Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ธาตรี แสงมีอานุภาพ


 



 


บ้านโจน จันได_เชียงใหม่ 2 พ.ค. 49


 


ช่วงสัปดาห์ก่อนได้กลับขึ้นเชียงใหม่ ไปถ่ายรูป สัมภาษณ์ พี่ "โจน จันได" กับ "เต้ย" ภาณุมาศ ทองธนากุล นักเขียนสมทบของนิตยสารที่ผมทำงานให้


 


"โจน จันได" ที่ใครๆ รู้จักกันนั้น เป็น คนทำ "บ้านดิน" อย่างจริงจังคนแรกๆ และได้รับการพูดถึงผ่านทางสื่อต่างๆ ช่วง 3-4 ปีก่อน ในรายการ เจาะใจ นิตยสาร สารคดี และ OPEN ฯลฯ 


 


กว่าเราจะขับรถเข้าไปถึง ก็ได้ลุ้นกับหล่มโคลน และทางลาดชันที่ถูกน้ำเซาะดินจนเป็นร่องลึกคดเคี้ยวไปตามทางเราขับรถด้วยระทึกในดวงหทัยพลัน (กูจะไปรอดไหมนี่..)


 


ทางรถที่ยังไม่สะดวกนัก ทำให้ธรรมชาติยังคงเป็นธรรมชาติอย่างที่มันควรเป็น


 


เมื่อไปถึง เราพบศาลาใหญ่ คล้ายเป็นที่ประชุมลูกค่ายเวลาจัดเวิร์คช๊อปกัน สิ่งประทับใจแรกก็คือความเงียบ ไม่เห็นใครเลย มีแต่บ้านดินเรียงตัวกันอยู่ห่างๆ หลายแบบ ทรวดทรง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีล็อกประตูกันขโมยแต่อย่างใดแม้ดูแล้วจะเห็นข้าวของเครื่องนอนกองอยู่ก็ตาม (อ่านใจโจรดูก็คงจะรู้ว่า ไม่มีอะไรให้ขโมยนี่หว่า!)


 


เต้ยบอกว่าจากที่โทรคุย พี่โจน กลับบ้านที่ยโสธรทั้งครอบครัว และกำลังจะกลับมาที่นี่ในบ่ายนี้  มองไปรอบศาลาที่ทำไว้โปร่ง และแข็งแรงด้วยเสาไม้ยูคาลิปตัสที่พอกดินไว้โคนเสา เพิ่มความมั่นคงแข็งแร็ง มีกล้วยเครือใหญ่ ที่อวบใหญ่น่ากินแขวนอยู่กับขื่อ 3-4เครือ กล้วยถูกตัดมาแบบสุกคาต้น เครือกล้วยขนาดใหญ่มีทั้งลูกที่สุกเหลือง และดิบเขียวไล่กันลงมา น่ากินสุดๆ


 


" ครอบครัวของเขา "


 



 


หลังจากพี่โจน กลับมา ผมไม่รอช้าถามที่มาของกล้วยทันที (กะตลกบริโภค ซึ่งก็ได้ผล..แหะๆ) กล้วยที่นี่ปลูกเอง เนื่องจากรดน้ำพรวดดินให้ปุ๋ยดี จึงมีผลงามอย่างที่เห็น


 


แม้เราจะอยู่ที่นี่เพียงช่วงสั้นๆ วันครึ่ง เราก็ยังพอได้สัมผัสความน่ารัก น่าอยู่ของบ้านดิน ที่กลางวันก็ไม่ร้อนมาก กลางคืนก็ไม่หนาวจัด(ถ้าปิดหน้าต่างไว้ จะกักเก็บอุณหภูมิไว้ดีมาก) บ้านหลังที่เรานอนเป็นออฟฟิศที่สร้างโดยน้ำพักน้ำแรงการก่อสร้างและออกแบบฝีมือนักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ มช.ทำไว้ตอนมาเวิร์คช๊อปที่นี่


 


งานอาจจะไม่เนี้ยบเท่าไหร่ แต่ออกแบบได้สวย (ภายในตัวบ้านมีเล่นระดับด้วย) พี่โจนบอกว่าที่18 ไร่นี้ มาจากที่ชาวบ้าน 6 โฉนดซึ่งราคารวมยังไม่ถึง5แสนเลย (ราคานี้คงซื้อที่ในกรุงเทพได้ไม่กี่ตารางวา) ซื้อมาตอนนั้นประมาณ3-4ปี แล้ว


 


บ้านดินของพี่โจน สร้างขึ้นไว้บนจุดสูงสุดของเนินเขา มองจากหน้าบ้านจะเห็นท้องฟ้ากว้าง วิวพระอาทิตย์ตกลับเหลี่ยมเขาสวยงามมาก


 


เราคุยกันไปเรื่อยๆหลายช่วงเวลา นอกจากเลี้ยงลูก ปลูกผักหญ้าแล้ว เขามีเวลาเหลือพอที่จะทำอะไรได้มากมาย เขาเลือกทำประโยชน์ให้กับสังคม ด้วยการพยายามรวมรวมเม็ดพันธุ์พืช ผัก ไม้ผลที่ใกล้จะสูญพันธ์ในบ้านเรา เพื่อเพาะขยายพันธุ์ ก่อนที่จะถูกยื้อแย่งเอาไปโดยต่างชาติที่พร้อมจะเอากลับมาขายโดยใช้ลิทสิทธิ์พันธุ์พืชเป็นข้ออ้างทำกำไร


 


ก่อนจากลาเขาบอกกับเราว่านี่เป็นการสัมภาษณ์ที่เขารู้สึกว่าดีมากกว่าทุกครั้ง เท่าที่เคยมีสื่อมาคุยกับเขา (ฟังแล้วก็เคลิ้มไปเหมือนกัน)


 


นี่เป็นบางส่วนของคำพูดของเขาที่ผมขอถือวิสาสะนำมาบอกต่อกันที่นี่...


"ถ้าเรามีตัวอย่างให้คนเห็นขึ้นมาว่า ความรวยไม่ใช่เป้าหมายของชีวิตคนเราได้เลย มันก็จะเป็นกำลังใจให้คนจำนวนมาก ไม่ต้องวิ่งตามกระแสมาก สามารถออกจากกระแสมาอยู่ง่ายๆอย่างนี้ได้ ชีวิตก็สบายขึ้นง่ายขึ้น ใครก็มองว่าความจนเป็นสิ่งไม่ดี แต่เราเพิ่งจะใช้คำว่าความจนเมื่อไม่นานมานี้เอง สมัยจอมพลป."


 


"สมัยก่อนคนไทยไม่ใช้คำว่าจน เขาใช้คำว่าทุกข์ มัน ทุกข์ คนอีสานเนี่ยไม่มีคำว่าจนเลย การแก้ทุกข์มันคือแสวงหาความสุข แต่พอสมัยจอมพลป. มาเขาบอกทุกคนจน การที่จะทำให้ทุกไม่จนก็คือทำให้ทุกคนรวย แต่การทำให้คนทุกคนรวยเป็นไปไม่ได้ แต่การทำให้คนสุขเป็นไปได้ง่ายกว่า ใครๆก็มีความสุขได้ถ้ารู้จักพอเท่านั้นเอง"


 


"คนจนกับคนบริโภคน้อยนี่ต่างกัน คนจนนี่คือคนที่อยากบริโภคมากแต่ไม่มีโอกาสบริโภค คนบริโภคน้อยคือคนบริโภคด้วยความเข้าใจ อาจจะมีเงินเท่ากันหรือมากกว่าหรือไม่มีก็ได้ แต่บริโภคด้วยความเข้าใจ อย่างผมรู้ว่าหน้าผมดำ ผมก็รู้ว่ามันเป็นปกติของผมคือหน้าดำ ผมไม่จำเป็นต้องไปซื้อครีมทำให้หน้าขาวใช่มั้ย ฉะนั้นผมก็เข้าใจว่าผมหน้าดำ ทำไมผมต้องไปเปลี่ยนหน้าผม ไม่มีเหตุผลไม่มีความจำเป็นเลย มันก็เกิดความเข้าใจก่อนที่จะบริโภค การบริโภคด้วยความเข้าใจเนี่ยมันทำให้เราบริโภคน้อย แล้วพอเราบริโภคน้อยอยู่เรื่อยๆ ก็ทำให้เรามีนิสัยในการพิจารณาก่อนบริโภคอยู่เรื่อยๆ ซึ่งมันจะเป็นนิสัยใหม่ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราได้ เราก็จะรู้ว่าอะไรจำเป็นอะไรไม่จำเป็น มันก็ง่ายขึ้น"


 


.................................................


 


 


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ Blog "บางภาพ บางคำ"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net