Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สุภัตรา ภูมิประพาส


 


เหตุการณ์ที่คณะรัฐประหารส่งทหารพร้อมอาวุธไปเฝ้าสถานีโทรทัศน์บางช่องเมื่อคืนก่อนวันตัดสินคดียุบพรรคผ่านไปกับความเงียบของสื่อมวลชนไทย


เงียบจนวังเวง


มีเพียงแถลงการณ์ของเครือข่าย 19 กันยาฯต้านรัฐประหารที่ออกมาประณามการคุกคามสื่อครั้งนี้ว่า


"... ตราบใดที่มีกองกำลังติดอาวุธอยู่ตามสถานโทรทัศน์หรือสื่อสารมวลชนอื่นใดก็ตาม ก็ยากที่สื่อสารมวลชนนั้น ๆ จะสามารถสื่อความจริงถึงประชาชนอย่างเที่ยงธรรม เพราะอย่างน้อยสื่อมวลชนนั้น ๆ ก็ต้องเซนเซอร์ตัวเอง..."


ความเงียบขององค์กรวิชาชีพสื่อต่อการคุกคามแบบนี้ชวนตีความไปได้ต่างๆ นานา


เพราะเมื่อวันสื่อมวลชนโลก 5 เมษายนปีที่แล้วนี่เอง ที่คนในวิชาชีพสื่อมวลชนไทยทั้งนักข่าว บรรณาธิการ เจ้าของธุรกิจสื่อร่วมพันคนออกมาผนึกกำลังต่อต้านการคุกคามสื่อ พร้อมชูคำขวัญในการต่อสู้ว่า


"คุกคามสื่อ คือคุกคามประชาชน"


ทั้งนี้ 3 องค์กรตัวแทนวิชาชีพสื่อ คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  และสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยยังได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการคุกคามสื่อว่า


"เราจะรวมพลังกันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มแข็งบนพื้นฐานหลักการแห่งจริยธรรมและความถูกต้อง เราเชื่อมั่นว่า เสรีภาพของสื่อ คือ เสรีภาพของประชาชน และการคุกคามสื่อ คือ การคุกคามประชาชน คุกคามประชาธิปไตย และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์สังคมประชาธรรม"


            หนึ่งปีผ่านไปไวเหมือนโกหก!


องค์กรวิชาชีพสื่อและสื่อมวลชนทั้งหลายนิ่งเฉยกับการที่มีกองกำลังทหารพร้อมอาวุธไปคุมเชิงสถานีโทรทัศน์ และแทบไม่มีการรายงานการคุกคามสื่อครั้งนี้ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เลย และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อมวลชนไทยวางเฉยกับปรากฏการณ์คุกคามสื่อของคณะรัฐประหาร เพราะนับตั้งแต่มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหาร และรัฐบาลของคณะรัฐประหารแทรกแซงและคุกคามสื่อและการสื่อสารของประชาชนนับครั้งไม่ถ้วนและสารพัดรูปแบบ ทั้งการสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนหลายร้อยสถานี การเซ็นเซอร์บุคคลและรายการบางรายการไม่ให้ออกอากาศ การปิดเวบไซด์ การเชิญบรรณาธิการข่าวไปพบเพื่อ "ขอความร่วมมือ"  รวมไปถึงการคุกคามสื่อมวลชนต่างประเทศอีกหลายสำนัก


แต่พฤติกรรมทั้งหมดเหล่านี้ของคณะรัฐประหารได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสื่อทั้งหลาย คือไม่มีการประท้วงใดๆ ว่าพฤติกรรมทั้งปวงที่คณะรัฐประหารกระทำต่อสื่อนั้นเป็น "การคุกคามสื่อ"  ทั้งบางครั้งสื่อมวลชนทั้งหลายยังให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหารต่อต้านสื่อที่มีความเห็นต่างจากคณะรัฐประหารอีกด้วย


นอกจากนี้ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนบางกลุ่มบางคนยังตีความว่า "การขอร้อง" ของคณะรัฐประหารนั้นเป็นไปอย่างเปิดเผย และไม่ใช่เป็นการปิดกั้น ตามที่ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวในการอภิปรายกับชุมชนชาวไทย ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เมืองชตุทท์การ์ต ประเทศเยอรมณี เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ...หลังจากการรัฐประหาร คมช. และรัฐบาล เป็นผู้ใช้อำนาจในการปิดกั้นสื่อ แต่ต่างจากยุครัฐบาลทักษิณคือ การควบคุมสื่อเป็นไปอย่างเปิดเผย โดยเป็นการขอร้อง ไม่ใช่การปิดกั้น และสื่อส่วนใหญ่มักเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censored) จากการเสนอข่าวที่มีความอ่อนไหวสูง (sensitivity)...


เมื่อเดือนที่แล้ว องค์กรสากลเพื่อเสรีภาพชื่อ ฟรีดอมเฮ้าส์ เพิ่งจะรายงานผลการสำรวจล่าสุด "ความเป็นอิสระของสื่อสารมวลทั่วโลก" ว่าถดถอยลงอย่างมาก  ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ความเป็นอิสระของสื่อถูกจัดอยู่ในภาวะถดถอยและย่ำแย่ที่สุดภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีเพื่อนร่วมภูมิภาคที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มย่ำแย่ประมาณเดียวกัน คือ ศรีลังกา ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และฟิจิ


            ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณะรัฐประหารไทยจะมีปฏิกิริยาตอบสนองแบบเดียวกันกับคณะรัฐประหารในประเทศอื่นๆ คือปล่อยให้เสียงของประชาคมโลกแบบนี้ผ่านไปเหมือนสายลม


            แต่การวางเฉยของสื่อมวลชนไทยต่อการคุกคามสื่อแบบที่เป็นอยู่นี้ ไม่เพียงแต่แตกต่างจากสื่อมวลชนประเทศอื่นๆ ที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อเสรีภาพสื่อในสถานการณ์รัฐประหาร ความเงียบของสื่อมวลชนไทยในสถานการณ์รัฐประหารนั้นยังขัดกับคำประกาศที่ทั้งนักข่าว บรรณาธิการ เจ้าของสื่อกว่าพันคน รวมทั้งองค์กรวิชาชีพสื่ออีก 3 องค์กรร่วมกันประกาศไว้เมื่อปีที่แล้ว


            คำประกาศ 13 ข้อนั้นถูกเผยแพร่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษต่อประชาคมโลก


            ข้อหนึ่งแห่งคำประกาศนั้น ความว่า


"เราสื่อมวลชนทั้งหลายขอต่อต้านการคุกคามสื่อในประเทศไทยทุกรูปแบบ เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่า สื่อมวลชนไทย ทั้ง หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และสื่อแขนงอื่นๆ ไม่อาจยอมรับพฤติกรรมการคุกคามสื่อที่เกิดขึ้นได้ในทุกกรณี ทั้งในอดีตและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


             "เราเรียกร้องให้หยุดการคุกคามสื่อในทันที เราถือว่า การคุกคามสื่อมวลชนใดๆ ไม่ว่าหนังสือพิมพ์หรือวิทยุโทรทัศน์ แม้เพียงสื่อเดียวหรือเพียงคนเดียวก็ถือว่าเป็นการคุกคามสื่อมวลชนทั้งมวล"


            หนึ่งปีผ่านไปไวเหมือน "โกหก" จริงๆ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net