บทความ - การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรม ของวัดสองฝั่งโขง

อรรคพล สาตุ้ม

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นตอนที่ 1 ของบทความชุด  "การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมและระบบนิเวศของวัด"  ซึ่งปรับปรุงเพิ่มเติม และตัด เชิงอรรถกับบรรณานุกรมบางส่วนออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอในเวบไซต์ประชาไท  โปรดดูเพิ่มเติมในผลงานชื่อหัวข้อเดิม คือ การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ : คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมระบบนิเวศของวัดในชุมชนชายแดนสองฝั่งโขง ในวารสารชุดภูมิภาคศึกษา  สำหรับรวมบทคัดย่อและข้อเขียน  อาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท ภูมิภาคศึกษา ปีที่1 ฉบับที่1 ,2549: 90-103  และ บทความนำเสนอ ใน การประชุมทางวิชาการระดับชาติ สาขาสังคมวิทยา ครั้งที่ 3 เรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการพัฒนาภูมิภาคนานาชาติ 15-16 ธันวาคม 2549 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

 


ภาพแผนที่มีแม่น้ำของ (หรือแม่น้ำโขง) ในสมัยอยุธยา  ซึ่งแสดงชื่อเมือง และสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา มีเจดีย์ รอยพระพุทธบาท เป็นต้น  ( ที่มา: สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยาหมายเลขที่ ๖ )

 

บทความชุดนี้ มุ่งเน้นนำเสนอถึงการเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ รวมถึงวัดในชุมชนของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย และชุมชนในเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งเป็นวัดในชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้แม่น้ำโขงโดยเบื้องต้นด้วยข้อมูลเอกสารและการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล  เพื่อวิเคราะห์ถึงการก่อสร้างศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรม และการเปลี่ยนแปลงของแผนที่รัฐสยาม โดยผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐชาติสยามได้เขียนแผนที่ดังกล่าว อาจจะส่งผลต่อผลกระทบต่อวัดและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง 

 

โดยบทความนี้ ได้นำแนวคิด ""คติจักรวาลในไตรภูมิ" ที่ในอดีตนิยมใช้ตีความตามความหมายของสถาปัตยกรรมเก่า กับหลักเหตุผลของช่างในการสร้างสรรค์รูปแบบศิลปกรรมและจินตนาการของแนวคิดภูมิสถาปัตยกรรม  ซึ่งสะท้อนโลกทัศน์ทางระบบนิเวศ หรือ สิ่งแวดล้อมของชุมชน

 

ทั้งนี้เปรียบเสมือนกับการสร้างบ้านของเราเอง ที่ตัวเราสามารถกำหนดออกแบบสร้างสถาปัตยกรรมของบ้านเราในรูปแบบที่มีสัญลักษณ์ต่อตัวเราเอง ซึ่งคงไม่มีใครคิดที่จะสร้างบ้านโดยไม่มีความหมายสำหรับตัวเขาเอง และคงไม่มีการออกแบบตกแต่งใดไร้ซึ่งความหมายโดยสิ้นเชิงของยุคปัจจุบัน ตามตรรกะนี้เราจะได้รู้จักและเข้าใจภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งคำว่า "ภูมิ"  นิยามความหมายแรกว่า แผ่นดิน ที่ดิน  ความหมายที่สอง คือ พื้น ชั้น พื้นเพ (ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Land) ส่วน "ภูมิสถาปัตยกรรม" อ่านออกเสียงว่า พู-มิ-สะ-ถา-ปัด-ตะ-ยะ-กัม มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Landscape architecture" คือศาสตร์และศิลป์ในการวางแผน และจัดการที่อยู่อาศัย-ที่ดินสำหรับมนุษย์อยู่อาศัยกัน

 

การย้อนดูนิยามของสถาปัตยกรรมนั้น เพื่อเป็นการศึกษาสถาปัตยกรรมในเชิงระบบการก่อสร้างการจัดแบ่งพื้นที่ที่สนองความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตทางกายภาพอันเป็นเนื้อแท้โดยตรงทาง "สฺถาปัตฺย กรฺมนฺ" หรือสถาปัตยกรรมเพียงด้านเดียวย่อมไม่ครอบคลุมความหมายได้ทั้งหมด เพราะสถาปัตยกรรม คือวิชาการก่อสร้าง ซึ่งสมัยโบราณเรียกว่า "นวกรรม" แต่นวกรรมนั้นรวมเอาวิชาช่างแขนงอื่นๆเข้าไปด้วย เช่น ช่างเขียน ช่างปั้น งานสถาปัตยกรรมเป็นศัพท์บัญญัติขึ้นการสืบสาวที่มาของคำว่า สถาปัตยกรรม หรือ "สฺถาปัตฺย" ( น่าจะมาจาก "ฺถาปตฺย" การวาง,การกำหนดหรือที่อาศัย) กับ "กรฺมนฺ" (การกระทำ) สถาปัตยกรรมมิใช่เป็นผลผลิตทางการแก้ปัญหาทางด้านเทคนิควิทยาการก่อสร้างเท่านั้น

 

แต่สถาปัตยกรรมยังเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์และความต้องการที่อยู่เหนือสภาวะทางกายภาพอันลี้ลับ เพื่อขจัดความกลัว และสร้างความหวังที่เป็นอุดมคติให้แก่ชีวิตอันเป็นระบบความเชื่อต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ที่อยู่นอกเหนือความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ประเพณีคติความเชื่ออันยังผลให้เกิดโลกทัศน์นั้น ถือได้ว่าเป็นคลังความรู้ที่สำคัญของท้องถิ่นที่คนยุคปัจจุบันไม่ควรละเลย (วิวัฒน์ เตมียพันธ์. 2534 : 201-202) ดังนั้นการกล่าวถึงแนวคิดปรัชญา หรือโลกทัศน์มีความสลับซับซ้อนมาก ถ้าอธิบายอย่างสื่อเข้าใจง่ายแล้ว จึงต้องนิยาม หรือยกตัวอย่างเชิงอุปมาอุปมัย เปรียบเทียบสถาปัตยกรรมกับบ้าน เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนจะได้ไม่ถูกกล่าวหาด้วย "อคติ"ว่าตีความเอาเอง และสื่อความหมายไม่ได้แล้ว

 

เมื่อเรามองดูความงามทางสถาปัตยกรรม เราสามารถมองเห็นถึงหลักฐานมากมายของความสัมพันธ์เกี่ยวกับการผลิตวัฒนธรรม ในความแตกต่างแต่ละสังคม และยุคตามประวัติศาสตร์ จากความรู้สั่งสมกันมาเป็นการใช้หลักฐานรูปแบบศิลปกรรม ดังเช่นมีการสำรวจหาแนวทางการวิจัยทางศิลปะ และสถาปัตยกรรม ล้านนา ช่วงที่เปรียบเหมือนก่อแนวคิดเพิ่มมุมมองวางรากฐานทางการศึกษาสถาปัตยกรรม และบทความนี้สะท้อนการพยายามหาพรมแดนความรู้แนวทางสร้างสรรค์ศึกษาเพิ่มจากความคิดอันหลากหลายนั่นเอง

 

นอกจากกรอบความคิด ระเบียบวิธีวิจัย ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะ การกำหนดอายุ ประติมานวิทยา ฯลฯ  อย่างไรก็ตามบทความนี้ใช้หลักฐานร่วมสมัยกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นกับเอกสารชั้นรองที่อ้างอิงกันมาแล้ว ทั้งของไทยและต่างชาติ ที่มีการตีความและเลือกวิพากษ์ สังเคราะห์ เอกสารทั้งปัจจัยภายในกับภายนอกของการก่อตัวเป็นประเทศ และผู้วิจัยต้องการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตำนานการเดินทางของพระพุทธเจ้ามายังสถานที่ในล้านนา (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ใน ขวัญชีวัน บัวแดง . 2545  :198) และสืบเนื่องมาถึงภาวะการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่เปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของล้านนากับอยุธยา (อุษณีย์ ธงไชย. 2526 : ภาคผนวก ก.) โดยตั้งแต่ปลายอยุธยา การปรับตัวทางพุทธศาสนา ด้านเหตุผลเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจและ มีการใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือควบคุมคน ดังที่ว่าแนวคิดรัฐพุทธ มีอิทธิพลทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อรรคพล สาตุ้ม 2545: 37)และถือว่าวัดมักเป็นเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ในการปรากฏตามลำดับชั้นโดยแกนกลางของชีวิต (เอเดรียน สนอกราส. ภัทรพร สิริกาญจน และธรรมเกียรติกันอริ.2541 :275)

 

ดังนั้น "ความเป็นวัด" กับคติจักรวาลจะเกี่ยวข้องสัญลักษณ์ของระบบจักรวาลอันประกอบด้วยเขาพระสุเมรุ ทวีป ภูเขา และมหาสมุทร ก็ถูกแปรความหมายจากโดยคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง ที่มีภูมิทั้งสาม แต่ละภูมิยังประกอบไปด้วยภูมิย่อยๆ ในที่สุดความหมายได้คลุมไปถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ อีกมากมาย จนเกิดเป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงเกี่ยวกับคัมภีร์ทางพุทธศาสนาต่างๆ โดยมีหลักฐานสมัยพระเจ้าลิไทแห่งกรุงสุโขทัย เน้นหลักการข้อที่เกี่ยวกับบารมีสูงสุดที่กษัตริย์พึงมี ไตรภูมิกถาฉบับนั้น ก็ได้แก้ไขให้พระมหาสมมติราชเป็นพระโพธิสัตว์นั้นดำรงอยู่สืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ คือ ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ซึ่งมีเรื่องการปกครองอันเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับ ในตอนต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งแตกต่างจากยุคสุโขทัย ที่เนื้อความส่วนนี้ไตรภูมิพระร่วงเอาไปไว้หลังสุด

 

แต่ไตรภูมิโลกวินิจฉัยเอาไว้เบื้องแรกทีเดียว นอกจากนี้ยังน่าเป็นไปได้อย่างมากกว่าไตรภูมิโลกวินิจฉัย อาศัยข้อความจากอัคคัญญสูตร ในขณะที่ไตรภูมิพระร่วงไม่ได้ใช้อัคคัญญสูตรเลย เพราะมีถ้อยคำบางตอนที่มีอยู่แต่ในอัคคัญญสูตร และไม่ปรากฏในอรรถกาฎีกาอื่นๆ เช่น เป็นต้นว่ามนุษย์คนแรกที่คิดสะสมอาหารนั้นทั้งอัคคัญญสูตรและไตรโลกวินิจฉัย วิเคราะห์สาเหตุว่ามาจากความเกียจคร้าน ในขณะที่ไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่าเป็นความโลภเพราะเกิดตั้งครอบครัวขึ้น แม้จะได้ใช้อัคคัญญสูตรในการเขียนแต่ก็หาได้ชำระให้ยุติตามพระบาลีไม่ เพราะปรากฏว่าไตรโลกวินิจฉัยก็ยังยืนยันที่จะให้พระมหาสมมติราชเป็นโพธิสัตว์อยู่นั่นเอง แม้ว่าทั้งในอัคคัญญสูตร และอรรถกถาฎีกาทั้งหมดไม่ได้กล่าวเช่นนั้น

 

ความนอกบาลีที่สำคัญที่สุดในไตรภูมิโลกวินิจฉัยเห็นจะได้แก่ เนื้อความที่เล่าถึง เมื่อน้ำเริ่มลดก่อนที่จะเกิดโลกขึ้นนั้น แผ่นดินแรกที่โผล่พ้นน้ำ เมื่อคำนึงด้วยเหตุผลตามหลักโลกภูมิของพุทธศาสนาก็น่าจะเป็นเขาพระสุเมรุ แต่ไตรโลกวินิจฉัยกลับให้โพธิบัลลังก์ ซึ่งพระพุทธเจ้าจะประทับตรัสรู้เป็นส่วนแรกที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำก่อน ทั้งมีอธิบายว่า อันหนึ่ง อันว่าศรีษะแผ่นดิน อันเป็นที่ตั้งบัลลังก์พระมหาโพธิเป็นที่ถวายพุทธาภิเษก ทรงพระวิมุตติเศวตรฉัตรนั้น เมื่อโลกจะฉิบหาย ที่อันนั้นก็ฉิบหายต่อภายหลัง เมื่อโลกตั้งขึ้นที่นั้นก็ตั้งขึ้นก่อน…ที่นั้นจึงชื่อว่าศีรษะแผ่นดิน ด้วยอรรถว่าเป็นประธานแก่พื้นชมพูทวีป… การเปลี่ยนหลักของโลกจากเขาพระสุเมรุมาเป็นโพธิบัลลังก์นั้นมีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อแนวคิดที่เกี่ยวกับกษัตริย์และรัฐ เพราะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล กษัตริย์มิได้เป็น เทวะของโลกที่สถิตอยู่เหนือเขาพระสุมรุ แต่กษัตริย์เป็นพุทธะของโลก ซึ่งจะยังความหลุดพ้นแก่สรรพสัตว์ทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณ การที่กษัตริย์ทรงเบ็ด จึงเป็นความผิดมหันต์ เพราะเท่ากับทรยศต่อหน้าที่ของตนเองในการนำประชาชนไปสู่ความหลุดพ้นตามวาสนาบารมีของแต่ละคน ( นิธิ เอียวศรีวงศ์.2523:53-57 )

 

อนึ่ง ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ในการอธิบายวงจรของจักรวาล การกำเนิดโลกและมนุษย์ มีการวิเคราะห์เนื้อความด้านการปกครองโดยเกี่ยวข้องพระมหากษัตริย์นี้ ถูกเน้นขึ้นใช้ในไตรภูมิเพื่อเฉพาะยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์ การปรับแนวคิดนี้เพื่อเหตุผลทางการเมืองในการสร้างความชอบธรรมทางการปกครอง และความคิดทางพุทธศาสนา ก็สะท้อนแง่คิดทางการเมือง ในช่วงเวลาที่สำคัญ และมีการสืบทอดแนวคิดมาถึงในช่วงรัชกาลที่ 4-5 ที่กำลังจะเกิดความเป็นรัฐชาติ ฉะนั้นอิทธิพลของพุทธศาสนาถูกปรับใช้และนิยามใหม่ เช่น การปรับตัวทางความรู้พุทธศาสนาในรากฐานความรู้ ความจริงเชิงประจักษ์ทางกายภาพ และการรับรู้ธรรมชาติแบบใหม่ในแผนที่สมัยใหม่ อันเกี่ยวข้องบนพื้นฐานความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น

 

จนกระทั่งหลังยุครัชกาลที่ 6 ได้มีการวิวาทะขึ้นของอุตตรกุรุทวีปในไตรภูมิโดยนายผีหรืออัศนี พลจันทร์ ( เกษียร เตชะพีระ 2536:188-190) ผู้เขียนบทกวีเกี่ยวกับน้ำของ ก็ปรับใช้ความคิดไตรภูมิ อธิบายในการเข้าถึงอุตตรกุรุทวีป-ยุคพระศรีอาริย์ แบบมารก์ซิสม์ (หรือยุคปัจจุบันก็มีการใช้แนวคิดรื้อสร้างในไตรภูมิ) และจะเห็นได้ว่าความรู้ ความคิดจากคติจักรวาลไตรภูมิได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมือง และ ศิลปวัฒนธรรมในยุคจากสยามกลายเป็นไทย

 

ดังนั้นอิทธิพล "แนวคิด" คติจักรวาลในไตรภูมิ แพร่กระจายไปทั่วทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงควรนำเอาแนวคิดไตรภูมินี้ มาศึกษาและปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาสังคมกับระบบนิเวศ จากการศึกษาด้านคติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมในวัดของสองชุมชนฝั่งโขง.

 


ทิวทัศน์ของวัด ที่อยู่ฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บันไดนาคของวัดธาตุสุวรรณผา (หรือวัดตีนธาตุ) มุ่งสู่แม่น้ำโขง

 

ข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยในบทความชุดนี้

ประเด็นของการวิจัยในบทความ คือ (1)การเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้เกิดขึ้นเพราะอะไร  (2)คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมระบบนิเวศของวัดในชุมชนชายแดนสองฝั่งโขง เป็นอย่างไร จึงเกี่ยวข้องกับโบราณคดี และบริบทประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์ศิลปะ และวิธีการศึกษาโดยแนวคิดในคติจักรวาลของไตรภูมิ และวิธีวิทยาโดยการอ่านสัญญะ คือ คติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรม ทำให้ความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้จากการสังเกตภูมิทัศน์ธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เหมือนกับเราอ่านหนังสือ (ชูศักดิ์ วิทยาภัค. 2545:11) เพื่อใช้แนวคิด"ถอดรื้อ" ออกจาก "วาทกรรมความรู้" ในกระแสการเปลี่ยนแปลงพรมแดนภายใต้การพัฒนาของรัฐ ที่มีส่วนเปลี่ยนคติทางศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมของวัด และ "ชุมชนชายแดนติดแม่น้ำโขง" ดังกล่าว เพื่อให้เข้าใจความรู้และนำเอาไปปรับใช้กับนโยบายการพัฒนาแก่ชุมชน

 

โดยมีระเบียบวิธีวิจัย คือ

1.1 วิจัยเอกสาร   ข้อมูลเอกสารและ หลักฐานโบราณคดี และประวัติศาสตร์-ศิลปะ

1.2 วิจัยภาคสนาม เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ที่วัดในชุมชนอำเภอเชียงของ และห้วยทรายโดยชี้ให้เห็นว่า"สมมุติฐาน" ที่มีเกี่ยวข้องในรูปแบบ เมื่อผังวัดเปลี่ยนแปลงสะท้อนสิ่งสำคัญต่อโลกทัศน์ทางพุทธศาสนา ดังกรณีตัวอย่าง ที่ปรากฏเกี่ยวกับสมุดภาพไตรภูมิ มีภาพจิตรกรรมแผนที่ชื่อแม่น้ำของ เพราะ มีอิทธิพลไตรภูมิพระร่วง ซึ่งสร้างขึ้นรวบยอดในองค์ความรู้ โดยอาศัยคัมภีร์ต่างๆ ที่มีเนื้อความในเรื่องกล่าวถึงจักรวาลวิทยา ปรัชญา จริยศาสตร์ ชีววิทยา ความคิด ความเชื่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยข้อธรรมที่สำคัญ คือ ละเว้นกรรมชั่ว ประกอบกรรมดีแก่คน จึงเลือกประเด็นนำมาวิเคราะห์วัดในชุมชนชายแดนสองฝั่งโขง โดยเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงพรมแดนความรู้ คือ พรมแดนของแผนที่ และพรมแดนความรู้ทางคติศิลปะ-ภูมิสถาปัตยกรรมสะท้อนระบบนิเวศของวัด เพราะเหตุแห่งประวัติศาสตร์ ดังจะกล่าวถึงในตอนต่อไป ...

 

................................

อ้างอิงบางส่วน

 

เกษียร เตชะพีระ. (ก..2536) แฮปปี้แลนด์ของซ้ายไทย วิวาทะอุตตรกุรุ: อัศวพาหุ VS ศรีอินทรายุธ. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่14.9 ::188-190

 

ขวัญชีวัน บัวแดง. 2545. ขบวนการ "ลัทธิฤาษี" และ "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" ของคนกะเหรี่ยงชายแดนไทย-พม่า สังคมศาสตร์ วารสารทางวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 :198

 

ชูศักดิ์ วิทยาภัค. วันที่ 2-3 สิงหาคม 2545. นักสังคมศาสตร์บนถนนสายสิ่งแวดล้อม:จากนิเวศวิทยาวัฒนธรรม สู่นิเวศวิทยาการเมือง และนิเวศวิทยาปลดปล่อย บทความเสนอในการประชุมวิชาการเพื่อเป็นเกียรติแด่อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ในวาระครบ 60 ปี. ณ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : 11

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์.2523.ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา สำนักพิมพ์บรรณกิจ กรุงเทพฯ.

 

วิวัฒน์ เตมียพันธ์. 2534. ที่อยู่อาศัย.  ใน เอกสารรวมบทความจากการประชุมสัมมนาวิชาการ

 

อรรคพล สาตุ้ม. 2545. "แนวคิดทางการเมืองการปกครองสังคมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรม" จุลสารเอเชียศึกษา  เอกสารวิชาการ ลำดับที่ 3 /2545 โดยโครงการเอเชียศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อุษณีย์ ธงไชย. 2526. ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและลานนาไทย : .. 1839- 2310  วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เอเดรียน สนอกราส ภัทรพร สิริกาญจน และธรรมเกียรติกันอริ.2541.สัญลักษณ์แห่งพระสถูป,กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท