Skip to main content
sharethis

 

คิดหรือไม่ว่า...วัน หนึ่งความหวาดระแวงอาจทำให้ คนที่เคยจิบกาแฟด้วยกันในตอนเช้า หันมาจับอาวุธฆ่ากัน และความหวาดระแวงนั้นอาจขยายความโกรธแค้นกันไปถึงขั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ถึงวันนี้ เรื่องแบบนี้คงไม่ใช่การวิตกเกินเลยไปกระมัง
ด้วยความหวังว่า สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 "ประชาไท" จึงจัดเวทีสนทนาวงปิด โดยมีวิทยากรที่อยู่ในระดับ "รู้จริง" ประกอบด้วย อับดุลอายิ อาแวสือแม นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส ผศ.อับดุลเลาะ อับรู วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นิรามาน สุไลมาน กรรมการหอการค้าจังหวัดปัตตานี สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย Human Right Watch จอน อึ๊งภากรณ์ ดำเนินรายการ
เพื่อ เปิดทางให้เสียงที่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัวจากสถานการณ์ได้พูด "ความจริง" ที่หายไป เพราะ "ความจริง" จะนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ถูกทาง ต่อมาหลังการสนทนาจึงได้นำเสนอผลสรุปผ่านรายงานสั้นๆ ชื่อ "เรื่องสำคัญจึงสนทนา : เสวนา "ประชาไท" ทางออกปัญหาใต้..."ไม่มี"" และสัญญาว่าจะนำรายละเอียดมานำเสนออีกครั้ง
"ประชาไท" ขอทำตามสัญญาแล้ว
ด้วยรายละเอียดที่มาก จึงแบ่งรายงานนี้เป็น 3 ตอน ตามประเด็น ได้แก่
3 : ถอนฟืนใต้ไฟ บทสนทนาที่ว่าด้วยทางออกสำหรับสถานการณ์
ย้ำอีกครั้งหนึ่ง...เพราะสำคัญจริงๆ จึงสนทนา
0 0 0
3
ถอนฟืนใต้ไฟ
.......................................................................
 
"...เสนอไว้ในที่นี้ บันทึกไว้ในที่นี้ว่า
ในทัศนะของผม แนวทางในการแก้ไขปัญหาภาคใต้มีอย่างเดียว
คือปรับโฉมโครงสร้างการปกครองใหม่ ต้องใหม่ทั้งหมด และต้องใหม่เอี่ยมอ่อง..."
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เนชั่น
เยื่อ ใยของคนพุทธกับคนมุสลิมขาดสะบั้นลงตั้งแต่ปีเศษที่ผ่านมา เมื่อก่อนในแต่ละหมู่บ้านเคยอยู่ด้วยกันได้ เดี๋ยวนี้ไม่กล้าเดินผ่านด้วยซ้ำไป จะโทษความเข้าใจโดยรวมของสังคมทั้งหมดก็ได้ เรื่องการแบ่งแยก อรบ. (ชุดอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) กับ ชรบ. เกิดพราะชนชั้นสูงในสังคมไทยไม่วางใจคนมุสลิม แม้กระทั่งให้อาวุธไปก็ยังไม่วางใจ
เคยสัมภาษณ์ ชรบ. คน ที่ถูกแย่งปืน และเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์ตากใบ ทุกวันนี้ยังลำบากเพราะต้องหาเงินค่าปืนใช้รัฐ รับใช้รัฐแล้วยังต้องมาเป็นหนี้รัฐอีก อีกทั้งถูกกล่าวหา ถูกลงโทษ ถูกขึ้นศาล ความลำบากยังไม่จบสิ้นจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะว่าปืนหาย นี่คือเหตุให้คนชั้นสูงไม่ไว้วางใจ 
อรบ.จึงคัดเฉพาะชาวพุทธที่ไม่ใช่แค่ชาวพุทธทั่วไป แต่มีวินัยด้วย ผู้ที่ฝึกให้ก็ไม่ใช่ทหารทั่วไปแต่เป็นทหารรักษาพระองค์ ขณะนี้ อบร.กำลังมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มี 30 กองร้อย คืออำเภอละ 1 กองร้อย
เคยสัมภาษณ์คนที่เป็น อรบ. เขามี discipline(วินัย) แบบทหารที่เชื่อว่าวันข้างหน้าจะต้องรบ เรียกว่าอยู่ใน "โหมดของสงคราม" ดังนั้นจึงคิดว่า สังคมกำลังมา อยู่ในจุดที่ไม่ค่อยใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา แต่ตกอยู่ในมายาภาพของความกลัวที่สร้างขึ้นเองและกำลังจะนำไปสู่ความรุนแรง ที่มันมากขึ้น คือการติดอาวุธให้ประชาชนฆ่าฟันกันเอง ในภาคใต้ปืนหาง่าย สถานการณ์ที่คนมีอาวุธอยู่ในมือก็มีแนวโน้มจะใช้อาวุธ เวลาคนมีปืนในมือก็มักไม่ค่อยใช้สมอง รัฐบาลนี้ รัฐบาลโน้น รัฐบาลไหน ก็มาจากวิธีคิดแบบเดียวกัน และนี่คือปัญหา
มี ข้อเสนอ แต่เข้าใจว่าคงไม่มีใครอยากได้ โดยเฉพาะคนชั้นสูงในสังคม สิ่งที่จะต้องทำในภาคใต้ คือกลับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันให้หมด ถอนทหารก่อนเลย ต่อมาสิ่งที่ต้องทำ คือปรับความคิดเกี่ยวกับประชาชนใหม่ว่า ปัญหาที่เกิดที่ภาคใต้เป็นปัญหาที่คนภาคใต้ต้องแก้ จะเอาใครไปหรือจะตั้งองค์กรอะไร มันก็ไม่ช่วย เพราะคนที่ไปด้วยหมวกของรัฐ มันก็ต้องเป็นรัฐ
เคยเสนอไปครั้งหนึ่งว่า ถ้าจะใช้ ศอ.บต.ให้ ได้จริง ทำไมไม่ทำเป็นหน่วยลักษณะปกครองที่ให้คนท้องถิ่นเลือกกันขึ้นมาว่าใครจะเป็น ผู้อำนวยการ และให้มีสัดส่วนคนในท้องถิ่นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้กระทั่งข้อเสนอของ กอส. ที่แม้จะดูก้าวหน้ามากที่สุดที่เคยมีมา ก็ควรทำให้ไปไกลกว่านั้น แต่ ข้อเสนอ กอส.รัฐบาลก็โยนทิ้งถังขยะไปแล้ว
องค์กร การปกครองในท้องถิ่นต้องเปลี่ยน ถ้าคิดจะให้จบปัญหาภาคใต้อย่างที่มันผ่านมาแล้วร้อยปี ซึ่งตอนนี้ชนชั้นสูงในสังคมไทยภาวนาอยู่อย่างเดียวว่า ให้จบแบบที่มันเคยเป็น แต่บอกได้เลยว่า ไม่มีทางจบแบบนั้น
แต่มันจะจบ 2 ลักษณะ ประการแรกคือ ฆ่ากันจนเหนื่อย อาจใช้เวลาฆ่ากันซัก 20 ปีเหมือนกับคราวที่แล้ว คิดว่าน่าจะจบแบบนี้มากกว่า คนอาจจะตายซัก 20,000 คน แล้วปัญหาค่อยสะสมตัวใหม่ แต่ถ้าจะแก้อย่างถาวร ต้องกลับโครงสร้างการปกครองใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนในสถานการณ์แบบนี้ น่าจะทำอะไรที่ฉลาดกว่านี้ แต่ดันจะเอาศาสนาพุทธมาเขียนในรัฐธรรมนูญอีก
3 จังหวัด เป็นเขตพิเศษ ลักษณะมันพิเศษ มันไม่เหมือนที่อื่น คนก็ไม่เหมือน ศาสนาก็ไม่เหมือน วัฒนธรรมก็ไม่เหมือน หน้าตายังไม่เหมือนกันเลย ปกครองแบบพิเศษก็ได้ ถามว่าอยู่ภายใต้รัฐไทยไหม...อยู่ เป็นรัฐเดี่ยวหรือไม่...ยัง คงเป็น เพราะนิยามรัฐเดี่ยวสามารถนิยามได้หลายแบบ เพียงแต่ว่าเราไม่เปิดความคิดนี้ การบริหารงานใดๆ ทุกวันนี้มาพูดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษมันบ้าบอ ไร้สาระ ไม่ใช่แก่นสารของมิติที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเลย
เรา พูดเรื่องชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนนั้นไม่ใช่ "เธอมาร่วมกับฉันสิ" แต่ต้องให้เป็นคนทำ รัฐมีหน้าที่เพียงสนับสนุน อาจจะต้องทะเลาะกันอีกนานหากจะให้เปิดอย่างที่เสนอ
เข้าใจ ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศอาจจะไม่ชอบอย่างที่กำลังเสนอ แต่ในสถานการณ์นี้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ คือมาเสนอในขณะที่ทหารเป็นใหญ่ แล้วบอกว่าเราจะเปลี่ยนรูปโฉมการปกครองในภาคใต้ แต่ขอเสนอไว้ในที่นี้ บันทึกไว้ในที่นี้ว่า ในทัศนะของผม แนวทางในการแก้ไขปัญหาภาคใต้มีอย่างเดียว คือ ปรับโฉมโครงสร้างการปกครองใหม่ ต้องใหม่ทั้งหมด และต้องใหม่เอี่ยมอ่อง อย่ามาคิดง่ายๆ แค่เลือกตั้ง อบจ. อบต. อันนั้นมันแค่กระผีก
ทำไมไม่คิดไปไกลถึงการที่ 3 จังหวัด ภาคใต้เป็นเขตอีกเขตหนึ่งเพราะความแตกต่าง แต่ใช้ภาษาของตัวเองควบคู่กับภาษาไทย ทำไมจะมีปัญหา เรายังใช้ภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษาไทย คนไทยพูดไทยคำอังกฤษคำ ไม่เห็นกระอักกระอ่วนใจเท่ากับพูดไทยคำมลายูคำ สังคมไทยต้องตอบ ที่ดอนเมืองหรือที่สุวรรณภูมิ เราก็ใช้ไทยคำอังกฤษคำ ไม่เห็นมีใครกระอักกระอ่วนใจ ยังคิดจะทำเป็นเขตพิเศษให้ด้วย แต่ทำไม 3 จังหวัดกลับทำไม่ได้ สังคมและชนชั้นสูงในสังคมต้องเลิกคิดอะไรที่ระแวงคน ต้องเชื่อมั่นว่า คนในภาคใต้ คนใน 3 จังหวัด ดูแลปัญหาของตัวเองได้
ถ้าคิดจากกรุงเทพฯ พูดกันมา 3 ปีก ว่าแล้วตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืน ก็มีปัญหายิบๆ ย่อยๆ มาพูดกันอยู่ตลอดเวลาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง ในสงครามมันก็ละเมิดทั้งปี ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง แล้วก็ประนามกันไปมา
การคิดไปไกลได้ที่สุดอย่างที่ กอส.คิด ก็ยังไม่ไปไกลอย่างที่อยากจะเห็นด้วยซ้ำ แต่นั่นก็มากพอแล้ว เพราะทุกวันนี้เราถอยกลับมาอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
แม้แต่ ศอบต. ยังไม่สามารถเป็นที่ Mobilize ปัญหาทุกอย่างให้นำไปสู่การแก้ปัญหา ศอบต.กลายเป็นแค่กลไกเล็กๆ อันหนึ่ง เหมือนที่ว่าการอำเภอ
เพราะ ฉะนั้น นี่เป็นตุ๊กตา เสนอไว้ เผื่อมีโอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า คณะร่างรัฐธรรมนูญจะมีความก้าวหน้ามากพอที่จะมองอะไรไปไกลขนาดนั้น คือทำอะไรที่ป้องกันให้เสร็จภายในรวดเดียว คิดว่าเขาไม่ทำ เอาแค่ง่ายๆ ว่านายกฯ มาจากไหนก็เถียงกันเป็นบ้าเป็นหลังแล้ว
0 0 0
"...ไม่ใช่ผู้รอบรู้แต่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่แล้วสัมผัสปัญหา
รู้ว่าปัญหามีทางแก้ แต่มันแก้ไม่ได้
เพราะคนที่มีอำนาจแก้ ไม่ยอมแก้..."
นิรามาน สุไลมาน
กรรมการหอการค้าจังหวัดปัตตานี
เชื่อ อย่างที่อายิพูดว่า สงครามมาใกล้แล้ว เราเคยประเมินกันไว้เมื่อตอนเกิดเหตุการณ์สักพักใหญ่ๆ ว่า สถานการณ์มันน่าจะพัฒนาจากหนึ่ง สอง สาม เรื่อยไป ขณะนี้ ดูเหมือนว่า ชะตาชีวิตของเราแขวนบนเส้นด้ายมาก ประชาชนในพื้นที่อื่นคงไม่มีผลกระทบเท่าไร
คน ที่เป็นมุสลิมจริงๆ ที่มีศรัทธา เชื่อมั่น ยึดมั่นต่อหลักการคำสอน เขาจะไม่ละเมิดหลักการ เขาจะไม่ฆ่าคนบริสุทธิ์เลย เพราะการฆ่าคนบริสุทธิ์นั้นเป็นบาปอย่างมาก ไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะฆ่าคนให้ตกตายไปด้วยสาเหตุความโกรธแค้น การจะลงโทษประหารชีวิตคนหนึ่ง ต้องผ่านกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับของสังคมจริงๆ แต่อย่างว่า ประเทศไทยเราเป็นที่รู้กัน เมื่อเกิดคดีขึ้นมา มีเหตุพิพาทในสังคม ท่านก็ใช้เงินวิ่งเต้นในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ ชั้นศาล ถ้าคนจน คำตอบก็มีอยู่แล้ว พักถาวรที่เรือนจำ ปัญหานี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะ
ไม่ใช่ ผู้รอบรู้ แต่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่แล้วสัมผัสปัญหา รู้ว่าปัญหามีทางแก้ แต่มันแก้ไม่ได้ เพราะคนที่มีอำนาจแก้ไม่ยอมแก้ อย่างที่พวกเรารู้กันดี
ความจริงแล้ว ข้อสรุปของนายจาตุรนต์ (ฉายแสง) เมื่อปี 2547 หรือรายงาน กอส. เป็น รายงานฉบับที่ดีที่สุดในประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ และระดมมันสมองจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขาอาชีพ เพียงแต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญ และดูเหมือนว่า รัฐบาลโดย สมช. จะมีธงทัศนคติที่ไม่เป็นบวกกับทุกคนในพื้นที่ อย่างที่อาจารย์อับดุลเราะห์พูดว่า เราเหมือนประเทศเมืองขึ้น มันค่อนข้างเจ็บปวด
สมัย 40 ปีที่แล้ว เราเจริญมาก เรามีสนามบินบ่อทองที่เครื่องบินพาณิชย์ลงตลอดเวลา มี มอ.ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนมาเลเซียเคยเดินทางเข้ามาขุดทองในบ้านเรา มาขอแต่งงานกับสาว 3 จังหวัด มาขอกรีดยาง มาขอเป็นลูกเขยเป็นลูกสะใภ้ แต่คนของเราเองกลับอ่อนแอ ที่มันเลวร้ายคือ นอกจากการกดขี่ทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีสิ่งเลวร้ายตามเข้ามา เช่น เรื่องยาเสพติด การไม่ส่งเสริมให้คนของเราเข้มแข็ง การเข้าไม่ถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งที่ร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดในประเทศ แต่เราไม่มีสิทธิเข้าถึงเลย
มีโอกาสเข้าไปนั่งฟังในกรรมาธิการเกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม พ.ร.บ.นิคม อุตสาหกรรมฉบับใหม่ก็ยังไม่ได้พูดถึงสิทธิชุมชนในการเข้าไปมีสิทธิเป็น เจ้าของ ในฐานะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ เขาไม่มีสิทธิทำอะไร ทั้งที่ควรมี สิทธิของประชาชนในฐานะมีส่วนเป็นผู้ถือหุ้น กฎหมายควรจะกำหนดแบบนั้น ไม่ใช่ให้เป็นสิทธิของผู้เอาทุนมาใช้มาสร้างนิคมอุตสาหกรรมอย่างเดียว ผลคือจะเป็นความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ ระบบทุนก็ไม่ได้ดูแลเขาเลย ไปไปมามา ภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงกลับตกหนักให้เป็นหน้าที่ชุมชนต้องร่วมแก้ไข
ข้อ เสนอคือ เพียงแค่ต้องการให้รัฐบาลให้โอกาสคนในพื้นที่เข้ามาบริหารจัดการได้ ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง มีตำแหน่งต่างๆ ให้ ถ้าชั่งตามสัดส่วนประชากร มุสลิมควรมีไม่น้อยกว่า 60% แต่วันนี้มุสลิมมีประมาณครึ่งหรือไม่ถึงครึ่งเท่านั้นเอง
สิทธิ ในการเป็นข้าราชการในทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องชัดเจนขึ้น ต้องกันโควต้าให้คนในพื้นที่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไรก็ตาม การดำเนินการทุกอย่างต้องโปร่งใสและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการยุติธรรม ต้นทางที่จะจับหรือค้น ต้องมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ถ้าการจับโดยฝ่าฝืน ละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ถือว่าละเมิดหลักการทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดและรัดกุมที่สุด
การ ศึกษาอิสลามในพื้นที่มีหลายค่ายหลายสำนัก แต่รัฐบาลไม่ดูแล ให้พัฒนาเองสะเปะสะปะ หลายลัทธิ ความเชื่อ ที่มาหลากหลายหมด นี่คือสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์อีกอันหนึ่งที่มาจากการวางเฉย แล้วปล่อยให้พัฒนาไปตามความสามารถของตนเองซึ่งมีขีดจำกัด
เมื่อไร ก็ตามที่เราปล่อยให้คนอยู่ในสภาวะที่วิธีคิดหรือภูมิคุ้มกันเรื่องสติปัญญา ความดีงาม ไม่ดี ก็จะไม่สามารถยับยั้งอะไรได้ เขาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ เหมือนคนที่กระทำความผิด เช่น เด็กที่ไม่มีความรู้ทางศาสนาดีพอ อาจถูกปลูกฝังจากค่ายสำนักคิดที่อาจจะผิดจากหลักการอิสลามบริสุทธิ์ เขาเหล่านั้นอาจจะผ่านสภาวะชีวิตหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่สม เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ผู้ที่มีแนวคิดสุดโต่ง ซึ่งไม่ได้ยึดมั่นตามหลักจริยวัตรของอิสลามก็ถูกชักจูงได้ง่าย ทำให้เชื่อว่าทำแบบนั้นแล้วจะเข้าถึงสวรรค์ นี่คือปัญหาใหญ่
เรื่อง ทางกฎหมายเป็นที่ชัดเจนว่า กระบวนการในการส่งฟ้องศาล ขั้นตอนมันเยอะมาก จนกระทั่งเป็นภาระหนักของญาติผู้ต้องหา ที่แย่ไปกว่านั้น การสนับสนุนจากภาครัฐในนามของศูนย์นิติธรรมก็ดี สภาทนายความก็ดี ฝ่ายอัยการหรือกระทรวงยุติธรรมก็ดี งบประมาณกลับให้อย่างจำกัดจำเขี่ย ทนายความซึ่งควรจะเรียกระดมทนายมากๆ ผลิตทนายมากๆ เพื่อมาทำงานในพื้นที่ กลับมีปัญหามากมาย กระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ ถ้ายังคงรูปลักษณ์แบบนี้ก็สอดแสดงให้เห็นว่า ทางรัฐไม่ได้มีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาให้เบาบางลงไป ประกอบกับสัญญาณที่ส่งมาในเวลานี้ต่อการปฏิบัติหรือโต้ตอบต่อความไม่สงบใน พื้นที่ ค่อนข้างจะชัดเจนว่า เริ่มอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงได้ โดยที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องรับผิดชอบก็ได้
0 0 0
"ยากที่จะหวังจากภาครัฐ
ยากมากๆ เพราะรัฐได้ตั้งโจทย์ไว้แล้ว.."
อับดุลอายิ อาแวสือแม
นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส
ยาก ที่จะหวังจากภาครัฐ ยากมากๆ เพราะรัฐได้ตั้งโจทย์ไว้แล้ว รัฐไม่ขยับ เวลามีเหตุการณ์ในพื้นที่แล้วหาเหตุอะไรไม่ได้ก็จะโยงไปถึงมาเลเซีย
แต่ ขณะนี้ รัฐกลันตัน ทางรัฐบาลกลางมาลเซียยังยึดกลับคืนไม่ได้ จึงกลัวมาก ดังนั้นอย่ามองว่ามาเลเซียจะมาร่วมกันตรงนี้ มาเลเซียเองก็กำลังกลัวว่า รัฐกลันตันจะไปกับเราด้วย ในเรื่องต่างประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณเป็นต้นมา ยังขาดมือไม้ที่รู้เรื่องต่างประเทศ
ทางออกคืออย่าไปหลอกตัวเอง พื้นที่ตรงนี้ต้องแบ่งส่วนในการบริหารจัดการให้คนในพื้นที่ ตราบใดเรายังบอกว่าพี่น้อง 3 จังหวัด เป็นผี เราก็ต้องหนีผีอยู่ตลอด เราต้องนั่งประชุมแล้วมีผีอยู่ในห้องตลอด เพราะเมื่อไม่พูดความจริง เรื่องก็ไม่มีวันจบ ผมเป็นห่วงมากๆ ผมชอบทำกิจกรรมกับภาคประชาชนตั้งแต่ก่อน 2515 เป็นต้นมา แต่ไม่เคยประสบเหตุการณ์ลึกลับอย่างนี้ ขบวนการนี้เขาเรียก "เบอหย่วน" (แปลว่านักสู้) คณะที่อยู่ในพื้นที่ขณะนี้ ถ้าไปบอกในหมู่บ้านว่า "พวกเบอหย่วน" เขาจะไม่ถามอะไร
ใน กอ.สสส.จชต.(กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้) ผมเคยพูดครั้งหนึ่งในที่ประชุมว่า ให้ระมัดระวัง เพราะมีข่าวออกมาว่า ถ้าใครขายของในวันศุกร์จะถูกตัดหู เตือนคณะกรรมการกอ.สสส.จชต. ซึ่งมีพลเอกสิริชัย (ธัญญศิริ) เป็นประธานในเวลานั้น เพราะเกรงว่าพี่น้อง 3 จังหวัดจะไปด้วยกับเขา แต่ ทาง กอ.สสส.จชต.ไม่เชื่อ ในที่สุด ก็เป็นไปตามที่ขู่ วันศุกร์ไม่มีคนขายของ เป็นเรื่องที่ลำบากในการพูดกับภาครัฐ เพราะรัฐไม่เชื่อ ไม่เข้าใจ
ที่ แล้วๆ มา บทบาทของรัฐผิดพลาดมหันต์ ตัดแขนตัดขากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หมด ตอนนี้กำลังกลับมามอบอำนาจให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถามว่ายุคนี้มันมอบได้หรือไม่...ได้ แต่มันเละหมดแล้ว เพิ่งจะมามอบ ก็ดูมิติในการแก้ไขปัญหาชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้ของรัฐ จะต้องพลิกหน้ามือเป็นหน้ามือ มันจะต้องยกเครื่องใหญ่ ไม่ใช่เอาไปซ่อม
0 0 0
"…ที่ "โคโซโว" พวกเซิร์บกับพวกโครแอท ไม่ใช่กองกำลังกับกองกำลังฆ่ากัน
แต่เป็นประชาชนที่เอาปืนไรเฟิลในบ้านมายิงกันเอง
หรือข่มขืนกันเอง ทั้งที่บ้านติดกัน เคยโตกันมา
นี่คือสิ่งที่มันอาจจะเกิดขึ้น..."
สุณัย ผาสุข
ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย Human Right Watch
หมด หวังกับรัฐ และเนื่องจากหมดหวังกับรัฐ จึงเศร้าใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ มองไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก นอกจากความรุนแรงที่จะเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นความรุนแรงที่ชุมชนกับชุมชนจะปะทะกัน คนกับคนที่เคยอยู่ร่วมกันจะปะทะกัน ถึงขนาดที่ว่า พวกผมที่ทำงานนอกประเทศ 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีคำพูดซึ่งไม่ได้นัดกันมาก่อน แต่ยกตัวอย่างขึ้นมาเทียบถึงเรื่องที่ "โคโซโว" พวกเซิร์บกับพวก โครแอท ที่ไม่ใช่กองกำลังกับกองกำลังฆ่ากัน แต่เป็นประชาชนที่เอาปืนไรเฟิลในบ้านมายิงกันเอง หรือข่มขืนกันเอง ทั้งที่บ้านติดกัน เคยโตกันมา นี่คือสิ่งที่ มันอาจจะเกิดขึ้น
มัน เริ่มมีสัญญาณเตือนว่ากำลังจะเกิดขึ้น แล้วในบรรยากาศที่รัฐไม่มีทั้งความตั้งใจและไม่มีน้ำยาเลยหมดหวังจริงๆ ในส่วนของชุมชน จะไปคาดหวังกับเขาก็ลำบาก คือพยายามเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่อยู่ในพื้นที่ คำพูดของคนที่เคยพูดกับผมตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ค่อยๆ เปลี่ยน จากคนที่พอมีความหวัง ตอนนี้หมดหวังหมดแล้ว ต้องพึ่ง "นักสู้" เป็นผู้กุมชะตาชีวิตให้เขาในแต่ละวัน ถึงจะไม่เห็นด้วย เช่น ไม่ให้ขายของเท่ากับรายได้ของคนทำมาหากินหายไปวันหนึ่ง ห้ามออกไปกรีดยาง รายได้ก็หายไปอีก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ คำขอมันหนักข้อถึงขนาดว่า ต้องส่งลูกมาร่วมฝึกนะ ต้องเสียลูก สละลูก ซึ่งเป็นอนาคตของครอบครัว แต่มันปฏิเสธไม่ได้ ต้องหาทางดึงคนออกมาจากความหวาดกลัว แต่มองไม่ออกว่า จะช่วยเขาได้อย่างไร
สำหรับ คนไทย-พุทธก็สภาพเดียวกัน ครอบครัวคนที่สนิทกับผมเป็นส่วนตัว เมื่อมีอะไรก็มาเล่า อยู่มาวันหนึ่งแกก็โดนยิงแล้วเผาทั้งเป็น เหตุผลที่ตายเพราะพูดมาก และบอกให้รู้ว่า คนนี้ที่ต้องถูกฆ่าเพราะช่างพูด และเอาความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการในพื้นที่มาขายให้คนนอก ผมก็กลัวและรู้สึกผิดอย่างมาก เพราะเขาคุยกับผมบ่อยๆ หรือไม่ที่ทำให้เขาต้องตาย ปรากฏว่าไม่ใช่ เขาคุยกับทุกคน ขบวนการคงมองว่า ถ้าเก็บไว้คงเป็นภัย และต้องฆ่าให้โหดเหี้ยม เพื่อหลังจากนั้นจะได้ไม่มีคนลักษณะนี้อีก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากนั้นคือ คนกลัวจริง คนพุทธกับคนมุสลิมในตำบลนั้นก็แตกสะบั้นไปเลย สภาพของคนที่ถูกกดดันด้วยความกลัว ความโหดร้ายทุกวัน ตอนนี้มันเหมือนเราช้าไปแล้ว เมื่อก่อน เราชอบถามว่า ถ้าคุณทักษิณไม่อยู่มันจะดีขึ้นไหม ถ้าคุณทักษิณไม่อยู่สักสามปีที่แล้ว เรายังพอมีหวังที่จะชะลอเบาบางความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ได้ แต่ตอนนี้มีความรู้สึกว่า มันช้าไปแล้ว
อีก ประเด็นที่ห่วง แต่ยังไม่มีข้อมูลมาก คือตอนนี้ถ้ามีคู่ขัดแย้งระหว่างรัฐกับขบวนการหนึ่งคู่ ชุมชนกับชุมชนคู่ที่สอง และเพิ่มกลุ่มจัดตั้งคู่ที่สามขึ้นมา จุดที่เราบอกว่า การปะทะกันระหว่างชุมชนกับชุมชนนั้น มันจะยิ่งถูกเร่งเวลาให้เร็วมากขึ้นด้วย ตอนนี้ถามว่า ผมมีหวังไหม ผมแทบจะไม่มีความหวังเหลือเลย
ทางออก มี แต่แปลว่าผมไปโยนการบ้านให้กับรัฐ เพราะอย่างน้อยรัฐยังมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบที่ต้องทำ แต่ผมเห็นว่ารัฐไม่มีความจริงใจ และไม่มีความตั้งใจที่จะทำ ผมก็เลยจบ การแก้ปัญหาอย่างน้อยในระดับหนึ่งที่ทำให้มันพอบรรเทาเบาบาง ทำให้รัฐมีภาพของการเป็นผู้คุ้มครอง เป็นผู้บริการ ทำได้ แต่รัฐยังไม่ยอมทำ แล้วในปัจจุบันก็ยังไม่มีความตั้งใจที่จะทำ ทั้งที่รัฐเป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่งที่จะปลดชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมออกจาก ความหวาดกลัวจนต้องจับอาวุธขึ้นมา รัฐจะเบรคตัววงจรนี้ได้ แต่รัฐจะทำหรือไม่ อยู่ที่ตรงนี้
ถาม ว่ามีทางออกหรือไม่ ทางออกมีอยู่ข้างเดียวคือฝั่งรัฐ ส่วนทางฝั่งของขบวนการ ถ้าเขามุ่งมั่นที่จะทำให้การต่อสู้ของเขาให้มีความชอบธรรม ยกระดับการต่อสู้ให้เป็นการทวงความยุติธรรมให้คนในพื้นที่ เขาต้องยุติความรุนแรงแบบไม่เลือกหน้า ซึ่งถ้าจะบอกว่านี่เป็นสงคราม ก็ใช้กติกาสงครามไป คือคุณไม่สามารถเล่นงานพลเรือนได้ กติกาสงครามมันมีกฎหมายว่าด้วยสงครามอยู่ แล้วก็ใช้กันทั่วโลก ในหลักกุรอานก็มีหลักในการทำสงครามอยู่ ซึ่งทำร้ายคนบริสุทธิ์ไม่ได้ ทำลายพืชผลไมได้ ถ้าจะทำให้เกิดความชอบธรรมในการต่อสู้ คุณก็ยึดหลักอันนั้นไป แต่ทั้งสองฟาก ไม่ยินดียินร้ายกับข้อเสนอเหล่านี้เลย
0 0 0
"...ไม่เชื่อว่ารัฐจะไม่รู้
เพราะรัฐมีตาเป็นสับปะรด ทำไม่จะไม่รู้
แต่เมื่อรัฐรู้ รัฐคิดอย่างไร ต้องให้ชัดเจน..."
ผศ.อับดุลเลาะ อับรู
วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
คำถาม เรื่องการยิงผู้บริสุทธิ์ในสถานการณ์ภาคใต้ เช่น กรณีครูจูหลิง เรามองเราอาจรู้สึกว่า มันไม่น่าจะมีคำตอบทางศาสนา แม้ขบวนการนี้จะอิงศาสนา แต่คำอธิบายทางศาสนามันเหมือนกับไม่มีน้ำหนัก 
ทว่า ในปัญหาความขัดแย้งนี้ เป็นปัญหาของนโยบายโดยรวมหรือปัญหาเชิงมหภาค การจับประเด็นในเชิงจุลภาคไปพูด บางทีไม่สามารถมองปัญหาได้ครอบคลุม ก็เลยเกิดปัญหาอย่างที่เกิด
ใน สถานการณ์สงคราม ถ้าเราไม่มองถึงนโยบายของขบวนการว่า เขามีนโยบายอะไร เขามีข้อห้ามอะไร ถ้าไม่เข้าใจตรงนั้นจะทำให้ไปอธิบายสถานการณ์จากเหตุการณ์เล็กๆ ซึ่งอธิบายตัวการไม่ได้
ใน ขบวนการภาคใต้ มีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในขั้นของจุลภาค การไปจับเรื่องศาสนาขึ้นมานั้นไม่ใช่ เช่น บัญญัติคำสอนโดยรวมทางศาสนาอิสลามบอกว่า อิสลามไม่ให้ฆ่าคนบริสุทธิ์ ถ้าฆ่าคนบริสุทธิ์ก็เท่ากับฆ่าคนทั้งโลก แต่ก็มีบัญญัติในคำสอนของศาสนาเช่นเดียวกันว่า การสร้างข้อครหา มีความผิดบาปมากกว่าการฆ่ากันเสียอีก ดังนั้น คนที่จะอ้างคัมภีร์ของพระเจ้า อยู่ที่เขาจะอ้างในบริบทไหน หรือมิติไหน เราก็ต้องเข้าใจบริบทของมันให้หมดจะได้รู้
ใน ภาวะของสงคราม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป็นไปตามเป้าหมายของสงคราม บัญญัติศาสนาบอกแบบนี้ แต่ปราชญ์ทางศาสนได้อธิบายขยายออกมาอีกแขนง หรือแม้ยึดคำวินิจฉัยสุดท้ายของปราชญ์ขึ้นมา มันก็มีความแตกต่างทางความคิดแบบนี้เยอะแยะไปหมด 
เรื่อง การปกครองตัวเอง ประเทศไทยจะยอมก็ต่อเมื่อมันตันแล้ว และมาเลเซียก็ไม่ใช่คนกลางคงจะต้องเป็นโอไอซี อียู หรือสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม แม้แต่สหประชาชาติเองก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งแรงๆ ในโลกได้ อย่างในแคชเมียร์ ปาเลสไตน์ก็ยังแก้ไม่ได้ ปัญหาของเราเราต้องแก้กันเอง
เวลา เราถึงทางตัน เราคงจะคิดถึงการแก้ปัญหา แต่ถึงตอนนั้นมันคงเละเทะหมดแล้ว ตอนนี้ทำไมเราไม่พูดคุย ทำไมเราไม่บอกว่า จะเอากันอย่างไร ประเทศไทยไม่มีประสบการณ์ ก็อดอาร์มี่เข้ามาเราก็ยิงหัวหมด การยิงหัวเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง
มีทฤษฎีที่ตั้งคำถามไว้ 2-3 แบบ เรื่องลักษณะการแก้ปัญหาของรัฐต่อสถานการณ์ภาคใต้ ลักษณะแรกคือ กลุ่มบุคคลเจ้าหน้าที่ที่มาแก้ปัญหาจริงๆ เช่น สันติวิธี หรือ สมานฉันท์ ดังนั้นพื้นที่ที่ต้องการแก้ปัญหามีอยู่ เพียงแต่ต้องตั้งคำถาม ยกตัวอย่างการ์ตูนทอมแอนด์เจอรี่ที่เคยดูตอนเด็กๆ แมว กับหนูคู่นี้ ถึงจะเป็นคู่กัด แต่ก็เป็นเพื่อนกันในบางกรณี ครั้งหนึ่งมันทั้งคู่อยู่ในที่มืดมิด เจอรี่คิดดีก็เลยจุดเทียนเพื่อให้ความสว่าง ทอมก็เป่าให้ดับอีก เจอรี่จุดอีก ทอมก็ดับอีก จุดแล้วดับๆอย่างนี้ตลอด ทั้งคู่ก็เลยต้องอยู่ในความมืดมิด ถ้าเราจะแก้นโยบายที่จะทำให้สังคม รัฐและขบวนการต้องช่วยกันจุดให้มันสว่างไล่ความมืดมิดให้ออกไป ทำได้หรือไม่ ไม่เชื่อว่ารัฐจะไม่รู้ เพราะรัฐมีตาเป็นสับปะรด ทำไม่จะไม่รู้ แต่เมื่อรัฐรู้รัฐคิดอย่างไร ต้องให้ชัดเจน
บาบอหลายคนบอกว่า คุยกับทหารบางหน่วยไม่ได้ เพราะว่าเขาจึงมีความอาฆาต เขา มีความรู้สึกว่า ถ้าไปเจอกับขบวนการแล้วน่าจะปลอดภัยกว่า เมื่อมันมีความอาฆาตหรือความแค้นเกิดขึ้นเยอะ เป็นเรื่องที่ต้องทำนโยบาย เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไร พื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ผู้ถูกปกครองต้องเข้าใจผู้ปกครอง ไม่ใช่ผู้ถูกปกครองเข้าใจคนที่ปกครอง เช่น ที่ว่าคนมุสลิมเรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง..ก็จริง แต่เพราะเขาเรียนเยอะ เนื่องจากต้องเรียนศาสนาด้วย ดังนั้นทำไมจึงไม่จัดหลักสูตรที่เป็นแบบเขาที่เขาต้องการและรัฐก็ยอมรับ
ประเด็น ต่อไป คือ การถล่มมัสยิดกรือเซะ เรื่องนี้เป็นตราบาปของการเมืองการปกครองน่าเป็นห่วง เพราะในสถานการณ์วิกฤติ ถ้าเอาคนแก้ปัญหาที่คุกรุ่นไปด้วยอารมณ์ มันแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ในภาคใต้ก็มักจะเอาคนแบบนี้มาแก้ปัญหา ก็เลยมีปัญหาไม่สิ้นสุด
 0 0 0
"...กรอบรัฐและชาตินิยม
ทำให้คนในสังคมหรือแม้แต่สื่อโดยรวมไม่สามารถพูดกันรู้เรื่องได้
ถึงเวลาหรือยังที่จะพูดเรื่อง"พื้นที่ปกครองตนเอง..."
ประวิทย์ โรจนพฤกษ์
ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น
ตอน นี้สังคมส่วนใหญ่ควรจะถามว่า คนส่วนใหญ่ควรจะทำอะไรบ้างในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เพราะตอนนี้แม้กระทั่งสื่อสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่าเป็นสื่อคุณภาพทั่วไปก็เริ่ม หมดขันติ คอลัมนิสต์ต่างๆ มีความรู้สึกว่าจะต้องใช้มาตรการรุนแรงมากขึ้น ผมกลัวจะมีเหตุการณ์คล้ายๆ "โคโซโว" คือคนที่เมื่อก่อนรู้จักกัน นั่งกินกาแฟกินชาด้วยกันก็จะลุกมาฆ่ากัน เมื่อรวมกับสถานการณ์ที่ว่ามีการติดอาวุธและเรียกร้องติดอาวุธ มันล่อแหลมมาก
อีก เรื่องหนึ่งที่ขอตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเรียกว่าสมานฉันท์ มันแท้จริงแค่ไหน มองแล้วมีปัญหามากเลย เพราะมันเกี่ยวกับข้อจำกัดหลายอย่าง พูดสั้นๆ ก็คือกรอบรัฐและชาตินิยม ทำให้คนในสังคมหรือแม้แต่สื่อโดยรวมไม่สามารถพูดกันรู้เรื่องได้ ถึงเวลาหรือไม่ที่จะพูดเรื่อง "พื้นที่ปกครองตนเอง"
แม้แต่ ประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังพูดไม่ได้ในสถานการณ์ร่าง รัฐธรรมนูญ ในกรรมาธิการยกร่างที่ชะอำ เคยพูดเรื่องนี้ ก็ถูกตีลงไปอย่างเร็วมาก ข้ออ้างคือ ขืนปล่อยให้มีการเลือกตั้งประเทศต้องถูกแบ่งแยกในที่สุด มันเป็นเรื่องต้องห้าม ความคิดความอ่านของสื่อไทยและสังคมไทยจะคิดถึงเรื่องรัฐปัตตานี ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ มีสิทธิที่จะแบ่งแยกประเทศออกมาเป็นเอกราชหรือไม่
ประการที่ 2 ใน เมื่อเกิดบรรยากาศความกลัว คิดว่าความเป็นจริง คนกลายเป็นเหยื่อของสถานการณ์ อย่างคนในพื้นที่ที่เป็นไทยมลายูมุสลิมก็ชัดเจนว่าถ้าพูดไปก็จะโดน เห็นได้ชัดว่า ไม่สามารถสมานฉันท์ได้เด็ดขาด เพราะไม่มีพื้นที่สำหรับความจริงของคนในสังคม ในการแลกเปลี่ยนกัน มันจึงเป็นสมานฉันท์ที่ถูกตั้งกฎเกณฑ์โดยผู้มีอำนาจและปราศจากมิติความ เข้าใจทั้งประวัติศาสตร์ และทั้งมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การเข้าใจความเป็นไทยที่ยัดเยียดอย่างไม่เข้าใจความละเอียดทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม
ประการ สุดท้ายที่ทำให้ไม่สามารถสมานฉันท์ได้ คือถ้าไม่มีการเคารพซึ่งความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริงกับคน ไม่ว่าจะฝ่ายไหน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐที่มักจะอ้างตัวเองว่ามีหลักการณ์ชัดเจน แต่เหตุการณ์อย่างกรือเซะหรือตากใบ ที่สุดท้ายก็ลงเอยโดยการสิ้นหวังของผู้ที่ประสบเหตุ
อยาก จะจบว่า ความจริงแล้วในสถานการณ์ทั่วไป เวลาคนแต่งงานกัน ถ้าอยู่ไปแล้วมีปัญหา ยังหย่ากันได้ กรณีปัตตานีในแง่ประวัติศาสตร์ รัฐสยามเข้าไปครอบครองก็คล้ายๆ กับผู้หญิงถูกบังคับให้มาแต่งงาน หรือถูกข่มขืน ถ้าสังคมไทยโดยรวม ที่สุดท้ายไม่มีปัญญาหาทางที่จะอยู่ร่วมกันกับไทยมลายูมุสลิมอย่างเคารพซึ่ง กันและกัน ก็ไม่มีข้ออ้างอะไรที่สังคมไทยจะยื้อต่อไป คำถามคือ ต้องตายกันอีกกี่ศพสังคมไทยจึงจะตื่นขึ้นมาหาทางออกที่ดีร่วมกันได้อย่าง สันติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net