Skip to main content
sharethis

สุรพล ธรรมร่มดี


 


ในกระบวนการจัดตั้งการเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงการประชุมกลุ่มประเทศ G8กลุ่มเข้าร่วมที่สำคัญ คือ บรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่ถูกเรียกขานว่าเป็น "ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมสากล"


(Movement for global justice) ขณะเดียวกันก็มีเครือข่ายของกลุ่มปีกซ้ายราดิคัลที่เข้ามาเชื่อมโยงกันอย่างกว้างวางภายใต้นามว่า กลุ่ม Interventionist lefts


 


ทั้งสองปีกเป็นการผสานเข้าด้วยกันของแนวทางปฏิรูปกับแนวทางฝ่ายซ้าย ความสำเร็จของการรวมตัวนี้ทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้นับได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของเยอรมนีนับตั้งแต่การประท้วง G8 ที่เมืองโคโลญ ปี ค.ศ.1999 นับเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้


 



มหาอำนาจทุนนิยมครอบงำโลกของเรา


 


กลุ่มการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูป


กลุ่มที่มีแนวทางเพื่อทางออกในเชิงปฏิรูปสังคมนี้ ประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนถึง 40 แห่ง ได้ร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อเข้าร่วมต่อต้านการประชุม G8 สิ่งที่กลุ่มเหล่านี้ดำเนินการ คือ การจัดการประชุมเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องและทางออกด้วยการเจรจากับรัฐบาลต่างๆ และเชิญชวนสมาชิกให้เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วง และการสัมมนาว่าด้วยทางออกของขบวนการทางสังคม( Alternative summit)


 


ส่วนพรรคการเมืองแนวปฏิรูปนั้นเล่า มีพรรครัฐบาลอย่างพรรคอนุรักษ์CDUเข้าร่วม แต่พรรคกรีนกลับ


ไม่ได้เข้าร่วม หรือแม้แต่ลงนามในความร่วมมือเพื่อเคลื่อนไหวประท้วงจีแปด แม้ว่าพรรคนี้มักบอกว่า


พรรคเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคมเสมอ มีเพียงพรรคซ้าย (Left party) เท่านั้นที่เข้าร่วมอย่างตั้งใจ และพร้อมจะประท้วงG8 อย่างเต็มที่


 


ส่วนทางศาสนจักรที่ทำงานกับคนรากหญ้า กลุ่มนี้เรียนรู้ปัญหาสังคมจากการเข้าไปทำกิจกรรมให้ความช่วยเหลือ เมื่อมีการประท้วงจีแปด เป็นช่วงเดียวกันที่ศาสนจักรมีการจัดประชุมผู้นำทางศาสนาด้วย กลุ่มนี้สนับสนุนไปประท้วงที่รอสต็อค แม้ว่าจะด้วยวิธีการต่อสู้ที่นุ่มนวลเช่น การสวดมนต์ และจุดเทียน


 



ต่อต้านทุนนิยม


 


กลุ่มปีกซ้ายราดิคัล


ในกลุ่มปีกซ้ายราดิคัลนี้ ได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มฝ่ายซ้ายกลุ่มต่างๆเป็นเครือข่าวในนามกลุ่มInterventionist left กลุ่มฝ่ายซ้ายเหล่านี้เคยเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในวงจำกัด และปลีกห่างจากฐานมวลชน ทว่าสองปีก่อนหน้านี้ พวกเขาเอาชนะบทเรียนนี้และเริ่มเชื่อมโยงกลุ่มตนเข้ากับชุมชน โรงงาน และสถานศึกษา เป็นต้น


 


โดยมีศูนย์ปฏิบัติงานที่เบอร์ลิน กลุ่มเหล่านี้ได้แก่ กลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์ กลุ่มSWP หรือพรรคคนงานสังคมนิยม กลุ่ม Black Box กลุ่ม Fantomas นิตยสารฝ่ายซ้าย เป็นต้น ในกรณีการประท้วงจีแปด กลุ่มนี้จะจักิจกรรมปิดกั้นการคมนาคมในช่วงการประชุมจีแปด


 


กลุ่มที่น่าสนใจอีกกลุุ่มหนึ่งคือ เครือข่าย Dissent ประกอบด้วยพวกอนาธิปไตย เช่น โอโตโนมัส กิจกรรมสำคัญคือการสร้างเว็ปไซด์เผยแพร่การประท้วงG8 และช่วยสร้างบรรยากาศการชุมนุมให้ราบรื่น เช่น เตรียมอาหาร ดนตรี ห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้นเพื่อบริการผู้มาชุมนุม


 


กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มนิยมทรอตสกี้ กลุ่มนี้พบเห็นได้ชัดในการจัดตั้งกลุ่มยามประท้วงตามท้องถนน มีการจัดแถวยืนเรียงกัน และมีคำตอบบอกกล่าวชัดเจนกับคำถามสำคัญที่ผู้คนจะสงสัย พวกนี้ต้องการเข้ามาส่ง


อิทธิพลเพื่อช่วงชิงมวลชนในท่ามกลางการเคลื่อนไหว ด้วยทางออกของซ้ายใหม่


 



โลกใหม่เป็นไปได้


 


ความสำเร็จอยู่ที่Attack


การที่กลุ่มฝ่ายต่างๆทั้งปีกปฏิรูป และปีกซ้ายมารวมกันได้อย่างเข้มแข็ง ก็เพราะทุกฝ่ายให้การยอมรับในองค์กรAttack การที่Attackกลายเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายนี้ได้อาจเป็นเพราะตำนานของAttackที่เป็น


การรวมตัวกันใหม่ของฝ่ายซ้ายอีกครั้งภายหลังจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในปี๑๙๘๙ กิจกรรมเคลื่อนไหวในประเด็นการต่อต้านการค้ากำไรในตลาดการเงินสากลที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆปั่นป่วนจนเกิดวิกฤต คือความสำเร็จสำคัญขององค์กรนี้ในฝรั่งเศส จากนั้นเกิดAttackในประเทศต่างๆโดยเฉพาะในยุโรป


 


ที่เยอรมนี Attackกลายเป็นศูนย์รวมของกลุ่มฝ่ายต่างๆ บรรดาฝ่ายซ้ายที่ผิดหวังกับองค์กรหรือพรรคแบบเดิมที่คับแคบกับความคิดและทางออกแบบเดียว และในการจัดตั้งก็ไม่เปิดพื้นที่ให้สมาชิกได้คิดและลองทำกิจกรรมในแนวทางต่างๆบ้าง ต่างหันมาเข้าร่วมกับAttackเพราะเปิดกว้างให้มีความเห็นที่แตกต่างในประเด็นต่างๆ และเปิดโอกาสให้สมาชิกคิดค้นการเคลื่อนไหวอย่างเสรี


 


ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อAttackถูกวิจารณ์ว่าคับแคบอยู่เพียงประเด็นเดียวคือต่อต้านตลาดการเงิน องค์กรนี้ก็ยืดหยุ่นพอที่จะถูกขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางอื่นๆได้ เช่น สมาชิกที่เบอร์ลินจัดการเคลื่อนไหวประท้วงประธานาธิบดีบุชคราวเดินทางมาเยอรมนี ผลก็คือทำให้เกิดขบวนการต่อสู้เพื่อสันติภาพขยายตัวอย่างมาก มีเยาวชนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง จากนั้นAttackก็มีประเด็นเคลื่อนไหวอื่นอีก เช่น การต่อต้านนโยบายแปรรูปการสาธารณสุข ต่อต้านสงครามอีรัก เป็นต้น Attackยังเป็นองค์กรที่จัดกิจกรรมสัมมนาหรือกลุ่มศึกษาตามมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งเปิดกว้างให้ฝ่ายซ้ายใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางความคิด


 


ความสำเร็จนี้ทำให้Attackได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนโดยทั่วไปด้วยนับแต่การประท้วงต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่เมืองเจนัว อิตาลีในปี 2001 ทุกกลุ่มแม้แต่ฝ่ายขวาอย่างพรรคอนุรักษ์CDUซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก็ยังเป็นสมาชิกของAttack เมื่อมีการประชุมG8 ผู้คนมักนึกถึAttackเป็นอันดับแรกที่จะเป็นองค์การนำ


ทุกส่วนมาเชื่อมโยงกันและร่วมทำกิจกรรมประท้วงต่อต้าน


 



การชุมนุมเดินขบวนในรอสต๊อค 2


 


การเดินขบวนต่อต้านG8


กิจกรรมการเดินขบวนต่อต้านG8ที่จัดโดยAttackเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จ กิจกรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน เวลา 13.00 ถึง 17.00 น.บริเวณใจกลางเมืองรอสต๊อค อันเป็นสถานที่ซึ่งจะมีการประชุมกลุ่มประเทศG8


 


ผู้คนจากที่ต่างๆ กว่า 60,000 คนเรียงรายอยู่บนท้องถนนนำโดยAttack ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้ามากเป็นอันดับสองของคนที่มาเดินขบวน กลุ่มที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งได้แก่กลุ่มปีกซ้ายในชุดดำที่เรียกตนเองว่า Black Box นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเฟมินิสต์ เอ็นจีโออย่าง Jubilee South และ Oxfam กลุ่มขบวนการชาวนาสากลอย่าง Via Campesina พรรคการเมืองปีกซ้ายต่างๆ เป็นต้น


 


การเดินขบวนสำแดงพลังครั้งนี้เป็นที่สนใจของผู้คนอย่างกว้างขวาง หลายคนบอกว่าถ้าหากไม่มีข้อติดขัดเรื่องขบวนรถไฟที่มีจำกัด หรือไม่มีกิจกรรมในโบสถ์ที่ดึงผู้คนไปร่วมมาก ก็จะมีผู้คนมุ่งหน้ามาที่รอสต๊อคมากกว่านี้


 


ประสบการณ์การเติบโตและความสำเร็จของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเยอรมนีโดยเฉพาะการมีองค์กรที่เปิดกว้าง และรู้จักเคลื่อนไหวบนความต้องการและปัญหาของมวลชนน่าจะเป็นสิ่งที่นักกิจกรรมของไทยได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาภาคประชาชนของเราต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net