Skip to main content
sharethis

สุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ย้ำ ไปให้ไกลกว่าประชาธิปไตยของคนชายขอบ ด้วยในสถานการณ์เช่นนี้ เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ในประเทศไทยและพันธมิตรระดับสากล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรณรงค์ผลักดันสร้างอัตลักษณ์ความเป็น "ชนเผ่าพื้นเมือง" ที่รัฐควรปฏิบัติอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียม


 


0 0 0


 


มาตรา 5 ประชาชนชาวไทยประชาชนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ เชื้อชาติ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน


            เหตุผล : เพราะมาตรานี้ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดว่า ใครจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้อย่างเสมอภาคกันและหากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เพียงแค่ "ประชาชนชาวไทย" ก็จะตีกรอบการคุ้มครองไว้เพียงแค่ประชาชนชาวไทยเท่านั้น ซึ่งจะขัดแย้งกับหลักการในมาตรา 4 ที่บัญญัติว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ทั้งที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศไทยมีอยู่ ย่อมได้รับความคุ้มครอง" ดังนั้น มาตรา 5 จึงไม่ควรจำกัดความคุ้มครองไว้เพียง "ประชาชนชาวไทย" เท่านั้น จึงควรบัญญัติให้ครอบคลุมถึงบุคคลอื่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยด้วย แม้ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยก็ควรได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน


 


นอกจากนี้ยังเป็นไปตามหลักการใน "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" ข้อ 1 ที่กำหนดว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกัน ทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง" และในข้อ 2 ที่กำหนดว่า


 


"บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดาที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด...นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด"


 


ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาตินี้ ประเทศไทยได้ลงนามเห็นชอบในการประกาศเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2491


 


 


มาตรา 28 บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน


 


บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้


บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ


บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้


บุคคลย่อมมีสิทธิในการถือสัญชาติไทย โดยการสืบสายโลหิตจากผู้มีสัญชาติไทย หรือโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย และไม่สามารถถือสัญชาติตามบิดาหรือมารดาได้ การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือการปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลนั้นจะกระทำมิได้


 


            เหตุผล : เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเรื่องสัญชาติมาตลอด เด็กที่ไร้สัญชาติเป็นจำนวนมากเนื่องจากข้อจำกัดตามกฎหมายที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กที่เกิดราชอาณาจักรไทยได้รับสัญชาติไทย อันก่อให้เกิดปัญหาที่ติดตามมามากมายด้านสิทธิมนุษยชน เพราะเด็กเหล่านี้ไม่มีสิทธิใดๆ เลยในฐานะของความเป็นมนุษย์ กลายเป็นบุคคลที่ไม่สังกัด ไม่มีรัฐ หรือจะเรียกได้ว่าไม่มีตัวตน ซึ่งขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 15 จึงเห็นควรบัญญัติหลักการในเรื่องนี้ไว้


 


 


มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน


ชายและหญิง และบุคคลเพศสภาพ มีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ ความพิการ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้


 


            เหตุผล : ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า โลกไม่ได้มีเพียงชายและหญิงเท่านั้น ยังมีเพศที่สาม หรือเพศสภาพที่ไม่ได้เป็นเพศทางกายภาพ แต่เป็นเพศที่เกิดจากจิตใต้สำนึกของบุคคลที่เรียกว่า "เพศสภาพ" ซึ่งในอดีต สังคมไทยไม่ยอมรับ แต่ปัจจุบันสังคมไทยเริ่มยอมรับ รวมทั้งบุคคลที่มีเพศสภาพก็กล้าที่จะแสดงออกและยอมรับความเห็นของสังคมมากขึ้น และในหลายประเทศก็ยอมรับจนถึงกับออกกฎหมายให้บุคคลที่มีเพศสภาพสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายได้ ดังนั้น จึงเห็นควรให้เพิ่มคำว่า "บุคคลที่มีเพศสภาพ" เข้าไปเพื่อให้ได้รับความเสมอภาคตามกฎหมาย


 


ส่วนคำว่า "ชาติพันธุ์" ที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไป เนื่องจากประเทศไทยที่ผ่านมา มีมาตรการที่กีดกันบุคคลที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แต่เป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในผืนดินไทยมาเป็นเวลานานไม่ว่าจะเป็นชาวเขา หรือบุคคลบนพื้นที่สูง หรือชาวมอแกน ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมาก่อนที่จะเป็นชาติไทยเสียอีกหรือประชาชนชาวเผ่าอื่นๆ ในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรบัญญัติความ "ชาติพันธุ์" ไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมตามกฎหมายและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม


 


 


มาตรา 65 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หรือชุมชนเผ่าพื้นเมือง ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน


 


 


มาตรา 66 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วน บุคคลย่อมมีสิทธิ มีอำนาจ ร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง


การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งทางด้าน คุณภาพ ชีวิต สิ่งแวดล้อม หรือ และ ทรัพยากรธรรมชาติ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว


สิทธิของชุมชน ชุมชนย่อมมีสิทธิที่ตรวจสอบและฟ้องข้าราชการ ฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง


 


            เหตุผล: เนื่องจากคำว่า "อย่างรุนแรง" ที่ผ่านมาเป็นปัญหาทางเทคนิค ทางวิชาการ และยังไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน และยังเป็นปัญหาในการตีความเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ในสภาวะโลกที่เผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่ควรจำกัดให้ผลกระทบที่เกิดจะต้องเป็นผลกระทบ "อย่างรุนแรง" เท่านั้น แต่ควรขยายให้กว้างขึ้นเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพิจารณาอย่างทั่วถึง และมีการรับฟังผลกระทบรอบด้านมากกว่าเป็นการรับฟังเพียงผลการศึกษาทางวิชาการเท่านั้น และนอกจากนี้ควรขยายขอบเขตของผลกระทบที่ก่อ "อันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิต" ด้วย เพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบที่กว้างขึ้นไม่เพียงแต่ผลกระทบด้านวัตถุ หรือกายภาพเท่านั้น แต่รวมไปถึงผลกระทบที่มีผลต่อบุคคลในชุมชนด้วย


 


นี่คือ เนื้อหาสำคัญที่เครือข่ายชนเผ่าฯ ขอแปรญัตติเพิ่มเติมต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช... ฉบับรับฟังความคิดเห็น


 


บทความเรื่อง ชาวเขา สถานะความเป็น "คน" ไทยที่ถูกลืม ซึ่งเขียนโดย ศุภชัย เจริญวงศ์ อดีตนักพัฒนาเอกชน ซึ่งเคยทำงานคลุกคลีกับพี่น้องเครือข่ายชาติพันธ์บนพื้นที่สูง แม้ปัจจุบันเขาได้เสียชีวิตแล้ว แต่งานเขียนของเขายังทรงคุณค่าที่อธิบายความเป็นชนเผ่าที่ซับซ้อนและชัดเจน ดังความตอนหนึ่งว่า


 


"ในแง่ความหมายของคำว่า บุคคลบนพื้นที่สูง ชนกลุ่มน้อย และชาวเขา ตามนิยามของหน่วยงานราชการจึงยังไม่ตรงกันนัก ขณะคำเรียกเผ่าพันธุ์ก็ไม่ตรงกับวัฒนธรรมเดิม ทำให้บุคคลหลายกลุ่มเข้าใจผิดและไม่มีสิทธิในการลงรายการสัญชาติในทะเบียนบ้าน ส่วนกลุ่มชนดั้งเดิม เช่น มลาบลี (ผีตองเหลือง)... ก็ไม่เข้าข่ายที่จะขอลงรายการสัญชาติไทยตามระเบียบนี้ ขณะเดียวกันฐานข้อมูลปริมาณตัวเลขประชากรชาวเขาของแต่ละหน่วยงานก็แตกต่าง จนเกิดความสับสน ยังไม่รวมชาวเขาเองที่อาจไม่เข้าใจนโยบายรัฐและสถานะของตัว ทำให้ชาวเขาดั้งเดิมไม่มีสัญชาติไทยถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเข้าใจความซับซ้อนในสถานะดังกล่าว จึงสมควรมองย้อนนโยบายรัฐในการจัดการปัญหานี้ เพื่อเข้าใจความพยายามแก้ไข ซึ่งในข้อเท็จจริงบางนโยบายก็อาจสร้างความสับสนแก่ผู้ปฏิบัติ...และเป็นปัญหาหมักหมมมาถึงปัจจุบัน"


 


และนับจากปี 2512 ถึงปัจจุบัน ความเชี่ยวกรากทางนโยบาย จากความขัดแย้งทางแนวคิดสังคมนิยมกับรัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้น ชาวเขาก็ถูกแบ่งให้เลือกข้างแยกสลายและถูกทำลายตลอดมา


 


ความเข้มข้นของนโยบายทุนนิยมข้ามชาติ ระหว่างการบริหารประเทศของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กว่า 5 ปีที่ผ่านมาสถานะของชนเผ่าและชาติพันธุ์ ก็ถูกแปลงให้กลายเป็นสินค้าและค่าแรงราคาถูก ที่รัฐและนายจ้างไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือคำนึงถึงศักดิ์ศรีตามหลักสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด


 


ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหายาเสพติด และการฆ่าตัดตอนโดยชอบตามกฎหมาย ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาด้านความมั่นคง นี่คือ แอกครอบที่กักขังความเป็นชาวเขาไว้ใต้ชายขอบอำนาจรัฐไทย


 


ประสบการณ์ 10 ปีของการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็พบว่า ปัญหาของเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือเข้าถึงการบริการของรัฐได้อย่างแท้จริง


 


การร้องเรียนหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เช่น กรณีการถอนสัญชาติที่แม่อาย หรือการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อุทยานป่าไม้ที่กระทำเกินกว่าเหตุ กรณีจับกุมชาวบ้านปางแดง หรือการอพยพที่บ้านห้วยวาด หรือบ้านลีซูหัวน้ำ หรือการวิสามัญฆ่าตัดตอนในหลายพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ก็ย่อมฟ้องอยู่ในตัวมันเองแล้วว่า วิบากกรรมเช่นนี้มิใช่ เสรีภาพหรือความเท่าเทียมที่มนุษย์พึ่งปฏิบัติต่อกัน


 


และแม้ว่า สหประชาชาติ (UN) จะกำหนดให้หลายปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่ง "ทศวรรษสากลของชนพื้นเมือง" กว่า 13 ปี (ครั้งแรก 2538 -2547 ครั้งที่สอง 2548-2557) แต่นั้นดูเหมือนว่า รัฐไทยยังล้าหลังทำเป็นหูทวนลม ดำเนินนโยบายต่อชนเผ่าเยี่ยงเดิม แต่กลับรายงานต่อที่ประชุมยูเอ็นเสมือน "รัฐนักบุญ"


 


สถานการณ์เช่นนี้ เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ในประเทศไทยและพันธมิตรระดับสากล จำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องรณรงค์ผลักดันสร้างอัตลักษณ์ความเป็น "ชนเผ่าพื้นเมือง" ที่รัฐควรปฏิบัติอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียม ทั้งต้องผลักดันต่อการบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเคลื่อนไหวในระดับชาติและรณรงค์ระดับสากล เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นบนพื้นที่สูง กลางทะเล ที่ราบสูงทั้งประเทศ ได้รับความเป็นธรรม ทั้งยอมรับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งเพื่อนมนุษย์พึ่งเคารพและปฏิบัติ ซึ่งกันและกันอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม หาใช่คนเร่ร่อน พลัดถิ่น ไร้รากเหง้าของพ่อค้าและนักปกครองอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net