Skip to main content
sharethis


นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแต่งชุดดำ ฉีกสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 ขณะแถลงข่าวไม่รับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ของ คมช. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 49 (แฟ้มภาพ)


วันนี้ (4 มิ.ย.) ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.midnightuniv.org) ได้มีการออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "ความฉ้อฉลในการลงประชามติ" มีเนื้อหาตั้งข้อสังเกตถึงการที่กลุ่มผู้ยึดอำนาจใช้สื่อของรัฐมีการโฆษณาชวนเชื่อด้วยความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงประชาชนให้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550


ในแถลงการณ์ยังมีการตอบโต้คำพูดของฝ่ายอำนาจรัฐที่ว่าการไม่รับรัฐธรรมนูญปี 50 จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้งและเลือกตั้งช้าว่า หากประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้สังคมไทยมีอำนาจต่อรองในการกำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมากกว่า คมช. โดยให้เหตุผลว่าพลังในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยผ่านการลงประชามติ ย่อมทำให้ คมช. ต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น


 






แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "ความฉ้อฉลในการลงประชามติ"


ในขณะที่การลงประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เริ่มขึ้น กลับมีพฤติกรรมของกลุ่มผู้ยึดอำนาจที่จะทำให้ประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถสะท้อนความเห็นของประชาชนได้อย่างสุจริตเสียแล้ว เพราะกลุ่มผู้ยึดอำนาจได้ใช้สื่อของรัฐ โดยเฉพาะสถานีวิทยุในสังกัดกองทัพ และโทรทัศน์บางช่อง โฆษณาชวนเชื่อด้วยความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงประชาชนในการลงประชามติให้รับร่างรัฐธรรมนูญ พ .ศ.๒๕๕๐


ความอันเป็นเท็จสองประการที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนใคร่ขอชี้แจงความจริงแก่พี่น้องประชาชนก็คือ


๑. สถานีวิทยุในสังกัดกองทัพได้ออกอากาศเพลงเชิญชวนให้ประชาชนออกเสียงรับรองร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสฉลองพระชนมายุ ๘๐ พรรษา


แท้จริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระมัดระวังมิได้แสดงพระราชมติในเรื่องการรับรองรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ฉะนั้นไม่ว่าพี่น้องประชาชนจะออกเสียงในการลงประชามติไปในทางหนึ่งทางใด ก็ไม่ได้กระทบต่อพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น การกล่าวความอันเป็นเท็จเช่นนี้ คือการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาพัวพันทางการเมืองอย่างเปิดเผย หากประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นพระราชประสงค์จริง ย่อมนำความเสื่อมเสียมาแก่สถาบันพระมหากษัตริย์และวิถีทางของประชาธิปไตยอย่างมาก


๒. โฆษกโทรทัศน์บางช่อง และผู้มีบทบาทในสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ตาม มักกล่าวเสมอว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการรับรองในการลงประชามติ จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง แท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๔๙ ได้กำหนดชัดเจนว่า หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.มีหน้าที่เลือกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง มาแก้ไขปรับปรุงแล้วประกาศใช้ภายใน ๓๐ วันหลังวันลงประชามติ รัฐธรรมนูญที่เคยใช้มาทั้งหมด (ไม่นับรัฐธรรมนูญและธรรมนูญของคณะรัฐประหารชุดต่างๆ) ล้วนย่อมมีฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น ฉะนั้นถึงอย่างไรจะใช้รัฐธรรมนูญนั้นๆ ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


จริงอยู่ คมช. อาจเลือกรัฐธรรมนูญฉบับที่ล้าหลังกว่าร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ หรืออาจแก้รัฐธรรมนูญบางฉบับให้ตรงตามความต้องการอันไม่ชอบธรรมของตน และอาจมีบทเฉพาะกาลที่ผัดผ่อนการเลือกตั้งออกไปให้เนิ่นนาน แต่ไม่ควรลืมด้วยว่า คมช. ไม่อาจเลือกและแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในสุญญากาศ หากต้องกระทำท่ามกลางกระแสสังคมที่ตื่นตัวขึ้นมาตัดสินใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของตนแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะกดดันโดยสงบให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับซึ่งตนพอใจที่สุด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ โดยการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้สังคมไทยมีอำนาจต่อรองในการกำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมากกว่าคมช. เพราะพลังในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยผ่านการลงประชามติ ย่อมทำให้คมช.ต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น และแน่นอนว่า สังคมย่อมมีพลังต่อรองมากกว่าการยอมรับรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยคนซึ่งคณะรัฐประหารไว้วางใจแต่งตั้งขึ้นเอง


หากจะมีการลงประชามติเพื่อรับหรือปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญ พี่น้องประชาชนควรมั่นใจว่ากระบวนการลงประชามติต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม โดยไม่ถูกฉ้อฉลด้วยการโฆษณาชวนเชื่อที่ฝ่ายอำนาจปั้นแต่งขึ้น


ดังนั้น ถ้าท่านเห็นพ้องด้วยกับแถลงการณ์ฉบับนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนใคร่ขอความร่วมมือทุกท่าน ช่วยกันเผยแพร่แถลงการณ์นี้ต่อๆ กันไปให้กว้างขวาง โดยวิธีอีเมล์ลูกโซ่หรือแฟกซ์ลูกโซ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net