Skip to main content
sharethis


ณรรธราวุธ เมืองสุข


สำนักข่าวชาวบ้าน


 


          


            8 มิ.ย. 50 วันนี้ (8 มิถุนายน) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (โครงการตลาดวิชาอาณาบริเวณศึกษามหาวิทยาลัยชาวบ้าน) โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนามอญ-เขมรศึกษา โดยมีกลุ่มนักวิชาการด้านไทยคดีศึกษา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และทางด้านภาษาศาสตร์เข้าร่วมเสวนาจำนวนมาก


 


ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กล่าวว่า แบบเรียนของประเทศไทยที่เป็นตำราประวัติศาสตร์ มีความผิดเพี้ยน และสร้างความไม่เข้าใจให้กับประเทศเพื่อนบ้านหลายกรณีด้วยกัน แบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ว่าเริ่มตั้งแต่ในระดับประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย มุ่งเสริมอุดมการณ์และอุดมคติแห่งรัฐมากกว่าที่จะเป็นการสอนประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง และรวบรัดตัดความทำให้นักเรียนไม่เข้าใจบริบทประวัติศาสตร์ที่ถ่องแท้


 


            "กล่าวโดยย่อก็คือ พอถึงปีสุดท้ายของระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ก็จะถูกนำมาสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว แต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา หรือก่อนหน้านั้นเด็กยังไม่เข้าใจ และยังตอบคำถามไม่ถูกว่าแท้จริงแล้วตนเองเรียนประวัติศาสตร์ทำไม ส่วนตำราเรียนก็เป็นการเขียนเพื่อเสริมอุดมการณ์อุดมคติของรัฐมากกว่าที่จะมีเจตนาให้เด็กๆ เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง เป็นการเสริมความเป็นชาตินิยม เช่น ไทยต้องเป็นหนึ่ง เรามีเอกราชอธิปไตยของตนเอง พระมหากษัตริย์ในอดีตและบรรพชน เสียเลือดเนื้อเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ คนรุ่นหลังต้องธำรงรักษาไว้ เหล่านี้คือเนื้อหาตำราประวัติศาสตร์ปัจจุบัน" รศ.ดร.ชาญวิทย์ระบุ


 


            อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กำลังเป็นผู้นำในการรณรงค์ให้ร่วมลงชื่อเพื่อเปลี่ยนชื่อประเทศไทยกลับไปเป็นสยามกล่าวอีกว่าประเทศไทยต้องเรียนรู้และเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน แต่ ตำราเรียนประวัติศาสตร์ของไทยกำลังมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ควรจะถึงเวลาที่ต้องเรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนมานั่งประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางออกของแบบเรียนประวัติศาสตร์ เพราะว่ามีหลายอย่างที่เนื้อหาไม่ตรงกัน และส่งผลต่อความไม่เข้าใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นหลังที่อาศัยตำราของรัฐเพื่อศึกษา เราต้องการตำราเรียนที่เหมาะสมกับยุคสมัยและต้องการความสันติ


 


            ศ.ดร.ชาญวิทย์เปิดเผยอีกว่าความจริงหลายอย่างในตำราประวัติศาสตร์ของไทยไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือบางอย่างก็ไม่ระบุถึง ทั้งที่มีข้อมูลอยู่ อาทิ ไทยไม่เคยระบุลงไปว่าเราเสียดินแดนไปทั้งหมด 14 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เสียเมืองปีนังไปเมื่อปี 2329 หรือเมื่อปี 1786 จากนั้นจึงเสียเมืองมะริดเมืองทวายและตะนาวศรี เมื่อปี 2336 หรือปี 1793 หรือกระทั่งเสียเมืองบันทายมาศ หรือเมืองฮาเตียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนามไปเมื่อปี 2353 หรือเมื่อปี 1810 สิ่งเหล่านี้ไม่เคยปรากฏอยู่ในตำราประวัติศาสตร์ นอกจากการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งได้เสริมอุดมการณ์ชาตินิยมลงไปด้วย โดยไม่ได้ระบุลงไปว่า ในสมัยโบราณ อาณาจักรอยุธยา หรือกองทัพสยามของพระเจ้าสามพระยาได้ยกทัพใหญ่ไปโจมตีกรุงศรียโสธรปุระและเข่นฆ่า ปล้นสดมภ์ชาวเมืองล้มตายไปจำนวนมาก แต่ไม่ได้บรรจุลงในตำราประวัติศาสตร์ ทำให้แบบเรียนประวัติศาสตร์ในระดับประถมและมัธยมของไทยเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ข้างเดียว ส่วนอีกข้างได้ปล่อยไว้เป็นหน้าว่าง


 


ภาษาไทยมาจากหลายภาษา หาได้คิดเองแต่ถ่ายเดียว


            ด้าน รศ.ดร.วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ได้ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องภาษาว่า ในสังคมไทยสมัยอยุธยาตอนต้นได้ใช้ภาษาไทยและภาษาเขมรร่วมกันอย่างกว้างขวางทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท ซึ่งแสดงว่าคนไทยและคนเขมรอยู่ร่วมกันทั้งในมืองและในหมู่บ้านมานานแล้ว


 


            "การอยู่ร่วมกันระหว่างไทยกับเขมรทั้งในเมืองและหมู่บ้านทำให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญทางภาษา 2 ประการคือ ความผสมกลมกลืนกันระหว่างภาษาไทยและภาษาเขมร (Code mixing) ตามมาด้วยการย้ายภาษา (language shift) จากภาษาเขมรมาสู่ภาษาไทย นอกจากนี้ ในสมัยอยุธยา ภาษาในอยุธยา เป็นภาษาลูกผสมระหว่างไทยกับเขมร และกลายมาเป็นภาษากรุงเทพฯ ปัจจุบัน"


 


            รศ.ดร.วิไลวรรณยังได้ยกภาษาที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวันและไม่คิดว่าเป็นภาษาเขมร เช่น คำว่า "เกิด" ภาษาไทยแท้คือ "คลอด" คำว่า "เดินตรงๆ" ภาษาไทยแท้คือ "ย่าง" คำว่า "จมูก" ภาษาไทยแท้คือ "ดั้ง" หรือแม้แต่การแต่งกายประจำชาติของไทย เช่น การนุ่งโจงกระเบน ก็เป็นคำในภาษาเขมร เพราะคำว่า "โจง" แปลว่า "ผูก" คำว่า "กระเบน" แปลว่า "หาง"  หรือคำว่าดึกดำบรรพ์ ก็มาจากภาษาเขมรทั้งนั้น


 


            นักวิชาการจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่าการที่เรารู้ว่าภาษาไทย มีคำของภาษาอื่นอยู่ เพื่อให้เรารู้ว่าต้นกำเนิดของไทยมาจากความหลากหลาย ไม่ได้เกิดจากตนเองเป็นต้นคิด รวมทั้งมีการผสมผสานกันระหว่างภาษา หรือแม้แต่เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สังคม ประเพณี โดยเฉพาะไทยและกัมพูชานั้น หลังจากเกิดเหตุการณ์เผาสถานทูตเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ทั้ง 2 ประเทศเกิดความตึงเครียด และก่อความเป็นชาตินิยมของตนเองขึ้น อาจส่งผลอย่างรุนแรงในอนาคต ซึ่งควรส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์แบบต่างฝ่ายต่างเข้าใจ และยึดสันติเป็นหลัก 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net