Skip to main content
sharethis





ที่มาของภาพ : สถาบันข่าวอิศรา


 


ม็อบปัตตานีกระจายปักหลัก 2 มัสยิด 


เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนนับร้อยคนยังคงปักหลักภายในมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเป็นวันที่ 2 โดยได้พักหลับนอนภายในรั้วมัสยิดตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยในช่วงเข้าได้มีการปราศรัยโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำร้ายประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งอภิปรายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อเหตุ ก่อนที่จะหยุดพักละหมาดวันศุกร์ในเวลาประมาณ 12.30 น. โดยชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงสามารถเข้าไปร่วมละหมาดได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเต็มไปด้วยผู้ชุมนุม ทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องไปใช้มัสยิดใกล้เคียง จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการอภิปรายต่อ


 


ขณะเดียวกันที่เจ้าหน้าที่ยังคงตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุมรอบบริเวณตั้งแต่เมื่อวาน โดยมีการเสริมกำลังทหารเข้ามาตามจุดสกัดเส้นทางเข้าไปยังมัสยิดกลาง ขณะที่ร้านค้ารอบพื้นที่มัสยิดกลางยังคงปิดทำการเช่นกัน ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่มัสยิดรายา ห่างจากมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีประมาณ 700 เมตร


 


กลุ่มเยียวยาร้อง อย่าดันม็อบให้เป็น "โจร"


นางโซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนครอบครับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 พ.ค. เธอได้เข้าไปพบกลุ่มผู้ชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี พบมีนักศึกษาอยู่จริง ประมาณ 100 กว่าคน ทั้งหญิงและชาย จากหลายสถาบันทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มนักศึกษาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว และดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมที่เป็นสตรีและเด็ก โดยในช่วงนั้นมีสตรีและเด็กจำนวนหนึ่งกลับไปบ้านแล้ว


 


นางโซรยา เปิดเผยอีกว่า เหตุที่เข้าไปเนื่องจากทราบข่าวอาจจะมีนักศึกษา มอ. บางส่วนอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ทราบข่าวมาว่ามีนักศึกษาจากหลายสถาบันจะจัดงานอภิปรายและนิทรรศการเกี่ยวกับภาคใต้ที่มัสยิดกลาง รวมทั้งต้องการหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย


 


นางโซรยา กล่าวว่า เธอเห็นว่าเราต้องรับฟังและเคารพในความเห็นและข้อเรียกร้องของพวกเขา ตราบใดที่รูปแบบการเรียกร้องและข้อเรียกร้องยังตั้งอยู่บนแนวทางสันติวิธีอยู่ ทั้งนี้ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ เป็นการขอความเป็นธรรมจากหลายกรณีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่น่าจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้พวกเขาต้องออกมาชุมนุมครั้งนี้ คือเหตุการณ์ฆ่า 4 ศพ ซึ่งเป็นพ่อ ลูกสาวและหลายชายอีก 2 คน อายุ 14 ปี และ 18 ปี ที่ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 50 โดยชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนก่อเหตุ และมีการฆ่าข่มขืนลูกสาวชื่อนางสาวนูรฮายาตี ด้วย


 


นางโซรยา เปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวผู้สูญเสีย จากเหตุการณ์ดังกล่าว และได้รับการยืนยันจากญาติว่า มีการฆ่าข่มขืนจริง


 


นางโซรยา กล่าวว่า ตราบใดที่การชุมนุมดังกล่าว ยังคงเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นฝ่ายรัฐจึงสมควรรับฟังข้อเสนอของพวกเขา ว่ามีความเดือดร้อนอะไร ทำไมจึงต้องออกมาชุมนุม เพราะถ้าไม่เดือนร้อนจริงก็คงไม่ออกมาชุมนุม ซึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว มีหลายรายที่เธอรู้จัก ซึ่งเป็นผู้สูญเสียจากหลายกรณี ที่เขาเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


นางโซรยา กล่าวอีกว่า รัฐต้องรับฟัง แล้วตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ไม่ควรมองว่าผู้ชุมนุมเป็นแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ หรือมองว่าเป็นโจรผู้ร้าย เพราะไม่อย่างนั้นอาจนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดพลาดได้ เช่น ใช้ความรุนแรงในการจัดการกับผู้ชุมนุม ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้


 


จี้รัฐสอบเหตุข่มขืนชนวนก่อม็อบ 


นางโซรยา ยังได้เสนอว่า ในเมื่อมีเสียงร่ำลือจากชาวบ้านว่ามีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ แล้วมีการขยายผลจนนำมาสู่การชุมนุมนั้น รัฐต้องไม่เพิกเฉย ต้องเข้าไปตรวจสอบความจริงที่เกิดขึ้นโดยตนขอเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระ ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว และต้องนำผลการตรวจสอบดังกล่าวมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ดังเช่นกรณีที่รัฐเคยตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์กรือเซะ รวมทั้งกรณีเหตุการณ์ตากใบ รวมทั้งเร่งดำเนินการเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็วด้วย


 


นางโซรยา กล่าวว่า มีหลายกรณีที่เป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่รัฐควรต้องคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบดังกล่าว เช่น กรณีการฆ่า 4 ศพที่ปะแต ในจำนวนนี้เป็นการฆ่าและข่มชืนหนึ่งราย ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่นำมาสู่การชุมนุมครั้งนี้ กรณีคนร้ายยิงถล่มปอเนาะบ้านควนหรัน ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เป็นต้น เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก เป็นที่สงสัยกังขาของคนในพื้นที่เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ อีกทั้งการฆ่าข่มขืนกรณีที่ปะแต ก็เป็นเรื่องที่สะเทือนใจผู้คนมาก


 


นางโซรยา ยังได้เรียกร้องไปยังสื่อมวลชนว่า ต้องเคารพในข้อเท็จจริง นำเสนออย่างรอบด้าน และต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและ ต้องพยายามเข้าถึงความจริงให้มากที่สุด แม้ว่าจะลำบากยากเย็น เพื่อให้สาธารณะได้เข้าใจที่มาที่ไป ไม่รายงานเฉพาะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น


 


นายโซรยา กล่าวอีกว่า สื่อต้องพยายามรายงานข้อเท็จจริงให้มากที่สุดและเป็นอิสระ แม้อาจจะถูกร้องขอจากรัฐไม่ให้นำเสนอบางประเด็น บางแง่มุมก็ตาม ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐก็ต้องเคารพในการทำงานของสื่อด้วย โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ซึ่งจะทำให้สื่อขาดความเป็นอิสระในการนำเสนอ


 


"อังคณา" ชี้ปม "ข่าวจนท.รัฐสังหารชาวบ้าน" ปลุกม็อบปัตตานี


ด้านเว็บไซต์สำนักข่าวชาวบ้านรายงานว่า นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ปัญหาจริงของการเกิดการชุมนุมในครั้งนี้คือการที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรม โดยจะเห็นได้จากข้อเรียกร้องจากแถลงการณ์ 10 ข้อ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมถึง 5 ข้อ ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าเหตุการณ์หลายเหตุการณ์มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงต่อชาวบ้าน แต่แทนที่เจ้าหน้าที่จะสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อให้ความจริงกระจ่าง กลับระบุเพียงว่าเป็นฝีมือของคนร้ายที่แต่งตัวเหมือนทหาร


 


"ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเหล่านี้ไม่มีสิทธิที่จะบอกว่าอะไรจริงไม่จริงเพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่ใช่ศาล เรื่องทั้งหมดต้องใช้กระบวนการยุติธรรม"


 


ทั้งนี้ ในระหว่างการชุมนุมกลุ่มผู้ชุมนุมได้หยิบยกประเด็นการสังหารชาวบ้านเสียชีวิต 5 ศพที่บ้านภักดี ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือของ ชรบ. และเหตุการณ์สังหารชาวบ้าน 4 ศพ โดยหนึ่งในนั้นระบุว่ามีการข่มขืนหญิงสาวชาวบ้าน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านและกลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นฝีมือของทหารพราน


 


จากการสอบข้อเท็จจริงจากปากคำในเบื้องต้นของชาวบ้านในกรณีดังกล่าวข้างต้น  นางอังคณา ระบุว่า กระบวนยุติธรรมในการทำความจริงทั้งในสองกรณียังไม่มีความคืบหน้า กรณีบ้านภักดีที่แม้จะเกิดเหตุมาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ก็เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่มีการสอบปากคำ ชรบ. หรือ ตชด.ในที่เกิดเหตุ


 


"ชาวบ้านยังเคยตั้งคำถามว่ากฎเกณฑ์ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึกต่างๆ จะใช้เฉพาะกับมุสลิมเท่านั้นหรือไม่ ในขณะที่เมื่อเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านพุทธเองไม่เคยถูกหมายเรียกมาสอบเลย"


 


ในขณะที่ กรณีฆ่าข่มขืนที่ อ.ยะหา นางอังคณา กล่าวว่า ได้รายละเอียดจากแม่ของผู้เสียหายที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งดังกล่าวและยืนยันว่าการกระทำครั้งนี้เป็นฝีมือของทหารพรานกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทั้งหมดคงต้องตรวจสอบต่อจากนี้


 


ทั้งนี้ นางอังคณา ระบุด้วยว่า สำหรับการชุมนุมในครั้งนี้ ยังไม่มีกำหนดการจะลงพื้นที่เพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจาเหมือนการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา แต่ในเบื้องต้นทางคณะทำงานยุติธรรมฯ จะทำหน้าที่ในการสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น


 


นักศึกษาแกนนำม็อบปัตตานีแจงแค่จัดสัมมนา


ขณะที่ เว็บไซต์ผู้จัดการ ได้เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของแกนนำนักศึกษาวิทยาลัยรามคำแหงคนหนึ่ง ว่า ความจริงพวกเขามาทำกิจกรรมโครงการศึกษาและร่วมกันแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในนามเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน ประกอบด้วย 9 องค์กร คือ สมาคมนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มนักกิจกรรมรามคำแหงเพื่อสังคม เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน เครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสันติภาพ จำนวน 100 คน กิจกรรมหลักก็จะเป็นการจัดเวทีเสวนาและการลงพื้นที่พบชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรับทราบปัญหาข้อเท็จจริง


 


แต่นึกไม่ถึงว่าจะมีประชาชนมาร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาเป็นจำนวนมากถึงหมื่นกว่าคน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นมาด้วยความสมัครใจ พวกเขาไม่ได้ชักจูงหรือหลอกมาแต่อย่างใด พร้อมกับยืนยันว่าจะยังคงทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้ต่อไป จึงขอให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยและไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มาร่วมชุมนุม


 


แกนนำนักศึกษาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวอีกว่า สาเหตุที่พวกเขาต้องมาทำโครงการนี้เพราะว่า ได้รับรู้ข้อมูลปัญหาต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มามาก สิ่งที่เป็นห่วงคือความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนไปรังแกชาวบ้าน โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุด ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ที่ญาติของครอบครัวผู้เดือดร้อนเผยว่าเจ้าหน้าที่ไปข่มขืนลูกสาวและฆ่าคนในครอบครัว


 


นั่นจึงเป็นสาเหตุที่พวกเขาต้องลงพื้นที่เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร แต่เมื่อสถานการณ์ผลิกผัน มีประชาชนที่เดือดร้อนมาร่วมมาก มีบางส่วนกลับไปบ้างแล้วและยังเหลืออยู่อีกประมาณ 8,000 กว่าคนซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็กอยู่ด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับมองว่าเป็นการชุมนุมเพื่อสร้างสถานการณ์ตนรู้สึกเป็นห่วง กลัวเจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชน ยั่วยุกลุ่มวัยรุ่นเพื่อก่อให้เกิดความรุนแรง และการที่ผู้มาชุมนุมต้องปิดหน้ากลัวว่าจะถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่


 


"การมาเคลื่อนไหวของประชาชนที่มัสยิดกลางอยู่ในแนวทางสันติวิธี แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐพยายามที่จะสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความรุนแรง อย่างเช่นวันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ได้มีการลักพาตัวนักศึกษา จำนวน 3 คน คือ นายซอบรี ชุมทอง อายุ 24 ปี นายไอมาน บูเกาะ อายุ 23 ปี และนายอาสมิง ลืองิ อายุ 24 ปี นักศึกษาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะทำหน้าที่ส่งชาวบ้านไปยังสถานที่จอดรถได้สูญหายไป ทางศูนย์ประสานงานนักศึกษาขอเรียกร้องสื่อมวลชนช่วยแถลงข่าวที่เกิดขึ้นด้วย ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยตัว 3 นักศึกษาดังกล่าวด้วย"


 


อย่างไรก็ตาม พวกเขาขอยืนยันว่าจะดำเนินกิจกรรมตามแนวทางสันติประชาธรรม การชุมนุมอย่างสงบ ไม่ก่อปัญหาความรุนแรง และอยากจะบอกว่า ตราบใดที่รัฐยังมีการปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้รับรู้ข้อเท็จจริง การทารุณกรรม การทำความรุนแรงกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ จะไม่มีทางสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


มอ.แถลง นักศึกษาร่วมม็อบไม่เกี่ยวสถาบัน


ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ตามที่ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองบริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 โดยอ้างชื่อองค์กรนักศึกษาจากหลายสถาบันว่าเป็นผู้สนับสนุนนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขอชี้แจงว่าองค์กรนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสโมสร สภานักศึกษา หรือองค์การบริหารองค์การนักศึกษา ต่างไม่ได้มีส่วนร่วมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามข้อกล่าวอ้างแต่อย่างใด


 


"มหาวิทยาลัยฯ จึงขอให้นักศึกษาอย่าได้หลงเชื่อเข้าไปร่วมการชุมนุมและขอชี้แจงต่อสาธารณชนและสื่อมวลชนว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่สนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวแต่อย่างใด" ผศ.สมปองกล่าว


 


นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่มัสยิดกลางได้มีการแอบอ้างชื่อและมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เข้าร่วมการชุมนุมว่า ได้ร่วมหารือข้อเท็จจริงกับผู้บริหาร มอ.ปัตตานี ซึ่งได้สอบถามไปยังองค์การนักศึกษาพบว่า การที่นักศึกษา มอ.ปัตตานี ส่วนหนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้ดำเนินการในนามสถาบัน แต่เป็นการดำเนินการโดยส่วนตัวเท่านั้น


 


องค์การนักศึกษามอ.เห็นด้วยข้อเสนอม็อบ


นายธาดาพงษ์ สำเภาศรี นักศึกษาสัมพันธ์ องค์การบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ทางองค์การฯ ไม่ได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน ที่เป็นองค์กรนำการชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี รวมทั้งไม่ได้เป็นมติขององค์การฯ ให้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในนามเครือข่ายดังกล่าว ดังนั้นนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมที่อยู่ในสังกัดองค์การฯ เข้าร่วมชุมนุมด้วยนั้น เป็นการเข้าร่วมในนามส่วนตัว


 


"เราแต่รับทราบถึงการชุมนุมดังกล่าว เนื่องจากมีหลายคนเป็นเพื่อนกัน และได้ไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย เนื่องจากมีหลายข้อเสนอของผู้ชุมนุมที่เราเห็นด้วย และภาครัฐน่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง เพื่อความสบายใจของคนในพื้นที่ เพราะมีหลายเหตุการณ์ที่เป็นข้อกังขาของประชาชนในพื้นที่อยู่ด้วย ซึ่งได้ปรึกษากับรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาแล้วก็มีความเห็นที่สอดคล้องกัน" นายธาดาพงษ์ กล่าว


 


นายธาดาพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ในส่วนขององค์การฯ จะหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ถึงจุดยืนขององค์การในเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแล้ว เราเห็นด้วยหลายข้อกับข้อเสนอของผู้ชุมนุม โดยจะทำข้อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับทุกฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง จึงขอเรียกร้องให้ยุติการใช้ความแรงต่อสู้กัน


 


 


นายกองค์การ รามฯ รับมีนักศึกษา 2 คันรถบัส ลงปัตตานี 


นายสิกขนันท์ หนูเล็ก นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) กล่าวถึงเหตุการณ์การชุมนุมและยึดมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี โดยมีชื่อของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยว่า ยอมรับว่า มีนักศึกษา มร.ลงไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานีจริง


 


ตนได้พูดคุยกับนักศึกษาที่จะลงไปในพื้นที่ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม และได้สอบถามถึงเหตุผลของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่าสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงควรเข้าไปร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ อีกทั้งมีทหารพรานทำร้ายและข่มขืนผู้หญิงในพื้นที่ จึงต้องการเรียกร้องกดดันให้ถอนกำลังทหารพรานออกจากพื้นที่ และชักชวนให้ตนร่วมเดินทางไปดูสถานการณ์ครั้งนี้ด้วย


 


"หลังจากพูดคุยกัน ผมก็ถามว่า มีหลักฐานหรือเปล่า เพราะเรื่องนี้ควรจะจัดการเป็นรายบุคคล และผมไม่เห็นด้วยที่จะให้ถอนกำลังทหารพรานออกมา เพราะสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ จึงปฏิเสธที่จะเดินทางไปร่วมเคลื่อนไหวที่ จ.ปัตตานี ด้วย ซึ่งทราบว่ามีนักศึกษาเดินทางไปที่ จ.ปัตตานี ประมาณ 2 คันรถบัส โดยมีแกนนำ 2 คน การที่มีชื่อว่าองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น คงเป็นการสื่อสารที่เข้าใจผิด เพราะผมไม่ได้เข้าร่วมด้วย และการเดินทางไปของนักศึกษาไม่ได้ไปในนามของมหาวิทยาลัยรามคำแหง" นายสิกขนันท์ กล่าว


 


นายสิกขนันท์ กล่าวต่อไปว่า แม้จะมีนักศึกษา มร.เข้าร่วมจริง แต่ตนยังเชื่อว่า กลุ่มนักศึกษาไม่ได้ต้องการให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น หรืออาจจะไม่ใช่ผู้ก่อเหตุในการยึดมัสยิด เพียงแต่อาจจะลงชื่อในใบปลิวและนำไปแจกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 มิถุนายน 2550 เขาพร้อมด้วยกลุ่มนิสิตนักศึกษากิจกรรมเพื่อสังคมรามคำแหง จะแถลงข่าวร่วมกันที่ อศ.มร.ในเวลา 13.00 น.โดยประเด็นที่จะแถลง ประกอบด้วย


 


1.เหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีชื่อของ อศ.มร.เข้าไปเกี่ยวข้อง


2.กระแสข่าวเรื่องจะมีกลุ่มการเมืองมายึด มร.เป็นที่มั่นสุดท้ายในการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง


3.จุดยืนของนักศึกษา มร.ในการทำกิจกรรมนักศึกษาท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน


 


 "ผมอยากจะฝากนักศึกษาทุกคนด้วยว่า หากจะทำกิจกรรมใดๆ ขอให้ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ และเชื่อได้ว่า ถูกต้องเป็นจริง ก่อนเข้าร่วมเพราะไม่เช่นนั้นเราอาจตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากพลาดพลั้งอาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายขั้นร้ายแรง และการทำกิจกรรมใดๆ ไม่ควรจะนำชื่อมหาวิทยาลัยไปอ้าง หากไม่ได้รับฉันทานุมัติจากมหาวิทยาลัยเสียก่อน เพราะจะส่งผลเสียต่อสถาบัน" นายสิกขนันท์ กล่าว


 


นายคิม ไชยแสงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ได้พูดคุยกับตัวนายก อศ.มร.แล้ว และยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าตัวไม่ได้เข้าร่วมเหตุการณ์ด้วยยังคงอยู่ใน กทม.ซึ่งข่าวที่ออกมาอาจเป็นความคลาดเคลื่อน และการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน แต่มีนักศึกษา มร.ลงไปในพื้นที่จริง


 


นักศึกษาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ปัตตานีนั้น ยังไม่ถือว่ามีความผิดเพราะทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองยังไม่แจ้งความผิด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกระแสข่าวว่าผู้ก่อความไม่สงบเกี่ยวพันกับรามคำแหงก็ขอให้สังคมฟังข้อมูลให้รอบคอบ เพราะรามคำแหงเป็นชื่อถนนที่มีความยาวมาก บางครั้งอาจไม่เกี่ยวกันกับ มร.เลย


 


ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การที่โจรใต้อ้างชื่อกลุ่มนิสิต มร.และสถาบันอื่นๆ เข้ามาก่อความไม่สงบนั้น คิดว่า เป็นเพียงข้ออ้างของโจรเท่านั้น จึงไม่อยากให้ทุกคนเหมารวมว่า เป็นนิสิตราม ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนซะก่อนว่าจริงหรือไม่ เพราะใครๆ ก็มากล่าวอ้างกันได้


 


"อยากให้แยกแยะว่าเป็นการกระทำของบางกลุ่มบางคน ที่เขาทำกันเป็นขบวนการ เราต้องพิสูจน์ว่าจริงรึเปล่า ใครก็อ้างกันได้ ตรงนี้เป็นการแทรกซึมโดยทำเป็นขบวนการ มีการอ้างชื่อมาอย่างต่อเนื่อง"


 


ถ้าหากมีนิสิตรามอยู่จริง ศ.ดร.วิจิตร กล่าวว่า นับแต่มีการอ้างชื่อ ก็ให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้รับรายงานว่า ไม่มี อย่างไรก็ดี หากนิสิตทำจริงและมีหลักฐานก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net