Skip to main content
sharethis

23 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับคณะนักวิชาการจากหลายสถาบันจำนวน 76 คน ได้ออกแถลงการณ์ "ร่วมกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง" เพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 ในการลงประชามติ และต้องนำเอารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 มาแก้ไขปรับปรุงด้วยกระบวนการประชาธิปไตย


 


อะไรคือเหตุผลหลัก สิ่งใดคือข้อวิตกกังวล และหากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น ฟังคำอธิบายแบบต่อคำจาก หนึ่งในผู้ซึ่งร่วมการแถลงข่าว "ร่วมกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง" เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา


 


 


เหตุผลหลักของการออกมาเคลื่อนไหว "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550"


ก่อนตอบคำถาม ขอเรียนก่อนว่า กระแสสังคมกำลังงงหรือกำลังสับสนว่า ถ้าหากประชามติไม่ผ่าน เราไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ผิด ในความเป็นจริงคือ แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน คณะรัฐบาลและคณะทหารก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยที่จะหันกลับไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาจัดการเลือกตั้งภายใน 30 วัน ดังนั้นต้องทำความเข้าใจกันก่อน ไม่ว่าจะผ่านการทำประชามติหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเลือกตั้งแน่ๆ และเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว การคลี่คลายของสังคมไทยก็จะดำเนินไปได้แน่ๆ อันนี้ก็ต้องไขข้อข้องใจกันก่อน ซึ่งคนอาจมองว่าทำไมเขาจะเลือกตั้งกันแล้วพวกคุณมาขวาง ประเด็นก็คือว่ายังไงก็มีการเลือกตั้งอยู่แล้วไม่เกี่ยวกับว่าผ่านหรือไม่ผ่าน


 


ในเมื่ออย่างไรก็มีการเลือกตั้ง สิ่งที่เราต้องมองต่อไป แล้วมองให้ไกลก็คือ เราจะเลือกตั้งบนฐานรัฐธรรมนูญฉบับไหน การที่จะต้องคิดกันตรงนี้ก็เพราะหากเราเลือกตั้งโดยฐานรัฐธรรมนูญที่ไม่ดีพอ บนฐานรัฐธรรมนูญที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจเหลื่อมล้ำกัน ผลของการเลือกตั้งกลับเป็นตัวที่ดึงสังคมไทยกลับไปสู่วิกฤตมากขึ้น หมายความว่าตัวรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขสำคัญ คือว่ารัฐธรรมนูญหากเราเข้าใจให้ดีคือกฎหมายที่ว่าด้วยความสำพันธ์ทางอำนาจว่าใครจะมีอำนาจตอนไหน อย่างไร และมีช่องทางการใช้อำนาจอย่างไร และแต่ละกลุ่มในความสัมพันธ์เชิงอำนาจก็ต้องมีสมดุลสังคมถึงจะเคลื่อนไปได้ เช่น อำนาจชาวบ้านมีในการที่จะเรียกร้องถอดถอนได้หรือไม่ ถ้าการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้บิดเบี้ยว เอนเอียงไปให้คนกลุ่มใดกล่มหนึ่งก็รังแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง


 


ด้วยเหตุผลนี้เราจึงมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับร่างเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่จะก่อให้เกิดปัญหากับสังคมไทย


 


ทำไมไม่รอการทำประชาพิจารณ์ก่อน


 การทำประชาพิจารณ์แยกเป็น 2 ประเด็น การรับฟังความคิดเห็นเป็นกระบวนการหนึ่ง การทำประชามติเป็นอีกหนึ่ง การลงประชามติ ผู้ใหญ่หลายคนในสังคมไทยบอกว่าเป็นเหมือนการมัดมือชก เพราะการลงประชามติว่าเอาไม่เอาแต่ท้ายที่สุดก็คือคุณพอใจมาตรานี้คุณก็เอา ไม่พอใจสองมาตรานี้ก็ผ่านไปก่อน ผมคิดว่าถ้าการทำประชามติถูกผลักดันให้มัดมือชกแบบนั้น ยิ่งรังจะทำให้คนรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกว่าเรารับประชามติแต่เราไม่รับในแง่ที่ว่ามัดมือชก เราจึงเสนอทางเลือกออกมาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บิดเบือนความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างไร ถ้าหากไม่มีการรับแล้วเราเสนอรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นฉบับที่จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจได้ดีที่สุดเท่าที่ผ่านมา เราก็มีข้อเสนอตามมาคือให้ คมช.เลือกรัฐธรรมนูญปี 2540 มาและให้ตั้งคณะกรรมการ ส.ส.ร.ใหม่ขึ้นมา


 


การตั้งคณะกรรมการ ส.ส.ร. ใหม่ เพื่อรับฟังหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อการปฏิรูปการเมือง


กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเหมือนกับรับเอาไว้ สังคมไม่รู้ว่าแย้งตรงไหน แย้งอย่างไร และจะแก้ตรงไหน แก้อย่างไร ถ้าหากจะรับฟังความคิดเห็นแบบนี้ ท้ายสุดแล้ว ส.ส.ร. 100 คนมาพูดว่า มันคงไม่มีถูกใจใครหรอก คนพอใจมาตรงนี้ดีก็รับไปแล้วกัน ซึ่งอย่างกับว่าการพูดแบบนี้คือการมองไม่เห็นความเชื่องโยงชองกลุ่มคนทั้งหมดในสังคม


 


หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ และเกิดการเลือกตั้งใหม่จะเกิดอะไรขึ้น


ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้ผ่านไป ผมคิดว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เทไปให้กับคนกลุ่มบางกลุ่มในระบบราชการจะนำไปสู่ความขัดแย้งทั้งในระบบราชการเอง และความขัดแย้งระหว่างระบบราชการที่กุมอำนาจนั้นกับกลุ่มสังคม นึกง่าย ๆ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้บทบาทแก่ศาลเยอะ ในกลุ่มผู้พิพากษาเองก็คิดว่า เอ๊ะไม่ได้นะ นี่ขนาดยังไม่ได้ใช้ก็เริ่มขัดแย้งแล้ว เพราะว่าการทำให้การตัดสินใจไปอยู่กับกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มเดียวตัดสินใจเรื่องต่างๆ ผมว่ามันแย่แล้ว สังคมไทยวันนี้หรือระบอบประชาธิปไตยวันนี้จำเป็นต้องสร้างพื้นที่กลาง ๆ ให้คนมาถกเถียงกัน ประชาธิปไตยหมายความว่าหลังจากการโต้เถียงกันด้วยเหตุผลต่าง ๆ แล้วไม่มีใครได้หมด หรือไม่มีใครเสียหมด มันก็จะเป็นกระบวนการต่อรองเห็นประโยชน์ตรงไหน เห็นประโยชน์ตรงนี้ ก็จะมีคนได้บ้างเสียบ้างทุกกลุ่ม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังจะผลักให้คนบางกลุ่มมีอำนาจเด็ดขาด ดังนั้นถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ไม่นานนักก็จะเกิดความขัดแย้งที่เราไม่อยากจะให้เห็น มันเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น


 


ส่วนหากใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นี้เลือกตั้ง พรรคการเมืองจะอ่อนแอ เพราะอำนาจทางการเมืองทั้งหมดจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปอยู่ที่ ส.ว. แล้ว ส.ว.ก็จะกลายเป็นผู้ที่มาจากการสรรหาโดยชนชั้นนำในระบบราชการเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งชนชั้นนำในระบบราชการกลุ่มนี้ เราจะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของท่าน ท่านจะเป็นศาลหรืออะไรก็ตาม แต่วงการของท่านเหล่านี้ก็จะจำกัดตัวอยู่ในราชการระดับสูง ท่านย่อมไม่รู้จักเรา เวลาท่านเลือกคนมาเป็น ส.ว. ก็จะเป็นกลุ่มของท่าน เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองเองก็ไม่สามารถที่จะตัดสินใจในนโยบายที่จะตอบสนองกับประชาชนได้ ก็กลับกลายเป็นการนำไปสู่เครือข่ายของชนชั้นนำในระบบราชการ เหมือนในสมัย พล.อ.เปรม


 


ท้ายสุดนโยบายหรือการคิดเองก็จะตอบสนองกับประชาชนเกิดขึ้นไม่ได้ ถามว่าถ้าเป็นแบบนี้ประชาชนเดือดร้อน อย่าลืมว่าระบบราชการไทยเป็นระบบที่ไม่เคยได้ยินเสียงประชาชนมานานแล้ว ท่านนายกฯคนปัจจุบันเดินทางไปปากมูน ท่านนายกฯก็พูดว่าให้รักษาระดับน้ำนี้ไว้ ก็คือไม่ต้องเปิดเขื่อน คงต้องเรียนถามท่านนายกฯว่าท่านเคยอ่านงานวิจัยต่างๆไหม ท่านพูดแบบนี้ก็จบเลย นี่คือระบบราชการที่ไม่เข้าใจอะไร ถ้าหากระบบราชการอยู่ก็จะเป็นแบบนี้


 


แน่นอน ผมคิดว่าระบบราชการก็ยังมีค่า ไม่ได้บอกว่าให้สลายไปเลย แต่จำเป็นที่จะต้องมีตัวมาทัดทานและเคลื่อนที่ไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้เคลื่อนที่ไปเพื่ออาณาจักรของตนเอง ดังนั้นเราต้องคิดกันให้ชัดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้ระบบราชการมีอำนาจแบบเดิม มันไม่ทันการณ์อีกแล้วและก็สร้างดุลกันด้วยใช้พลังประชาชน เช่น ประชาชนสามารถถอดถอน ส.ส.ด้วยเสียงที่น้อยกว่า ผมคิดว่านี้คือตัวกดดันอย่างที่หนึ่งหรืออื่นอีกมากมาย ผมเชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถพิทักษ์อำนาจตัวเองได้ ผมเชื่อมั่นว่าร่างรัฐธรรมนูญจะงดงามกว่านี้


 


ภาคประชาชนต้องเตรียมตัว ตั้งหลักภายใต้สถานการณ์เช่นนี้อย่างไร


คือถ้าหากเราปล่อยให้การปฏิรูปการเมืองอยู่ในกำมือของชนชั้นนำทางอำนาจ ผมคิดว่าการปฏิรูปการเมืองไม่เกิดจริงแน่นอน สิ่งที่เราเรียกร้องในการลงประชามติไม่รับร่างนี้ก็คือ การพยายามจะดึงให้โอกาสการปฏิรูปการเมืองมาอยู่ในมือของภาคประชาชน เพราะว่าถ้าเราไม่ต้องไปสืบข้อมูลลึกซึ้งอะไร ดูจากข่าวหนังสือพิมพ์เองเราก็พบว่าชนชั้นนำทางการเมืองของเราขัดยังกันเองสูงมาก แต่ละกลุ่มก็ขัดแย้งกันไม่ไปด้วยกัน


 


ดังนั้นในบรรยากาศแบบนี้เองภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องร่วมแรงกันมากขึ้น ต้องร่วมกันมองไปในอนาคต อย่ามองไปเพียงง่าย ๆเหมือนกับ ส.ส.ร. ที่พูดว่าเลือกตั้งแล้วจะดีขึ้น การเลือกตั้งต้องมีกฎเกณฑ์กติกาบางอย่าง แต่นี่มีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งสูงขึ้น และสิ่งสำคัญก็คือชนชั้นนำทางการเมืองนี่แหละจะขัดแย้งกันก่อน และความขัดแย้งของชนชั้นนำมักจะดึงเอาสังคมไทยตกหล่ม ตกเหว เราก็คิดกันให้ยาว แล้วก็ดึงการปฏิรูปการเมืองกลับมาสู่เมืองของพวกเราให้มากที่สุด


 


การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยใช้ริบบิ้นสีเขียวตองอ่อนเป็นสัญลักษณ์ ไม่กลัวถูกเพ่งเล็งจาก คมช.หรือ


ไม่กลัว ! ผมคิดว่าสิ่งนี้คือสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็ในเมื่อคุณจะให้เราลงประชามติรับ- ไม่รับก็แน่นอนเราก็ย่อมมีสิทธิที่จะบอกว่าเราไม่เห็นด้วย เราไม่รับ ดูแล้วไม่มีเหตุผลที่ทหารเองจะมาจับ เพราะนี่เป็นการแสดงสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าหากยอมรับตรงนี้ไม่ได้ ก็อย่าไปคิดเลยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดูแลสิทธิของประชาชน ผมคิดว่าไร้เหตุผลถ้าหากจะมาใช้อำนาจบังคับกันถึงขนาดนี้


 


และผมคิดว่าหากประชาชนเข้าใจว่า 1.ไม่รับร่างแล้ว อย่างไรก็มีการเลือกตั้ง 2.รับร่างถ้าหากมีปัญหาเลือกตั้งไปแล้วก่อปัญหามากมาย ผมเชื่อว่าสีเขียวตองอ่อนจะสะพรั่งทั่วประเทศไทย และเมื่อสะพรั่งแล้วมันก็จะเป็นสัญลักษณ์บอกรัฐบาลและคณะทหารว่าคุณจะต้องถอยแล้ว คุณต้องกลับไปเลือกรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนพอใจแล้วค่อยแก้ ผมคิดว่าถ้าสะพรั่งบนฐานความเข้าใจที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าชนชั้นนำทางการเมืองของเราต้องรับฟัง


 


ต่อไปจากนี้ ม.เที่ยงคืนจะมีแผนการรณรงค์อย่างไรเพื่อให้สังคมเห็นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านแล้วจะนำมาซึ่งปัญหา


เราคงจะทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศแก่สังคม เช่น เราตกลงกันว่าจะเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนอย่างไร มีข้อบกพร่องในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไร จะนำไปสู่วิกฤตของประเทศชาติอย่างไร หรือมีโอกาสพูดก็พูดกันไปเรื่อย ๆ ทุกคนก็รับหน้าที่ตรงนี้เท่า ๆ กัน


 


นอกจากนี้ หลังจากเราทำแล้ว และหากพี่น้องประชาชนเห็นด้วยกับเราก็ขอให้ช่วยกันติดริบบิ้นสีเขียวตองอ่อน หรือประดับไม่ว่าจะที่ตนเอง บ้าน รถยนต์ เพื่อแสดงประชามติหรือพลังประชาชนร่วมกันว่าไม่รับร่างนี้ และร่วมกันเสนอให้นำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาบังคับใช้โดยที่เราก็เปิดช่องให้รัฐบาลว่า 1.คือให้เลือกตั้งใน 60 วัน 2.ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะกรรมการนี้ให้ปลอดจากอำนาจใด ๆ ไม่ว่าอำนาจระบบราชการ อำนาจการเมือง เพื่อที่เราจะได้สร้างสรรค์สังคมไทยกันอีกครั้ง


 


เราเลือกเขียวสีตองอ่อนเพราะว่าเป็นสีที่หมายถึง การผลิบานของพืชพรรณไม้ เราคงต้องทำหน้าที่กัน ส่วนพี่น้องประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วไป แต่เราก็ต้องทำหน้าที่ในการเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมืองเหมือนกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net