Skip to main content
sharethis

 

คิดหรือไม่ว่า...วัน หนึ่งความหวาดระแวงอาจทำให้ คนที่เคยจิบกาแฟด้วยกันในตอนเช้า หันมาจับอาวุธฆ่ากัน และความหวาดระแวงนั้นอาจขยายความโกรธแค้นกันไปถึงขั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ถึงวันนี้ เรื่องแบบนี้คงไม่ใช่การวิตกเกินเลยไปกระมัง
ด้วยความหวังว่า สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 "ประชาไท" จึงจัดเวทีสนทนาวงปิด โดยมีวิทยากรที่อยู่ในระดับ "รู้จริง" ประกอบด้วย อับดุลอายิ อาแวสือแม นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส ผศ.อับดุลเลาะ อับรู วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นิรามาน สุไลมาน กรรมการหอการค้าจังหวัดปัตตานี สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย Human Right Watch จอน อึ๊งภากรณ์ ดำเนินรายการ
เพื่อ เปิดทางให้เสียงที่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัวจากสถานการณ์ได้พูด "ความจริง" ที่หายไป เพราะ "ความจริง" จะนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ถูกทาง ต่อมาหลังการสนทนาจึงได้นำเสนอผลสรุปผ่านรายงานสั้นๆ ชื่อ "เรื่องสำคัญจึงสนทนา : เสวนา "ประชาไท" ทางออกปัญหาใต้..."ไม่มี"" และสัญญาว่าจะนำรายละเอียดมานำเสนออีกครั้ง
"ประชาไท" ขอทำตามสัญญาแล้ว
ด้วยรายละเอียดที่มาก จึงแบ่งรายงานนี้เป็น 3 ตอน ตามประเด็น ได้แก่
1: เชื้อไฟหนุนเนื่อง เป็นการสนทนาเกี่ยวกับเหตุปัจจัยแห่งปัญหา 
2 : ร้อนรุ่มสุมอก เสียงสะท้อนจากผู้อยู่ในพื้นที่
3 : ถอนฟืนใต้ไฟ บทสนทนาที่ว่าด้วยทางออกสำหรับสถานการณ์
ย้ำอีกครั้งหนึ่ง...เพราะสำคัญจริงๆ จึงสนทนา
0 0 0
2
ร้อนรุ่มสุมอก
…………………………………………………………………………………………………..
"ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาในอนาคต
ความจริงมีทางอยู่แล้ว
เพียงแต่รัฐบาลเพิกเฉยไม่ทำอย่างจริงจัง"
นิรามาน สุไลมาน
กรรมการหอการค้าจังหวัดปัตตานี
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาในอนาคต ความจริงมีทางอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลเพิกเฉยไม่ทำอย่างจริงจัง
ตอนที่ลงสมัคร ส.ว. ครั้งแรก ลงพื้นที่ 12 อำเภอ ทุกครั้งที่เข้าไปพูดเรื่องสิทธิของความเป็นมุสลิมมลายูภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขถูกข้าราชการที่ไม่ใช่มุสลิมปฏิบัติสิ่งที่ เป็นผลสะท้อนเยอะแยะเลย เราเพียงขอให้ปฏิบัติกับเราเฉกเช่นประชาชนชาวไทยในระนาบเดียวกันไม่ว่าจะ เป็นพุทธหรือมุสลิม แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
ความจริงข้อหนึ่ง ท่านคงตอบผมไม่ได้เหมือนทุกคนที่ตอบไม่ได้ว่าเหตุการณ์ 4 มกราคม 2547 ใครเป็นคนทำ ไม่มีใครตอบได้สักคน แต่วิถีกระสุน รอยกระสุน ปลอกกระสุนที่มาจากปืนที่ถูกปล้นเมื่อ 4 มกราคม ก็ถูกใช้เพื่อที่จะบรรยายให้เห็นว่ามาจากการกระทำของพวกที่ปล้นปืน ข้อชี้ชัดอยู่ตรงไหน มีการถามในที่ประชุมในระดับที่สูงขึ้นไปว่า คุณสแกนหาผู้ก่อการ คนไม่ดีจากประชาชนทั้งหมด แล้วเคยสแกนหาในหมู่กองทัพในหมู่ตำรวจบ้างหรือไม่
เหตุการณ์ 7 มีนาคม 2550กรณี ยิงที่ปอเนาะอิสลามศาสตร์ ดารุซซาลาม (ปอเนาะตาเซะ ยะลา) ทหารพรานบุกทำลายประตูเข้าไป ยิงกุญแจประตูเข้าไป ค้นหมดเลย บุกเข้าไปในปอเนาะของเด็กผู้หญิง ยิงขู่ตลอดเวลา พูดจาหยาบคาย สิ่งเหล่านี้ถามว่าผู้ใหญ่ทำอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ก็เฉย
หาก มีกรณีที่ทหารทำเกินกว่าเหตุแล้วการลงโทษอยู่ไหน เคยพูดในที่ประชุมของกรรมาธิการ วุฒิสภาบอกว่าทำไมไม่ทำอะไรสักอย่างให้เกิดความกระจ่างแจ้งที่เป็นข้อ พิสูจน์ว่ารัฐบาลมีความจริงใจและต้องการแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เจ้าหน้าที่ผิดก็ลงโทษดำเนินการโดยเด็ดขาด แต่ไม่เคยทำอะไรเลย 
ปัญหา ที่เกิดขึ้นเห็นชัดว่าเกิดจากมิติของความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่ต้องผ่านตำรวจ คดีที่ถูกจับมาและถูกตัดสินพิพากษาให้จำคุกเป็นผลจากการปั้นแต่งพยานหลักฐาน เท็จ ชาวบ้านที่เป็นคนจนไม่มีเงินจ้างทนายมีนับไม่ถ้วน สมัยที่เป็นที่ปรึกษาของกรรมาธิการปกครอง วุฒิสภา ได้ไปเยี่ยมในคุก ได้เห็นสภาพที่ถูกปฏิบัติ ไม่อยากเชื่อว่า สังคมพุทธ สังคมไทยยังปฏิบัติกับพี่น้องมุสลิมอย่างนี้อยู่อีก
คดี ความมั่นคงใส่โซ่ตรวนตลอดเวลา จนผู้ต้องหาต้องชี้ให้เห็นรอยห่วงเหล็กกัดจนเป็นรอยแผลเน่ากินที่ขา จากแค่ข้อสงสัยว่าเป็นผู้ร่วมอยู่ในเครือข่ายปฏิบัติการก่อการร้าย ซึ่งยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ก็ปฏิบัติอย่างนี้แล้ว จึงมีการต่อสู้จนกระทั่งให้มีการปลดโซ่ตรวนออกไป
ขอย้อนกลับไปเรื่องกรือเซะและตากใบ เหตุการณ์กรือเซะเป็นรุมสกรัม คนในพื้นที่บอกว่ามีผู้ก่อการเพียง 6-7 คน นอกนั้นเป็นชาวบ้านที่เคร่งครัดในศาสนาที่ไม่รู้เรื่องอะไร แต่ถูกชาร์ตตายหมดเลย แต่เรื่องนี้คนไทยดูข่าวในทีวีแล้วคล้อยตาม เห็นภาพการยิงกันสนั่นหวั่นไหว ความจริงไม่ใช่ เป็นการยิงถล่มฝ่ายเดียว ในมัสยิดมีการยิงจริง แต่แค่ช่วงเช้ากระสุนก็หมดแล้ว มีเอ็ม 16 อยู่ประมาณ 2 กระบอก และปืนสั้นจะยิงได้แค่ไหนกัน นอกนั้นก็หมอบอยู่กับพื้นเพราะกลัวตาย แต่ภาพข่าวที่ออกสู่สาธารณะทั่วประเทศ เป็นการปะทะระหว่างกองกำลังแล้วสุดท้ายก็เข้าชาร์ตตอน 14.00 น. 
ระหว่าง นั้นเคยประสานกับที่ปรึกษานายกฯ ว่า ไม่ฆ่าเขาตายได้ไหม เพราะดูแนวโน้มต้องฆ่าตายแน่นอน บอกเลยว่าถ้าจับเป็นแล้วให้โอกาสเปลี่ยนแปลงความประพฤติ ปรับ ความเข้าใจเรื่องชาติบ้านเมืองให้ถูกต้องในฐานะคนไทยที่ต้องรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ปัญหาทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ถ้าฆ่าเขาตายก็จบ นี่เป็นสิ่งที่พยายามประสานกับรัฐบาลเมื่อปี 2547 แต่ไม่ได้ผล
หลัง จากนั้นก็มีประชาชนแห่แหนมาทั่วทุกสารทิศ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ตอนล่าง มาเลเซีย ไทยพุทธ ไทยมุสลิมแห่แหนมาเยี่ยมเยียนมัสยิดและสภาพของความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง เป็นแรมเดือน มากันตั้งแต่สายจนกระทั่งมืด ถนนรถติดยาวเหยียดเป็นกิโลแต่ภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำเสนอต่อสื่อเลย ปิด ข่าวหมดอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดสภาพอย่างนี้ขึ้นในสังคมไทย จากกรือเซะมาถึงตากใบก็ไม่ต้องพูดแล้ว มันอธิบายทุกอย่างจบหมดแล้ว
เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ผมกลับมาอยู่ปัตตานี เห็นสภาพเยาวชนว่างงานมาจับกลุ่มคุยกันที่ร้านกาแฟตั้งแต่เช้า บ่าย ค่ำ ดึก ผู้ใหญ่ ก็หิ้วนกกรงหัวจุกบ้าง นกเขาบ้าง มาอยู่ที่ร้านน้ำชา กาแฟ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ กิจกรรมหลักจริงๆ คือ การหิ้วนกไปแข่งขัน มหาวิทยาลัยในพื้นที่ก็สนับสนุนเรื่องการเลี้ยงนกเขา นกกรงหัวจุก เป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมคนให้โง่เขลาเบาปัญญา
ทำไมรัฐบาลไม่สนับสนุนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นแก่นสารสาระทำให้คนมีงานทำ อย่างประมงพื้นบ้าน 50,000 ครอบครัว ริมฝั่งตั้งแต่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไล่ไปถึงจังหวัดนราธิวาส ตอนนี้ต้องเลิกกิจการกันหมด เพราะประมงเรือใหญ่ อวนรุน อวนลากที่เป็นนายทุนจากต่างพื้นที่มาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีตั้งแต่ ระดับสูงลงไปรับส่วยกันหมด มันทำลายประมงพื้นบ้านย่อยยับ ชาวบ้านสู้สารพัดแต่ทำอะไรไม่ได้ เวลาร้องเรียน จะมีการส่งสัญญาณทั้งในทะเลและบนบกให้กับประมงอวนลาก อวนรุนที่เข้ามาในพื้นที่ห้ามจับปลาถอยร่นไปก่อน นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและทำอะไรไม่ได้ เกิดเป็นสิบๆ ปีมาแล้ว จนในที่สุด อาชีพนี้โดยส่วนใหญ่ต้องหมดไปจากพื้นที่แล้วเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น
หรือกรณีงบประมาณเพื่อการชลประทานที่แต่ละปีมีเป็น 100 ล้าน บาท ก็กลับกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ให้ข้าราชการอิ่มหมีพีมัน ทว่าผลผลิตที่ได้จากการสร้างคลองระบายน้ำต่างๆ คือ พอถึงเวลาน้ำหลากก็ระบายน้ำไม่ได้จนน้ำท่วมนาของชาวบ้านหมด พอฤดูน้ำแล้งก็เก็บกักน้ำไม่ได้ ในที่สุดเมื่อไม่สามารถทำการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักได้ก็ต้องอพยพไปเป็น แรงงานต้มยำกุ้งบ้าง ไปทำงานในบาร์บ้าง นี่คือสิ่งที่คนในพื้นที่พยายามช่วยเหลือตัวเอง เพราะพึ่งรัฐไม่ได้
ส่วนเรื่องการศึกษา ต้นตอของปัญหาคือ สศช.(สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ตั้งแต่ในอดีตวางแผนเศรษฐกิจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เมื่อ 40 ปีก่อนเกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) ปัตตานี ถ้าดำเนินการตามปรัชญาที่ต้องการการมีมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ ให้คนใน 3 จังหวัดภาคใต้ หรือ 4จังหวัด หากรวมจังหวัดสตูลด้วยได้เรียนหนังสือในทุกคณะวิชา อย่างน้อยที่สุด 30% ต่อปี หากดำเนินการตามนั้นมาจนถึงวันนี้ ในพื้นที่จะมีหมอเท่าไร วิศวกรเท่าไร นักบัญชีเท่าไร แต่เพียง 2 ปีหลังจากก่อตั้งก็แยก มอ.ปัตตานี ออกมาเลย อ้างว่า ถ้าตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรืออะไรที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำให้เครื่องไม้เครื่องมือเป็น สนิม และโยกไปตั้งที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ข้อ ตกลง ณ เวลานั้นบอกว่าให้ปัตตานีจัดการด้านสังคมศาสตร์อย่างเดียว ส่วนหาดใหญ่ก็จัดการด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ทำแบบนั้นได้ไม่กี่ปีก็ฉีกสัญญาหมดเลย ทุกวันนี้บรรดาคณะต่างที่ มอ.ปัตตานีมี มอ.หาดใหญ่ก็มีทับซ้อนหมด ถามว่านักศึกษาจะเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหน และที่ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นคือจำนวนนักศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดที่คาดว่าจะมีสัดส่วน 30-40% ได้ถูกทำให้เหลือเพียง 4-5% ต่อปีเท่านั้น
เมื่อจำนวนคนอ่อนเรื่องการศึกษามีมากจะทำให้เป็นปัญหาเพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่รัฐบาลหรือสมช. คณะ บริหารในอดีต หรือหน่วยงานของรัฐระดับนโยบายอาจจะมองและเข้าใจว่า การทำให้คนมลายูได้รับการศึกษาน้อยๆ จะปกครองง่าย ซึ่งไม่ใช่ มันต้องสร้างแรงจูงใจ ยังมีบัณฑิตจำนวนมากที่สามารถเข้ามาเป็นข้าราชการตำแหน่งต่างๆ ได้ พวกเขาจะไม่หนีไปไหนและไม่ต้องการงบประมาณมากมายเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพราะนี่คือบ้านเกิดเมืองนอนของเขา
ถ้า คนมีการศึกษา มีสถานภาพทางสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดี เรื่องแบ่งแยกดินแดนก็ไม่ต้องคิด เพราะไม่รู้จะแบ่งไปทำไม แต่สถานการณ์กลับไม่ส่งเสริมให้เป็นไปเช่นนั้น ผู้มีเครือข่ายกว้างขวางในพื้นที่บอกว่า ทุกวันนี้ด้วยความที่รัฐมีอคติกับเยาวชน เยาวชนใน 3 จังหวัดพร้อมที่จะยืนตรงข้ามและรบกับฝ่ายรัฐตลอดเวลา ประเมินกันว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่า 60%
100 ปีที่แล้วตอนที่เป็นมณฑลปัตตานี ข้าราชการมุสลิมปกครอง 100% วันนี้เหลือประมาณ 17% ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการผู้น้อย เพราะหากเป็นมุสลิมเมื่อไร คลุมผมเมื่อไร จะขึ้นตำแหน่งระดับสูงยาก ดูจากกรณีของ มอ.ปัตตานี กว่าจะสู้จนได้รองอธิการบดีเป็นมุสลิมนั้นแสนเหนื่อยยาก ประสานกันทั้ง 3 จังหวัดเพื่อกดดันรัฐสภา พอได้มาแล้วก็ต้องอยู่ในโอวาททำอะไรไม่ได้มากเพราะกลัวจะโดนปลด
ส่วน เรื่องสภาซูรอ มีนัยสำคัญมากเพราะถูกละเลยเพิกเฉยมายาวนาน เรามีระบบการปกครองท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งเมื่อมีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต.เข้า มา ปรากฏว่าหมู่บ้านที่เคยสามัคคีกลับแตกแยกกันเป็นเสี่ยงๆ แข่งขันกันจนมีการฆ่ากัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในสังคมมุสลิมทั้งที่คัมภีร์ อัล กุรอานบอกว่า "เลือดของพี่น้องมุสลิมด้วยกันตกถึงพื้นแม้หยดเดียวก็ต้องลงนรก" แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะวิถีชีวิตแบบมุสลิมถูกสกัดกั้น ตอนนี้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่มีหน้าที่อื่นใด นอกจากดูแลเรื่องการจดทะเบียนสมรส ซึ่งมันแคบมาก ทั้งที่ต้องดูแลคนทั้งสังคมให้เป็นคนดี นี่เป็นสิ่งที่เรากำลังพยายามรื้อฟื้นในการยกร่างพ.ร.บ.อิสลามชุดใหม่
คนใน พื้นที่โดยรากฐานนั้นมีความหลากหลาย คนมุสลิมแต่งงานกับพุทธก็มีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น โดยพื้นฐานเราฆ่ากันไม่ได้ แต่มีคนมาทำให้เราเกลียดชังกัน มีคนมาเริ่มต้นฆ่าให้เราดู โดยการจ้างวาน การใช้มืออาชีพ ฉะนั้น วันนี้เราต้องเปลี่ยนความเชื่อของวิชาชีพทหาร ตำรวจ ที่เชื่อผิดๆ ว่ามีปืนแล้วจะคุมได้หมด จะต้องทำให้เขาคิดใหม่ให้วางอยู่บนฐานความเป็นมนุษย์ เคารพศักดิ์ศรีมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
คำถามจากจอน อึ๊งภากรณ์ : ที่บอกว่ามีคนเริ่มฆ่าก่อนหมายถึงรัฐบาลทักษิณหรือไม่
การเริ่มฆ่ามีมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่นับแค่ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 ทำร้ายพี่น้องชาวพุทธทีหนึ่ง ไปทำร้ายพี่น้องมุสลิมทีหนึ่ง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคน 2 อัตลักษณ์นี้ เป็นการสร้างสถานการณ์ ซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่แน่นอน ยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์

0 0 0
"...ปัจจัยที่แยกจากไทยพุทธและมลายูมุสลิม คือกลุ่มจัดตั้งที่ไม่ใช่ขบวนการ
และรัฐไทยก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง
มันถูกเรียกว่า "มือที่สาม"
ในสังคมมุสลิมกำลังพูดเรื่องนี้เยอะ
เขากำลังตั้งข้อสังเกตกันว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใครตั้งขึ้นมา ตั้งด้วยนโยบายอะไร
และมีอะไรที่แปลกออกมาในช่วงที่ผ่านมา
ผศ.อับดุลเลาะ อับรู
วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผมเป็นคนในพื้นที่ พ่อเป็นอินเดีย แม่เป็นมลายู แต่งงานไปมีญาติภรรยาเป็นพุทธ ดังนั้นจะเห็นว่าใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ได้แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ อันที่จริงพุทธ-มุสลิมนั้นเป็นญาติกัน แต่ยิ่งนานวันความผูกพันทางสายเลือดก็ค่อยๆ จางไป ถามว่ามีใครทำให้เกิดความเหินห่างหรือไม่
ผม ถามภรรยาว่าเดิมทีสายตระกูลมาจากไหน ได้ความว่าอยู่กันตรงนั้นมานานมากแล้ว ผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านก็บอกว่าพวกเขาคือมลายูที่ไม่ได้เป็นมุสลิมแต่แยกสาย เป็นพุทธ จึงเกิดมี 2 แขนง แต่เมื่อถามว่าพวกเขามีเชื้อชาติดั้งเดิมเป็นอะไรเขากลับตอบว่าเป็นไทย ไม่ใช่มลายู
ความเป็นมลายูพุทธนั้นมีจริงในพื้นที่ แต่แม้จะนำเรื่องนี้ไปสู่วงวิชาการ นักวิชาการก็ไม่ยอมรับว่ามีมลายูพุทธอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ถามว่ามันมีช่องว่างอะไรระหว่าง 2 กลุ่มนี้ ใครทำให้เกิดช่องว่างตรงนี้
ถ้า สังเกตอาจโทษว่ารัฐเป็นผู้กระทำ ถ้ารัฐไม่เข้าไปแทรกแซง เขาก็อาจมีความสมานเป็นญาติเป็นโยม และสามารถอธิบายโครงสร้างสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ น้ำหนักของการประทะในความต่างของเชื้อชาติก็คงไม่เกิด หรือถ้าเกิดก็คงจะเกิดน้อย เพราะมันมีน้ำหนักอย่างอื่นเข้ามาผสาน
ขอ ตั้งข้อสังเกตกว้างๆ ว่า สังคมในปัจจุบันมีอาการป่วยไข้ แล้วก็มากำเริบ ยาหลายขนานที่ลงไปไม่ถูกกับโรคที่เป็นอยู่ แต่กลับแสลงยา กลายเป็นความอ่อนแอของสังคม มีโรคอื่นเข้ามาแทรกซ้อน แล้วก็อธิบายโรคแทรกซ้อนเหล่านั้นว่าเป็นโรคที่มาจากต่างประเทศ โดยไม่ได้คิดว่าโรคนั้นมาจากไหน
เมื่อเปรียบเทียบหลัง 4 มกราคม 2547 กับ ก่อนหน้านั้น คนมักคิดว่าสังคมทางภาคใต้คงเคยสงบสันติ แต่หลังจากนั้นสังคมป่วยหนัก ถามว่าก่อนนั้นสงบจริงหรือ หรือสังคมมันสงบเพราะถูกกด ถ้ามันถูกกดแสดงว่ามันต้องมีแรงดันอีกด้านหนึ่ง
หาก อยู่ในสังคมมุสลิมจะเห็นว่าก่อนหน้าเหตุการณ์ปล้นปืน มีกระแสมาแล้วว่ารัฐใช้อำนาจผ่านเครือข่ายของรัฐกดสังคม สอดส่องบุคคล ระแวงสงสัยไปตามข้อสังเกตต่างๆ ของข้างบน มันไม่ได้เกี่ยวกับนายกฯ ทักษิณ หรือ ศอ.บต.เลย สถานการณ์แบบนั้นทำให้อึดอัดกันมาก กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านกลายเป็นแหล่งอิทธิพล มีเครือข่ายและกระทำผิดทำนองคลองธรรมมากมายในพื้นที่ เคยได้ยินเมื่อ 7-8 ปี ที่แล้วว่า น่าจะมีกลุ่มสักกลุ่มที่เข้ามาจัดการสะสางกลุ่มอิทธิพลนี้ด้วยความรุนแรง แต่ห้วงเวลานี้การณ์กลับตรงกันข้าม กำนัน ผู้ใหญ่บ้านแทบไม่มีพื้นที่แล้ว หรืออยู่กันอย่างตกอกตกใจตลอดเวลา เพราะ "ไม่มีราคา" แสดงว่าเราไปสร้างอะไรขึ้นมา บางทีประเทศไทยอาจจะไม่คาดคิดว่า ผลโต้กลับจะออกมาในลักษณะนี้
อีกกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนการปล้นปืนหลายปี เป็นช่วงที่ ศอ.บต.ก็ ยังมีภารกิจมากมาย คือ การมองภาพรวมของรัฐว่าสังคมมุสลิมยากจน การใช้นิยามโดยองค์ความรู้ของรัฐไปสู่สังคมมุสลิมทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เช่น รัฐมองว่าสังคมมุสลิมไม่ได้เรียนหนังสือเพราะรัฐมองการเรียนหนังสือแบบที่ รัฐคิด แต่รัฐไม่ได้มองอย่างชาวบ้าน นี่เป็นแรงผลักจากภายในอีกส่วนหนึ่งที่โต้ออกมา สะท้อนสู่มิติต่างๆ 
เรื่อง เศรษฐกิจก็พูดกันว่า คนมลายูมุสลิมยากจนบนความมั่งคั่งของทรัพยากร ทรัพยากรมีเยอะแยะไปหมดแต่ชีวิตคนไม่ได้ดีขึ้น ในทะเลมีก๊าซ มีน้ำมัน แต่การจัดสรรทรัพยากรแบบตอนนี้ทำให้พวกเขาถูกดูหมิ่นว่ายากจน มีการเข้ามาช่วงชิงทรัพยากรท่ามกลางความยากจนของคนมุสลิมมลายูในพื้นที่ ประเด็นนี้เป็นอีกประเด็นที่พูดกันก่อนจะเกิดการปล้นปืน
อีก เรื่องมีการพูดกันมานานแล้ว ชาวบ้านจะรู้กันทั่วว่าจะมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปีนั้นๆ ให้เตรียมตัวอย่างนี้ๆ ข่าวอย่างนี้จะออกมาตลอด เป็นวิธีที่ขบวนการสื่อกับคนในสังคม และคนในสังคมเขาเข้าใจ
นอกจาก นี้คนในหมู่บ้านยังมีกลุ่มวิเคราะห์ ร้านน้ำชา ร้านนกกรงหัวจุก เหล่านี้เป็นแหล่งวิเคราะห์สถานการณ์ที่สุดยอด อะไรของจริง ของเทียม เวลาเหตุการณ์เกิดขึ้นเขาจะวิเคราะห์เลยว่า ใช่ ไม่ใช่ เช่น ที่ผ่านมามีรายงานจากขบวนการ ชาวบ้านเขาก็รู้ว่าแท้ไม่แท้ หรือใครทำ มันมีวิธีสื่อของเขาที่จะรู้กันเอง สิ่งที่เราวิเคราะห์ว่าไม่มีชื่อ ไม่บอกกลุ่ม ไม่บอกเป้าหมาย ไม่บอกอะไรเลย จริงๆ เขาบอกหมด แต่เราไม่รู้ และคนที่รู้เขาก็ไม่บอก
อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาการสรรหาคำ มีการหาคำมาอธิบายปรากฏการณ์ใน 3 จังหวัด เก่งมาก เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนเหตุการ์ปล้นปืน นักข่าวรังสรรค์คำคมได้ดีและนโยบายแปลกๆ หลายนโยบายก่อเกิดจากการรังสรรค์คำเหล่านี้ เช่น ดับเทียน ใบไม้ร่วง อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
ผมเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องบอกว่าเหตุการณ์ในภาคใต้นั้นแบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่รัฐคิดว่าสนับสนุนขบวนการ กับกลุ่มที่ไม่สนับสนุนขบวนการ มันสะท้อนออกมาจากข่าวที่ว่ามีปอเนาะ 100 กว่าโรงเรียนสนับสนุนขบวนการ ถ้าเป็นจริงอย่างนั้นแย่แน่ ภาคใต้ลุกเป็นไฟนานแล้ว เผาเมืองได้เลยถ้าคิดจะเผา 
ดัง นั้น ข่าวการสนับสนุนขบวนการต้องชัดเจนไม่อย่างนั้นมีผลกระทบมาก เพราะคำพูดจากรัฐที่ก่อให้เกิดความหวั่นไหวในหมู่ประชาชน หลังจากกรณีสะบ้าย้อยเราจะเห็นภาษาที่ออกมาตามหนังสือพิมพ์ด้วยคำที่รุนแรง เช่น ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
พอ ถึงที่สุดชาวบ้านเขามีวิธีคิดของเขาว่า ถ้าจะปกป้องคนของเขาต้องทำอย่างไร จึงมีการปิดหน้าปิดตา แต่ทำอย่างนี้กลับกลายเป็นเรื่องแนวร่วมหรือการถูกปลุกปั่น ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มแนวร่วมที่เป็นขบวน แต่กลุ่มที่ไม่ใช่และเขาต้องการปกป้องคนของเขาก็มีและมีเยอะด้วย ซึ่งนายอำเภอก็ปวดหัวเวลาจับเพราะเขาไม่มีความผิด แต่จำเป็นต้องจับเพราะมีคนชี้ว่าผิด นี่คือปัญหาความยุติธรรมภาคใต้ที่มีมากเหลือเกิน
อีกตัวอย่างที่น่ารัก คือ การเรียกชื่อคน คนในพื้นที่จะแยกคนจากลักษณะภายนอกไปตามชาติพันธุ์ต่างๆ 
คน ภาคกลางเขาเรียก สิแย คนอิสานเขาเรียก สิแยลา คือสยามลาว แต่เรียกแบบนี้ประเทศไทยปวดหัวจึงต้องเรียก "ไทย" เท่านั้น มันจึงไปคาบเกี่ยวกับปัญหาวัฒนธรรมในพื้นที่ ทั้งนี้ ภาพลักษณ์นโยบายของรัฐใช้เผด็จการในทุกมิติ ไม่ว่าการศึกษา การปกครอง สังคม รัฐอาจใช้ในจังหวัดอื่นได้ แต่ 3 จังหวัดภาคใต้เขาไม่รับ มันคือความอึดอัด ความกดดันอันเกิดจากการไม่ใจกว้างของรัฐ 
โครงสร้างความสัมพันธ์ต่างๆในพื้นที่ แบ่งกลุ่มเป็นฝ่ายรัฐ, มลายูมุสลิม ซึ่งก็คือ คนไทยเชื้อสายมลายูที่นับถืออิสลาม, ขบวนการ ความจริงในมลายูอิสลามก็มีมลายูพุทธด้วย แต่ไม่ถูกยอมรับ เพราะรัฐทำให้กลายเป็นเครือข่ายของรัฐ เป็นจุดที่น่าเสียดายมาก เพราะฐานชาติพันธุ์หายไป กลายเป็นไม่รู้ว่าชาติพันธุ์อะไร พอมลายูผนึกกับความเป็นอิสลามค่อนข้างมาก คนที่นับถือพุทธจึงปลีกตัวออกมาเป็นไทยพุทธ จริงๆ เขาเป็นมลายูพุทธ อย่างไรก็ตาม คำว่ามลายูพุทธ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยยอมรับ
ความ สัมพันธ์ขบวนการเป็นคู่ตรงข้ามกับรัฐ เป็นปฏิปักษ์กันตลอดเวลาขัดแย้งกันรุนแรง แต่ยังมีมิติอื่นที่น่าสนใจ คือรัฐกับมลายูมุสลิมเป็นคู่ระแวงกัน ในขณะที่มลายูมุสลิมกับขบวนการไม่ระแวงกัน อีกคู่หนึ่งคือขบวนการกับไทยพุทธระแวงกัน ส่วนไทยพุทธกับรัฐไม่ระแวงกัน
อย่างไร ก็ตามระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิมต้องบอกว่าสังคมมันตั้งได้ตราบใดที่ประชาชน อยู่ได้ จึงมีความสบายใจว่าถึงแม้ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับขบวนการ และนโยบายต่างๆ ของรัฐที่ลงมาในพื้นที่ดูแล้วน่าเป็นห่วงเพราะเหมือนจะทำให้สังคมแตกแยกอยู่ ไม่ได้ แต่ตอนนี้ดูเหมือนมันยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะประชาชนโดยรวมยังอยู่ได้ในสัดสวนที่น่าพอใจ
แต่ มีอีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยที่แยกจากไทยพุทธและมลายูมุสลิม คือกลุ่มจัดตั้งที่ไม่ใช่ขบวนการและรัฐไทยก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง มันถูกเรียกว่า "มือที่สาม" ในสังคมมุสลิมกำลังพูดเรื่องนี้เยอะ เขากำลังตั้งข้อสังเกตกันว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใครตั้งขึ้นมา ตั้งด้วยนโยบายอะไร และมีอะไรที่แปลกออกมาในช่วงที่ผ่านมา แม้แต่กรณีจ่อยิงบนรถตู้ 8 ศพ ก็ถูกโยงไปยังกลุ่มนี้ และกลุ่มนี้ก็ถูกโยงไปยังกรณีที่สะบ้าย้อยยิงกราดใส่มัสยิด มีคนทำแต่ไม่รู้ใครทำรัฐบอกว่าเป็นฝีมือของขบวนการ แต่ประชาชนไม่เชื่อ ตกลงมือที่สามมีจริงแต่ไม่มีเจ้าภาพ
เรื่อง ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ ความเป็นพิเศษของพื้นที่ มันพิเศษทุกเรื่องทุกมิติ แล้วมันก็มีรายละเอียดของทุกเรื่องด้วย สมัยท่านชาติชาย ชุณหะวัณ ลงมาประชุม ครม.สัญจรที่อำเภอหาดใหญ่ก็มีการพูดถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่น่าเบื่อมาก พูดแต่เรื่อง soft loan ดอกเบี้ยถูก การกู้เร็วขึ้น หรือเรื่องค่าน้ำค่าไฟ แต่ไม่ใช่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดูเรื่องโครงสร้างสังคมที่มันพิเศษ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มีการพูดเรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษด้วย ก็เลยบอกในที่ประชุมของกรรมาธิการว่า เมื่อพูดได้ว่าเป็นพิเศษ 2 พิเศษ ทำไมจะบอกว่าเป็นเขตปกครองพิเศษไม่ได้หรือ วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ลงเลยว่า ให้จับตานักวิชาการคนหนึ่งที่พูดเรื่องการปกครองพิเศษ คงเข้าใจว่าเราจะแบ่งแยกดินแดน
หรือในการประชุมใหญ่ครั้งหนึ่งที่หอประชุมใหญ่ มอ. ตอน นั้น นายเด่น โต๊ะมีนา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยพูดเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่อดีตอธิบดีการปกครองท่านหนึ่งบอกว่า 100 ปีก็ไม่ได้ ยิ่งใน 3-4 จังหวัด ภาคใต้ยิ่งไม่ได้ใหญ่เลย จากนั้นมีผู้หญิงไทยพุทธคนหนึ่งยกมือขึ้นว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือก ตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดปัตตานีก็จะมีผู้ว่าฯ ที่เป็นมุสลิมตลอดไป
ความคิดของเรามันก็แค่นี้ ไม่รู้จะว่ายังไง อย่างเชียงใหม่ไม่มีทางที่มุสลิมจะเป็นผู้ว่าฯ ในเมื่อมีไทยพุทธ 99% แต่ถ้าปัตตานีก็ต้องมุสลิมเป็น เพราะมุสลิมมันกว่า 80 % ก็ เป็นเรื่องปกติ ปัญหาภาคใต้ถ้าพูดกันแบบนี้มันก็เหนื่อยมาก แล้วก็เจ็บใจถูกเพ่งเล็ง หากผมพูดสิ่งที่เหมือนกันกับสุภลักษณ์พูด มันก็จะมีความแตกต่างกัน สุภลักษณ์จะพูดแบบไหนก็ได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าผมพูดในเรื่องเดียวกันนี้จะถูกมองว่าไอ้นี่มันเป็นอีกพวก นี่คือปัญหาของพื้นที่
ดัง นั้น ผมจึงต้องใช้ทฤษฎีอีกอย่างในการพูด เมื่อโดนหนักๆ เข้าก็จะไม่พูด แต่ใช้ทฤษฎียืมปากคนอื่นพูดใส่ปากคนอื่น คือพูดหรือแสดงความเห็นให้คนอื่นฟัง แล้วให้คนอื่นช่วยพูดแทน การนำเสนอปัญหาทางสังคมนั้น มันเสนอได้หลายวิธี เราไม่จำเป็นต้องนำเสนอเอง แต่ยืมปากคนอื่นพูดแทนก็ได้
0 0 0
"...ขอให้รัฐหาทาง
แต่อย่าใช้วิธีการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ถ้าปรับกลยุทธ์ได้ ปรับยุทธศาสตร์ได้ก็อยากให้ปรับโดยเร็ว
อย่าอยู่อย่างนี้ ถ้าอยู่อย่างนี้ฉิบหายด้วยกัน..."
อับดุลอายิ อาแวสือแม
นายกสมาคมท่องเที่ยว จังหวัดนราธิวาส
ผม เป็นคนดั้งเดิมของสุไหงโกลก และอยู่ในนราธิวาสตลอดมา ก่อนปฏิวัติไม่กี่วัน สภาความมั่นคงเชิญประชุมที่จังหวัดปัตตานีถึงบทสรุปที่เราเดินทางมา 40-60 ปี พอปฏิวัติแล้วสภาความมั่นคงก็ได้โทรศัพท์ไปขอเลื่อนมาเป็นวันที่ 23 กันยายน 2549
สิ่งหนึ่งที่พูดในวันนั้นคือเรื่องวิชาการ ทางสภาความมั่นคงจึงให้ไฟเขียวกับนักวิชาการในการเขียนหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกสิ่งที่คุยกันคือเรื่องของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ของคนยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
เช่น การตั้งชื่อหมู่บ้าน มีหมู่บ้านหนึ่งที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ชื่อบ้านโคกกระดูกหมู มัสยิดก็ชื่อมัสยิดโคกกระดูกหมู โรงเรียนก็ชื่อโรงเรียนโคกกระดูกหมู วันนั้นเป็นครั้งแรกที่เราได้ขุดประวัติศาสตร์ขึ้นมาจนสภาความมั่นคงได้เห็น ชอบว่าให้เปลี่ยนชื่อ เพราะคนที่บ้านโคกกระดูกหมูจริงๆ ไม่ใช่ชื่อโคกกระดูกหมู แต่พี่น้องมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่นี้ 85-90% ไม่กล้าจะไปฝืนอำนาจรัฐ
ครั้ง หนึ่ง พี่น้องจากหมู่บ้านโคกกระดูกหมูไปแสวงบุญที่นครซาอุดิอาระเบีย ได้ขอบริจาคจากพี่น้องในโลกอาหรับให้ช่วยสนับสนุนสุเหร่าที่บ้านโคกกระดูก หมู ชาวอาหรับถามว่า โคกกระดูกหมูมีคำแปลเป็นภาษาอาหรับหรือไม่ สุดท้ายพี่น้องที่ไปจากบ้านโคกกระดูกหมูก็ต้องกลับมือเปล่า เพราะว่าเอาชื่อมัสยิดโคกกระดูกหมูไปบอกทางอาหรับ
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนเป็นเมืองขึ้นไม่ใช่ประเทศไทย คือสิ่งที่ยัดเยียดให้กับพี่น้อง 3จังหวัดเป็นเวลานาน เคยนำเรื่องคนไทยกับมาเลเซียไปพูดครั้งหนึ่งว่า ประชาชนใน 3 จังหวัดไปทำมาหากินหรืออพยพไปอยู่มาเลเซียจำนวนมาก ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีพูดเมื่อเดือนธันวาคม 2549 ว่า คณะต้มยำกุ้งในมาเลเซียได้ส่งเงินมาสนับสนุนขบวนการต่างๆ ในประเทศไทย ข้อมูลวันเวลาที่นายกรัฐมนตรีพูดนั้นมีคนไทยจาก 76 จังหวัด อยู่ในมาเลเซียเพียง 7,900 คน รุ่งขึ้น ผมในฐานะคณะกรรมการ ต.ม. 4-5 ด่านที่ชายแดน จึงโต้กลับว่าคนไทยที่อยู่ในมาเลเซียไม่ใช่ 7,900 คน อย่างที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเข้าใจ แต่ผมมีตัวเลขปี 2548 ว่ามีคนไทยที่อยู่ในมาเลเซียทำมาหากินสารพัดอาชีพอีก 230,000 คน
ต่อมาท่านปลัดกระทรวงแรงงานได้นำตัวเลขสำรวจขั้นสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 มาแสดงว่ามีเพียง 14,000 คน ซึ่งต่างจากตัวเลขที่อยู่ที่ผม จนท่านรองผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง ไปยันในสภาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2550 ว่า ตัวเลขคนไทยในมาเลเซียขณะนี้มีถึง 1,100,000 คน
ในขณะนี้ จากบทบาทของรัฐที่ปฏิบัติอยู่ในพื้นที่กับโอกาสที่ประชาชนกับประชาชนทั้ง2 ศาสนาจะรบ ใกล้เข้ามาแล้ว ถ้ารัฐเป็นแบบนี้รบแน่นอน เพราะรัฐไม่ได้ทำอะไร รัฐไม่ได้แก้ปัญหา
ผม มีที่ดินเปรี้ยวที่สุไหงปาดี สุไหงโกลก ตากใบ เสนอกับรัฐ แต่รัฐจะทำเมื่อไรไม่รู้ เป็นดินเปรี้ยวที่ปลูกอะไรไม่ได้อีกแล้ว ปลูกได้อย่างเดียวคือปาล์ม มีอยู่ 360,000 กว่าไร่ เสนอกับรัฐบาลให้รีบทำแล้วพี่น้องในมาเลเซีย 400,000-500,000 ในมาเลเซียกลับบ้านแน่นอน
รัฐเคยสร้างนิคมต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัด เวลาประมาณ 40-50 ปี นิคมสร้างขึ้นมาด้วยจุดหลักหัวใจสำคัญคือไม่ไว้พี่น้อง 3 จังหวัด จึงได้นำคนอีสานหรือคนที่ต่างๆ ไปอยู่ นี่คือปัญหาทีเกิดขึ้นในภาคใต้ขณะนี้ที่ เพราะว่ารัฐไม่ได้ไว้ใจพี่น้อง 3 จังหวัด
ผม อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรู้จักพ่อค้าเกี่ยวกับที่พักอยู่ที่กาญจนบุรี ก็ได้ทั้งแฟกซ์ ได้ทั้งโทรศัพท์ ขอให้ทิ้งอำเภอสุไหงโกลก นราธิวาส มาหลบภัยอยู่กรุงเทพฯ ผมไม่มา จะอยู่ที่นั่น จะอยู่กับประชาชนที่นั่น และขอให้รัฐหาทาง แต่อย่าใช้วิธีการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าปรับกลยุทธ์ได้ ปรับยุทธศาสตร์ได้ ก็อยากให้ปรับโดยเร็ว อย่าอยู่อย่างนี้ ถ้าอยู่อย่างนี้ฉิบหายด้วยกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net