต่อมา


 


ถึงหนังเรื่องนี้พล็อตหลักๆ ทำให้พอจะเรียกได้ว่าเป็นหนังตลกแนวครอบครัว แต่ก็ไม่ได้เดินตามสูตรหนังอเมริกันจ๋าทั่วไปในแง่ของการที่เชิดชูสถาบันครอบครัวแบบออกนอกหน้า ในเรื่อง Little Miss Sunshine ความรู้สึกอบอุ่น การมีกันและกันนั้น จะฉายเข้าไปยังส่วนลึกในจิตใจของผู้ชมเอง อย่างไม่ได้รู้สึกว่าถูกยัดเยียด


 


นอกจากนี้แล้ว ในแง่ของหนังประเภท "งานประกวด" เอง ก็ไม่ได้ดำเนินไปตามแบบฉบับหนังฮอลลิวูดทั่วไปเช่นกัน Little Miss Sunshine ไม่ใช่เรื่องที่จะสอนสั่งถึง "ความพยายาม" แบบซ้ำซาก (ซึ่งเกื้อหนุนกันอย่างดีกับระบอบทุนนิยมเสรีที่เน้น "การแข่งขัน") อีกทั้งยังล้อเลียนเสียดสี ทรรศนะแบบนี้ด้วยซ้ำ ทำให้ตอนจบนั้นอาจจะทำให้ใครๆ คาดไม่ถึงเลยทีเดียว


 


ถ้าใครอดไม่ไหว อยากรู้ว่าเรื่องนี้จะจบยังไงนั้น บอกใบ้ให้ก็ได้ว่า ท่ามกลางการประกวดเด็กๆ ทั้งหลาย มักจะเป็นการปลุกปั้นให้เด็กๆ อยู่ในกรอบที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมาอีกทีหนึ่ง (โดยใช้คำสวยๆ แทนว่าความน่ารัก) ไม่ว่าเด็กจะกล้าแสดงออกขนาดไหนก็ตาม ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และต้องเรียนรู้ที่จะสมยอมกับผู้อาวุโสกว่า


 


แต่อย่าลืมว่าหนูโอลีฟของเรานั้น มีโค้ชฝึกเป็นคุณปู่จอมเฮ้วเสียด้วย ภาพที่ออกมาในการประกวด จึงอาจดูขัดเขิน ตลกโปกฮา สะใจ แต่สำหรับคนที่ระเบียบรัตน์ เอ้ย ! ระเบียบจัดเกินไปนั้น คงจะรู้สึกรับไม่ได้...


 



 


แนวคิดแบ่งแยกระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้โดยแท้แล้วมาจากไหน เป็น "อเมริกันดรีม" คอยล่อลวงเรา ทั้งที่มันแอบซ่อนรองรับระบบอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า นิยามของผู้ชนะสังคมทุนนิยมเสรี (โดยเฉพาะอเมริกา) คือความพยายามในทุกวิถีทางเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย และเชิดชูผู้ที่ประสบความสำเร็จ (ทั้งที่จริงๆ อาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้คนผู้นั้นแทบไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามอะไรเลยก็ได้)


 


ขณะเดียวกันกับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะด้วยปัจจัยใดๆ ก็ตาม ก็จะกลายเป็น "ผู้แพ้" ไปโดยปริยาย และสิ่งที่ผู้แพ้จะได้รับนั้น มีตั้งแต่คำปลอบใจ (ตามบทสคริปท์หรือตามทฤษฎีจิตวิทยาประยุกต์ก็ตามแต่) คำถากถาง ไปจนถึงพื้นที่ทางสังคมที่หดหายชวนหดหู่


 


เราอาจจะประณามผู้แพ้ว่าขาดความพยายาม ...พยายามไม่มากพอ ฯลฯ แต่ว่าเราเอาอะไรไปตัดสินเขาแบบนั้น


 


นั่นยังไม่นับว่า คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน ชีวิตเราจำเป็นต้องดิ้นรนอย่างบ้าคลั่งในทุกทางเพื่อ "ความสำเร็จ" และการได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ชนะ" ภายใต้กติกาของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าจริง ๆ น่ะหรือ


 


จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าใครบางคนเพียงแค่อยากจะมีชีวิตเรียบๆ อยู่กับความสุขง่ายๆ มีชีวิตอยู่โดยไม่เล่นเกมจากระบบของผู้มีอำนาจ และจะไม่โดนประณามว่าเป็น "ผู้แพ้"


 


อีกทั้งเรื่องของชัยชนะและความพ่ายแพ้ มันไม่ได้ถูกกำหนดมาจาก "ความพยายาม" อย่างที่ผู้คนเพ้อฝันกันเพียงอย่างเดียว ในโลกที่ผู้คนไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของ "โอกาส" นั้น ผู้ที่มีสิทธิในพื้นที่ของเกมจริงๆ มีเพียงคนที่มี  "โอกาส" มากกว่าเท่านั้น


 


มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ดเวย์นพบว่าตัวเขาเองนั้นตาบอดสี และคนที่ตาบอดสีก็หมด "โอกาส" ที่จะได้เป็นนักบิน หลังจากที่เขาได้ระบายความเจ็บแค้นในการขาดโอกาสของตัวเองออกมาจนหมดสิ้นแล้ว ในช่วงที่เขาพูดเปิดใจกับแฟรงค์ เขาก็ได้เอ่ยคำพูดขึ้นมาประโยคหนึ่งซึ่งน่าจะเตือนสติเราๆ ได้เป็นอย่างดี


 


"คุณรู้อะไรไหม? งานประกวดความงามมันบ้าบอคอแตก! ชีวิตคนเรามันก็ไม่ต่างอะไรไปกับงานประกวดครั้งแล้วครั้งเล่า เริ่มจากที่โรงเรียน แล้วก็ไปยังวิทยาลัย ต่อด้วยหน้าที่การงาน บ้าบอคอแตกทั้งนั้น! รวมไปถึงไอ้โรงเรียนนักบินบ้าบอนั่นด้วย ถ้าฉันอยากจะบินล่ะก็ ฉันจะหาทางบินให้ได้ด้วยตัวเอง เพียงทำในสิ่งที่รัก แล้วที่เหลือก็ช่างแม่ง!"


 


               



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net